นักวิชาการเผยแผนจีนยึดแปซิฟิกใต้ผ่านทหาร การเมือง เศรษฐกิจ สหรัฐฯ มีสะเทือน

นักวิชาการด้านเอเชียศึกษาเผยเรื่องการแผ่อิทธิพลของจีนสู่ทะเลจีนใต้และหมู่เกาะแถบโอเชียเนียทั้งในด้านการทหาร เศรษฐกิจ และการเมือง ที่เป็นภัยต่อคู่กรณีในทะเลจีนใต้และอิทธิพลของสหรัฐฯ ในภูมิภาคดังกล่าวและอาจสะท้อนถึงความพยายามล่าอาณานิคมในยุคสมัยใหม่

เรือบรรทุกเครื่องบินเหลียวหนิงในน่านน้ำเขตปกครองพิเศษฮ่องกง (ที่มา: Wikipedia)

รายงานเอเชียไทม์เขียนโดยเคอร์รี เค เกอชาเนค นักวิชาการจากสถาบันเอเชียศึกษามหาวิทยาลัยเจิ้งจื้อ ประเทศไต้หวัน ซึ่งในอดีตเคยเป็นเจ้าหน้าที่นาวิกโยธินสหรัฐฯ ระบุถึงความทะเยอทะยานของจีนในการแผ่ขยายอิทธิพลครอบงำพื้นที่มหาสมุทรแปซิฟิกทางใต้ผ่านหลายมาตรการ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ยุทธศาสตร์ทางทหาร ทางเศรษฐกิจ รวมถึง "สงครามการเมือง" ที่เข้าไปแทรกแซงกิจการในประเทศหมู่เกาะให้ขัดขวางสหรัฐฯ วางแผนเป็นทางเชื่อมไปสู่พื้นที่ยุทธศาสตร์เพื่อยึดกุมความได้เปรียบซึ่งอาจจะเป็นภัยต่อสหรัฐฯในอนาคต

เคอร์รีระบุว่าเรื่องที่คนไม่ค่อยสังเกตเห็นกันคือการที่จีนกำลังพยายามตั้งฐานทัพในแถบมหาสมุทรแปซิฟิกทางใต้ที่นักวิจารณ์มองว่าเป็นความพยายาม "ล่าอาณานิคมแบบใหม่" และเป็นปัญหาสำหรับฐานทัพสหรัฐฯ ทั้งทางบกและทางอากาศในแถบเกาะกวม

รายงานจากกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ หรือเพนตากอนที่ออกมาเมื่อเดือน ส.ค. ที่ผ่านมาระบุว่าจีนอาจจะกำลังเตรียมซ้อมโจมตีทางอากาศใส่ประเทศสหรัฐฯ และกลุ่มเป้าหมายประเทศที่เป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ รายงานระบุอีกว่าการซ้อมรบทางอากาศของจีนอาจจะมีการวางแผนให้เกิดการแผ่อิทธิพลในประเทศหมู่เกาะแถบมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้ได้ ซึ่งเรื่องนี้สร้างความกังวลให้กับสหรัฐฯ

เบน โบเฮน นักข่าวที่ประจำอยู่ที่ประเทศวานูอาตู ประเทศในมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้กล่าวว่า จากการที่จีนมีฐานที่มั่นที่เข้มแข็งในทะเลจีนใต้ จีนจะสามารถแสดงพลังทางการทหารในแถบประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกตอนใต้ได้ นอกจากนี้กองเรือหาปลาของจีนก็เพิ่มจำนวนขึ้นในบริเวณทะเลจีนใต้

จีนมีฐานทัพในแถบทะเลจีนใต้ที่เกาะสแปรตลีและเกาะพาราเซล ซึ่งจากฐานที่มั่นเหล่านั้นกองทัพอากาศของจีนจะสามารถไปถึงกลุ่มประเทศและหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิกที่เรียกว่าโอเชียเนียได้ ซึ่งจะสามารถหนุนหลังความทะเยอทะยานของจีนในทางการเมืองและเศรษฐกิจในแถบหมู่เกาะแปซิฟิกได้ สิ่งปลูกสร้างสนับสนุนกองกำลังทางน้ำและทางอากาศที่จีนสร้างบนพื้นที่ต่างๆ ในทะเลจีนใต้มีระยะทางใกล้กับโอเชียเนียมากขึ้น 1,500 ไมล์เมื่อเทียบกับฐานทัพที่อยู่บนจีนแผ่นดินใหญ่ โดยฐานสนับสนุน 3 แห่งที่กำลังก่อสร้างจะทำให้จีนแก้ปัญหาด้านการคุ้มกันพื้นที่ที่ก่อนหน้านี้ทำได้ไม่ดี

ร.อ. เจมส์ ฟาเนลล์ เจ้าหน้าที่ข่าวกรองกองทัพเรือสหรัฐฯ ที่เกษียณอายุแล้วผู้เคยทำงานเก็บข้อมูลกองทัพเรือจีนมาเป็นเวลา 30 ปี กล่าวว่าการวางกำลังของจีนในแถบหมู่เกาะทะเลจีนใต้เป็นส่วนหนึ่งของแผนการสร้างอำนาจนำให้ตัวเองในภูมิภาคในด้านการยึดกุมความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์และพื้นที่ๆ มีทรัพยากรมากในแถบหมู่เกาะรอบออสเตรเลียที่มีประชากรน้อย โดยจีนอาศัยความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการเมืองในการปูทางสู่อำนาจซึ่งกลายเป็นภัยต่อผลประโยชน์ของประเทศเสรี

ในรายงานกำลังทางทหารของจีนปี 2561 ของเพนตากอนที่ออกมาเมื่อวันที่ 16 ส.ค. ระบุถึงการที่เครื่องบินทิ้งระเบิดสามารถบินในระยะจากทะเลจีนใต้ไปยังแถบโอเชียเนียได้แล้ว และยังกล่าวถึงถึงพัฒนาการทางทหารด้านอื่นๆ ตามหมู่เกาะเทียมรวมถึงโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ลอยน้ำได้ในพื้นที่เหล่านี้ด้วย

ก่อนหน้านี้ศาลโลกเคยพิจารณาว่าการยึดกุมพื้นที่ทะเลจีนใต้โดยจีนนั้นเป็นเรื่องละเมิดกฎหมายนานาชาติ แต่จีนก็เยาะเย้ยคำตัดสินนี้อย่างเปิดเผยและยังพยายามส่งกองกำลังทหารและเรือหาปลาที่มี "กองหนุนทางทะเล" ไปคอยรังควานเรือของประเทศอื่นๆ ที่เดินทางผ่านละแวกนั้นรวมถึงวางกำลังเพื่อปิดกั้นประเทศอื่นที่อ้างสิทธิเหนือน่านน้ำไม่ให้พวกเขาเข้าไปหาทรัพยากรจำพวกปลาหรือน้ำมันได้ โดยได้เริ่มวางกองกำลังเหล่านี้มาตั้งแต่ 2558 แม้เคยสัญญาว่าจะไม่ทำ มีการวางกำลังเครื่องบินต่อสู้ทางอากาศยานและขีปนาวุธโจมตีอากาศจากภาคพื้นดินที่หมู่เกาะพาราเซลใกล้กับเวียดนามและกองกำลังรูปแบบอื่นๆ ในพื้นที่น่านน้ำ จนกระทั่งเมื่อกลางเดือน พ.ค. ก็มีการวางกำลังเครื่องบินรบทิ้งระเบิด H-6K ที่มีอานุภาพในการโจมตีด้วยหัวรบนิวเคลียร์ได้ในหมู่เกาะเหล่านั้น โดยที่มีระยะการโจมตีมากถึง 3,300 กม. เมื่อเทียบระยะแล้วเท่ากับสามารถโจมตีหมู่เกาะแปซิฟิกและออสเตรเลียได้

รายงานด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงสหรัฐฯ-จีน ที่ออกมาเมื่อเดือน มิ.ย. รายงานว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาทางการจีนเข้าไปสานสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับกลุ่มประเทศในโอเชียเนียมากอย่างมีนัยสำคัญ แม้ว่าโอเชียเนียจะประกอบด้วยเกาะเล็กๆ จำนวนมากกว่า 10,000 เกาะ ที่รวมกันก็มีขนาดเท่าประเทศสเปนเท่านั้น แต่ตามกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยน่านน้ำจะพบว่าเขตเศรษฐกิจจำเพาะ (Exclusive Economic Zones - EEZs) ของหมู่เกาะที่กระจายตัวกันอยู่นี้มีขนาดถึง 7.7 ล้านตารางไมล์ทีเดียว (เขตเศรษฐกิจจำเพาะของรัฐกินอาณาบริเวณ 200 ไมล์ทะเล (370 กิโลเมตร) นับจากเส้นฐานชายฝั่ง) เบนกล่าวว่า ต้องมองโอเชียเนียเป็นผืนประเทศน่านน้ำขนาดใหญ่ ประเทศอย่างวานูอาตูเมื่อนับรวมน่านน้ำที่เป็นเขตเศรษฐกิจจำเพาะแล้วก็มีขนาดใหญ่เกือบเท่าทวีปออสเตรเลีย ซึ่งนอกจากเหตุผลเรื่องการค้าขายแล้วจีนยังทำไปเพื่อพยายามลดอิทธิพลของไต้หวันและเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติของประเทศเหล่านี้

เจมส์บอกว่ายุทธศาสตร์ของจีนสามารถคาดเดาได้ง่ายมาก พวกเขาจะเริ่มจากการให้ความช่วยเหลือทางการเงิน การบริจาคในทางการเมืองและการลงทุนเพื่อเปิดทางการค้ากับภายในประเทศเหล่านั้นได้สะดวก ส่งตัวคนจีนเข้าไปอยู่ในประเทศเหล่านั้น รวมหัวสมคมคิดกับเจ้าหน้าที่รัฐในประเทศนั้นๆ ทั้งหมดนี้ก็ทำให้เห็นวัตถุประสงค์ของการนำกองกำลังของจีนเข้าไปได้ พวกเขาใช้กองกำลังเหล่านี้เพื่อเข้าถึงท่าเรือและท่าอากาศยานเพื่อพยายามสกัดสหรัฐฯ ไม่ให้เข้าไปตั้งฐานทัพในแถบนั้นได้

รายงานของเอเชียไทม์ยังได้ยกตัวอย่างกรณีของประเทศต่างๆ ในแถบโอเชียเนียที่จีนเข้าหาด้วยการให้กู้ยืมทางการเงินเพื่อสร้าง "กับดักทางหนี้สิน" บีบให้ประเทศลูกหนี้ต้องยอมตาม บางประเทศที่ไม่ยอมตาม เช่น ปาเลา ก็ถูกปิดล้อมทางเศรษฐกิจด้วยการที่จีนเข้าไปทำลายการท่องเที่ยวซึ่งเป็นแหล่งรายได้หลักของประเทศด้วยว่าจีนไม่พอใจที่ปาเลายังคงมีความสัมพันธ์กับไต้หวัน

ยังมีความเป็นไปได้ที่การกระทำของจีนต่อประเทศเหล่านี้จะทำให้เกิดการขาดเสถียรภาพในบางประเทศ นักข่าวอย่างเบนและคนอื่นๆ ประเมินว่าอาจมีการโต้ตอบจากประชาชนในพื้นที่ที่ไม่พอใจกับความพยายามครอบงำการเมืองและเศรษฐกิจโดยจีน ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการนำคนจีนเข้าประเทศเป็นจำนวนมากด้วย ถ้าหากมีเหตุต่อต้านที่ทำให้ขาดเสถียรภาพเกิดขึ้น จีนก็จะหาข้ออ้างที่จะใช้กำลังนาวิกโยธินที่ได้ขยายขนาดกองทัพอย่างรวดเร็วจาก 10,000 นาย เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาเป็น 30,000 นายในปัจจุบันเพื่อเข้าไปปกป้องผลประโยชน์และพลเมืองของตัวเองในประเทศอื่นได้ โดยจีนสามารถวางกำลังทางน้ำเอาไว้ในทะเลแปซิฟิกใต้ได้อย่างยาวนาน ในขณะที่เตรียมพร้อมเข้าแทรกแซงกิจการภายในของกลุ่มประเทศเล็กๆ ในโอเชียเนียได้ถ้ารัฐบาลของประเทศนั้นๆ ไม่สามารถรักษาเสถียรภาพภายในประเทศได้

เบนระบุอีกว่า สาเหตุที่จีนแผ่ขยายอิทธิพลในสู่โอเชียเนียเช่นนี้ไม่เพียงแค่พวกเขาต้องการทรัพยากร แต่ยังเป็นการปูทางเพื่อไปสู่ทวีปแอนตาร์กติกาและอเมริกาในอนาคตได้ ขณะที่อดีตเจ้าหน้าที่ข่าวกรองอย่างเจมส์บอกว่าจีนพยายามปิดกั้นอิทธิพลและศักยภาพทางการทหารของสหรัฐฯ ในพื้นที่เหล่านี้ผ่าน "สงครามการเมือง" การที่จีนแผ่อิทธิพลลงมาเช่นนี้ทำให้การดำเนินกิจกรรมทางทหารที่สำคัญของสหรัฐฯ บนหมู่เกาะนอร์เทิร์นมาเรียนา (CNMI) ซึ่งอยู่เหนือเกาะกวมไปไม่ไกลและเป็นเขตปกครองโดยสหรัฐฯ ถูกรบกวน

เจมส์ยังพูดถึงถึงเรื่องการที่มีกลุ่มผู้พัฒนารีสอร์ทชาวจีนเข้าไปขัดขวางปฏิบัติการซ้อมรบแบบสะเทินน้ำสะเทินบกของสหรัฐฯ แถวเกาะ Pagan ในหมู่เกาะนอร์ทเทิร์นมาเรียนนา และในรายงานของสหรัฐฯ ก็ระบุถึงปฏิบัติการจากเจ้าของคาสิโนรีสอร์ทจีน "อัลเตอร์ซิตี้กรุ๊ป" ที่ล็อบบี้เจ้าหน้าที่ทางการในพื้นที่หมู่เกาะนอร์เทิร์นมาเรียนาไม่ให้สหรัฐฯ เข้าไปตั้งฐานทัพได้ โดยให้เหตุผลว่าเพราะผลประโยชน์จากกองทัพมีน้อยและจะสร้างภาระอย่างหนักในระดับไม่อาจรับมือได้

รายงานของเอเชียไทม์ระบุว่าปฏิบัติการเหล่านี้ของจีนถูกมองว่าเป็นความทะเยอะทะยานใน "การล่าอาณานิคมแบบใหม่" ที่มีแรงจูงใจจะครอบงำประเทศหมู่เกาะเหล่านี้ที่มีประชากรน้อย มีทรัพยากรมากและมีความสำคัญทางพื้นที่ยุทธศาสตร์ต่อการจัดวางทั้งทุนจีน กลุ่มชาวจีน และวิสัยทัศน์ในการยึดครองภูมิภาค

เรียบเรียงจาก

China’s plan for conquest of the South Pacific, Kerry K Gershaneck, Asia Times, Sep. 7, 2018

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท