Skip to main content
sharethis

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้รับการติดต่อจากกลุ่มพิทักษ์สิทธิลูกหนี้ว่ามีผู้เสียหายที่ทำสัญญากู้ยืมเงินกับ บริษัท เงินติดล้อ จำกัด และ บริษัท เมืองไทยแคปปิตอล จำกัด (มหาชน) เป็นจำนวนกว่า 100 ราย โดยบริษัททั้งสองให้กู้ยืมเงิน โดยคิดดอกเบี้ยเกินกว่ากฎหมายกำหนด ซึ่งผู้เสียหายได้ตั้งทนายเพื่อดำเนินการฟ้องทั้งสองบริษัทเป็นคดีกลุ่มแล้ว ที่ศาลแพ่ง (รัชดาภิเษก) และ ศาลจังหวัดตลิ่งชัน

12  ก.ย. 2561 ศูนย์ข่าวมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค รายงานว่า วันนี้ เวลา 13.30 น. ตัวแทนกลุ่มผู้เสียหายจากการกู้เงินและทนายความได้เข้า มาร่วมกันแถลงข่าว เพื่อเตือนภัยสังคมและมุ่งหวังให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดการปัญหาในเชิงนโยบาย

ประสิทธิ์ ป้องเศษ  ตัวแทนกลุ่มผู้เสียหายที่กู้เงินกับ บ.เงินติดล้อฯ กล่าวว่า  เมื่อวันที่ 11 ก.พ. 2559 ได้กู้ยืมเงินจำนวน 10,000 บาท ทางบริษัทฯบังคับให้ทำประกันภัยรถจักรยานยนต์ โดยมีเบี้ยประกันจำนวน 926 บาท ได้รับเงินจริงจำนวน 9,074 บาท แต่ในสัญญาระบุว่ากู้เงิน 10,926 บาท โดยคิดดอกเบี้ยร้อยละ 2.50 ต่อเดือน เท่ากับ 30% ต่อปี และผ่อนชำระคืนเป็นรายงวด งวดละ 1,184 บาท ทั้งหมด 12 งวด เป็นเงินทั้งหมด 14,208 บาท และให้มอบคู่มือรถจักรยานยนต์ไว้เป็นประกันการกู้ยืมเงิน ได้ชำระเงินงวดแรกในเดือนมีนาคมตามสัญญาจำนวน 1,184 บาท แต่งวดที่สองไม่ได้ชำระ บริษัทได้ส่งหนังสือทวงถาม จึงไปชำระในเดือนพฤษภาคม บริษัทฯได้คิดค่าทวงถาม 100 บาท และคิดดอกเบี้ย  253.19 บาท ค่าธรรมเนียม 590.77 บาท ค่าปรับ 11.02 บาท รวมเป็นเงินชำระ 2,480 บาท จึงได้ไปขอความช่วยเหลือจากกลุ่มพิทักษ์สิทธิลูกหนี้ และชำระปิดบัญชีไป 12,600 บาท รวมชำระทั้งสิ้น 16,264 บาท

เหตุที่กู้เงิน เนื่องจากมีปัญหาเดือดร้อนเรื่องเงิน และมีเพื่อนเคยขอกู้จากบ.เงินติดล้อ กู้แล้วได้เงินเร็ว ไม่ต้องใช้เอกสารเยอะ เป็นเจ้าของรถจักรยานยนต์ 

ภารดร บาตรโพธิ์ ตัวแทนกลุ่มผู้เสียหายที่กู้เงินกับ บ.เงินติดล้อฯ กล่าวว่า ได้กู้เงินเมื่อ 9 ส.ค. 2560 จำนวน 15,000 บาท และบังคับให้ทำประกันภัย 500 บาท ได้รับเงินจริงเพียง 14,500 บาท แต่ในสัญญาระบุเงินกู้ 16,145 บาท และกำหนดให้ชำระเป็นรายเดือนงวดละ 1,628 บาท จำนวน 12 งวด ได้ชำระเงินไปจำนวน 4 งวด แต่เมื่อทราบข่าวกลุ่มพิทักษ์สิทธิลูกหนี้ จึงนำเงินไปปิดบัญชี

ทิวา มะลินทา สมาชิกกลุ่มผู้เสียหายที่กู้เงินกับ บ.เงินติดล้อฯ กล่าวว่า ได้กู้เงินเมื่อเดือนสิงหาคม 2560 จำนวน 15,000 บาท แต่ได้เงินไม่เต็มจำนวน ชำระเงินไปจำนวน 8 งวด เมื่อวันที่ 11 ส.ค. 2561 ได้ขอปิดบัญชี พบว่าบริษัทฯ แจ้งว่าต้องจ่ายเงินค่าทวงถาม ค่ายึดรถ เบี้ยปรับล่าช้า เป็นเงินประมาณ 10,589 บาท จากการค้างชำระเพียง 4 งวด

วิษณุ สนองเกียรติ ทนายความ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า หลังจากได้รับการติดต่อขอความช่วยเหลือ จากลูกหนี้  ก็ติดต่อกับกลุ่มพิทักษ์สิทธิว่าจะให้ความช่วยเหลือในการฟ้องคดีแบบกลุ่มกับบริษัทดังกล่าว   เพราะจากการตรวจสอบพบว่า บริษัทฯ  ให้กู้ยืมเงิน โดยมีการจำนำทะเบียนรถไว้ ซึ่งส่วนมากเป็นรถจักรยานยนต์  เงินต้นที่ผู้เสียหายกู้ถูกบวกค่าธรรมเนียมและค่าประกันภัย  แล้วไปตั้งเป็นเงินต้น  โดยระบุอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1.50 ต่อเดือน 1.75 ต่อเดือน และ 2.50 ต่อเดือน ซึ่งรวมแล้วสูงถึงร้อยละ 18  ต่อปี 21 ต่อปี และ 30 ต่อปี  ซึ่งเกินกว่ากฎหมายกำหนด  จึงต้องฟ้องเป็นคดีแบบกลุ่มเพื่อให้ทุกคนที่ไปกู้ยืมเงินกับบริษัทนี้ได้รับการคุ้มครองไปด้วย

ถึงแม้การดำเนินธุรกิจเงินติดล้อ จะได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลัง หากเป็นหนี้ที่มีหลักประกัน ไม่สามารถเรียกดอกเบี้ยเกินกว่าร้อยละ 15  ต่อปีได้ ถือว่าผิดกฎหมายและดอกเบี้ยที่ผิดกฎหมายสามารถเรียกคืนได้

วาสนา เนินสลุง ตัวแทนกลุ่มผู้เสียหายที่กู้ยืมเงินกับ บมจ. เมืองไทยแคปปิตอล  กล่าวว่า  ไปกู้ยืมเงิน จำนวน 25,000 บาท โดยเป็นเจ้าของรถจักรยานยนต์ และให้มอบคู่มือรถจักรยานยนต์ไว้เป็นประกันการกู้ยืม และเซ็นโอนลอยรถจักรยานยนต์ไว้  โดยต้องจ่ายดอกเบี้ยทุก 3 เดือน จำนวน 1,803 บาท  ชำระดอกเบี้ยไป 3 งวด  แต่คลอดบุตรจึงไม่ได้ชำระในงวดที่ 4 บริษัทฯ ได้ติดตามทวงถามที่บ้าน แจ้งว่า ถ้าไม่ไปชำระพ่อแม่จะติดคุก และติดกระดาษที่บ้านแม่ ว่าให้พ่อแม่ติดต่อลูกเพื่อให้ไปชำระหนี้ จำนวน 26,790 บาท ค่าปรับ 804  บาท รวมเป็นเงินที่ต้องชำระ 27,564 บาท ได้แจ้งขอชำระดอกเบี้ย แต่บริษัทฯ ไม่ยินยอมให้ชำระ

ศุภวุฒิ อยู่วัฒนา ทนายความที่ปรึกษากลุ่มพิทักษ์สิทธิลูกหนี้ กรณีของผู้เสียหายกลุ่มนี้ จากการตรวจสอบพบว่าบริษัทไม่ส่งมอบสัญญาให้ผู้กู้ และไม่แจ้งว่าคิดดอกเบี้ยเท่าไร แต่ใช้วิธีบอกว่าผู้กู้ต้องคืนดอกเบี้ยเป็นเงินจำนวนเท่าไรแทน ในระยะเวลา 3 เดือน หากคำนวณดอกเบี้ย ร้อยละ 2.4 ต่อเดือน คิดเป็นกว่าร้อยละ 28 ต่อปี หากผู้กู้ไม่สามารถชำระเงินกู้และดอกเบี้ยคืนได้ภายในกำหนด บริษัทฯ จะดำเนินการยึดรถที่โอนลอยไว้ หรือเรียกให้ชำระเงินกู้พร้อมดอกเบี้ยคืนโดยทันที

นฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิ กล่าวว่า สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ หรือ สินเชื่อ Car  for cash นั้น ยังไม่พบว่าอยู่ภายใต้การกำกับของหน่วยงานใด หากผู้ประกอบธุรกิจการกู้ยืมเงินที่มีการจำนำทะเบียนรถจักรยานยนต์หรือรถยนต์ ต้องใช้เกณฑ์ในการคิดตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่คิดได้ไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปีเท่านั้น  ซึ่งการกระทำของผู้ประกอบธุรกิจทั้งสองบริษัท อาจเข้าข่ายมีความผิดตาม   พรบ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2560  ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 2 แสนบาท หรือทั้งจำและปรับ และได้รับทราบว่า  กระทรวงการคลังกำลังจัดทำ (ร่าง) พระราชบัญญัติการกำกับดูแลผู้ให้บริการทางการเงิน พ.ศ. ...  ซึ่งในร่างกฎหมายฉบับนี้มีบทกำหนดโทษหากผู้ประกอบธุรกิจฝ่าฝืนกฎหมาย และอยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็น จึงขอเสนอให้กระทรวงการคลังเร่งพิจารณาการกฎหมายดังกล่าว  

หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิ กล่าวอีกว่า เรื่องร้องเรียนที่มามูลนิธิฯ จะมีลักษณะเดียวกัน จึงเห็นว่าขณะนี้การทำธุรกิจสินเชื่อประเภทการจำนำทะเบียนรถมีมากมาย  และยังไม่มีเกณฑ์ในการกำหนดว่าให้คิดดอกเบี้ยค่าธรรมเนียมเท่าไร จึงอยากฝากถึงผู้บริโภคที่จำเป็นต้องใช้เงิน ว่า ควรตรวจสอบอัตราดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียมต่างๆ  ของบริษัทก่อนว่าคิดเกินร้อยละ 15 ต่อปีหรือไม่  ส่วนผู้บริโภคที่ได้รับทราบข่าวแล้วตรวจสอบพบว่ามีปัญหาเหมือนกับกลุ่มผู้เสียหาย  สามารถแจ้งมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net