ภาพถ่ายของแรงงานไทยในสิงคโปร์ยุค'90 สะท้อนชีวิต ความฝัน มิตรภาพยามยาก

อดีตคนงานไทยในสิงคโปร์ 'ศรีคูณ เจียงกระโทก' นำเสนอภาพถ่ายจากกล้องฟิล์ม พาย้อนเวลากลับไปในยุค 1990 ที่คนไทยไปเป็นแรงงานอพยพสร้างตึกสูงในสิงคโปร์ ภาพถ่ายเหล่านี้นำเสนอให้เห็นชีวิตความเป็นอยู่และมุมมองต่อสิงคโปร์จากสายตาของขุนพลแรงงานเหล่านี้


คนงานกำลังทำงานก่อสร้างบนตึกสูง ที่มา: ศรีคูณ เจียงกระโทก/Work Men on the Move


ศรีคูณ เจียงกระโทก มองเพื่อนคนงานที่กำลังเริ่มก่อสร้างอาคารโรงแรมชั้นที่ 1
ที่มา: ศรีคูณ เจียงกระโทก/Work Men on the Move

งานจัดแสดงผ่านเว็บไซต์ดังกล่าวมีชื่อว่า "Work Men on the Move" เป็นการจัดแสดงโดยความร่วมมือกับซีมอน เอ เพธ (Simon A. Peth) นักวิจัยด้านการพัฒนาและการอพยพย้ายถิ่นฐานจากมหาวิทยาลัยแห่งบอนน์ประเทศเยอรมนี เพธได้ไอเดียการจัดแสดงในครั้งนี้หลังจากที่เขาได้พบกับศรีคูณในช่วงทำงานวิจัยปริญญาโท ในตอนนั้นศรีคูณกลับมาที่บ้านเกิดทางภาคอีสานของไทยพร้อมกับภาพถ่าย 900 ภาพจากช่วงที่เขาใช้ชีวิตอยู่ในสิงคโปร์

ศรีคูณกล่าวว่า "ผมถ่ายภาพเหล่านี้เพื่อต้องการแสดงให้เห็นว่าการทำงานที่เมืองนอกมันเป็นอย่างไร มันเป็นสิ่งที่ทรหด"

หลังแต่งงานแล้วศรีคูณก็ออกจากหมู่บ้านไปทำงานก่อสร้างที่กรุงเทพฯ หลังจากนั้นจึงเดินทางไปทำงานที่สิงคโปร์ในปี 2537  โดยรับงานสร้างโรงแรมริตซ์-คาร์ลตัน ที่นั่นศรีคูณทำงานเป็นนายช่างดูแลลูกน้องคนงาน 15 ชีวิต เพธบอกว่าคนงานอพยพส่วนใหญ่รู้สึกประทับใจทิวทัศน์ตึกสูงในสิงคโปร์ถึงแม้ว่าพวกเขาจะมาจากชนบทก็ตาม

ภาพถ่ายที่จัดแสดงมีตั้งแต่ภาพถ่ายของคนงานที่กำลังรอเดินทางทางบกไปยังสิงคโปร์ในยุคสมัย 90s ซึ่งในตอนนั้นต้องใช้เวลา 2 วันเพื่อเดินทางจากไทยไปสิงคโปร์ มีเพียงแรงงานมีฝีมือและหัวหน้างานเท่านั้นที่จะได้เดินทางด้วยเครื่องบิน ผิดกับทุกวันนี้ที่คนงานทุกคนเดินทางไปสิงคโปร์โดยเครื่องบิน

ที่พักคนงานไทยในสิงคโปร์ ​​​​​​
ที่มา: ศรีคูณ เจียงกระโทก/Work Men on the Move

ภาพถ่ายของศรีคูณยังมีภาพของลูกสาวตัวเองที่เขาเล่าว่าเขาจะกลับบ้านไปหาครอบครัวปีละ 1 ครั้ง รูปถ่ายอื่นๆ มีการสะท้อนให้เห็นสภาพชีวิตของคนงานไทยในสิงคโปร์ยุค 90s เช่นกรณีที่มีหลายคนต้องนอนแออัดใน "แคมป์พักที่เป็นตู้คอนเทนเนอร์" ซึ่งตู้หนึ่งมีคนอยู่รวมกันถึง 25 คน โดยพวกเขาไม่มีความเป็นส่วนตัวเลย มีแต่หัวหน้างานเท่านั้นที่จะมีห้องพักเดี่ยวเป็นของตัวเอง

ในแง่สภาพการทำงานนั้นศรีคูณเผยให้เห็นว่าพวกเขาต้องทำงานในรูปแบบที่ยาก เสี่ยงอันตราย และสกปรก มีรูปหนึ่งเผยให้เห็นว่าสีของหมวกนิรภัยที่คนงานสวมใส่จะบอกระดับตำแหน่งและกลุ่มสังกัดของคนงานนั้นๆ โดยที่มักจะนำคนงานที่มาจากประเทศเดียวกันเข้าไปไว้ในกลุ่มสังกัดเดียวกันเพื่อความสะดวกในการสื่อสาร

นอกจากนี้ยังมีรูปภาพเกี่ยวกับการทำงานต่างๆ รูปช่วงพัก รูปของคนที่เข้าเฝือกเพราะบาดเจ็บจากการทำงาน รูปช่วงพากันไปเที่ยวในเมือง รูปของกลุ่มคนงานต่างสัญชาติลดความตึงเครียดระหว่างกันด้วยการดื่มและทานอาหารร่วมกันในช่วงที่เงินเดือนออก

จากข้อมูลงานวิจัยของเพธและจากรูปถ่ายเหล่านี้เผยให้เห็นว่าในที่ทำงานมักจะมีสิ่งอำนวยความสะดวกแก่คนงานอย่างโรงอาหาร นอกจากนี้ยังมีเรื่องที่คนงานจำนวนมากมักจะทำงานล่วงเวลาเพื่อให้ได้ค่าจ้างมากขึ้น บางคนทำงานมากถึง 12-14 ชั่วโมงต่อวัน

นอกจากนี้คนงานจำนวนมากยังมักจะรู้สึกคิดถึงบ้าน พวกเขารู้สึกว่าหมู่บ้านที่พวกเขาจากมายังคงมีอะไรดำเนินต่อไปข้างหน้าโดยที่ไม่มีพวกเขา ด้วยความคิดถึงบ้านนี้เองยิ่งทำให้พวกเขาเห็นความสำคัญของการเป็นมิตรกับเพื่อนคนงานชาวไทยคนอื่นๆ มากขึ้น

ผู้ที่สนใจเรื่องราวความเป็นอยู่ของแรงงานไทยในสิงคโปร์และอยากรู้ว่าความฝันที่จะประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจของศรีคูณกลายเป็นความจริงหรือไม่ สามารถเข้าชมได้ที่ http://storyform.co/@speth-2/-734dab35c6bb

เรียบเรียงจาก
Thai migrant worker took more than 900 photos of what it was like building S’pore skyline in the 90s,
Mothership

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท