Skip to main content
sharethis

'วราวุธ ศิลปอาชา' ถาม 'คสช.-กกต.' เอาให้ชัด พรรคการเมืองสามารถติดต่อสมาชิกผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้หรือไม่ ระบุโลกออนไลน์มีรายละเอียดซับซ้อน 'พลังธรรมใหม่' ชี้ยกเลิกไพรมารี่โหวตทำการเมืองล้มเหลว ด้าน 'สนธยา' ลั่นไม่ยุบ 'พลังชล' รวมใคร เตรียมหารือนัดประชุมใหญ่

16 ก.ย. 2561 เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ รายงานว่านายวราวุธ ศิลปอาชา อดีต ส.ส.สุพรรณบุรี และแกนนำพรรคชาติไทยพัฒนา ให้สัมภาษณ์ถึงการคลายล็อคทางการเมืองโดยคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 13/2561 เรื่องการดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (เพิ่มเติม) ว่าก่อนอื่นต้องขอบคุณ คสช. แต่ไม่ได้อยู่นอกเหนือความคาดหมายเพราะเป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการ เช่นการที่ให้ทุกพรรคการเมืองสามารถเรียกประชุมพรรคการเมือง เพื่อเสนอร่างข้อบังคับพรรคใหม่ เลือกกรรมการบริหารพรรคใหม่เลือกหัวหน้าพรรคใหม่ เพราะตอนนี้ไม่มีพรรคการเมืองใดที่มีเหล่านี้อยู่เลย

นอกจากนี้ยังให้พรรคการเมืองสามารถดำเนินการหาสมาชิกได้ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญเพราะกฎหมายกำหนดว่าหากจะมีการเลือกตั้งผู้สมัครของพรรคการเมืองจะต้องเป็นสมาชิกพรรคไม่ต่ำกว่า 90 วัน คสช.คลายล็อคให้อย่างนี้สามารถทำให้พรรคการเมืองดำเนินงานตามกฏหมายที่กำหนดเอาไว้ได้

“แต่สิ่งที่ยังน่าเป็นห่วงอยู่คือการติดต่อสมาชิกพรรคโดยผ่านวิธีสารสนเทศหรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์เรื่องนี้คงต้องขอความชัดเจนจาก คสช. หรือคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้เร่งพิจารณาแล้วมีแนวทางที่ชัดเจนให้พรรคการเมืองได้ปฏิบัติเพราะในโลกออนไลน์นั้นมีรายละเอียดซับซ้อน มีข้อจำกัดอย่างมาก เช่น เฟสบุ๊ค ของพรรคการเมืองจะทำอย่างไรที่จะไม่ให้เปิดเป็นสาธารณะเพื่อให้สื่อสารกับสมาชิกได้อย่างเดียวซึ่งข้อนี้ผมเองก็ยังจนปัญญาอยู่เหมือนกันหรือแม้แต่เว็บไซต์ของพรรคจะต้องทำอย่างไรก็ยังนึกไม่ออก การควบคุมการพูดคุยหรือสิ่งที่ดำเนินไปบนโซเชียลให้เป็นไปในทางปิดหรือไม่ใช่สาธารณะนั้นเป็นอะไรที่ยากมาก”

นอกจากนี้สิ่งที่ยังน่าเป็นห่วงคือประเด็นเรื่องการเตรียมความพร้อมของทุกส่วนที่เกี่ยวข้องในการเลือกตั้งโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ กกต.เพราะจากนี้ไปทุกพรรคการเมืองจะต้องเดินหน้าหาสมาชิก โดยต้องหาให้ครบ 5,000 คน ภายในหนึ่งปี (13 ก.ย. 2562) หรือแม้แต่การที่จะต้องให้มีสมาชิก 500 คน เบื้องต้นนี้ก่อน และยังมีเรื่องการชำระค่าบำรุง ภายใน 180 วัน ในขณะที่ผู้สมัครทั่วประเทศคงต่างเร่งรัดในการรับสมาชิกเข้ามา โดยคงจะมากกว่า 500 คน แน่นอน แล้วเมื่อถึงเวลาทุกพรรคย่อมถาถมไปที่ กกต.แล้วฐานสมาชิกฐานข้อมูลหรือระบบการปฎิบัติการของ กกต.นั้นมีความพร้อมในการรองรับในจุดนี้หรือไม่ไม่ว่าจะเป็นกำลังคนกำลังเทคโนโลยีพร้อมหรือไม่

ส่วนเรื่องพรรคการเมืองจะไปหาเสียงเมื่อถึงเวลาก็ได้กำหนดไว้อีกว่านโยบายที่จะนำเสนอต่อสาธารณะในการเลือกตั้งครั้งต่อไปจะต้องส่งให้ กกต.เป็นผู้พิจารณาว่าจะต้องใช้งบประมาณจากไหน มีความคุ้มค่าหรือไม่

เมื่อทุกพรรคการเมืองเสนอเข้าไปแล้ว กกต.จะสามารถพิจารณาความเป็นไปได้ของนโยบายแต่ละพรรคการเมืองได้หรือไม่ กกต.มีบุคลากรที่มีความพร้อมในการนั่งวิเคราะห์ข้อมูลของแต่ละพรรคที่มี 30-40 พรรค หรือไม่ และเมื่อวิเคราะห์แล้วยังต้องส่งแจ้งผลกลับมาที่พรรคการเมืองอีกสิ่งต่างๆ เหล่านี้แสดงให้เห็นว่าบุคลากรใน กกต.ต้องมีจำนวนมหาศาลเพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่โหมดการเลือกตั้ง ตนจึงมีความเป็นห่วงมากว่า กกต. จะทำงานทันหรือไม่

ส่วนกรณีที่คำสั่งดังกล่าวมีผลให้ยกเลิกการใช้ไพรมารี่โหวตและให้ใช้รูปแบบคณะกรรมการสรรหาผู้สมัครแทนนั้นอย่างน้อยคงเป็นการเอื้อพรรคการเมืองที่เพิ่งตั้งใหม่ขึ้นมาเรียนตรงๆ ว่าระบบไพรมารี่ไม่เหมาะตั้งแต่แรกการไปเลียนแบบรูปแบบการเมืองของประเทศอื่นมาใช้กับประเทศไทยโดยตรงไม่สามารถทำได้

อย่างไรก็ตามสามารถเป็นตัวพิสูจน์ได้ว่าสิ่งที่กรรมการร่างรัฐธรรมนูญร่างขึ้นมานั้นทำไม่ได้เพราะถ้าทำได้ คสช.คงไม่ออกมาตรา 44 มายกเว้นเรื่องนี้อย่างไรก็ตามขณะนี้พรรคชาติไทยพัฒนารอให้ได้พูดคุยระหว่างพรรคการเมืองกับคณะกรรมการการเลือกตั้งในวันที่ 28 ก.ย. 2561 นี้เสร็จก่อน จึงจะมีการประชุมกรรมการบริหารพรรค จากนั้นประชุมใหญ่พรรคในวันที่ 5 ต.ค. 2561 นี้ ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์

'พลังธรรมใหม่' ชี้ยกเลิกไพรมารี่โหวตทำการเมืองล้มเหลว

สำนักข่าวไทย รายงานว่า นพ.ระวี มาศฉมาดล หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ กล่าวถึงกรณีคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ประกาศ 3 ข้อคลายล็อคพรรคการเมือง คือ 1.คลี่คลายเงื่อนไขให้ทุกพรรคสามารถดำเนินงานพรรค เช่น เรื่องทุนประเดิมพรรค จำนวนสมาชิกพรรค ค่าบำรุงพรรค ฯลฯ 2.คลายล็อคให้พรรคการเมืองสามารถประชุมพรรคได้เลือกคณะกรรมการพรรคได้ และ 3.ยกเลิกไพรมารี่โหวต ให้ใช้คณะกรรมการสรรหาผู้สมัคร ส.ส.ตามแบบของกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญว่าเป็นที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง ที่ประเทศไทยเสียโอกาสในการปฏิรูปการเมืองในประเด็นที่สำคัญมากคือประเด็นไพรมารีโหวต

“การยกเลิกไพรมารีโหวตเป็นเงื่อนไขสำคัญ ในการปฏิรูปการเมืองที่จะทำให้ทุกพรรคจะต้องค่อยๆ ลดหรือหยุดการดำเนินการแบบพรรคการเมืองเก่าที่มีเถ้าแก่หรือนายทุนพรรคเป็นผู้บงการพรรคให้อำนาจกับสมาชิกพรรคของทุกพรรค เป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจในการเลือก ส.ส.ทั้งแบบเขตและแบบบัญชีรายชื่อ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญของการเริ่มต้นปฏิรูปการเมืองไทยเป็นการกลืนน้ำลายของตนเองอีกครั้งหนึ่งที่ คสช.ได้เคยประกาศจะทำการปฏิรูปการเมือง แต่ผลสุดท้าย กลับดำเนินการยกเลิกไพรมารีโหวต” นพ.ระวี กล่าว

หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่กล่าวว่า คสช.ควรจะคง ไพรมารี่โหวตไว้ แล้วใช้ ม.44 เลื่อนกำหนดวันประกาศรับสมัคร ส.ส. ทั้ง 2 ระบบของ กกต. ไปอีกสัก 2 เดือน การทำแบบนี้แทบทุกพรรคที่มีความพร้อมก็จะสามารถทำไพรมารีโหวตทันการเริ่มต้นปฏิรูปการเมืองก็จะได้เริ่มต้นนับหนึ่งตั้งแต่การเลือกตั้งครั้งนี้ไป 

นพ.ระวี กล่าวว่าแม้ว่า คสช.จะยกเลิกไพรมารีโหวตไปแล้วแต่สำหรับพรรคพลังธรรมใหม่ ยังคงยืนยันที่จะใช้หลักการไพรมารีโหวตในการคัดเลือก ส.ส. ของพรรคพลังธรรมใหม่ทั้ง 2 ระบบ เพราะสิ่งนี้คือหลักการสำคัญของพรรคพลังธรรมใหม่ ที่จะทำให้พรรคเป็นของสมาชิกพรรคทุกๆ คน สมาชิกพรรคมีอำนาจและบทบาท ในประเด็นที่สำคัญของพรรคทุกเรื่อง แต่ในการทำไพรมารีโหวตของพรรคพลังธรรมใหม่ ก็จะปรับให้สอดคล้องกับกฎหมายที่บัญญัติไว้ เช่น ในการเลือก ส.ส.เขตของพรรคทุกเขต จะให้สมาชิกในเขตเป็นผู้โหวตเลือก ส.ส. ของพรรค คณะกรรมการสรรหาผู้สมัคร ส.ส. ของพรรคจะทำหน้าที่ตรวจสอบคุณสมบัติของ ผู้สมัครส.สที่ได้รับการเลือกมาจากสมาชิกเขต

หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่กล่าวว่าพรรคพลังธรรมใหม่ไม่เห็นด้วยกับการที่คสช.เพียงแค่คลายล็อคแต่ไม่ยอมปลดล็อคเพราะการที่ยังไม่ปลดล็อคพรรคการเมืองทั้งหมดไม่มีประโยชน์อะไรต่อประเทศชาติและประชาชนแต่อย่างใด ควรจะปลดล็อคให้พรรคการเมืองทุกพรรคดำเนินการทางการเมืองได้ปกติเหมือนในระบอบประชาธิปไตยทั่วไป ถ้าพรรคใดใช้สิทธิ์ของตนแล้วก่อให้เกิดความวุ่นวายความขัดแย้งอย่างรุนแรงต่อบ้านเมือง คสช.ก็สามารถใช้ ม. 44 ดำเนินการ ตามกฎหมายเฉพาะพรรคที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งวุ่นวายได้อยู่แล้ว

'สนธยา' ลั่นไม่ยุบ 'พลังชล' รวมใคร เตรียมหารือนัดประชุมใหญ่

ด้าน มติชนออนไลน์ รายงานว่านายสนธยา คุณปลื้ม หัวหน้าพรรคพลังชล (พช.) และที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการคลายล็อคทางการเมืองว่าพรรคพลังชลได้ศึกษาอยู่ตลอดเวลาว่าพรรคการเมืองสามารถทำกิจกรรมใดได้บ้างไม่ได้บ้าง เพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติพรรคการเมืองและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และเมื่อ คสช.ออก ม.44 คลายล็อคนี้แล้ว ฝ่ายกฎหมายของพรรคพลังชลได้เตรียมการหาสมาชิกพรรค เตรียมประชุมกรรมการบริหารพรรค และเตรียมประชุมใหญ่ ซึ่งคงต้องหารือกันก่อนว่าจะกำหนดวันเมื่อไหร่

“ขั้นตอนการเตรียมประชุมใหญ่พรรคเราก็ดำเนินการตามที่ประกาศ คสช. อย่างแน่นอน ตอนนี้คงต้องเตรียมหารือกับกรรมการบริหารพรรคแล้วกำหนดวันประชุมใหญ่ที่เหมาะสม ยืนยันว่าพรรคพลังชลไม่ยุบรวมกับใครอย่างที่มีกระแสแน่นอน” นายสนธยากล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net