สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 10-16 ก.ย. 2561

ก.แรงงาน เดินหน้าพร้อมลงนามนุสัญญา ILO 188 ว่าด้วยการทำงานบนเรือประมง หวังเดิมพันปลดล็อกใบเหลือง IUU/นครบาลใช้ยุทธการ 'ปราบผีน้อย' จับหญิงเปิดเฟสบุ๊คหลอกไปทำงานเกาหลีใต้/สถาบันวิจัยออกซ์ฟอร์ดฯ เผย AI เสี่ยงแย่งงานแรงงานไทย 4.9 ล้านคน ในปี 2028 ภาคเกษตรอ่วมได้รับผลกระทบมากสุด/ก.แรงงานระบุสนับสนุนให้ภาคเอกชนดูแลลูกจ้างแรงงานต่างด้าวอย่างเท่าเทียมกับแรงงานไทย

ก.แรงงาน เดินหน้าพร้อมลงนามนุสัญญา ILO 188 ว่าด้วยการทำงานบนเรือประมง หวังเดิมพันปลดล็อกใบเหลือง IUU

จากกรณีความต้องการของรัฐบาลไทยที่จะไปลงนามให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 188 (C188) ว่าด้วยการทำงานในภาคประมง พ.ศ. 2550 โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะคุ้มครองคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของลูกเรือประมงให้มีสภาพการทำงานที่มีคุณค่าบนเรือประมงนั้น

ได้ก่อให้เกิดความขัดแย้งกับเจ้าของเรือประมงประกอบกับมีการตั้งข้อสังเกตว่า การเร่งที่จะให้ประเทศไทยให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 188 นี้ ยังเกี่ยวพันไปถึงข้อเรียกร้องของสหภาพยุโรป ว่าด้วยการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU Fishing) ทางด้านแรงงาน ที่ต้องการให้รัฐบาลไทยเข้าเป็นภาคีด้านแรงงานภายในปี 2561 ซึ่งจะกลายเป็นเงื่อนไขสำคัญที่สหภาพยุโรปจะถอนไทยออกจาก “ใบเหลือง” ในที่สุด

ล่าสุด พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังการเข้าพบกับ Mr.Steve Trent และคณะมูลนิธิยุติธรรมและสิ่งแวดล้อม (EJF) กรณีการให้สัตยาบัน ILO ฉบับที่ 188 ว่า รัฐบาลได้พยายามขับเคลื่อนเรื่องนี้ โดยคำนึงถึงสุขภาพของแรงงาน โครงสร้างของเรือ เวลาในการทำงาน-ที่พักของลูกจ้าง-การจ่ายค่าจ้าง “ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการทำความเข้าใจกับภาคประมง เพื่อไม่ให้กระทบกับค่าใช้จ่ายและไม่กระทบต่อเรือประมงพื้นบ้าน”

ด้าน นายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทยกล่าวว่า ในวันที่ 20 กันยายนนี้ สมาคมจะเดินไปทางหารือกับองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ที่องค์การสหประชาชาติ (UN) ถ.ราชดำเนิน เนื่องจากที่ผ่านมาแม้ว่าจะมีการเจรจาหารือกับกระทรวงแรงงาน ในเรื่องของการให้สัตยาบัน C188 “แต่ว่าไม่เป็นผล” เพราะคณะอนุกรรมการร่างกฎหมายยึดถือแนวทางของ ILO เป็นสำคัญ ซึ่งตรงนี้ไม่สอดคล้องกับบริบทการทำประมงของประเทศไทย โดยคณะอนุกรรมการไม่มีการผ่อนปรนและไม่นำเอาข้อเสนอของทางสมาคมเข้าไปบรรจุไว้

“ไม่ใช่ว่าเราไม่ยอมรับเงื่อนไขการให้สัตยาบัน C188 แต่อยากให้มีการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขบางประการ โดยเฉพาะโครงสร้างเรือที่ต้องมีห้องน้ำ ห้องนอน โดยขอให้ยกเว้นเรือประมงเก่า และนำไปบังคับใช้เฉพาะเรือที่ต่อใหม่ ที่สำคัญโครงสร้างเรือไทยที่มีอยู่ไม่เหมาะแก่การต่อเติม และตามอนุมาตรา 1, 2 และ 3 เรือทุกลำที่ทำการประมงเพื่อการค้าขาย เรือที่ใช้ต้องมีการปรับเปลี่ยน ตรงนี้จะส่งผลกระทบกับประมงพื้นบ้าน ตรงนี้จึงทำให้สมาคมจะเดินทางไปหารือเพื่อนำข้อคิดเห็น และข้อมูลต่าง ๆ เสนอให้กับ ILO โดยตรงเอง” นายมงคลกล่าว

ทั้งนี้ สมาคมการประมงแห่งประเทศไทยจะเข้าพบกับ Mr.Graeme Buckley ผู้อำนวยการสำนักงานแรงงานระหว่างประเทศประจำประเทศไทย เพื่อให้ข้อมูลและตอบข้อสักถามเกี่ยวกับอนุสัญญา C188

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ สมาคมการประมงแห่งประเทศไทยได้ทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี คัดค้านการที่รัฐบาลไทยจะไปลงนามให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 188 โดยขอให้ชะลอการให้สัตยาบันออกไป

และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำการศึกษา-วิเคราะห์กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการประมง ก่อนที่จะยกร่างกฎหมายหรือเสนอกฎหมายฉบับใหม่ที่อนุวัติตามอนุสัญญา C188 เนื่องจากสมาคมพบว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีบทบัญญัติกฎหมายหลายประการที่มีมาตรฐาน “สูงกว่า” ที่ ILO กำหนดไว้ในอนุสัญญาฉบับที่ C188 เสียอีก

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 16/9/2561

ทีมสอบสวนโรค เร่งลงพื้นที่ตรวจสอบ-เก็บตัวอย่างเลือดแรงงานพม่าและนายจ้างรวมกว่าครึ่งร้อย สกัดโรคเท้าช้างระบาด จ.ตาก

หลังจากโรงพยาบาลอำเภอแม่สอด จ.ตาก แจ้งว่านายอะเย อายุ 39 ปี อาศัยอยู่หมู่ 6 ต.รวมไทยพัฒนา อ.พบพระ จ.ตาก เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลแม่สอด ตั้งแต่วันที่ 10 ก.ย. 2561 ที่ผ่านมา ด้วยอาการมีอาการเท้าบวมโต 2 ข้าง ท้องบวม อัณฑะบวม ปัสสาวะขัด และเมื่อมีการส่งตัวอย่างตรวจ ผลแลปยืนยันว่าผู้ป่วยเป็นโรคเท้าช้าง (Filariasis) จริง

ล่าสุดทางอำเภอพบพระ ได้แจ้งให้โรงพยาบาลศูนย์สุขภาพตำบลบ้านรวมไทยพัฒนา 6 และหน่วยควบคุมโรคฯ (นคม.) อ.พบพระ จ.ตาก ออกดำเนินการสอบสวน และควบคุมโรคดังกล่าว จากการสอบสวนโรค พบว่าผู้ป่วยเป็นชาวเมียนมา มารับจ้างและอาศัยอยู่บริเวณท้ายหมู่บ้าน หมู่ที่ 6 บ้านรวมไทยพัฒนา 8 ซึ่งมีกลุ่มแรงงานต่างด้าวอาศัยอยู่บริเวณนี้หลายหลัง ทางเจ้าหน้าที่จึงได้พ่นฝอยละอองเพื่อกำจัดตัวแก่ยุงลายสวน และทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุง พาหะนำโรค ในรัศมี 100 เมตร

นอกจากนี้ยังได้ออกบริการตรวจเลือดในกลุ่มแรงงานชาวเมียนมา จำนวน 52 ราย และนายจ้างจำนวน 5 ราย พร้อมจ่ายยา Diethylcarbamazine Citrate 300 mg. ในกลุ่มแรงงานเมียนมา และนายจ้างทุกคน ,ประสานงานผู้นำชุมชน อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) เพื่อช่วยค้นหา และประชาสัมพันธ์ทางเสียงตามสายในหมู่บ้านเพื่อเฝ้าระวังโรคต่อไป

ที่มา: MGR Online, 15/9/2561

นครบาลใช้ยุทธการ 'ปราบผีน้อย' จับหญิงเปิดเฟสบุ๊คหลอกไปทำงานเกาหลีใต้

ตำรวจนครบาล เปิดยุทธการ "ปราบผีน้อย" จับกุม ผู้ลักลอบ เปิดเพจ ชักชวนส่งคนไทยไปทำงานเกาหลีใต้ เผยตัวเลข หนีทัวร์ปีละกว่า 5 หมื่นคน ส่งผลเกาหลีใต้เตรียมยกเลิกยกเว้นวีซ่าท่องเที่ยวของไทย

พลตำรวจตรีเสนิต สำราญสำรวจกิจ ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 1 แถลงผลปฏิบัติการ "ปราบผีน้อย" โดยจับกุมนางสาวสุทธาอร สุทธิธนอร แอดมินเพจ  "งานเกาหลีใต้ by Jadezy" ที่โพสต์ข้อความชักชวนคนไทยไปทำงานที่ต่างประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาต

พลตำรวจตรีเสนิต กล่าวว่าผู้ต้องหามีพฤติการณ์ เปิดเพจทางเฟสบุ๊ค ชักชวนคนไทยไปทำงานนวดแผนโบราณ, เกษตรกรและร้านอาหาร ที่ประเทศเกาหลีใต้ โดยระบุว่างานสบาย รายได้ดี อยู่เกินกำหนดวีซ่าก็ไม่ต้องกลัวกฎหมาย คิดค่าจ้างคนละ 25,000-30,000  บาท และทำมานานแล้วกว่า 4 เดือน แต่ปฏิเสธว่า ยังไม่ได้ส่งคนไทยไปทำงานดังกล่าวแต่อย่างใด

พลตำรวจตรีเสนิต ยังกล่าวด้วยว่า การลักลอบส่งคนไปทำงานในประเทศเกาหลีใต้ ในลักษณะท่องเที่ยวทัวร์ ส่งผลกระทบต่อนักท่องเที่ยวชาวไทย ที่จะเดินทางไปท่องเที่ยวในประเทศเกาหลีใต้ ทำให้ถูกยกเลิกวีซ่าเข้าประเทศจำนวนมาก ขณะที่ในแต่ละปีมีผู้ลักลอบไปทำงานในลักษณะดังกล่าวปีละกว่า 50,000 คน ทำให้ล่าสุดกระทรวงยุติธรรมประเทศเกาหลีใต้ กำลังพิจารณายกเลิกการยกเว้นวีซ่าของนักท่องเที่ยวไทย ทั้งที่ได้รับการยกเว้นมานานกว่า 37 ปี

ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างขยายผลจับกุมผู้ลอบเปิดเพจ ชักชวนและส่งคนไปทำงานในประเทศต่างๆ อย่างผิดกฏหมายอีกกว่า 10 เพจ

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 14/9/2561

สถาบันวิจัยออกซ์ฟอร์ดฯ เผย AI เสี่ยงแย่งงานแรงงานไทย 4.9 ล้านคน ในปี 2028 ภาคเกษตรอ่วมได้รับผลกระทบมากสุด

สถาบันวิจัย ออกซ์ฟอร์ด อีโคโนมิกส์ และซิสโก บริษัทเทคโนโลยีสหรัฐ เปิดเผยรายงาน "เทคโนโลยีและอนาคตงานในอาเซียน" ณ ที่ประชุมเวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรั่ม ในเมืองฮานอย ของเวียดนาม พบว่าแรงงานไทย 11.9% หรือ 4.9 ล้านคน เสี่ยงตกงานหรือต้องย้ายงานภายในปี 2028 จากการที่ภาคธุรกิจนำเทคโนโลยีและปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้ในทำงานแทนแรงงานมนุษย์มากยิ่งขึ้น โดยในภาพรวมแล้ว AI คาดว่าจะส่งผลให้ตำแหน่งงานในไทยหายไป 1.3 ล้านอัตรา ซึ่งภาคการเกษตรเสี่ยงได้รับผล กระทบมากที่สุด โดยแรงงานกว่า 1.7 ล้านคนอาจต้องเปลี่ยนไปทำงานในภาคส่วนอื่นๆ ตามด้วยภาคการผลิตและภาคธุรกิจค้าปลีก-ค้าส่ง เนื่องจากงานส่วนใหญ่ในภาคส่วนดังกล่าวเป็นงานแบบเดิมๆ ซ้ำๆ ซึ่ง AI สามารถเข้ามาทำงานแทนได้

อย่างไรก็ตาม สำหรับภาคการผลิตและธุรกิจค้าปลีก-ค้าส่งนั้น คาดว่าจะมีการจ้างงานเพิ่มมากที่สุดอยู่ที่ 1.2 ล้านอัตรา และ 9.1 แสนอัตรา ตามลำดับ โดยรายงานระบุว่าการนำเทคโนโลยีเข้าไปผสมผสานกับการทำธุรกิจและนโยบายสนับสนุนของรัฐบาล ช่วยให้เกิดการจ้างแรงงานที่มีทักษะมากขึ้น

ที่มา: TNN24, 14/9/2561

กรมบัญชีกลางให้ ‘สสจ. สสอ.’ มีสถานะเป็นสถานพยาบาลเพื่อเบิกค่ารักษาได้แล้ว

กรมบัญชีกลางแจ้งเวียนหัวหน้าส่วนราชการ ให้ สสจ. สสอ. มีสถานะเป็นสถานพยาบาลของราชการ นำใบเสร็จมาเบิกค่ารักษาพยาบาลได้ตามสิทธิสวัสดิการข้าราชการ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2561 นางสาวสุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลางลงนามในหนังสือที่ กค 0416.4/ว 408 เรื่อง การเป็นสถานพยาบาลของทางราชการของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ เรียนหัวหน้าส่วนราชการ ระบุว่า ตามที่หนังสือกรมบัญชีกลาง ที่ กคง 0417/ว 54 ลงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2550 ได้เวียนแจ้งให้ส่วนราชการทราบและถือปฏิบัติกรณีสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดไม่มีสถานะเป็นสถานพยาบาลของทางราชการ ตามพระราชกฤษฎีกาเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล พ.ศ.2523 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ผู้มีสิทธิจึงไม่สามารถนำใบเสร็จรับเงินของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและสาธารณสุขอำเภอ มาเบิกจากทางราชการได้นั้น

กรมบัญชีกลางพิจารณาแล้ว ขอเรียนว่า เนื่องจากปัจจุบันกระทรวงแบ่งส่วนราชการ สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงสาธารณสุข พ.ศ.2560 กำหนดให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ มีอำนาจดำเนินการและให้บริการด้านการแพทย์และการสาธารณสุขในเขตพื้นที่ของตน ดังนั้น สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและสำนักงานสาธารณสุขอำเภอจึงมีสถานะเป็นสถานพยาบาลชองทางราชการ ตามมาตรา 4 แห่งพระราชกฤษฎีกาเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล พ.ศ.2553 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งผู้มีสิทธิสามารถนำใบเสร็จรับเงินค่ารักษาพยาบาลของตนเองหรือบุคคลในครอบครัวมาเบิกจากทางราชการได้ ตามหลักเกณฑ์และอัตราที่กระทรวงการคลังกำหนด และขอยกเลิกหนังสือกรมบัญชีกลางตามที่อ้างถึง

ที่มา: Hfocus, 14/9/2561

สระแก้วลุยจับนายจ้าง-แรงงานต่างด้าวทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาต

พ.ต.อ.เบญจพล รอดสวาสดิ์ ผกก.ตม.จว.สระแก้ว เปิดเผยว่า ภายหลังเจ้าหน้าที่ระดมกวาดล้างจับกุมแรงงานต่างด้าวและผู้ประกอบการนายจ้าง ที่ทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาตและอยู่ในราชอาณาจักรชั่วคราวเพื่อประกอบอาชีพโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามแผนระดมกวาดล้าง ครั้งที่ 3 ตั้งแต่ 1 - 15 ก.ย. 2561 ในพื้นที่ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว

จึงสั่งการให้ พ.ต.ท.เรืองเดช ธรรมนันท์ รอง ผกก.ตม.จว.สระแก้ว พ.ต.ท.หญิง อัญชรี แฉล้มรักษ์ รอง ผกก.ตม.จว.สระแก้ว พ.ต.ต.ปุณณวิทย์ ศิริวิวัฒนะกุล สว.ตม.จว.สระแก้ว และเจ้าหน้าที่งานสืบสวนปราบปราม ตม.จว.สระแก้ว ร่วมบูรณาการกับ เจ้าหน้าที่เจ้าหน้าที่แรงงานจังหวัดสระแก้ว เจ้าหน้าที่ทหารพรานที่ 12 ตำรวจตระเวนชายแดนที่ 12 สภ.คลองลึก และ กอ.รมน.จังหวัดสระแก้ว ระดมตรวจสอบกวดขันและจับกุมนายจ้างและแรงงานต่างด้าว ตั้งแต่บ่ายวานนี้เป็นต้นมา ปรากฏว่า สามารถจับกุมแรงงานต่างด้าวและนายจ้างได้กว่า 30 คน

พ.ต.อ.เบญจพล กล่าวอีกว่า เจ้าหน้าที่สามารถจับกุม นายกาเร อุจ (KARE UCH) อายุ 50 ปี สัญชาติ กัมพูชา ถือเอกสารหนังสือผ่านแดน BORDER PASS พร้อมพวก รวม 27 คน เป็นชาย 16 คน หญิง 11 คน รับว่าทำงานกรรมกรก่อสร้างได้รับค่าแรงคนละ 250 - 390 บาท ข้อหาเป็นบุคคลต่างด้าวทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว มาตรา 8 และเป็นบุคคลต่างด้าวได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว เพื่อประกอบอาชีพโดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 มาตรา 37 (1)

ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษ นายพิเชษฐ์ พูลตาล อายุ 38 ปี สัญชาติ ไทย นายจ้าง บ้านเลขที่ 6 หมู่ 3 ต.ดอนยายหอม อ.เมือง จ.นครปฐม ในข้อหาใช้แรงงานต่างด้าวโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งสามารถจับกุมนายจ้างและแรงงานต่างด้าวรายดังกล่าวได้ที่โครงการก่อสร้างสถานีไฟฟ้าอรัญประเทศ หมู่ 7 บ้านดงงู ต.ป่าไร่ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว

อย่างไรก็ตาม จากการระดมตรวจสอบกวาดล้างครั้งนี้ เจ้าหน้าที่ยังสามารถจับกุมแรงงานต่างด้าวได้อีก 3 ราย ในห้องเช่าไม่มีเลขที่ ต.อรัญประเทศ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ประกอบด้วย นายลิม นะ อายุ 28 ปี นายซก คา อายุ 40 ปี และนายซก ลิม อายุ 44 ปี ทั้งหมดสัญชาติ กัมพูชา ข้อหาเป็นบุคคลต่างด้าวทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาตและเป็นบุคคลต่างด้าวเข้ามาและอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตเช่นกัน จึงรวบรวมผู้ต้องหาทั้งหมดนำส่ง พ.ต.ท.ไพศิลป์ แก้วสีขาว พนักงานสอบสวน สภ.คลองลึก เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

ที่มา: คมชัดลึก, 14/9/2561

ห้ามนายจ้างให้ลูกจ้างอายุต่ำกว่า 18 ปี ทำงานในระหว่างเวลา 22.00-6.00 น.

กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ย้ำนายจ้างห้ามให้ลูกจ้างเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ทำงานในระหว่างเวลา 22.00 น. ถึง 6.00 น. ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 1 แสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

นายทศพล กฤตวงศ์วิมาน รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 กำหนดห้ามไม่ให้นายจ้างให้ลูกจ้างซึ่งเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีทำงานในระหว่างเวลา 22.00 น. ถึง 6.00 น. เว้นแต่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากกสร. สำหรับลูกจ้างซึ่งเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี และเป็นผู้แสดงภาพยนตร์ ละคร หรือการแสดงอย่างอื่นที่คล้ายคลึงกันนั้น นายจ้างอาจให้ทำงานในระหว่างเวลาดังกล่าวได้ แต่ต้องให้ลูกจ้างซึ่งเป็นเด็กนั้นได้พักผ่อนตามสมควร

รองอธิบดีกสร. กล่าวเพิ่มเติมว่า กรณีที่นายจ้างฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนด จะมีความผิดโดยมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 1 แสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามได้ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 ถึง 10 สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด หรือโทรศัพท์สายด่วน 1506 กด 3

ที่มา: กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน, 13/9/2561

'กอช.' จับมือ 'กฟภ.' หนุนการออม-ขยายฐานสมาชิกพนักงานลูกจ้าง

นายอำนวย ปรีมนวงศ์ รองปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องสร้างระบบการออมที่เข้มแข็งเพื่อเสริมเสถียรภาพทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ขณะที่ประชาชนทั้งที่เป็นแรงงานในระบบและแรงงานนอกระบบยังมีปริมาณการออมเพื่อการชราภาพในระดับที่น้อยมาก กอช. จึงเป็นกลไกสำคัญอย่างหนึ่งในการส่งเสริมให้แรงงานนอกระบบหรือผู้ประกอบอาชีพอิสระ ที่ไม่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และไม่ได้เป็นผู้ประกันตน ม.33 ม.39 ม.40ทางเลือก 2และ3 ได้มีโอกาสรับบำนาญจากรัฐ โดยการสมัครเป็นสมาชิก กอช. รับเงินสมทบจากรัฐบาลเพื่อออมเป็นบำนาญมากขึ้น พร้อมยกระดับการบริการให้ประชาชนได้รับความสะดวกสบายและเข้าถึงได้ง่ายผ่านช่องทางต่างๆ ซึ่งโครงการความร่วมมือ ในครั้งนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นให้หน่วยงานอื่นๆ ที่เป็นภาครัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ ที่มีลูกจ้างที่ยังไม่ได้รับสวัสดิการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและไม่ได้เป็นผู้ประกันตนตามมาตราดังกล่าวข้างต้น มาสมัครเป็นสมาชิก กอช.เพิ่มมากขึ้นต่อไป

นางสาวจารุลักษณ์ เรืองสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนการออมแห่งชาติ กล่าวว่า ทาง กอช. ได้ตระหนักถึงการออมเงินเพื่อใช้ในวัยเกษียณหลังอายุ 60 ปี ให้ประชาชนคนไทยที่ไม่ได้อยู่ในระบบบำเหน็จบำนาญสามารถมีบำนาญได้เช่นเดียวกับข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ และพนักงานเอกชน โดยรัฐบาลจะสมทบเงินในอัตราที่แตกต่างกันในแต่ละช่วงอายุให้ทุกคนที่มีสิทธิในการออม ได้มีเงินบำนาญไว้ใช้ยามแก่ชรา กอช. จึงได้หารือแนวทางความร่วมมือเพื่อให้ลูกจ้าง กฟภ. ได้รับสวัสดิการบำนาญจากรัฐ พร้อมทั้งตระหนักถึงการมีวินัยทางการเงิน สามารถวางแผนและบริหารจัดการเงินของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ที่มีวิสัยทัศน์ในการเล็งเห็นถึงประโยชน์ที่จะเกิดกับลูกจ้าง เรื่องการออมที่จะให้ลูกจ้างใน กฟภ. ทั้งหมดได้มีโอกาสรับสวัสดิการบำนาญจากรัฐ

ทั้งนี้ กอช. ยังมีช่องทางอำนวยความสะดวกให้กับสมาชิกและผู้ที่สนใจ สามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน “กอช” เพื่อสมัครสมาชิก ดูข้อมูลบัญชีเงินออม และใช้ตรวจสอบสิทธิการสมัครสมาชิกได้ ทั้งระบบ iOS และ Android หรือที่ www.nsf.or.th และสามารถติดต่อสมัครสมาชิกและรับบริการอื่นๆ ของ กอช. ได้ที่ธนาคารกรุงไทย, ธนาคารออมสิน, ธ.ก.ส. และ ธอส. ทุกสาขา รวมทั้งสำนักงานคลังจังหวัด จุดบริการเคาน์เตอร์เซอร์วิสกว่า 13,000 แห่ง สถาบันการเงินชุมชน และเครือข่ายรับสมัครทั่วประเทศ

นายเสริมสกุล คล้ายแก้ว ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค กล่าวว่า การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ได้สนองนโยบายกระทรวงมหาดไทย ให้ดำเนินการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับกองทุนเงินออมแห่งชาติ (กอช.) แก่บุคลากรในสังกัดที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนดให้สมัครเป็นสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติและเพื่อเป็นการให้ความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจแห่งแรกที่เข้าร่วมการออมกับกองทุนการออมแห่งชาติ จึงได้บูรณาการทำงานร่วมกันเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างหลักประกันให้แก่ลูกจ้าง กฟภ. สร้างความมั่นคงและสร้างวินัยการออมพร้อมตระหนักถึงความสำคัญของการออมเงินไว้เพื่อใช้หลังเกษียณ อายุงาน ซึ่งเมื่อเดือนก.ค.ที่ผ่านมา จัดอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการออม พร้อมสิทธิประโยชน์ในการเป็นสมาชิก กอช. ทั้ง กฟภ. สำนักงานใหญ่ และเขต 12 เขต ทั่วประเทศ เป็นจำนวน 5,988 คน โดยหลังการอบรมมีผู้ที่สนใจสมัครเป็นสมาชิก กอช. แล้ว จำนวน 3,815 คน เป็นเงิน 2,865,244 บาท โดยดำเนินการนำส่งเงินในรูปแบบต่อเนื่อง (หักส่งทุกเดือนจากต้นสังกัด) ในเดือนส.ค.ที่ผ่านมา เป็นเดือนแรก และ กฟภ. มีนโยบายที่ให้พนักงานลูกจ้างที่เข้าทำงานกับ กฟภ. สมัครเข้าเป็นสมาชิก กอช. อย่างต่อเนื่อง นับเป็นการส่งเสริมการออมเงินเพื่อสร้างหลักประกันด้านบำนาญในอนาคตต่อไป

ที่มา: สยามรัฐ, 11/9/2561

ก.แรงงานระบุสนับสนุนให้ภาคเอกชนดูแลลูกจ้างแรงงานต่างด้าวอย่างเท่าเทียมกับแรงงานไทย

“พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนให้ภาคเอกชนซึ่งเป็นนายจ้างหรือผู้ประกอบการที่จ้างแรงงานต่างด้าวให้การดูแลลูกจ้างแรงงานต่างด้าวอย่างเท่าเทียมกับแรงงานไทย ซึ่งการดูแลลูกๆ ของแรงงานต่างด้าว โดยให้พวกเขาได้มีโอกาสเข้าเรียนในโรงเรียนของไทยร่วมกับเด็กไทยนั้น ก็เป็นกิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตให้แรงงานต่างด้าวและครอบครัว เป็นนโยบายประชารัฐ

สำหรับการมอบป้ายส่วนต่อเติมห้องเรียนในวันนี้ เป็น “โครงการปันฝัน ปั้นยิ้ม” ซึ่งบริษัทเบทเตอร์เวย์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ร่วมกับเครื่องสำอาง “มิสทีน” ร่วมให้ความอนุเคราะห์สนับสนุนในการก่อสร้างส่วนต่อเติมอาคารเรียนชั้นล่าง จำนวน 3 ห้องเรียน ณ โรงเรียนวัดศิริมงคล อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ซึ่งเป็นโรงเรียนต้นแบบในการจัดการศึกษาสำหรับนักเรียนไร้สัญชาติไทย

โรงเรียนวัดศิริมงคล เปิดสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาล-ประถมศึกษาปีที่ 6 มีนักเรียน 150 คน เป็นเด็กไทย 15 คน ไม่มีสัญชาติไทย 135 คน ข้าราชการครู 9 คน ครูอัตราจ้าง 3 คน ครูพี่เลี้ยงเด็กเมียนมา 1 คน และลูกจ้าง 1 คน เป็นโรงเรียนที่เปิดโอกาสให้นักเรียนที่ไม่มีทะเบียนราษฎร์หรือสัญชาติไทยเข้าเรียนร่วมกับเด็กไทย เด็กส่วนใหญ่มีสัญชาติเมียนมา มอญ กะเหรี่ยง ไทยใหญ่ ที่ติดตามผู้ปกครองมาใช้แรงงานในภาคเกษตรหรือเรียกว่าเด็กชนเผ่า (เด็กชายขอบ) และอีกกลุ่มเป็นกลุ่มของลูกแรงงานต่างด้าว ซึ่งกลุ่มนี้มีจำนวนมากขึ้นอย่างต่อเนื่องและใช้ภาษาชาติพันธุ์ในการศึกษา ไม่มีพื้นฐานทางภาษาไทย ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการเตรียมความพร้อมด้านภาษาไทยให้กับเด็กก่อนที่จะเข้าไปเรียนร่วมกับเด็กไทยในชั้นปกติด้วยหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการเช่นเดียวกับโรงเรียนทั่วไป

โดยการดำเนินการดังกล่าวเป็นแนวทาง “ประชารัฐ” ที่ภาครัฐได้ร่วมกับภาคเอกชนและภาคประชาสังคมในการดูแลครอบครัวแรงงานต่างด้าว ให้ได้รับการคุ้มครอง การปฏิบัติเช่นเดียวกับคนไทย เพื่อพวกเขาจะได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีความสุขตลอดระยะเวลาที่ทำงานอยู่ในประเทศไทย

ทั้งนี้ จังหวัดสมุทรสาคร มีแรงงานต่างด้าวที่ได้รับใบอนุญาตทำงาน จำนวน 277,898 คน แบ่งเป็น กลุ่ม BOI จำนวน 123 คน กลุ่มทั่วไป จำนวน 3,419 คน ชนกลุ่มน้อย จำนวน 5,794 คน กลุ่ม MOU จำนวน 80,855 คน กลุ่ม พิสูจน์สัญชาติ จำนวน 120,553 คน กลุ่มตามมติ ครม. 16 มกราคม 2561 ที่ได้รับการปรับปรุงทะเบียนประวัติ และตรวจลงตรา (VISA) และขออนุญาตทำงานถึง 31 มีนาคม 2561 ณ ศูนย์ OSS จำนวน 67,154 คน ส่วนกลุ่มตามมาตรา 83 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 ที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติ ที่กำลังดำเนินการขยายระยะเวลาการทำงานออกไปอีก 2 ปี มีจำนวน 282 ราย ขณะนี้มาดำเนินการแล้ว 175 ราย และต้องขอขอบคุณภาคเอกชนเจ้าของสถานประกอบการที่ตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของลูกจ้างต่างด้าว ซึ่งจะเป็นต้นแบบตัวอย่างที่ดีให้กับภาคเอกชนอื่นๆ ต่อไป

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 10/9/2561

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท