Skip to main content
sharethis

ทำความรู้จักนิยาม ‘พื้นที่ชุ่มน้ำ’ ตามอนุสัญญาแรมซาร์ ตำแหน่งแห่งที่ของไทยในอนุสัญญารักษ์โลก มองบทเรียน วิกฤต และโอกาสที่ไหลมากับแม่น้ำผ่านกรณีศึกษาพื้นที่ชุ่มน้ำป่าบุญเรืองและลุ่มน้ำอิงเผชิญปัญหาจากโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษการจัดการการพัฒนา การใช้ทรัพยากรที่ขาดการประสานงานที่ดี

‘พื้นที่ชุ่มน้ำ’ เป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญทั้งต่อสิ่งแวดล้อมและชีวิตของมนุษย์ในหลายมิติ ในประเทศไทยก็มีพื้นที่ชุ่มน้ำเช่นนี้อยู่ทั่วประเทศ แต่มีระดับการให้ความสำคัญไม่เท่ากัน และปัจจุบันมันกำลังเผชิญภัยคุกคามจากแนวนโยบายของรัฐไทย

รู้จักพื้นที่ชุ่มน้ำ

ตามนิยามในอนุสัญญาแรมซาร์ (Ramsar Convention) หรืออนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ ให้ความหมายพื้นที่ชุ่มน้ำว่าเป็นพื้นที่ลุ่มมีน้้าขัง (marsh) พื้นที่ลุ่ม (fen) พื้นที่พรุ (peatland)พื้นที่ฉ่ำน้ำ(water) ไม่ว่าจะเกิดตามธรรมชาติหรือมนุษย์สร้างขึ้น เกิดขึ้นเป็นการถาวรหรือชั่วคราว มีน้ำนิ่งหรือน้ำไหล เป็นน้ำจืดหรือน้ำกร่อยหรือน้ำเค็ม และพื้นที่ทางทะเลในบริเวณเมื่อน้ำลงต่ำสุดมีระดับน้ำลึกไม่เกินหกเมตร

 

พื้นที่หนองอ้อ บริเวณป่าชุ่มน้ำบุญเรือง

คู่มือของอนุสัญญาฯ แบ่งประเภทพื้นที่ชุ่มน้ำเป็นห้าประเภท ดังนี้

พื้นที่ทางทะเล: พื้นที่ชุ่มน้ำชายฝั่งทะเล ทะเลสาบน้ำเค็ม หาดหินและแนวปะการัง

พื้นที่ปากแม่น้ำ: ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ ที่ราบลุ่มน้ำขึ้นถึง และพื้นที่ป่าชายเลน

พื้นที่ทะเลสาบ: พื้นที่ชุ่มน้ำบริเวณทะเลสาบ

พื้นที่แหล่งน้ำไหล: พื้นที่ชุ่มน้ำบริเวณแม่น้ำ และลำธาร

พื้นที่หนองน้ำ ที่ลุ่มชื้นแฉะ: ที่ลุ่มชื้นแฉะ ที่ลุ่มน้ำขังและหนองน้ำซับ

นอกจากนั้นยังสามารถแบ่งประเภทพื้นที่ชุ่มน้ำออกเป็นสามประเภทหลักได้ตามนี้

พื้นที่ชุ่มน้้าทางทะเล และชายฝั่งทะเล: แนวปะการัง ชายฝั่ง หน้าผาชายฝั่ง หาดทราย แหล่งน้้ากร่อย หาดโคลน หาดเลน ทะเลสาบน้้าจืดบนเกาะ ป่าชายเลน ภูมิประเทศแบบคาสก์ ฯลฯ

พื้นที่ชุ่มน้้าในแผ่นดินใหญ่: ทะเลสาบ หนอง บึง ห้วย พื้นที่ชุ่มน้้าอัลไพน์ พื้นที่ชุ่มน้้าในเขตทุนดรา ป่าพรุ น้ำพุ โอเอซิส ฯลฯ

พื้นที่ชุ่มน้ำที่มนุษย์สร้างขึ้น: อ่างเก็บน้้า สระน้้า บ่อเลี้ยงสัตว์น้ำ พื้นที่เกษตรกรรม ฯลฯ

พื้นที่ชุ่มน้ำทำหน้าที่เป็นแหล่งน้ำ แหล่งกักเก็บน้ำฝนและน้ำท่า ป้องกันน้ำเค็มรุกเข้าแผ่นดิน ป้องกันชายฝั่งพังทลาย ดักจับตะกอนและแร่ธาตุ ป้องกันภัยธรรมชาติ เป็นแหล่งทรัพยากรและผลผลิตทางธรรมชาติที่มนุษย์ใช้ประโยชน์ เช่น เป็นแหล่งอาหาร ยารักษาโรค สถานที่พักผ่อนหย่อนใจ แหล่งรวมความหลากหลายทางชีวภาพ พันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ มีความสำคัญทางนิเวศวิทยาและการอนุรักษ์ธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นแหล่งของผู้ผลิตห่วงโซ่อาหาร ความสำคัญด้านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม วิถีชีวิต ตลอดจนเป็นแหล่งศึกษาวิจัยทางธรรมชาติ

ประเทศไทยได้มอบสัตยาบันสารเพื่อเป็นภาคีของอนุสัญญาฯ เมื่อ 13 พ.ค. 2541 เป็นลำดับที่ 110 ของภาคีอนุสัญญา จากการสำรวจของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ได้รับการรับรองจากคณะรัฐมนตรีเมื่อ 1 ส.ค. 2543 ระบุว่า พบว่าประเทศไทยมีพื้นที่ชุ่มน้ำประกอบด้วยป่าชายเลน ป่าพรุ หนอง บึง สนุ่น ทะเลสาบและแม่น้ำกระจายอยู่ทั่ว ประเทศ รวมเนื้อที่ได้ ประมาณ 22,885,100 ไร่ เท่ากับร้อยละ 6.75 ของพื้นที่ ประเทศโดยแบ่งกลุ่มตามลำดับความสำคัญตามอนุสัญญาแรมซาร์ได้ดังนี้

พื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับระหว่างประเทศที่ขึ้นทะเบียน แรมซาร์ 14 แห่ง

พื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติ 61 แห่ง

พื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับชาติ 48 แห่ง

พื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับท้องถิ่น 19,295 แห่ง

พื้นที่ชุ่มน้ำที่มีสมควรได้รับการคุ้มครองและฟื้นฟู 28 แห่ง

ข้อมูลเมื่อเดือน ส.ค. 2559 รายงานว่าประเทศไทยมีพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ (Ramsar Site) จำนวน 14 แห่ง พื้นที่รวมประมาณ 2,498,211.5 ไร่ หรือ 399,713.84 เฮกแตร์

มองบทเรียน วิกฤต และโอกาสที่ไหลมากับแม่น้ำผ่านกรณีพื้นที่ชุ่มน้ำป่าบุญเรือง

พื้นที่ชุ่มน้ำป่าบุญเรือง เป็นหนึ่งในจุดหมายในการมาลงพื้นที่ที่ อ.เชียงของ จ.เชียงรายของทีมผู้สื่อข่าว ภาคประชาชน ตัวแทนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) ทั้งไทยและต่างชาติเมื่อวันที่ 7 ก.ย. ที่ผ่านมา

พื้นที่ชุ่มน้ำป่าบุญเรืองเป็นป่าและหนองน้ำเนื้อที่ประมาณ 3,706 ไร่ เป็นผืนป่าชุ่มน้ำขนาดใหญ่ที่สุดในลุ่มน้ำอิง กินเนื้อที่ห้าชุมชน โดยส่วนใหญ่เนื้อที่อยู่ในเขตบ้านบุญเรืองใต้ หมู่ 2 ป่าบุญเรืองเป็นพื้นที่ที่คนในชุมชนใช้ประโยชน์ในการหาอยู่หากิน เก็บผัก หาปลา นำไม้ไปใช้สอยมานานกว่า 200 ปี มีสภาพเป็นป่าชุ่มน้ำตามฤดูกาล (Seasonal Wetland)

พื้นที่ชุ่มน้ำบุญเรืองในหน้าน้ำหลาก

พื้นที่ชุ่มน้ำป่าบุญเรืองถูกเสนอเป็นพื้นที่หนึ่งใน จ. เชียงราย ที่จะถูกใช้รองรับการตั้งนิคมอุตสาหกรรมของโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษเมื่อปี 2558 แต่เมื่อชาวบ้านทราบก็ไม่เห็นด้วยเพราะพื้นที่ป่าบุญเรืองเป็นพื้นที่รับหรือกักเก็บน้ำตามธรรมชาติ ถ้ามีการพัฒนาก็จะมีผลกระทบกับชุมชนทั้งเรื่องการเกษตร ความมั่นคงทางอาหาร สุขภาวะต่างๆ  ที่ชาวบ้านในพื้นที่ได้พึ่งพามานานกว่า 200 ปี มติของหมู่บ้านอันชัดเจนนำไปสู่การเกิดเวทีสือสารระหว่างชาวบ้านและภาครัฐ

กลุ่มอนุรักษ์ป่าบ้านบุญเรืองที่ถูกจัดตั้งขึ้นมาโดยชาวบ้านในพื้นที่ได้ทำงานเก็บข้อมูลร่วมกับองค์กรด้านสิ่งแวดล้อม หน่วยงานในและนอกประเทศจำนวนมากเพื่อพิสูจน์ว่าพื้นที่ชุ่มน้ำป่าบุญเรืองมีคุณูปการกับระบบนิเวศ ความหลากหลายของพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ และคุณภาพชีวิตของคนที่พึ่งพาอาศัยป่า ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลเป็นต้นทุนที่ต้องจ่ายเพื่อจัดทำนิคมอุตสาหกรรม พบว่ามีความหลากหลายทางชีวภาพมากกว่าเกณฑ์ป่าเสื่อมโทรมถึงแปดเท่า เป็นแหล่งเก็บกักคาร์บอนไดออกไซด์ที่สำคัญ พบระบบนิเวศย่อย 8 ประเภท มีความหลากหลายของพันธุ์พืช สัตว์ป่า และปลารวมอย่างน้อย 271 (ไม่รวมแมลง) และยังมีเสือปลาที่อยู่ในสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ด้วย

การลงพื้นที่ในช่วงหน้าฝนทำให้พื้นที่ป่าบุญเรืองชุ่มฉ่ำไปด้วยน้ำที่หนุนขึ้นมาจากแม่น้ำโขงและแม่น้ำอิง หรือพูดง่ายๆ ว่าน้ำท่วม เส้นทางการลงพื้นที่จึงจำกัดอยู่ที่บริเวณหนองอ้อ หนองน้ำข้างแม่น้ำอิงที่ชาวบ้านใช้ประโยชน์เป็นแหล่งอาหาร และธรรมชาติใช้มันเป็นหลุมเพาะพันธุ์สัตว์และพืช

สุวิทย์ การาหัน

สุวิทย์ การาหัน รองประธานกลุ่มอนุรักษ์ป่าบุญเรืองให้ข้อมูลว่าหนองอ้อมีขนาดราว 18 ไร่ เวิ้งบริเวณที่ยืนอยู่นี้จำนวนหนึ่งไร่มีผักกูดและชะพลู ในหน้าน้ำหลากเช่นนี้ (ราวเดือน พ.ค. - ส.ค.) เป็นเวลาที่ปลาที่มากับน้ำโขงและน้ำอิงใช้หนองอ้อเป็นที่วางไข่ และเมื่อเข้าหน้าแล้ง น้ำที่ไหลออกก็พาปลาออกไปสู่แม่น้ำด้วย ผักที่งอกอยู่ในบริเวณนี้ก็ให้ชาวบ้านและคนที่ผ่านไปมาเก็บไปทำกินได้ แต่ห้ามตัดต้นไม้ หรือกอบโกยเอาพืชผักไปขาย ซึ่งถือเป็นกฎชุมชนที่สุวิทย์บอกว่าบังคับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ประเสริฐ แก้วตา ผู้ใหญ่บ้านบุญเรืองใต้ หมู่ที่ 2 เล่าให้ฟังว่า พื้นที่บริเวณป่าบุญเรืองเคยถูกขอใช้จากบริษัทเอกชน แต่ด้วยความกลัวมลพิษทำให้ชาวบ้านบุญเรืองค้านกัน ในขณะที่หมู่บ้านอื่นๆ ต่างอนุญาต นอกจากนั้น มหาวิทยาลัยแม่โจ้ยังได้ขอใช้พื้นที่โดยส่งโครงการผ่านทางอำเภอ แต่ขณะนี้ก็ชะลอโครงการไปก่อนเนื่องจากมีเรื่องโรงงานอุตสาหกรรมเข้ามา

ต้นชะพลูที่บริเวณหนองอ้อ พบได้ตามใต้ต้นไม้ใหญ่

“ปี 58 ก็มีบริษัทเอกชนมาเรียกผู้นำไปประชุมกัน มี 10 หมู่บ้าน ก็ 10 ท่าน จะขอใช้พื้นที่ (บริษัท) ให้ไปประชาคมตามหมู่บ้าน ทางหมู่บ้าน (บุญเรืองใต้ หมู่ 2) ก็ไม่ให้ แต่หมู่บ้านอื่นก็อนุญาตเพราะว่าไม่ได้ดูแลผืนป่าแห่งนี้ เขาไม่ได้ทำมาหากินทางนี้ ชาวบ้านที่นี่ก็ไม่ยอมเพราะกลัวอากาศเป็นพิษ กลัวสารเคมี”

“ล่าสุดเขาก็ถอย ปกติตอนแรก (มหาวิทยาลัย) แม่โจ้เข้ามาก่อน ชาวบ้านเห็นพ้องกันว่าจะให้พื้นที่ 400 กว่าไร่ แต่พอหลังๆ (ม.แม่โจ้) จะเอาพัน สองพัน สามพันไร่ ชาวบ้านก็ยังจะให้อยู่นะ (แต่) เนี่ยเอาโรงงานอุตสาหกรรมเข้ามา คงจะชักชวนกันเข้ามา ชาวบ้านเลยไม่ยอม”

“แม่โจ้ตอนแรกก็จะให้นะ แต่ว่ามันมาเดือดร้อนตรงอุตสาหกรรม เขาก็ไปเฉยๆ ทางอำเภอก็ว่าแม่โจ้จะเกิดอยู่ แต่ชะลออยู่ เพราะว่าเข้าโครงการอยู่แล้ว คงจะชะลออยู่ แต่โรงงานนี่คงไม่เกิด”

ผู้ใหญ่บ้านบุญเรืองใต้ หมู่ 2 เล่าว่าชาวบ้านยังคงกังวล เพราะแม้ภาครัฐจะบอกว่าไม่ใช้พื้นที่ป่าบุญเรืองแล้ว แต่ยังไม่มีเอกสารยืนยันใดๆ พ้นที่ป่าบุญเรืองอาจตกเป็นเป้าหมายของกฎหมายอื่นๆ รวมทั้งคำสั่งหัวหน้า คสช. ด้วยอำนาจตามมาตรา 44

พิธีบวชป่าคือหนึ่งวิธีที่ชาวบ้านใช้ในการอนุรักษ์ต้นไม้ใหญ่ ผ้าจีวรสามารถพบได้ตามต้นไม้ใหญ่บริเวณนี้

เมื่อมองภาพที่กว้างออกไปจะพบว่าป่าบุญเรืองตั้งอยู่บริเวณริมแม่น้ำอิง ซึ่งข้อมูลจากเอกสารของสภาประชาชนลุ่มน้ำอิงให้ข้อมูลไว้ว่า มีความยาวกว่า 260 กม. ไหลจาก จ.พะเยาสู่แม่น้ำโขงที่ อ.เชียงของ จ.เชียงราย ถือเป็นแม่น้ำสายหลักของทั้งสองจังหวัด แม่น้ำยังหล่อเลี้ยงพื้นที่ลุ่มแม่น้ำรอบๆ ขนาดถึง 7,238 ตร.กม. หรือ 4.5 ล้านไร่ ประชากรบริเวณนั้นไม่น้อยกล่า 1 แสนคน และพื้นที่ชุ่มน้ำแบบป่าบุญเรืองอีกถึง 8,590 ไร่

ปัจจุบันพื้นที่ชุ่มน้ำในลุ่มน้ำอิงประสบปัญหาจากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นนโยบายพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่ อ.เชียงของบนพื้นที่สาธารณะ ต.บุญเรืองและ ต.สถาน นโยบายและแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ กลไกการบริหารจัดการน้ำที่ไม่มีการประสานงานอย่างมีประสิทธิภาพ นโยบายส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่ เช่น พืชเชิงเดี่ยว ความขัดแย้งในการใช้น้ำในลุ่มน้ำอิงในหน้าแล้งที่มาจากการขาดการเตรียมการที่มีประสิทธิภาพ และนโยบายเพิ่มพื้นที่ป่าด้วยการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติที่มีปัญหาเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชน

พิชเญศพงศ์ คุรุปรัชญามรรค ผู้ประสานงานกลุ่มอนุรักษ์ป่าบุญเรือง / ผู้ประสานงานสภาประชาชนลุ่มน้ำอิงอธิบายเรื่องราวของโครงการทั้งหลายบนป่าบุญเรืองและแม่น้ำอิงที่ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อปีสองปีนี้ สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตรก็มีนโยบายลดการแย่งชิงทรัพยากร เปลี่ยนพื้นที่ป่าเป็นโฉนดชุมชน ทำให้พื้นที่ชุ่มน้ำแบบบ้านบุญเรืองใต้ ม.9 กลายเป็นที่นา ไร่ แต่ก็ใช้ได้ไม่ดีเพราะหน้าน้ำหลากก็โดนน้ำท่วมหมด สารเคมีที่ไหลมากับน้ำก็ไหลลงไปผสมโรงด้วย

นโยบายส่งเสริมเกษตรเชิงเดี่ยวแปลงใหญ่ออกดอกผลมาในรูปของสวนกล้วยขนาด 2,750 ของทุนจีนที่แปรสภาพให้กลุ่มสหกรณ์ไทยจดทะเบียนบริเวณ อ.พญาเม็งราย ด้วยสวนกล้วยตั้งอยู่ริมแม่น้ำอิง ผนวกกับกล้วยจีนมีการตัดต่อพันธุกรรมที่มีความจำเป็นต้องใช้น้ำเยอะถึงวันละ 20 ลิตรต่อต้น และมีการใช้สารเคมีจำนวนมากเพื่อกำจัดวัชพืช ทำให้เกษตรกรที่พึ่งพาแม่น้ำอิงไม่มีน้ำพอใช้ในหน้าแล้ง มิพักจะข้อกังวลเรื่องสารเคมีที่ลงมาตามแม่น้ำ

นอกจากนั้น ในแม่น้ำอิงตอนกลางลงมายังมีโครงการจัดการน้ำด้วยประตูน้ำจำนวนมากที่ขาดการประสานงาน ที่ก่อสร้างไปแล้วอยู่ตอนท้ายของแม่น้ำอิงก็มีปัญหากับชุมชนเนื่องจากไปขุดพื้นที่ชุ่มน้ำออกไป 100-200 กว่าไร่ ในตอนกลางของแม่น้ำก็มีประตูน้ำย่อยๆ แบบห่างกันไม่กี่ กม. ที่ยิ่งทำให้เกิดความขัดแย้งในหมู่ชุมชนผู้ใช้แม่น้ำอิง เพราะในฤดูน้ำหลาก ชุมชนทำเกษตรที่น้ำท่วมก็ต้องการระบายน้ำออก ในขณะที่อีกชุมชนถัดมากำลังเก็บเกี่ยวก็ไม่อยากให้น้ำไหลลงมา พอหน้าแล้งก็เป็นเรื่องการแย่งชิงน้ำกัน บางประตูน้ำเมื่อทำไปแล้วก็ให้ชุมชนดูแลต่อ ตามมาด้วยบิลค่าไฟฟ้าและค่าซ่อมบำรุง ดูแลอีกเดือนละนับแสน

ปัจจุบันมีภาคประชาชนที่ผลักดันกลไกการบริหารจัดการระบบนิเวศ ทรัพยากร และการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำอิงอยู่ ได้แก่สภาประชาชนลุ่มน้ำอิง ที่ตั้งขึ้นจากเครือข่ายชุมชนในลุ่มน้ำอิงตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำเมื่อเดือน มิ.ย. 2556 มีเป้าหมายเพื่อสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมกำหนดแนวทาง นโยบายคนในชุมชนท้องถิ่นลุ่มน้ำอิง สร้างรูปธรรมการจัดการระบบนิเวศแม่น้ำอิง พัฒนาพื้นที่ชุ่มน้ำป่าริมน้ำ จัดการอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำและสัตว์ป่าแบบธรรมชาติ และส่งเสริมอาชีพของคนในพื้นที่ลุ่มน้ำ ซึ่งพิชเญศพงศ์กล่าวว่า สภาประชาชนกำลังพยายามผลักดันให้เกิดข้อบัญญัติท้องถิ่นเรื่องการบริหารจัดการลุ่มน้ำอิง ถ้าชุมชนต่างๆ เห็นด้วยก็จะส่งให้ทางอำเภอและจังหวัดพิจารณากันอีกทีหนึ่ง

แม้ปัจจุบันจะมีการระบุว่าเขตเศรษฐกิจพิเศษใน จ.เชียงรายจะต้องนับหนึ่งใหม่ เนื่องจากการวางพื้นที่ก่อนหน้านี้มีปัญหาเรื่องการหาที่ดินที่เหมาะสมในการจัดตั้ง และผลกระทบของประชาชนในพื้นที่จนรัฐยอมถอยและต่อไปนี้จะให้เอกชนดำเนินการหาพื้นที่เอง แต่สิทธิประโยชน์ตามนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษอาทิการยกเว้นภาษีนิติบุคคล ลดหย่อนภาษีกำไร อนุญาตใช้แรงงานต่างด้าวไร้ฝีมือยังคงมีอยู่ (ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์) แต่ปมปัญหาบนลุ่มแม่น้ำอิงนั้นไปไกลกว่าการมีหรือไม่มีเขตเศรษฐกิจพิเศษแล้ว อนาคตของลุ่มน้ำอิงและป่าบุญเรืองจะเป็นอย่างไรนั้นยังไกลเกินเห็น แต่ส่วนร่วมของประชาชนผู้ใช้พื้นที่นั้นมีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการเดินไปข้างหน้า

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก : WWF Thailand

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net