2,215 เชื่อ บ้า กล้า ก้าว (!SPOILER ALERT!)

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

“... ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย เป็นประชารัฐ ไผทของไทยทุกส่วน อยู่ดำรงคงไว้ได้ทั้งมวล ด้วยไทยล้วนหมาย รักสามัคคี ...”

“ประชารัฐ” กลายเป็นคำที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้นำมากำหนดเป็นยุทธศาสตร์ เพื่อให้ส่วนราชการต่างๆ ใช้เป็นแนวทางในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้เกิดความสงบเรียบร้อย เกิดความสามัคคี และสร้างการพัฒนาประเทศไทยให้มีความเข้มแข็ง มั่นคง นอกจากนี้ท่านยังบอกขยายความว่าเป็นการร่วมมือกันในเชิงสร้างสรรค์ สร้างพลังทำความดีในประเทศชาติ ไม่ใช่เพื่อตนเอง หรือข้าราชการ แต่เพื่อประชาชน ไม่ใช่การหาเสียง แต่ถือว่าเป็นสัญญาระหว่างรัฐกับประชาชน ในการแก้ไขความผิดพลาดในอดีต

มีการแบ่งยุทธศาสตร์ย่อยได้แก่ หนึ่ง รัฐมีหน้าที่อำนวยความสะดวก สนับสนุน เปิดช่องทางให้ประชาชนและเอกชน มีส่วนร่วมตามแนวทางประชาธิปไตย และสอง คือมีการทำงานร่วมกันระหว่า่งรัฐและเจ้าหน้าที่เพือ่การพัฒนา อาศัย “เครือข่ายประชารัฐ” เพื่อพัฒนาประเทศ สิทธิและสวัสดิการเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน ถ้าจะสรุปให้ง่าย หัวใจหลักคือ ให้มีส่วนร่วมระหว่างรัฐและประชาชน และมองว่าการแก้ปัญหาและพัฒนาประเทศจะไม่สำเร็จ หากขาดความร่วมมือระหว่างรัฐ และประชาชน

ยุทธศาสตร์นี้ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างความเชื่อมั่นให้รัฐบาลที่มาโดยผิดกฎหมาย ผศ.ดร.สามชาย ศรีสันต์ กล่าวว่านโยบายประชารัฐเป็นนโยบายที่ประชันขันแข่งกับประชานิยม มีการนำภาคธุรกิจเอกชนมาเป็นส่วนขับเคลื่อนที่แทบจะควบคุมรัฐ กลุ่มทุนขยายอำนาจลงสู่ท้องถิ่น แทนที่จะสนับสนุนวิสาหกิจชุมชนที่มีอยู่แล้ว ซ้ำเติมประชาชนในฐานะแรงงานกรผลิต ดึงทรัพยากรออกจาชุมชน กลายเป็นการสร้างโครงสร้างทางสังคมที่เป็นอันตราย 

เห็นได้ชัดจากการจับมือกับเอกชนรายใหญ่ที่ใกล้ชิดกับรัฐบาลเข้าหุ้นบริษัทประชารัฐรักสามัคคี โครงการที่โด่งดังคือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือบัตรคนจน ที่นักวิจารณ์หลายท่านมองว่าเป็นการทำลายระบบประกันสุขภาพ ตราหน้าและตอกย้ำสถานภาพทางเศรษฐกิจของประชาชนระหว่างคนรวยและคนจนที่ถีบห่างออกจากกันเรื่อยๆ ในปัจจุบัน

ดร.เดชรัต สุขกำเนิด บอกว่าสิ่งที่รัฐบาลควรจะทำแต่ไม่ได้ทำคือ การออกพ.ร.บ. วิสาหกิจชุมชน ซึ่งทำให้ประชาชนทุกคนเข้าร่วมกระบวนการได้อย่างเท่าเทียม แต่ตอนนี้กลายเป็นว่าใครอยากเข้าวิสาหกิจชุมชน ก็ต้องมาร่วมกับรัฐภายใต้นโยบายประชารัฐ ผลที่เกิดขึ้นคือปริมาณคนจนในไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ความเหลื่อมล้ำมากขึ้นเกือบสองเท่า ถึงแม้ว่ารัฐบาลอ้างว่าจีดีพีขึ้นแต่ก็อาจสรุปได้ว่าทั้งคนจนและคนรวยมีเงินมากขึ้น แต่รายได้คนรวยกลับมากกว่า

แนวคิดประชาสังคม (Civil Society) มีนิยามสรุปโดยรวมได้ว่าเป็นการรวมตัวกัน เกี่ยวข้องสัมพันธ์กันโดยไม่ถูกบังคับ ไม่ได้มีการผูกพันธ์กันก่อนหน้า ตัวอย่างเช่นการต่อสู้เพื่อปากท้อง ไปจนถึงกิจกรรมการกุศล อาจจะเรียกได้ว่าแนวคิดนี้เองถูกเอาไปฉวยใช้เพื่อความชอบธรรมของรัฐบาล เพราะสุดท้ายแล้วกิจกรรมการรวมตัวเพื่อเรียกร้องสิทธิจำนวนมากกลับถูกจำกัดริดรอน

ในขณะที่กิจรรมที่เสริมภาพการรวมพลังประชาชนเพื่อประเทศชาติอันเป็นที่รักยิ่ง อย่างกิจกรรม “ก้าวคนละก้าว” กลับได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากรัฐบาล ดังที่แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข ได้ให้ความเห็นว่าโครงการนี้เป็นตัวอย่างของแนวทางประชารัฐ ที่ประชาชนได้มาร่วมวางแผนพัฒนาและสนับสนุนโรงพยาบาล อย่างในภาพยนตร์ก็จะเห็นภาพทหารยืนบนรถที่กำลังแล่นและต้องก้มหัวให้กับป้ายโครงการ หรือทหารที่มายืนเป็นการ์ดให้กันประชาชนข้างทางที่มาให้กำลังใจพี่ตูน

ในตอนหนึ่งของสารคดีที่เราชอบมากเพราะทำให้เราได้เห็นทัศนคติของพี่ตูนต่อโครงการนี้ พูดไว้ประมาณว่าให้ออกมาลงมือ เช่นเดียวกับเนื้อความที่ภาพยนตร์สื่อว่าให้ลุกขึ้นมาทำ เชื่อมั่นใจตนเอง เหมือนกับพี่ตูนที่กล้าเลือกฝันและกล้าลงมือ คิดอะไรให้ทำเลย (ผู้จัดการและคนรอบตัวพี่ตูนบอกว่าพี่ตูนเป็นคนจำพวกที่อยากทำอะไรก็จะทำเลย ทำให้ได้ ไม่ยอมแพ้ ร้องเพลงคีย์สูงก็ต้องให้ได้) ดีกว่านั่งถกเถียงกันไม่ได้ทำอะไรสักอย่าง พี่ตูนไม่ได้ปฏิเสธว่าการวิ่งอาจไม่ใช่การแก้ปัญหา โดยพลันเราก็เกิดคำถามว่าจริงหรือไม่ที่การออกมาวิ่งรับเงินบริจาค ดีกว่าการถกเถียงกัน

โครงการวิ่งของพี่ตูนที่ถูกจัดมาแล้วสามครั้ง ครั้งแรกให้โรงพยาบาลบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ครั้งที่สองเพื่อสร้างอาคารนวมินทรบพิตร 84 พรรษา โรงพยาบาลศิริราช ครั้งที่สามให้ 11 โรงพยาบาลทั่วประเทศ รวมถึงสารคดี 2,215 เชื่อ บ้า กล้า ก้าว ที่ก็หักรายได้ให้กับอาคารอาคารนวมินทรบพิตร ที่มีคำโปรยว่าเป็นอาคารสุดท้ายที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชทานชื่อให้ โดยทุกครั้งจะมีการอ้างว่าโรงพยาบาลขาดแคลนงบประมาณ

งบประมาณแผ่นดินปี 2561 กระทรวงศึกษาธิการได้รับ 5.1 แสนล้านบาท กระทรวงกลาโหม 3.55 แสนล้านบาท ส่วนกระทรวงสาธารณสุขได้รับ 1.26 แสนล้านบาท องค์การอนามัยโลกชี้ว่างบประมาณสาธารณสุขในประเทศกำลังพัฒนาอยู่ราวๆ 6% แต่ของไทยได้เพียง 4.6% ของจีดีพี

สวัสดิการข้าราชการได้ค่าใช้จ่ายต่อหัวสูงถึงราว 14,820 บาทต่อคน ขณะที่ระบบบัตรทองในปี 2561 ค่าใช้จ่ายต่อหัวราว 3,109.87 บาทต่อคนเท่านั้น มีการวิจารณ์ว่าสวัสดิการข้าราชการมีการบริหารใช้เงินอย่างไม่มีประสิทธิภาพ ทำกำไรจากบริษัทยาข้ามชาติผ่านใช้ยานอกบัญชีอย่างสะดวกง่ายดาย ซึ่งต่างจากสิทธิสามสิบบาทที่ต้องผ่านเกณฑ์การประเมินจากราชวิทยาลัย

สิทธิสามสิบบาทที่ถูกมองว่าเป็นภาระค่าใช้จ่ายของรัฐบาลจากมุมมองของแพทย์กลุ่มอนุรักษ์นิยมเช่นเดียวกับแนวคิดของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาจากรัฐธรรมนูญปี 60 ที่ตัดคำว่า”เสมอกัน” ในการรับบริการทางสาธารณสุขที่ได้มาตรฐาน ออก รัฐมองคนไม่เท่ากัน ไม่จำเป็นต้องดูแลคนทุกคน ใครพอดูแลตัวเองได้ก็ต้องดูแลตัวเอง ผ่านโครงการบัตรอนาถา นอกจากนี้ในผนปฏิรูปประเทศยังระบุให้ประชาชนร่วมรับผิดชอบภาระค่าใช้จ่ายตามกำลังความสามารถในการจ่าย ซึ่งจริงๆแล้ว ประชาชนก็จะอยู่ในสถานะร่วมจ่ายจากการเก็บภาษีประเภทต่างๆอยู่แล้ว แต่ก็มีการเสนอให้การร่วมจ่าย ณ จุดบริการ 30-50% จากประชาชนที่ไม่ใช่ “ผู้ยากไร้”

อย่างชัดเจนว่ารัฐไทยมีท่าทีตัดพันธะต่อพลเมืองด้านสาธารณสุขไปแล้ว มีให้เท่านี้ ที่เหลืออยากได้ก็ไปหากันเอง วิ่งรับบริจาคกันเอง แถมยังจะเพิ่มภาษี เรากำลังจะกลับไปในยุคที่รัฐจะไม่จัดหาบริการพื้นฐานด้านสุขภาพ (และอื่นๆ) ที่ประชาชนพึงได้ 

การสรรเสริญยกยอพี่ตูนดังเทพผู้มาปัดเป่า ตัวอย่างของศูนย์รวมใจคนไทยทั้งชาติ ในขณะที่พี่ตูนบอกว่าตนเองไม่ต้องการชื่อเสียงเหล่านั้น? (มีพาร์ทเล่าความฝันที่ตนเองอยากกลับไปเป็นนักดนตรีธรรมดาๆ ร้องตามผับ แต่สุดท้ายก็บอกว่าเบื่อชีวิตที่ไม่มีคนไม่รู้จัก) การพยายามบอกให้คนลุกขึ้นมาทำอะไรเพื่อเป็นประโยชน์กับชาติไทย ให้เชื่อในความฝัน (life coach) ใต้กระแสเสรีนิยมใหม่ (Neo-liberalism) ที่รัฐบาลเปิดพื้นที่อิสระให้ทุนใหญ่ที่เกื้อหนุนกับชนชั้นนำ ทำลายระบบประกันสุขภาพ ในยุคสมัยนี้จะมีสักกี่ความฝันที่ทำได้หากไม่มีทุนใหญ่สนับสนุน 

ดังนั้นแล้วการวิ่งของพี่ตูน อาจยิ่งเป็นการตอกย้ำภาพของประชาชนที่ต้องช่วยเหลือกันเองโดยมีผู้นำคือฝ่ายภาคประชาชนคือตูนและทีมงานผู้เป็นชนชั้นกลางที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐและเอกชนที่ต่างหยิบฉวยโอกาสในการสร้างผลกำไรและความชอบธรรมของตนเอง

ยิ่งน่าเศร้าไปกว่านั้นที่การตอกย้ำครั้งนี้ (กว่าสามครั้งหากนับตามจำนวนการจัดวิ่ง) ถูกโหมกระพือด้วยบรรยากาศแบบโรแมนติกของน้ำจิตน้ำใจคนในชาติ 

นี่จึงอาจกล่าวได้ว่า 2,215 เชื่อ บ้า กล้า ก้าว เป็นภาพฉายของเหล่าผู้ถูกกดบังคับอย่างแท้จริงตามแนวคิดสปีวัคที่ขยับขยายจากกรัมชี่อีกที

เพราะพวกเขาต้องไม่รู้ตัวเลยว่าตนเองกำลังถูกกดบังคับอยู่

ปล. "ประชารัฐ" กำลังถูกใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาเมืองโดยกลุ่มนายทุนขอนแก่นกว่าสิบบริษัท ร่วมกับ ม. ขอนแก่น และเทศบาล ภายใต้ชื่อ "Khon Kaen Smart City"

อ้างอิง
- อานันท์ เกียรติสารพิภพ 2560 ยุทธศาสตร์ประชารัฐ รายการ ร้อยเรื่อง...เมืองไทย
- รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์ 2561 จีดีพี ดัชนีที่ไม่ได้วัดความเป็นอยู่ที่ดี
- SARA BAD ประชารัฐคืออะไร 2560 เพื่อคนไทยหรือเพื่อนายทุน??? 
- ภาณุวัฒน์ พันธุ์ประเสริฐ ปรากฏการณ์ตูน บอดี้สแลม กับประชาสังคมไทยในยุค 4.0 2560 
- สุเจน กรรพฤทธิ์ 2560 “อ่าน” การ “วิ่ง” ของ ตูน บอดี้แสลม
- นัชชา ตันติวิทยาพิทักษ์ 2561 ชีวิตยามเกษียณ 2 : รักษาฟรี ไม่แน่ว่าจะมีตอนเราแก่
- NATT HONGDILOKKUL 2018 Thailand’s Universal Health Coverage under the Coup d’état: Is a Coinsurance Raise Good?
- กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล 2561 ตามรอยเส้นทางบ่อนทำลาย 30 บาทรักษาทุกโรค เมื่อสุขภาพคน 48 ล้านคนคือภาระ
- ธนัชชนม์ ธนาธิป-ปริพัฒน์ 2013 ทบทวนความเป็นผู้ถูกกดบังคับ : ความไม่รู้ว่าถูกทุนกดบังคับ

ภาพจาก: กรมทหารราบที่ ๕ ค่ายเสนาณรงค์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท