Skip to main content
sharethis

'กองทุนรักษาพยาบาล อปท.' 5 ปี พัฒนาระบบต่อเนื่อง ดูแลพนักงาน-ลูกจ้าง อปท.กว่า 6 แสนคน เข้าถึงการรักษา เผยปี 61 อัตรารับบริการ 4.95 ครั้ง/คน/ปี จากปี 57 อยู่ที่ 3.59 ครั้ง/คน/ปี ด้าน 'นายกเทศมนตรีตำบลอุโมงค์' ชื่นชมบริหารจัดการกองทุนฯ ชี้หลังใช้สมาร์ทการ์ดประชาชนใบเดียว ยิ่งเพิ่มความสะดวก รวดเร็ว เข้ารับบริการ พร้อมเสนอรุกเพิ่มใช้สิทธิ รพ.สต. 

13 ก.ย.2561 นพ.การุณย์ คุณติรานนท์ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ในอดีตพนักงานและลูกจ้างที่อยู่ในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล มีการดำเนินการเรื่องสวัสดิการการรักษาพยาบาลกันเอง เป็นกองทุนย่อยจำนวน 7,851 แห่ง ทำให้เกิดความเสี่ยงในเรื่องการตั้งงบค่ารักษาพยาบาลไม่เพียงพอ อีกทั้งพนักงานและลูกจ้าง อปท.ต้องสำรองจ่ายค่ารักษาพยาบาลไปก่อน ทำให้พนักงานและลูกจ้าง อปท.รวมถึงครอบครัว โดยเฉพาะพนักงานชั้นผู้น้อยต้องเผชิญกับสถานการณ์ไม่มีเงินสำรองจ่ายค่ารักษาพยาบาล โดยเฉพาะกรณีที่เป็นโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง ทำให้เข้าไม่ถึงการรักษาพยาบาล ดังนั้นในปี 2556 อปท.ทั่วประเทศ ได้มีข้อเสนอนโยบายในการรวมงบประมาณค่ารักษาพยาบาลของอปท.ทุกแห่งและจัดตั้งเป็น“กองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลของพนักงานและลูกจ้าง อปท.” โดยมอบให้ สปสช.ในฐานะหน่วยงานบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติทำหน้าที่บริหารจัดการกองทุนฯ ซึ่งได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2556 เป็นต้นมา

ทั้งนี้จากการดำเนินงานกองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลฯ อปท. ปีงบประมาณ 2557 ที่เป็นปีแรกในการดำเนินงานกองทุน มีผู้ลงทะเบียนสิทธิ อปท.จำนวน 587,503 คน เข้ารับบริการจำนวน 2,106,378 ครั้ง เฉลี่ยอัตราเข้ารับบริการ 3.59 ครั้งต่อคนต่อปี มีการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลจำนวน 3,411,578,826 บาท การดำเนินการที่ผ่านมาส่งผลให้เกิดการเข้าถึงบริการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2560 มีผู้ลงทะเบียนสิทธิ อปท.จำนวน 616,042 คน เข้ารับบริการจำนวน 3,053,926 ครั้ง เฉลี่ยอัตราเข้ารับบริการ 4.96 ครั้งต่อคนต่อปี มีการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลที่ 6,164,842,162 บาท และล่าสุดปี 2561 มีผู้สิทธิ อปท.จำนวน 607,146 คน มีการรับบริการจำนวน 2,755,077 ครั้ง เฉลี่ยอัตราการรับบริการ 4.95 ครั้งต่อคนต่อปี มีการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลจำนวน 5,630,553568 บาท (ข้อมูล ณ วันที่ 2 ก.ย. 61)    

นพ.การุณย์ กล่าวต่อว่า การดำเนินงานกองทุนรักษาพยาบาลฯ อปท.ตลอดช่วง 5 ปีที่ผ่านมา สปสช.ได้พัฒนาการบริหารจัดการอย่างต่อเนื่อง โดยยึดหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายสิทธิประโยชน์และอัตราชดเชยค่าบริการเช่นเดียวกับสิทธิข้าราชการ นอกจากการจัดทำระบบตรวจสอบการเบิกจ่ายเพื่อความถูกต้องแล้ว ยังมีระบบการคุ้มครองสิทธิ รับเรื่องร้องเรียน ร้องทุกข์ และประสานแก้ไขปัญหาการใช้สิทธิเพื่อให้ผู้มีสิทธิเข้ารับบริการได้อย่างสะดวก และในปี 2561 นี้ยังมีการปรับการเข้ารับบริการโดยใช้ “บัตรประชาชนสมาร์ทการ์ด” แทนการลงทะเบียนเบิกจ่ายตรง นอกจากช่วยเพิ่มความสะดวกยิ่งขึ้นให้กับผู้มีสิทธิที่เข้ารับบริการแล้ว ยังลดภาระงานลงทะเบียนเบิกจ่ายตรงให้กับสถานพยาบาล ซึ่งจากนี้ สปสช.ยังมีนโยบายสู่การพัฒนาอย่างต่อเนื่อง อาทิ จัดทำแอปพลิเคชั่นการตรวจสอบสิทธิและยืนยันสิทธิด้วยตนเอง เป็นต้น เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการที่สะดวกรวดเร็ว

ด้าน ขยัน วิพรหมชัย นายกเทศมนตรีตำบลอุโมงค์ จ.ลำพูน กล่าวว่า จากการบริหารกองทุนอปท. โดย สปสช. ส่งผลดีอย่างมากในการช่วยเหลือพนักงานและลูกจ้าง อปท. นอกจากทำให้เข้าถึงการรักษาเพิ่มขึ้นแล้ว ยังคลายกังวลในเรื่องค่าใช้จ่ายในการรักษา เพราะไม่ต้องนำเงินไปสำรองจ่ายค่ารักษาอย่างในอดีต ทั้งปัจจุบันระบบยังมีความสะดวดรวดเร็วยิ่งขึ้น หลังจากที่ สปสช.ได้ทำการปรับระบบการเข้ารับบริการด้วยการใช้บัตรสมาร์ทการ์ดประชาชนใบเดียวเช่นเดียวกับระบบสวัสดิการข้าราชการ สร้างความพึงพอใจให้กับพนักงานและลูกจ้างอย่างมาก อย่างไรก็ตามหวังว่าในอนาคตจะมีการขยายให้สามารถใช้สิทธิบริการที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เพื่อสามารถที่จะไปรักษาพยาบาลใกล้บ้านใกล้ชุมชนในโรคที่ไม่ซับซ้อนได้ 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net