Skip to main content
sharethis

หลายพรรคการเมืองแสดงความเห็นเวที "สัญญาณการเลือกตั้ง ทิศทางการเมืองไทย ต่ออนาคตสันติภาพปาตานี" นักเคลื่อนไหวสันติภาพในพื้นที่อยากให้รัฐมองเห็นความสำคัญเรื่องการพูดคุยสันติภาพให้มีความชัดเจนมากกว่าที่ผ่านๆ มา

งานเสวนา "สัญญาณการเลือกตั้ง ทิศทางการเมืองไทย ต่ออนาคตสันติภาพปาตานี" ที่อาคารคณะกรรมการกลางอิสลามจังหวัดปัตตานี (หลังเก่า) จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 15 ก.ย. 2561 ที่มาภาพ: เฟสบุ๊ค Acassery Bender

เมื่อวันที่ 15 ก.ย. 2561 ที่ผ่านมา เว็บไซต์ชายแดนใต้ รายงานว่าที่ห้องประชุมปัตตานี อาคารสำนักงานอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี (หลังเก่า) ตัวแทนนักการเมืองใหม่และเก่าที่จะลงสมัครเลือกตั้งในปี 2562 ประกอบด้วยตัวแทนจากพรรคประชาชาติ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคสามัญชน พรรคอนาคตใหม่ และตัวแทนจากนักเคลื่อนไหวภาคประชาสังคมในพื้นที่ แต่ไม่มีนายจาตุรนต์ ฉายแสง ตัวแทนจากพรรคเพื่อไทย ตามที่มีการแจ้งหมายร่วมการเสวนาในครั้งนี้ ซึ่งการเสวนาเริ่มกันอย่างเรียบง่าย โดยเนื้อหาส่วนใหญ่เป็นการถกเถียงตามหัวข้อ “สัญญาณการเลือกตั้ง ทิศทางการเมืองไทย ต่ออนาคตสันติภาพปาตานี” ซึ่งตัวแทนทุกคนมีแนวทางที่คล้ายๆ กันคือ เรื่องอยากให้ คสช.ปลดล็อคและให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว

นายสมบัติ บุญงามอนงค์ (บก.ลายจุด) หัวหน้าพรรคเกรียน ได้เเสดงความคิดเห็นในหัวข้อความขัดกันในเชิงความคิดทางการเมือง โดยมองในบริบทของคนในพื้นที่ ถ้าหากมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นในเร็ววันก็อยากให้คนในพื้นที่แสดงออกถึงจุดยืนและความต้องการ เพื่อประโยชน์ของตนเองและลูกหลานในอนาคต

นายอารีเพ็ญ อุตระสินธุ์ ตัวเเทนจากพรรคประชาชาติ กล่าวอยากให้มีการทบทวนเรื่องการลดทหารในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ปัตตานี ยะลา นราธิวาส) ลงและให้ภาครัฐใส่ใจชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบให้มากกว่าที่เป็นอยู่นี้เพราะปัจจุบันการเข้าถึงของรัฐยังไม่ทั่วถึง เช่นมีเหตุการณ์แต่ละครั้งถึงจะมีเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาดูแลและไม่มีการติดตามช่วยเหลือต่อเนื่อง

นายจุนินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงเรื่องการศึกษาในพื้นที่ หลังจาก คสช.เข้ามามีบทบาทหน้าที่ก็ได้ปรับเปลี่ยนนโยบายการศึกษาจนทำให้ถดถอยลง โดยเฉพาะโรงเรียนของรัฐที่นับวันยิ่งมีน้อยลงกว่าโรงเรียนเอกชน แต่คนพื้นที่ส่วนใหญ่ที่เป็นชาวไทยมุสลิม จะส่งบุตรหลานเรียนในสองสาย แต่ไม่ค่อยได้รับการสนับสนุนเรียนทั้งสายสามัญและศาสนาแบบจริงจัง จนทำให้ผลสำริดทางการศึกษาของเด็กในพื้นที่ต่ำลงจนไม่สามารถแข่งขันกับภูมิภาคอื่นๆ อีกทั้งโรงเรียนเอกชนก็มีการแข่งขันกันจนเป็นค่านิยมและลืมไปว่าโรงเรียนของรัฐมีการสนับสนุนให้เรียนฟรีและมีอุปกรณ์การเรียนการสอนและหลักสูตรที่ทางกระทรวงศึกษาวางไว้แล้ว

นส.พิมพ์สิริ เพชรน้ารอบ พรรคสามัญชน พรรคหน้าใหม่ในเวทีการเมือง ได้กล่าวในหัวข้อรากเหง้าของปัญหาคือสิทธิในการกำหนดชะตากรรมของตนเอง รวมไปถึงในการกำหนดเศรษฐกิจ สังคม ในพื้นที่มีผลผูกพันธุ์ โดยมองถึงสิทธิของคนในพื้นนั้นถูกริดรอนสิทธิ์มายาวนานกว่า 10 ปี ทั้งนี้หากมีโอกาสร่วมในการแก้ไขปัญหาก็จะมองถึงสิทธิ์เสรีภาพในพหุวัฒนธรรมของพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางศาสนาและวัฒนธรรม และหากรัฐมีการบังคับใช้กฎหมายที่ส่วนใหญ่แล้วประชาชนถูกเอารัดเอาเปรียบก็จะมองในเรื่องการเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาเหล่านี้เป็นหลัก

นายปิยบุตร เเสงกนกกุล พรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่ามองสองด้านทั้งเรื่องความแตกต่างและความหลากหลายในอำนาจการตัดสินใจของคนในพื้นที่ หากเอาทหารนำการเมืองมองว่าปัญหาในพื้นที่ก็จะไม่มีทางสิ้นสุด เมื่อยังมีความเเตกต่างอยู่และหากจะไปสู่สันติภาพก็ตะต้องให้ลดทหารลงก่อนจึงจะมาปรับในจุดอื่นๆ ที่เป็นจุดรายละเอียดอ่อน เช่น หากประเทศไทยยังปกครองเเบบเผด็จการแล้วปัญหาความขัดเเย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็จะไม่มีหนทางจะจบลงได้

นายอาเต็ฟ โซะโก นักเคลื่อนไหวสันติภาพในพื้นที่ กล่าวว่าหากมองปัญหาจากคนในพื้นที่แล้วและจากที่ตนเองเป็นคนในพื้นที่มองว่า เมื่อรัฐไทยมองถึงรากเหง้าเเละปัญหาที่เเท้จริง จะสามารถเเก้ไขปัญหาในพื้นที่ได้และมองประเด็นเรื่องการลดหรือถอนทหารออกจากพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่สีแดงนั้นรัฐบาลต้องกล้าที่จะทำ หากไม่ทำปัญหาที่เกิดขึ้นก็ไม่มีทางยุติลงได้ นอกจากนี้ยังอยากให้รัฐมองเห็นความสำคัญเรื่องการพูดคุยสันติภาพให้มีความชัดเจนมากกว่าที่ผ่านๆ มา เพราะกระบวนการพูดคุยสันติภาพสามารถที่จะนำปัญหาจากการพูดคุยในเวทีมาปรับแก้และใช่จริง ไม่ใช่เพียงแค่การพูดคุยอย่างเดียว แต่กลับไม่มีความคืบหน้าใดๆ เลย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net