Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ปฎิเสธไม่ได้ว่าปัญหาสังคมผู้สูงอายุส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากปัญหาการแต่งงานที่น้อยลง

ปัญหาการแต่งงานประการหนึ่งเกิดขึ้นจากการจัดความสัมพันธ์ที่ไม่ลงตัวระหว่างเพศหญิงและเพศชาย ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งคือปัจจัยทางด้านการศึกษา ซึ่งมีผลไม่น้อยต่อวิธีคิดต่างๆ ที่ส่งผลไปต่อความสัมพันธ์ระหว่างเพศทั้งสอง

ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างเพศทั้งสองมีความสำคัญอย่างไร

ในปัจจุบันนี้เด็กที่จะเข้าสู่การเข้าสู่การศึกษาในระดับอุดมศึกษานั้นมีจำนวนลดลง อันเกิดจากการแต่งงานที่ลดน้อยลง การมีลูกที่น้อยลง ย่อมทำให้จำนวนเด็กที่จะเข้าสู่มหาวิทยาลัยลดน้อยลงไปด้วย และจำนวนคนที่เข้าสู่สังคมในระดับอุดมศึกษาในปัจจุบันเป็นเพศหญิงมากกว่าเพศชาย นั่นหมายความว่าผู้หญิงมี “โอกาส” ที่จะได้รับการงานอาชีพที่มั่นคง หรือสูงกว่าผู้ชายอยู่ไม่น้อย ถ้าไม่นับอาชีพที่เพศเป็นตัวแปรสำคัญ เช่น ตำรวจ หรือทหาร เป็นต้น

ในระบบวัฒนธรรมไทย ผู้หญิงถูกสังคมคาดหวังให้ทำหน้าที่ “แม่” และ “เมีย” ที่ดี หรือพูดง่ายๆ คือ การให้ผู้หญิงมีบทบาทใน “พื้นที่ส่วนตัว” เช่น บ้าน เป็นต้น อย่างไรก็ดี การขยายตัวทางด้านการศึกษาในรอบห้าทศวรรษที่ผ่านมา ทำให้ผู้หญิงมีบทบาทที่มากยิ่งขึ้นในงานนอกบ้านกว่าเดิม (จะชอบหรือไม่ชอบในนโยบาย แต่เราเองก็เคยมีนายกรัฐมนตรีที่เป็นผู้หญิงมาแล้วเหมือนกัน)

ในด้านหนึ่งการที่ผู้หญิงเริ่มมีบทบาท “เท่าเทียม” กับผู้ชายย่อมเป็นเรื่องที่ดี แต่ในอีกด้านหนึ่งผู้หญิงเองก็เริ่มที่จะมีภาระมากขึ้นในการแบกรับความคาดหวังทางสังคมที่มากกว่าเดิม คือ ต้องเก่งทั้งในบ้านและนอกบ้าน

อย่างไรก็ดีภาวะที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจ ที่ส่งผลให้ความต้องการทางการศึกษาขยายตัว ทำให้ผู้หญิงมีโอกาสออกมาหางานทำนอกบ้านมากยิ่งขึ้น เมื่อประกอบกับปัญหาที่การแต่งงานน้อยลง ทำให้ภาวะของความเป็นแม่และเป็นเมียของผู้หญิงก็ย่อมลดน้อยลงด้วย หรือไม่ต้องเป็นเลยก็ได้ ความสัมพันธ์ของผู้หญิงจึงเริ่มเหลือมิติของความเป็นผู้หญิง แบบปัจเจกที่มิได้มีความสัมพันธ์ในลักษณะแม่และเมียอีกต่อไป การพัฒนาความสามารถของตนเองของผู้หญิงในปัจจุบันจึงมีความเข้มข้นสูงขึ้น ไม่จำเป็นต้องเก่งเรื่องในบ้านก็ได้อีกต่อไป

ในขณะเดียวกันผู้ชายกลับเผชิญหน้าปัญหานี้ในลักษณะที่ต่างออกไป กล่าวคือ ในปัจจจุบันผู้ชายที่มีโอกาสเข้าสู่การศึกษาในระดับอุดมศึกษาน้อยกว่าผู้หญิง สาเหตุสำคัญประการหนึ่งคือผู้ชายในระบบวัฒนธรรมไทยย่อมจะต้องเป็นผู้หาเลี้ยงครอบครัว ผู้ชายจึงได้ถูกผลักดันให้ต้องรีบหางานทำมากกว่าผู้หญิง ปัจจัยดังกล่าวจึงเริ่มทำให้ผู้ชายให้ความสำคัญกับการศึกษาในสายวิชาที่ตอบสนองต่อความต้องการของตลาดที่มากกว่าเช่น สายวิชาทางด้านวิทยาศาสตร์

 ในด้านหนึ่งวิชาบางวิชาจึงมีภาพลักษณ์ “กว้าง” ของความเป็นชาย เช่น สายวิชาทางด้านวิทยาศาสตร์ ในขณะที่วิชาทางด้านสายสังคมศาสตร์มนุษย์ศาสตร์ถูกให้มีภาพลักษณ์ “กว้าง” ของความเป็นหญิง ยังไม่รวมมายาคติที่ว่าผู้ชายมีความถนัดในการใช้ “เหตุผล” มากกว่า “อารมณ์ความรู้สึก” อันได้แก่สายวิชาทางด้านวิทยาศาสตร์ ในขณะที่ผู้หญิงมีลักษณะที่เป็นตรงกันข้ามจึงเหมาะกับสายวิชาทางด้านสายสังคมศาสตร์มนุษย์ศาสตร์ (ซึ่งย่อมไม่ใช่เรื่องจริง)

ช่วงเวลาเดียวกันนี้เราเริ่มมีวงไอดอลวงหนึ่ง และหัวหน้าวงไอดอลท่านนั้นก็มีภาพลักษณ์ทางด้านการศึกษา โดยเฉพาะทางด้านการศึกษาในทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นสาขาวิชาที่ค่อนข้างขาดแคลนในสังคมไทย ไอดอลท่านนั้นยังได้กล่าวถึงอนาคตว่าสนใจงานทางวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ ซึ่งถือได้ว่าน่าสนใจมาก เพราะสังคมไทยในปัจจุบันยังคงให้ความสำคัญกับการศึกษาเทคโนโลยีมากกว่าการศึกษาวิทยาศาสตร์ นอกจากนี้วิชาวิทยาศาสตร์ที่ถูกให้ “ภาพ” ว่าเป็นวิชาของ “ความเป็นชาย” ที่ใช้ “ตรรกะเหตุผล” อย่างเข้มข้น ก็ได้เปิดพื้นที่ให้แก่ผู้หญิงเข้าไปปฎิสัมพันธ์ได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งหมายความว่าผู้หญิงในปัจจุบันเริ่มมีบทบาทในการศึกษาทางด้านสายวิทยาศาสตร์และสายสังคมศาสตร์มนุษย์ศาสตร์มากยิ่งขึ้น

ในอนาคตอันใกล้นี้ภาวะที่ผู้หญิงจะเป็นผู้นำด้านการศึกษานั้นจะมีสูงมากขึ้น ซึ่งน่าจะส่งผลให้ในอนาคตผู้หญิงจะมีบทบาทสำคัญในหลายๆ มิติทางสังคมมากยิ่งขึ้น รวมไปถึงการศึกษา ทั้งในสายสังคมศาสตร์มนุษย์ศาสตร์ หรือ ในสายทางด้านวิทยาศาสตร์ และดูเหมือนว่าวงไอดอลผู้หญิงวงหนึ่ง ถึงขั้นถูกเปรียบว่าเป็น “วงไอดอลทางการศึกษา” การถูกเปรียบดังกล่าวย่อมสะท้อนให้เห็นว่าสังคม “เริ่ม” คาดหวังอะไรบางอย่างกับภาพลักษณ์ของผู้หญิงยุคใหม่ที่ควรเอาเป็นแบบอย่าง ผู้หญิงได้มีพลังอำนาจในหลายๆ ประการทั้งความรู้ความสามารถ รวมไปถึงการได้รับโอกาสทางการงานที่ดีกว่า และมากกว่าผู้ชาย จากปัจจัยที่ผู้ชายเข้าสู่การศึกษาในระดับสูงที่น้อยลงกว่าผู้หญิง นอกจากนี้ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับผู้หญิงนั้น มีความสัมพันธ์ใหญ่ๆ เพียงแค่การเสียภาษี ทำให้ผู้หญิงสามารถที่จะวางแผนอนาคตได้ค่อนข้างอิสระกว่าผู้ชาย และไม่จำเป็นต้องรับอุดมการณ์ของรัฐเข้มข้นเท่าผู้ชาย

ในขณะที่ผู้ชายยังคงมีพันธะบางประการแก่รัฐนอกเหนือจากการเสียภาษี เช่น การเกณฑ์ทหาร เป็นต้น การใช้คำพูด ในหลายๆประการ เพื่อบอกว่าการทำสิ่งนี้แล้วจะกลายเป็นชายเต็มตัว จึงกลายเป็นการขีดเส้นทางเดินบางประการให้แก่ความเป็นชายไทย และเชื่อหรือไม่ว่าการขีดเส้นนี้ได้ทำให้ทั้งรัฐและสังคม หันมาตรวจสอบ “ความเป็นชายไทย” โดยใช้บรรทัดฐานดังกล่าว เช่น การที่ยังไม่เข้ารับการคัดเลือกทหารจะถูกนายจ้างตรวจสอบว่าควรที่จะรับเข้าทำงานหรือไม่ รวมไปถึงการมองผู้ชายที่ไม่เข้ารับการเกณฑ์ทหารเท่ากับการไม่ยอมรับใช้ชาติ หรือไม่เป็นชายเต็มตัว เป็นต้น

ความตึงเครียดของผู้ชายไทยในช่วงเวลานี้ จึงย่อมทำให้ผู้ชายไทยจำนวนไม่น้อยเริ่มสับสนในตำแหน่งแห่งที่ของตนมากขึ้น เพราะยังไม่แน่ใจว่าควรจะตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงนี้อย่างไร เพราะการเผชิญต่ออุปสรรคครั้งนี้มีความแหลมคม ทั้งจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่ผู้หญิงเริ่มมีบทบาทและอำนาจมากกว่าผู้ชาย และจากกการไม่เปลี่ยนแปลงของรัฐที่พยายามดำรงความเป็นชายให้กลายเป็นสมบัติของชาติแต่เพียงมิติเดียว ที่ไม่สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของโลกความเป็นจริง รวมไปถึงการไม่พยายามปรับเปลี่ยนความหมายของความเป็นชายใหม่ ที่มี “ความเป็นคน” มากขึ้น

ผู้ชายบางคนจึงไม่รู้ว่าตนเองควรจะทำตัวอย่างไร เที่ยวแต่ “บ่น” ไปวันๆ
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net