Skip to main content
sharethis

เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาประกาศให้ พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. และพ.ร.ป.การได้มาซึ่ง ส.ว. เป็นกฎหมายแล้ว ไทม์ไลน์สู่การเลือกตั้งนับจากนี้ต้องรอให้ พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. มีผลบังคับใช้อีก 90 วัน หลังจากนั้นให้จัดการเลือกตั้งภายใน 150 วัน ส่วน ส.ว. 250 คนสามารถดำเนินสรรหามาให้ คสช. เลือกได้เลย

12 ก.ย. 2560 เว็บไชต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.) และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.) แล้ว

ผู้สื่อข่าวประชาไทรายงานเพิ่มเติมว่า ตามรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2560 มาตรา 268 ระบุว่า ให้ดำเนินการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้แล้วเสร็จภายใน 150 วัน หลังจาก พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง , พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง , พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. มีผลบังคับใช้

อย่างไรก็ตามเมื่อวันที่ 25 ม.ค. 2561 ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) โดยลงมติเห็นชอบให้ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มีผลบังคับใช้ออกไปอีก 90 วันหลังมีการประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา โดยที่ประชุมได้ให้เหตุผลว่า เพื่อให้ประชาชนและผู้เกี่ยวข้อง มีเวลาเตรียมตัว ศึกษาทำความเข้าใจ เตรียมความพร้อมกับระบบเลือกตั้งแบบใหม่

นั่นเท่ากับว่า ระยะเวลาในการเตรียมการจัดการเลือกตั้ง 150 วันจะมีผลเริ่มนับได้ตั้งแต่วันที่ 11 ธ.ค. 2561 และการเลือกตั้งจะขึ้นได้อย่างช้าที่สุดไม่เกินวันที่ 9 พ.ค. 2562 ตามกรอบ 150 วัน แต่อย่างไรก็ตามกฎหมายไม่ได้ระบุให้ใช้ระยะเวลาเต็มตามกรอบนี้ หากแต่สามารถจัดการเลือกตั้งภายในระยะเวลาเท่าใดก็ได้แต่ต้องไม่เกิน 150 วัน

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 18 ส.ค. 2561 อิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. ระบุว่า หลังจากที่กฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. มีผลบังคับใช้ คาดว่า จะมีการประกาศ พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง ส.ส. วันที่ 4 ม.ค.2562 และเลือกตั้งในวันที่ 24 ก.พ.2562 หรือช้าสุดไม่เกินวันที่ 2 พ.ค. 2562

ในส่วนของการทำกิจกรรมของพรรคการเมืองนั้น หลังจากนี้ คสช. จะมีออกสั่งโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 เพื่อคลายล็อคทางการเมืองพรรคการเมืองทุกพรรคสามารถทำกิจกรรมการทางเมือง เช่น ให้มีการประชุมใหญ่พรรค ให้เลือกหัวหน้า-กรรมการบริหารพรรค จัดทำข้อบังคับพรรค ประกาศอุดมการณ์พรรค และเปิดรับสมาชิกพรรค รวมทั้งดำเนินการสรรหาผู้ลงรับสมัครเลือกตั้งในระบบแบ่งเขต และระบบบัญชีรายชื่อได้ แต่ยังคงห้ามให้มีการลงพื้นที่หากเสียงทางการเมือง

ในส่วนของการดำเนินการคัดเลือกผู้ดำรงตำแหน่ง ส.ว. นั้น เมื่อวันที่ 5 ก.ย. พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. เปิดเผยว่า เมื่อ พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วจะมีผลบังคับใช้ทันที กระบวนการสรรหา ส.ว. ก็ต้องเริ่มดำเนินการในทันที โดยหลังจากนี้ กกต.จะพิจารณาให้ความเห็นชอบระเบียบ กกต.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. จากนั้น 12 ต.ค. จะประกาศกำหนดวันลงทะเบียนองค์กร เพื่อเป็นองค์กรที่จะมีสิทธิเสนอชื่อผู้สมัคร ส.ว. และแจ้งให้สำนักงาน กกต.จังหวัดทราบ วันที่ 22-31 ต.ค. สำนักงานกกต.จังหวัด รับลงทะเบียนองค์กร วันที่ 16 พ.ย. คณะรัฐมนตรีเห็นชอบและนายกรัฐมนตรี นำ พ.ร.ฎ.ให้มีการเลือก ส.ว. ทูลเกล้าฯ วันที่ 20 พ.ย. ประกาศรายชื่อองค์กรที่มีสิทธิแนะนำชื่อบุคคลเพื่อสมัครรับเลือกเป็น ส.ว. แยกเป็นรายกลุ่ม

นอกจากนี้ วันที่ 30 พ.ย.คาดว่า พ.ร.ฎ ให้มีการเลือก ส.ว.มีผลใช้บังคับ วันที่ 5 ธ.ค. กกต.ประกาศเกี่ยวกับวันเลือก วันรับสมัคร และสถานที่เลือก ซึ่งระดับอำเภอภายใน 20 วัน นับแต่วันสิ้นสุดระยะเวลารับสมัคร ระดับจังหวัดภายใน 7 วันนับแต่วันเลือกในระดับอำเภอ และระดับประเทศภายใน 10 วันนับแต่วันเลือกในระดับจังหวัด เปิดรับสมัคร ส.ว. วันที่ 10-14 ธ.ค. ซึ่งเป็นการเปิดรับสมัครไม่เกิน 15 วันนับแต่วันที่มี พ.ร.ฎ. และวันที่ 30 ธ.ค. จะเป็นวันเลือก ส.ว. ในระดับอำเภอ วันที่ 6 ม.ค. 62 เลือก ส.ว.ในระดับจังหวัด วันที่ 16 ม.ค. เลือก ส.ว.ในระดับประเทศ วันที่ 17-21 ม.ค. กกต. รอไว้ 5 วันตามที่กฎหมายกำหนด และวันที่ 22 ม.ค. กกต.แจ้งรายชื่อผู้ได้คะแนนสูงสุดลำดับที่ 1-10 ของแต่ละกลุ่ม แต่ละวิธีสมัคร รวม 200 คนให้คสช.คัดเลือกเป็นส.ว. 50 คน และคัดเลือกอีก 50 คน เป็นบัญชีสำรอง

ทั้งนี้ ตามบทเฉพาะกาลของ พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. กำหนดให้ ส.ว. ชุดแรกมีจำนวนทั้งหมด 250 คน ซึ่งแต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์ตามที่ คสช. ถวายคำแนะนำ โดยมีช่องทางในการสรรหาทั้งหมด 3 ทางคือ

1.ให้คณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาซึ่งแต่งตั้งโดย คสช. จำนวน 9-12 คน คัดเลือกบุคคลมาทั้งหมด 400 รายชื่อยื่นเสนอต่อ คสช. จากนั้น คสช. จะเป็นผู้เลือกให้เหลือ 194 รายชื่อเพื่อเป็นสมาชิกวุฒิสภา และคัดเป็นรายชื่อสำรอง 50 รายชื่อ

2.ให้ กกต. ดำเนินการจัดให้มีการคัดเลือกสมาชิกวุฒิสภาตามบททั่วไป แต่ให้มีการรับสมัครเพียงแค่ 10 กลุ่มอาชีพ ตามมาตรา 91 และให้มีการดำเนินการคัดเลือกตามที่บทเฉพาะกาลบัญญัติไว้ สุดท้ายให้ได้รายชื่อทั้งหมด 200 รายชื่อ เพื่อยืนให้ คสช. คัดเลือกให้เหลือ 50 รายชื่อเพื่อเป็นสมาชิกวุฒิสภา และคัดเป็นรายชื่อสำรอง 50 รายชื่อ

3.ให้มีสมาชิกวุฒสภาโดยตำแหน่ง 6 ตำแหน่งดังต่อไปนี้ ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติ

โดย ส.ว.ชุดนี้จะมีวาระดำรงตำแหน่ง 5 ปี และในวาระเริ่มแรกจะมีอำนาจให้ความเห็นชอบผู้สมควรดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ด้วย ซึ่งจากเดิมเป็นอำนาจในการพิจารณาให้ความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งเท่านั้น และยังมีหน้าที่ในการตรวจการ กำกับ ดูแล การทำงานของรัฐบาลให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net