Skip to main content
sharethis

แรงงานข้ามชาติ 115 คน รับเงินจำนวน 8 ล้านบาท ภายหลังศาลแรงงานภาค 6 ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทแรงงาน กรณีพนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งให้นายจ้างจ่ายเงินแก่ลูกจ้างกว่า 25 ล้านบาท 'มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา' เผยยังพบนายจ้างจำนวนมากจงใจเลี่ยงการจ่ายค่าแรงให้กับแรงานข้ามชาติให้เป็นไปตามกฎหมาย

แฟ้มภาพ เว็บไซต์กระทรวงแรงงาน

13 ก.ย.2561 มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา แจ้งว่าเมื่อวันที่ 12 ก.ย.ที่ผ่านมา แรงงานข้ามชาติชาวเมียนมาร์ จำนวน 115 คน ซึ่งเป็นลูกจ้างของห้างหุ้นส่วนจำกัดแม่สอด พี.เอ. จำกัด โดย สุภา จักรเจริญทรัพย์ และบริษัท หุ้น แบงค์ค็อก จำกัด โดย พรทิพย์ แซ่หุ้น กรรมการผู้มีอำนาจกระทำแทนบริษัท เข้ารับเงินที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดตาก สาขาแม่สอด รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 8,000,000 บาท ภายหลังจาก พนักงานตรวจแรงงาน จ.ตาก มีคำสั่ง เมื่อวันที่ 29 ม.ค.ที่ผ่านมา ให้นายจ้าง คือ ห้างหุ้นส่วนจำกัด แม่สอดพีเอ และบริษัทหุ้นแบงค์ค็อก จำกัด จ่ายค่าจ้าง ค่าล่วงเวลาในวันเวลาทำงาน ค่าทำงานในวันหยุด ค่าล่วงเวลาในวันหยุด ค่าชดเชย และค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ให้กับแรงงานข้ามชาติของห้างหุ้นส่วนจำกัดแม่สอด พี.เอ จำนวน 115 คน รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 20,041,318.04 บาท (หรือประมาณ 64,000 ดอลล่าสหรัฐ)

สำหรับคดีนี้ มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา ระบุว่า สืบเนื่องจาก

  • วันที่ 27 ก.ย. 2560 แรงงานข้ามชาติจ้างจำนวน 115 คน ของโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าซึ่งจดทะเบียนในชื่อ ห้างหุ้นส่วนจำกัด แม่สอด พี.เอ.  อ.แม่สอด จ.ตาก ยื่นข้อเรียกร้องต่อนายจ้าง (โดย สุภา จักรเจริญทรัพย์ หุ้นส่วนผู้จัดการ) ให้ทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างงาน ซึ่งลูกจ้างได้เรียกร้องเป็นหนังสือโดยถูกต้องตามเงื่อนไขมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 นายจ้างไม่ยินยอมตามข้อเรียกร้องและไม่ได้มีการดำเนินการเจรจาให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด เป็นเหตุให้เกิดข้อพิพาทแรงงาน
  • หลังจากเกิดข้อพิพาทแล้ว ฝ่ายแรงงานผู้ยื่นข้อเรียกร้องจึงดำเนินการแจ้งเป็นหนังสือต่อพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงาน และได้มีการดำเนินการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท สองครั้งในช่วงเดือนตุลาคม 2560 แต่ไม่สามารถตกลงกันได้ และในระหว่างนี้แม้แรงงานจะได้เข้าทำงานตามปกติแต่นายจ้างได้งดจ่ายงานให้กับแรงงานทำภายในโรงงาน กระทั่งวันที่ 18 ต.ค. 2560 นายจ้างปิดประกาศภายในโรงงานให้แรงงานที่พักอาศัยภายในโรงงานขนย้ายของออกจากโรงงาน เป็นเหตุให้ตัวแทนแรงงานเข้าแจ้งความดำเนินคดีอาญากับนายจ้าง ที่สภอ.แม่สอด เนื่องจากเห็นว่าการกระทำของนายจ้างขัดต่อพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ แม้ว่าจะมีการนัดเจรจากันอีกครั้งในเดือน พฤศจิกายน 2560 แต่ไม่สามารถตกลงกันได้ และนายจ้างทำการปิดประกาศห้ามแรงงานเข้าภายในโรงงาน
  • วันที่ 10 พ.ย. 2560 ครบกำหนดการจ่ายเงินค่าจ้าง แต่นายจ้างไม่จ่าย และนายจ้างจงใจงดจ่ายงานแก่ลูกจ้าง ถือว่าเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมต่อลูกจ้าง ทำให้แรงงานข้ามชาติจำนวน 115 คน เข้ายื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จังหวัดตาก (สาขาแม่สอด) เพื่อให้มีการคุ้มครองแรงงานตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน
  • 12 ม.ค. 2561 พนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดตาก ออกคำสั่งเลขที่ 1/2561 ให้แรงงานข้ามชาติจำนวน 115 คน มีสิทธิได้รับการคุ้มครองตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 20,041,318.04 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยนับแต่ผิดนัดแก่แรงงานข้ามชาติทั้ง 115 คน หากฝ่ายนายจ้างและลูกจ้าง ไม่พอใจต่อคำสั่งดังกล่าว สามารถนำคดีขึ้นสู่ศาลได้ภายใน 30 วัน นับแต่ทราบคำสั่ง
  • 22 ก.พ. 2561 บริษัทหุ้น แบงค์ค็อกได้ยื่นฟ้องเพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน พร้อมวาง เงินต่อศาลแรงงาน เป็นเงินทั้งสิ้น 20,041,318.04 บาท เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนในประเด็นที่บริษัทไม่ได้เป็นนายจ้าง และการจ้างงานเป็นการจ้างทำของกับบริษัทห้างหุ้นส่วนจำกัดแม่สอด พีเอ ต่อมา พนักงานตรวจแรงงาน แก้ไขประเด็นยอดเงิน เป็นเหตุให้บริษัทหุ้นแบงค์ค็อก จำกัด ต้องวางเงินต่อศาลแรงงานเพิ่มอีกกว่า 5 ล้าน
  • 29 ก.ค. 2561 ศาลกำหนดให้มีการสืบพยาน ฝ่ายโจทก์ จำเลย และแรงงานข้ามชาติหรือผู้ร้องสอด ซึ่งมีทนายความ จากมูลนิธิเพื่อสุขภาพและการเรียนรู้ของแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์ (MAP Foundation) มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (HRDF) มูลนิธิแอ๊ดเวนตีสเพื่อการพัฒนาและบรรเทาทุกข์ (ADRA Thailand)เป็นผู้แทนในคดี โดยระหว่างที่มีการพิจารณาคดี ศาลแรงงานได้ทำการไกล่เกลี่ย ทำให้โจทก์และแรงงานหรือผู้ร้องสอดทั้ง 115 คน ตกลงรับเงิน 8 ล้านบาท และในส่วนที่เหลือ จะไปฟ้องบังคับเอากับห้างหุ้นส่วนจำกัดแม่อด พีเอ ตามคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงาน

มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา ยังระบุว่าา ปัจจุบันแม้ว่ารัฐบาลไทยจะได้มีความพยายามจัดทำนโยบายการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติ เพื่อให้แรงงานข้ามชาติได้รับการคุ้มครองตามนโยบายและกฎหมายของรัฐ รวมทั้งค่าแรงที่เท่าเทียมกับแรงงานไทยตามมติของคณะกรรมการค่าแรงงานขั้นต่ำ แต่ก็พบว่ายังมีนายจ้างอีกเป็นจำนวนมาก ที่ยังจงใจหลีกเลี่ยงการจ่ายค่าแรงให้กับแรงานข้ามชาติให้เป็นไปตามกฎหมาย และการที่กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ของไทย ยังจำกัดสิทธิของแรงงานข้ามชาติในการจัดตั้งสหภาพแรงงาน เป็นกรรมการหรืออนุกรรมการสหภาพแรงงาน  จึงทำให้แรงงานมักจะเป็นฝ่ายเสียเปรียบในการในการได้รับการคุ้มครองสิทธิของแรงงาน และการเจรจาต่อรองกับนายจ้าง

นอกจากนี้รัฐบาลไทย ได้มีแผนให้ภาคธุรกิจให้ความสำคัญต่อหลักการเคารพด้านสิทธิมนุษยชนมากขึ้น ผ่านการจัดการทำแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ตามหลักการสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (UN Guiding Principle on Business and Human Rights 2011 : UNGP) ดังนั้น รัฐบาลควรกำหนดให้ภาคธุรกิจขนาดใหญ่ที่ใช้แรงงานข้ามชาติเป็นกำลังหลักในการผลิต จัดทำรายงานการประเมินผลด้านสิทธิมนุษยชนของธุรกิจ (human rights due diligence) เพื่อเป็นมาตรการในการป้องปรามการแสวงหาประโยชน์จากแรงงานโดยมิชอบ โดยรายงานดังกล่าวจำเป็นต้องเปิดเผยต่อสาธารณะเพื่อสร้างความรับรู้และง่ายต่อการสอบทาน อีกทั้งยังเป็นการให้ความสำคัญต่อเรื่องเรื่องความโปร่งใส (transparency) และการตรวจสอบย้อนกลับ (traceability) ตามหลักบรรษัทภิบาลอีกด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net