Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์

เมื่อต้นเดือนสิงหาคม 2561 อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ประเมินสถานการณ์ทางการเมืองช่วงเข้าใกล้การเลือกตั้งว่าเป็นการเมืองที่อยู่ในยุค “สามก๊ก” ที่มีกลุ่มทักษิณ , กลุ่มทหาร คสช. พร้อมเครือข่าย และพรรคประชาธิปัตย์เป็นสามผู้เล่นหลักในสนามการเมือง

อภิสิทธิ์ จัดวางพรรคประชาธิปัตย์ไว้เป็นตัวเลือกที่อยู่ตรงกลางระหว่างกลุ่มทักษิณ และกลุ่มทหาร คสช. เพราะเชื่อว่าประชาธิปัตย์ยืนอยู่ตรงข้ามกับสิ่งที่ถูกเรียกว่า ‘ระบอบทักษิณ’ มาโดยตลอด ขณะที่แนวทางของผู้มีอำนาจในปัจจุบันที่แสดงให้เห็นชัดถึงเจตนาในการสืบทอดอำนาจนั้นไม่สอดคล้องกับแนวคิดของพรรคประชาธิปัตย์

โจทย์ที่ตั้งโดยการชูโมเดล การเมืองสามก๊ก ของอภิสิทธิ์ดูเป็นเรื่องที่น่าสนใจ แต่มองมุมกลับแบบนี้ได้หรือไม่ว่า ช่วงเวลานี้คือการขับเคี่ยวกันระหว่างค่านิยมหลัก(Core Value) ของฝ่ายเผด็จการอำนาจนิยม กับฝ่ายประชาธิปไตย โดยที่ประชาธิปัตย์เลือกวางตัวเองอยู่ตรงกลาง

ชัดเจนแล้วว่าฝ่ายผู้มีอำนาจในปัจจุบันต้องการจะอยู่ยาว สิ่งที่ได้ทำล่วงหน้าไปแล้วมีทั้งการออกกฎหมายต่างๆ เพื่อควบคุมรัฐบาลที่กำลังจะได้มาจากการเลือกตั้ง ทั้งยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยมีวุฒิสภา 250 คน ที่ได้มาจากการคัดเลือกของ คสช. ติดตาม เร่งรัดการทำงานของรัฐบาลตามยุทธศาสตร์ชาติ นอกจากนี้ยังออกแบบกลไกควบคุมลงโทษรัฐบาลหากไม่ดำเนินการตามยุทธศาสตร์ที่วางไว้

หากรัฐบาลหน้าไม่ทำตามยุทธศาสตร์ชาติฉบับ คสช. จะเกิดอะไรขึ้น

ส่วนสิ่งที่วางไว้แล้วแต่ยังไม่เห็นผลชัดคือ ระบบเลือกตั้ง ที่ออกแบบมาเพื่อจำกัดการได้เสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรอย่างเด็ดขาด มีโอกาสที่หลังการเลือกตั้งจะไม่มีพรรคการเมืองพรรคใดสามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ การจัดตั้งรัฐบาลจะเป็นระบบรัฐบาลผสม

ในขณะที่ตัวเลขยังไม่ชัดเจน ฝ่ายผู้มีอำนาจก็จัดการดึงคะแนนจากฝ่ายตรงข้าม คสช. มาเป็นเสียงสนับสนุนก็ดำเนินไปผ่านการกิจกรรมการเมืองของกลุ่มสามมิตร ที่ตัดแนวร่วมรัฐบาลเดิมของพรรคเพื่อไทยไปได้จำนวนหนึ่ง ทั้งพลังชลของสนธิยา คุณปลื้ม ทั้งกลุ่มมัชฌิมาของสมศักดิ์ เทพสุทิน รวมทั้งการดึงตัว สองในสี่ทหารเสือแห่ง กกปส. ซึ่งเป็นอดีต ส.ส. กทม. ของพรรคประชาธิปัตย์เข้าไปร่วมงานกับรัฐบาล คสช.

ทั้งหมดนี้คือการปูทางให้ คสช. เปลี่ยนรูปมาเป็นรัฐบาลหลังการเลือกตั้งอีกครั้ง และที่สำคัญรัฐธรรมนูญเปิดทางไว้ให้ ส.ว. 250 คนสามารถยกมือโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้

หมายความว่า การเข้ามายึดครองอำนาจทางการเมืองของทหารหลังการเลือกตั้งมีอยู่ใน 2 ระดับ ระดับแรกคือการควบคุมรัฐบาลจากองค์กรภายนอก ระดับที่สองคือการกลับมาเป็นรัฐบาลเองอีกครั้ง ในระดับแรกถูกวางกลไกไว้หมดแล้ว แต่ระดับที่สองเป็นสิ่งที่ทหารมองเห็นว่าจำเป็น เพื่อทำให้การเมืองเปลี่ยนผ่านไปตามทิศทางที่วางไว้อย่างราบรื่น

จะออกหัวหรือออกก้อยปฏิเสธไม่ได้ว่าประชาธิปัตย์คือตัวแปรสำคัญ

ยากเกินจะจินตนาการถึงภาพหลังการเลือกตั้งที่เพื่อไทย ประชาธิปัตย์ และพรรคอื่นๆ จับมือร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล แต่ในทางกลับกันการร่วมงานกันในฐานะฝ่ายค้านในสภายังพอมีความเป็นไปได้ อย่างน้อยก็มีเสียงเชื้อเชิญในเวทีเสวนา “อนาคตประเทศไทย ตายหรือตัน ก่อนการเลือกตั้ง” ที่จัดคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 และเครือข่ายตรวจสอบภาคประชาชน ซึ่งจาตุรนต์ ฉายแสง พูดตอนหนึ่งว่า ถ้าหากพรรคประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายค้าน แล้วผู้นำชุดปัจจุบันจัดตั้งรัฐบาลได้ เพื่อไทยเองก็พร้อมที่จะร่วมเป็นพรรคฝ่ายค้านกับประชาธิปัตย์

คำถามจึงกลับมาหาประชาธิปัตย์ในฐานะตัวแปรสำคัญว่า ที่สุดแล้วจุดยืนของพรรคคืออะไร จะร่วมรัฐบาลกับผู้มีอำนาจในปัจจุบันหลังการเลือกตั้งหรือไม่ คำตอบที่ได้จากอภิสิทธิ์ ก็ยังไม่ชัดเจนได้ยินแต่เพียงการบอกว่า ประชาธิปัตย์จะไม่ร่วมรัฐบาลหาก พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีโดยไม่ได้มาจากเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร คำถามที่ถูกตั้งอีกครั้งจากคำตอบของอภิสิทธิ์คือ พล.อ.ประยุทธ์ จะกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้อย่างไร หากไม่ได้รับเสียงข้างมากที่สนับสนุนโดยผู้แทนราษฎรจากพรรคประชาธิปัตย์

แม้จะยังไม่ชัดเจน แต่อภิสิทธิ์ก็มีท่าทีเสียงแข็งมาตลอด โดยเฉพาะประโยคทองที่เคยพูดว่า คนที่จะสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีส่วนมากจะมีพื้นที่เยอะอยู่แล้ว แต่ถ้าอยู่พรรคประชาธิปัตย์ก็ต้องสนับสนุนพรรค และหัวหน้าพรรคไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม

ต่อมาเพียงวันเดียว พล.อ.ประยุทธ์ สวนกลับทันควันว่า การจะพูดอะไรอภิสิทธิ์ควรจะระมัดระวังคำพูด ให้ประชาชนเป็นผู้พิจารณาเอง แล้วคอยดูว่าวันหน้าจะทำตัวกันอย่างไร ที่ออกมาพูดกันวันนี้ คอยดูวันหน้าก็แล้วกันว่าเลือกตั้งแล้วจะเกิดอะไรขึ้น แล้วจะเปลี่ยนท่าทีกันอย่างไร คอยดูกันตรงนั้น

ภาพการเมืองสนามใหญ่ยังคงเป็นเรื่องที่ต้องรอกันต่อไป ทว่าการเมืองสนามเล็กภายในพรรคประชาธิปัตย์ตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาดูจะคึกคักเป็นพิเศษ อย่างที่ทราบกันดีว่าอภิสิทธิ์ ได้ประกาศไทม์ไลน์การเลือกตั้งหัวหน้าพรรคใหม่ไปเรียบร้อยแล้ว แต่ครั้งนี้มีความพิเศษจากครั้งก่อนที่เป็นการเลือกกันโดยในคณะกรรมการบริหารพรรคการเมือง ร่วมกับเสียงของ ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์

ล่าสุดพรรคประชาธิปัตย์ ประกาศว่าจะแก้ระเบียบข้อบังคับพรรคการเมือง อย่างแรกคือเปิดโอกาสให้คนนอกสามารถเข้ามาแข่งขันชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคได้ แต่ต้องมีเสียงสนับสนุนจากอดีต ส.ส. ไม่น้อยกว่า 40 เสียง หรือได้รับเสียงสนับสนุนจากสมาชิกพรรคการเมือง 4 ภาค ภาคละไม่น้อยกว่า 1,000 คน อย่างที่สองคือการเปิดโอกาสให้สมาชิกพรรคการเมืองสามารถหยั่งเสียงเลือกหัวหน้าพรรคได้ผ่านแอพพลิเคชั่นในสมาร์ทโฟน

คุมประชาธิปัตย์ได้ก็ง่ายต่อการสืบทอดอำนาจ คสช.

การเลือกตั้งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ในครั้งนี้ นอกจากจะถูกจับตามองเป็นพิเศษในฐานะของการสร้างความชอบธรรมในการดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคต่อไปของอภิสิทธิ์ ซึ่งครองเก้าอี้มา 13 ปี แต่ยังไม่เคยชนะการเลือกตั้งทั่วไปได้สักครั้งเดียว แต่ครั้งนี้กลับมีภาพสะท้อนของความพยายามเข้าชิงการนำในพรรคประชาธิปัตย์ด้วย จากเดิมที่มีชื่ออภิสิทธิ์ และจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ในฐานะแคนดิเดตที่มีท่าทีและจุดยืนไม่ต่างกัน แต่แล้วกลับพบว่ามีชื่อของ อลงกรณ์ พลบุตร ปรากฎขึ้นมาเข้าชิงตำแหน่งด้วย หลังจากมีข่าวว่ามีสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์จำนวนหนึ่งเรียกร้อง

นอกจากนี้อีกรายชื่อที่ปรากฎขึ้นมาคือ หมอวรงค์ เดชกิจวิกรม ที่มีข่าวว่าสุเทพ เทือกสุบรรณจะส่งลงชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรค มัดคู่ไปกับ ถาวร เสนเนียม ในฐานะผู้เข้าชิงตำแหน่งเลขาธิการพรรคคนใหม่ แม้ต่อมาสุเทพ จะปฏิเสธเสียงแข็งว่าตัวเองไม่มีส่วนเกี่ยวข้องก็ตามที

ชื่อของอลงกรณ์ และหมอวรงค์ ดูจะเป็นรายชื่อที่มีน่าสนใจอยู่ไม่น้อย คนหนึ่งเคยเสนอให้มีการปฏิรูปพรรคประชาธิปัตย์ ในช่วงเวลาที่ ส.ส. หลายคนภายในพรรคเลือกเดินออกจากรัฐสภาลงสู่ถนนเข้าร่วม และเป็นแกนนำ กปปส. จนที่สุดแล้วอลงกรณ์หลุดจากการตำแหน่งรองหัวพรรคส่วนภาคกลาง ในครั้งนั้นได้ สาทิต ปิตุเตชะ มาดำรงตำแหน่งแทนที่

หลังจากนั้นชื่อของอลงกรณ์ค่อยๆ หายไปจากพรรคประชาธิปัตย์ ก่อนจะมาประกาศลาออกจากสมาชิกพรรค เพื่อเข้าร่วมงานกับรัฐบาล คสช. ในฐานะสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) และได้รับการดำรงตำแหน่งถัดมาในฐานะรองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) นอกจากนี้ยังเป็น กรรมการในคณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ กรรมการในคณะกรรมการเตรียมการยุทธศาสตร์ชาติ และกรรมการในคณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดองตาม คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2560 การจะกลับเข้ามาของอลงกรณ์ แม้เจ้าตัวยืนยันว่ามีเจตนาที่ดีต่อพรรคประชาธิปัตย์ แต่ภาพลักษณ์ของการเป็นตัวแทน คสช. ก็อยากที่จะสลัดหลุด

ขณะที่หมอวรงค์ แม้จะไม่ได้มีตำแหน่งสำคัญ และไม่มีบารมีอย่างเด่นชัดในพรรคประชาธิปัตย์ แต่ก็เรียกได้ว่าเป็นตัวตั้งตัวตีคนสำคัญในการตรวจสอบโครงการรับจำนำข้าวในช่วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ซึ่งที่สุดแล้วกลายเป็นเงื่อนปมที่นำไปสู่การดำเนินคดีกับยิ่งลักษณ์จนต้องลี้ภัยการเมืองออกนอกประเทศ ในอีกด้านหนึ่งหมอวรงค์ก็แสดงตัวในฐานะ กปปส. ในพรรคประชาธิปัตย์อย่างชัดเจน และหากเชื่อว่า กปปส. คือ คสช. ส่วนหน้า ก็จินตนาการได้ไม่ยากว่า ภายใต้การนำของหมอวรงค์ ประชาธิปัตย์จะยืนอยู่ฝั่งไหน

อย่างไรก็ตาม สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์จะเป็นผู้ชี้ขาดว่าสุดท้ายแล้ว ระหว่างอลงกรณ์ ที่ยังมองหาแบ็คอัพภายในพรรคไม่ได้ กับหมอวรงค์ ที่มีข่าวว่าแบ็คอัพคือสุเทพ และอภิสิทธิ์ ที่อดีตนายกฯ ชวน หลีกภัย ยังยืนอยู่ข้างๆ (ข่าวที่เกี่ยวข้อง) ใครจะเป็นหัวหน้าพรรคคนต่อไป และนอกจากจะเป็นการเลือกทิศทางของประชาธิปัตย์แล้ว เกมนี้ยังเปิดหน้าวัดกันชัดๆ ไปเลยว่า มวลมหาประชาชนของ กปปส. ซึ่งส่วนใหญ่คือคนที่เลือกประชาธิปัตย์ เมื่อถึงเวลาที่ต้องเลือกระหว่าง สุเทพ เทือกสุบรรณ กับชวน หลีกภัย สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์จะเลือกใคร

หมายเหตุ: ผู้เขียนได้ปรับแก้เนื้อหาบางส่วนเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องประเด็นที่มาของนายกรัฐมนตรี

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net