Skip to main content
sharethis

ชอว์ บิค ทะอ่อง ผู้แทนแนวร่วมกลุ่มการเมือง 22 ชาติพันธุ์ ชี้ว่าในปัจจุบันเป้าหมายร่วมของฝ่ายค้านกลับพร่าเลือน พอจะวิจารณ์รัฐบาลก็ถูกหาว่าวิจารณ์รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ส่วนกองทัพพม่าก็ใช้พรรคเอ็นแอลดีและอองซานซูจีเป็นโล่ แถมกลายเป็นว่าสำนักงานของอองซานซูจีทำหน้าที่แก้ต่างเรื่องฆ่าล้างเผ่าพันธุ์โรฮิงญาแทนกองทัพพม่า รวมทั้งรับแรงกดดันจากในประเทศและต่างประเทศ

เทปส่วนหนึ่งจากเวที "30 ปี เจตนารมณ์ 8888 การต่อสู้เผด็จการกับพลังการเปลี่ยนแปลงในพม่า" ที่สำนักกลางนักเรียนคริสเตียน กรุงเทพฯ เมื่อ 11 ส.ค. ที่ผ่านมา

โดยผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย 1) สว่างวงศ์ ยองห้วย ศิลปินพลัดถิ่นและหลานชายเจ้าส่วยแต้กประธานาธิบดีคนแรกของสหภาพพม่า 2) จ่อ ซวา หมู่ (Kyaw Zwa Moe) บรรณาธิการอาวุโสภาคภาษาอังกฤษ The Irrawaddy 3) ชอว์ บิค ทะอ่อง (Ceu Bik Thawang) แนวร่วมกลุ่มการเมือง 22 ชาติพันธุ์ และ 4) ผศ.ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช อาจารย์ประจำโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ร่วมสะท้อนมุมมองในโอกาสครบรอบ 30 ปี เหตุการณ์ลุกฮือของนักศึกษาและประชาชนพม่าในปี ค.ศ. 1988

วงเสวนาชวนเหลียวหลัง แลหน้า ข้อท้าทายพม่าครบรอบ 30 ปี ปชช. ลุกสู้เผด็จการ, 11 ส.ค. 2561

เส้นทางชีวิตที่เริ่มต้นด้วยเสียงร้องไห้ ความเงียบ และเสียงเพลงของสว่างวงศ์ ยองห้วย, 24 ส.ค. 2561

5 เรื่องควรรู้หลังยูเอ็นจัดหนักพม่าด้วยรายงานที่ดุดันในกรณีโรฮิงญา, 29 ส.ค. 2561

พม่าจำคุก 7 ปี 2 นักข่าวรอยเตอร์เปิดโปงสังหารหมู่โรฮิงญา, 3 ก.ย. 2561

ศาลอาญาระหว่างประเทศจะสอบสวนพม่ากวาดล้างโรฮิงญา, 7 ก.ย. 2561

สว่างวงศ์ ยองห้วย

ศิลปินพลัดถิ่นและหลานชายเจ้าส่วนแต้ก ประธานาธิบดีคนแรกของสหภาพพม่า

จิตวิญญาณ 1988 สำหรับผมก็คือ ยามเมื่อผู้คนทุกชนชั้นมาร่วมมือกัน ผู้คนทุกชาติพันธุ์ในพม่ามาร่วมกันต่อสู้หรือแสดงออกซึ่งความคับข้องใจต่อผู้มีอำนาจรัฐ และคุณต้องจดจำน้ำใจปางโหลง (Panglong Spirit) หรือสิ่งที่เป็นสัญลักษณ์ของสหภาพพม่า

ซึ่งตอนเริ่มตั้งประเทศแต่เดิม สหภาพพม่าก็ได้ให้คำมั่นกับพวกเราไว้ถึงการนับรวมทุกคนเข้าไว้ด้วยกัน

พวกเราคือส่วนสร้างของสิ่งที่เรียกว่า Burma และไม่ได้มีแค่ชาติพันธุ์เดียวคือ พวกเรามาจากทุกส่วนของประเทศนี้ และต้องมีสิทธิในการกำหนดชะตากรรมของตัวเอง มีสิทธิเสรีภาพและสิทธิในการดำรงชีวิต

สิ่งนี้ก็ไม่ได้มากเกินไปที่จะเรียกร้องจากรัฐบาลปัจจุบันหรือแม้แต่กองทัพพม่า

จ่อ ซวา หมู่

บรรณาธิการอาวุโสภาคภาษาอังกฤษ The Irrawaddy

สิ่งที่เราเริ่มต้นเรียกร้องก็คือประชาธิปไตยนั่นแหละ

ผมมาหวนรำลึกถึงว่าในเวลานั้นพวกเราเรียกร้องสิ่งใดกันแน่ ทำไมเราตะโกนว่าเราต้องการประชาธิปไตย 

ที่จริงในเวลานั้น เราต้องการเปลี่ยนแปลงระบอบ เราต้องการล้มล้างระบอบที่กดขี่ ออกจากสังคมของเรา ประเทศของเรา และเพื่อที่จะมีรัฐบาประชาธิปไตย ที่จะสามารถนำมาซึ่งเสรีภาพ ความยุติธรรม และความเท่าเทียม และในความมุ่งมาดปรารถนานั้น ความต้องการของพวกเราก็เฉกเช่นคนรุ่นก่อน คนรุ่นปี 1948

นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมเราจึงลงเดินบนท้องถนน

มีหลายคนถูกจับ ถูกทรมาน ถูกส่งไปที่ศูนย์สอบสวน ส่วนผมนั้น ผมพบว่าตัวเองถูกจำคุก 3 ปีให้หลังจากที่ผมเข้าร่วมขบวนการ ผมถูกตัดสินจำคุก 10 ปี และผมใช้ชีวิตอยู่ในนั้นถึง 8 ปี

สิ่งที่ผมอยากจะพูดก็คือ มีคนหลายหมื่นถูกส่งเข้าคุก กว่าสามพันคนที่ถูกสังหาร มีคนอีกหลายหมื่นที่ถูกบีบให้ต้องหนีและลี้ภัย เหมือนคนรุ่นก่อนในช่วงปี ค.ศ. 1948 และในรอบ 30 ปีที่ผ่านมา ผู้คนเหล่านี้จากทุกชนชั้นยังคงต่อสู้

สิ่งที่เราเรียกร้องต้องการจากปี ค.ศ. 1988 นั้นจนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่บรรลุเป้าหมาย ท้ายที่สุดนี้ผมอยากกล่าวว่า นี่เป็นกระบวนการที่เราเริ่มต้นขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1988 แต่จนทุกวันนี้การต่อสู้นั้นยังไม่สิ้นสุด ในการสร้างชาติ และปฏิรูปสังคมถือเป็นกระบวนการระยะยาว

ในตอนที่ผมเข้าร่วมการต่อสู้ในปี ค.ศ. 1988 ผมคิดว่าคงจะได้รัฐบาลประชาธิปไตยโดยใช้เวลาไม่กี่ปี แต่ตอนนี้ 30 ปีแล้ว นับเป็นบทเรียนที่สำคัญ สำหรับผม ประเทศของผม และสำหรับภูมิภาคนี้

ชอว์ บิค ทะอ่อง

แนวร่วมกลุ่มการเมือง 22 ชาติพันธุ์

สำหรับตอนนี้ ปัญหาก็คือไม่มี "ศัตรูร่วม" หายไปแล้ว แต่บางส่วนก็ยังคงอยู่ แน่นอนเรากล่าวได้ว่าศัตรูร่วมยังอยู่ เมื่อเปรียบเทียบกับสมัยรัฐบาลนายพลเนวิน หรือเกือบ 26-27 ปีภายใต้รัฐบาลเนวิน เป้าหมายร่วมกันของบรรดาฝ่ายค้าน หรือขบวนการต่อต้านรัฐบาลก็คือมุ่งเปลี่ยนระบอบและลดอำนาจกองทัพ

แต่ในตอนนี้ ถ้าคุณวิพากษ์รัฐบาลหรือหน่วยงานราชการกลายเป็นว่าคุณวิจารณ์รัฐบาลประชาธิปไตย แปลว่าเป้าหมายก็พร่าเลือนไปบางครั้งผมก็กลัวว่ากองทัพพม่ากำลังใช้พรรคเอ็นแอลดีและอองซานซูจี เหมือนโล่มนุษย์

สิ่งนี้เป็นเรื่องที่ผมกลัว เหมือนเมื่อวานที่มีกรณีของศาลอาชญากรรมระหว่างประเทศ (ICC) (กรณีรับฟ้องคดีกวาดล้างชาวโรฮิงญา) สำนักงานของอองซานซูจีต้องประณามหรือแก้ต่างแทนกองทัพ จากแรงกดดันของ ICC และต่างประเทศ รวมทั้งแรงกดดันจากภายในประเทศ

ผมคิดว่าภูมิทัศน์การเมืองเปลี่ยนไปแล้ว แต่เนื้อหาสาระ และข้อเรียกร้องจริงๆ ยังไม่เปลี่ยนแปลง

ดุลยภาค ปรีชารัชช

โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ย้อนกลับไปในปี ค.ศ. 1962 ก็มีเหตุการณ์การเมืองใหญ่ๆ ในประวัติศาสตร์พม่า นั่นคือขบวนการสนับสนุนสหพันธรัฐนำโดยกลุ่มเจ้าฟ้าไทใหญ่ และผู้นำกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ มีการเจรจาสันติภาพระหว่างอูนุ และผู้แทนกลุ่มชาติพันธุ์คนอื่นๆ

แต่ทว่ายุคทองของการเจรจาเพื่อสหพันธรัฐนั้นสิ้นสุดลง ในที่สุดนายพลเนวินก็ตัดสินใจยึดอำนาจ ขจัดขบวนการสนับสนุนสหพันธรัฐและตั้งรัฐบาลทหารขึ้นใหม่ สถาปนาระบบรวมศูนย์อำนาจสำหรับพม่า ดังนั้นปี ค.ศ. 1962 จึงเป็นเหมือนจุดเปลี่ยนของการเมืองพม่า ในทางที่กองทัพพม่าประสบความสำเร็จในการขยายอิทธิพลในทางการเมืองและสังคมพม่า

เนวินปกครองพม่ามากว่า 26 ปี จนถึงปี ค.ศ. 1988 และด้วยการบริหารจัดการเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ที่นำโดยรัฐบาลพรรคโครงการสังคมนิยมพม่า (BSPP) 

สถานการณ์ที่ประชาชนแสดงความไม่พอใจต่อระบอบ ได้ปรากฏตัวขึ้นและพัฒนาไปโดยลำดับ ในที่สุดก็กลายเป็นการลุกฮือเรียกร้องประชาธิปไตย อย่างไรก็ตาม การลุกฮือนี้กลับเป็นการฟื้นฟูระบอบอำนาจนิยมโดยทหารอย่างไม่ได้ตั้งใจ ซึ่งได้ปกครองพม่าต่อไปอีก 2 ทศวรรษ

ในห้วงเวลานั้นเอง พลังของการลุกฮือในปี 1988 ค่อนข้างมีความแข็งแกร่ง สามารถทำลายรัฐบาลเนวิน เส่งลวิน หรือรัฐบาลเฉพาะกาลได้ แต่พลังนั้นก็ยังไม่เพียงพอที่จะต่อสู้กับกองทัพ ที่เป็นสถาบันการเมืองเก่าแก่ได้ กองทัพพม่าถือกำเนิดตั้งแต่ปี ค.ศ. 1941 เป็นผู้สร้างรัฐผ่านการทำสงคราม กองทัพพม่าเป็นกระดูกสันหลังของการรวมชาติ กองทัพพม่าขึ้นสู่อำนาจในฐานะรัฐบาลเฉพาะกาลช่วง ค.ศ. 1958-1960  และแทรกฝังอิทธิพลลงไปในการเมืองและสังคมพม่านับตั้งแต่รัฐประหารปี ค.ศ. 1962

ดังนั้นเอง ประวัติศาสตร์ได้หนุนเสริมในตัวของมันเอง กองทัพพม่ามีอำนาจและพละกำลังเพียงพอที่จะตอบโต้กับการลุกฮือเรียกร้องประชาธิปไตยในปี ค.ศ.1988 แต่ผมอยากโน้มน้าวว่า ไม่ได้หมายความว่าขบวนการเคลื่อนไหว 8888 ไม่มีผลกระทบที่มีนัยสำคัญต่อพม่า ในทางตรงกันข้าม ผมอยากเสนอว่า การต่อสู้นี้นับเป็นทางแพร่งสำคัญ เป็นจุดเปลี่ยนทางประวัติศาสตร์ มีผลกระทบอย่างลึกซึ้งต่อการเปลี่ยนผ่านของพม่า

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net