Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

คนพิการหมายถึงคนที่มีความผิดปกติ หรือบกพร่องทางร่างกาย สติปัญญา หรือทางจิตใจ โดยลักษณะของผู้พิการ กระทรวงสาธารณสุขจะแบ่งเป็นทั้งหมด 5 ประเภท แต่ในบทความนี้ผู้เขียนขออธิบายถึงประเภทที่ 3 ซึ่งหมายถึง คนพิการทางกายหรือการเคลื่อนไหว  เนื่องจากช่วงระยะเวลา 1 ปีที่ผู้เขียนได้ทำกิจกรรมร่วมกับผู้พิการนับว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงทัศนคติของผู้เขียนไปพอสมควร

คนพิการทางการเคลื่อนไหวนั้นถูกแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่

(ก) คนที่มีความผิดปกติหรือความบกพร่องของร่างกายที่เห็นได้อย่างชัดเจนและไม่สามารถประกอบกิจวัตรหลักในชีวิตประจำวันได้หรือ

(ข) คนที่มีการสูญเสียความสามารถในการเคลื่อนไหวมือแขนขาหรือลำตัวอันเนื่องมาจากแขนหรือขาขาดอัมพาตหรืออ่อนแรงโรคข้อหรืออาการปวดเรื้อรังรวมทั้งโรคเรื้อรังของระบบการทำงานของร่างกายอื่นๆที่ทำให้ไม่สามารถประกอบกิจวัตรหลักในชีวิตประจำวันหรือดำรงชีวิตในสังคมเยี่ยงคนปกติได้ (มีหนุน, 2555)

ในอดีตผู้พิการในสังคมไทยไม่มีพื้นที่ทางสังคมมากนัก เนื่องจากขีดจำกัดทางความสามารถของเทคโนโลยี และเศรษฐกิจในยุคก่อนที่ต้องใช้แรงงานมนุษย์เป็นปัจจัยหลัก ดังนั้นผู้พิการที่ไม่สามารถเป็นแรงงานให้แก่ตลาดได้จึงเป็นภาระให้แก่ครอบครัว ประกอบกับสังคมในอดีตที่ผูกติดความเชื่อไว้กับศาสนา คนพิการจึงเปรียบเสมือนผู้ที่มีบาปหนักในอดีตชาติ เมื่อเกิดมาจึงต้องมาใช้เวรใช้กรรม จึงส่งผลให้ผู้พิการกลายเป็นที่น่ารังเกียจ ถึงกับมีคำสอนห้ามคนกระทำความชั่ว เพราะเกิดมาชาติหน้าก็จะมีรูปลักษณ์ที่พิการ ความเชื่อนี้ได้ดำเนินไปเรื่อยๆจวบจนกระทั่งได้เข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม ที่เหล่านายทุนต่างโหยหาผู้มีความสามารถเฉพาะทางเข้าสู่ตลาดแรงงาน ซึ่งนั้นทำให้เกิดโรงเรียนอาชีวะหลายแห่งเพื่อสร้างคนเข้าสู่ระบบตลาด ในยุคนี้คนพิการเริ่มมีช่องทางในการปลดแอกตัวเองออกจากค่านิยมดั้งเดิมว่าคนพิการเป็นภาระ ถึงแม้ว่าจะเป็นการยาก แต่ด้วยอิทธิพลของแนวคิดมนุษยนิยม และ ประชาธิปไตยที่เฟื่องฟู ที่เน้นหลักความเท่าเทียมของมนุษย์โดยไม่มีการแบ่งแยก แนวคิดนี้ได้ส่งผลให้เส้นแบ่งระหว่างคนพิการและคนปกติเจือจางลง แม้แต่ประเทศไทยเองก็ได้ระบุในรัฐธรรมนูญ มาตราที่ 27 โดยมีเนื้อความว่า

“บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย มีสิทธิและเสรีภาพและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน

ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน
 

การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล ไม่ว่าด้วยเหตุความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ ความพิการ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคลฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ หรือเหตุอื่นใด จะกระทำมิได้
 

มาตรการที่รัฐกำหนดขึ้นเพื่อขจัดอุปสรรคหรือส่งเสริมให้บุคคลสามารถใช้สิทธิหรือเสรีภาพได้เช่นเดียวกับบุคคลอื่น หรือเพื่อคุ้มครองหรืออำนวยความสะดวกให้แก่เด็ก สตรี ผู้สูงอายุคนพิการ หรือผู้ด้อยโอกาส ย่อมไม่ถือว่าเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมตามวรรคสาม
 

บุคคลผู้เป็นทหาร ตำรวจ ข้าราชการ เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ และพนักงานหรือลูกจ้างขององค์กรของรัฐย่อมมีสิทธิและเสรีภาพเช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป เว้นแต่ที่จำกัดไว้ในกฎหมายเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการเมือง สมรรถภาพ วินัย หรือจริยธรรม”

จะเห็นได้ว่าแม้แต่กฎหมายสูงสุดของประเทศเองก็ให้ความเคารพคนพิการในฐานะประชาชนซึ่งไม่มีพันธะทางเวรกรรมที่ต้องมาชดใช้ แต่คนพิการก็คือพลเมืองคนหนึ่งที่รัฐ และคนในสังคมจะต้องตระหนักและปฏิบัติประหนึ่งว่าคนกลุ่มนี้ก็เป็นมนุษย์เช่นกัน แต่น่าเสียดายที่คนในสังคมยังคงยึดติดในภาพมายาคติที่คนพิการต้องน่าสงสารแล้วต้องรอเป็นผู้รับอย่างเดียวจึงทำให้สิทธิของคนพิการในช่วงนี้ยังไม่ได้รับการสนใจเท่าไหร่นัก จวบจนเมื่อเวลาผ่านไปจนเข้าสู่ยุคโลกาภิวัตน์ เทคโนโลยีรุดหน้าไปมาก มีการผลิตรถเข็นไฟฟ้าสำหรับผู้พิการเพื่อที่จะได้ไม่ต้องพึ่งพาคนปกติ หรือไม่ก็มีอุปกรณ์หลายอย่างที่ช่วยทุนแรงให้ผู้พิการสามารถทำอะไรหลายอย่างได้มากขึ้น ในยุคนี้คนพิการได้รับการยอมรับมากขึ้น สิทธิของคนพิการได้รับการสนใจมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามมุมมองของคนปกติที่มองผู้พิการก็ยังคงเป็นแบบเดิมอยู่ดี ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเอ่ยถึงผู้พิการ คนในสังคมหลายคนก็จะนึกถึงคนที่นั่งอยู่บนรถเข็น ที่ต้องได้รับการปกป้องดูแล และช่วยเหลือตลอดเวลา เป็นบุคคลน่าเวทนาที่ไม่สามารถใช้ชีวิตได้เหมือนคนปกติ ดังนั้นกิจกรรมที่ร่วมกับผู้พิการจึงกลายเป็นกิจกรรมที่มีความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างผู้ให้ กับ ผู้รับ ซึ่งผู้เขียนมองว่าน่าเสียดายที่หลายคนไม่เคยได้เข้ามาพบปะหรือพูดคุยกับผู้พิการอย่างเป็นจริงเป็นจัง แล้วจะเห็นว่าแท้จริงแล้วคนพิการไม่ใช่คนอ่อนแอที่ต้องการความช่วยเหลือ หรือ การปฏิบัติที่ดีกว่าคนอื่น แต่คนพิการก็คือ “คน” เหมือนเราทุกคนทุกประการ เพียงแค่คนพิการอาจมีข้อจำกัดบางอย่างที่ไม่สามารถทำได้ หรือ อาจต้องใช้เวลามากกว่าคนอื่น แต่ถึงกระนั้นคนพิการก็พยายามที่จะทำ และ ก้าวข้ามขีดจำกัดทางกายภาพเพื่อให้ตัวเองไม่เป็นภาระของคนปกติ แต่สิ่งที่คนพิการหลายคนต้องเผชิญไม่ใช้ปัญหาทางกายภาพ แต่เป็นมายาคติที่คนในสังคมมอง ไม่ว่าจะเป็นการที่คนพิการจะต้องอยู่อย่างสงบเสงี่ยมเพื่อรอรับความช่วยเหลือจากสังคมหรือ การที่คนพิการจะไปหาที่พักอาศัย ก็ไม่ได้รับการต้อนรับจากเจ้าของหอพักเท่าไหร่นัก เพียงเพราะว่ากลัวจะมาเป็น “ภาระ” หรือแม้แต่การจะออกไปดื่มเหล้าก็เป็นเรื่องแปลกประหลาด หลายคนมักจะยกคำว่า “ของไม่ดีต่อสุขภาพ” เพื่อกีดกันทางอ้อมเพื่อไม่ให้คนเหล่านี้เข้าไปมีส่วนในพื้นที่ของความบันเทิง แต่หากคุณเป็นคนปกติ การดื่มเหล้าจะหลุดกรอบของ “ดี ไม่ดี” ไปเลยทีเดียว ดังนั้นหากจะกล่าวว่าในยุคปัจจุบันคนพิการได้รับการยอมรับขึ้นก็ไม่สามารถพูดได้เต็มปากนัก


เห็นได้ว่าการเป็นผู้พิการในยุคโลกาภิวัตน์ที่ถึงแม้จะเต็มไปด้วยเทคโนโลยีที่สลายพรมแดนทางความคิดหลายอย่างลงได้ แต่น่าเสียดายที่พรมแดนเส้นแบ่งทางความคิดระหว่างผู้พิการ กับ คนปกติ กลับไม่สามารถสลายไปได้ คนพิการยังคงถูกนำไปเชื่อมกับบาป-บุญ และการเป็นภาระในสังคม แม้คนเหล่านี้จะพยายามผลักดันตัวเองขนาดไหน แต่ถ้ามายาคติที่มองว่าคนพิการเป็นผู้ที่ต้องรอคอยความช่วยเหลือ และยากที่จะผงาดขึ้นมาเหมือนคนปกติได้  มันส่งผลต่อคนพิการที่แม้ว่าจะประสบความสำเร็จแล้วนำรางวัลเกียรติยศมาครอบครองได้ อย่างไรเสียก็ไม่มีทางจะเท่าเทียมกับคนปกติ เนื่องจากคนเหล่านี้มียังคงนั่งวีลแชร์ หรือไม่สามารถเดินเหมือนคนปกติได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาเกี่ยวกับคนพิการว่าแท้จริงแล้วสิ่งที่เป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตของคนกลุ่มนี้เป็นเพราะร่างกายของพวกเขา หรือ มายาคติของคนในสังคมที่กอดรัดคนเหล่านี้ไว้ให้ติดกับชุดความคิดดั่งเดิมว่าคนพิการคือคนน่าสงสาร และเป็นมีสถานะเป็นแค่ “ผู้รับ” ได้แต่เพียงอย่างเดียว



บรรณานุกรม

ปทิตตา มีหนุน. (28 มีนาคม 2555). ความพิการ ความหมาย และประเภท เพื่อการขอรับสิทธิประโยชน์จากรัฐ. เรียกใช้เมื่อ 31 สิงหาคม 2561 จาก มหาวิทยาลัยมหิดล ศูนย์กายภาพบำบัด: http://www.pt.mahidol.ac.th/knowledge/?p=70

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net