Skip to main content
sharethis

กรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์เห็นชอบข้อบังคับใหม่ เปิดทางให้คนนอกเข้ามาชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคได้แต่ต้องได้รับเสียงสนับสนุนจากอดีต ส.ส. 40 คน และสมาชิกพรรคภาคละ 1,000 คน

ที่มาภาพจากเพจ Democrat Party, Thailand

17 ก.ย. 2561 สำนักข่าวไทย รายงานว่า อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคว่า ที่ประชุมเห็นด้วยกับร่างข้อบังคับพรรคตามที่ยกร่างมา โดยนำอุดมการณ์ นโยบายและบทบัญญัติของข้อบังคับพรรคมายการ่างให้สอดคล้องกับกฎหมายใหม่ และกำหนดเรื่องการเลือกหัวหน้าพรรค โดยให้คำนึงถึงผลการหยั่งเสียงและตำแหน่งต่าง ๆ ตามที่กฎหมายกำหนด โดยได้ทำหนังสือแจ้งไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ว่าจะประชุมใหญ่ในวันพุธที่ 24 ก.ย.นี้ ซึ่งเลื่อนจากเดิมที่กำหนดว่าจะมีขึ้นในวันที่ 24 ก.ย. เนื่องจากต้องมีเวลาแจ้ง กกต. ไม่น้อยกว่า 5 วัน และก่อนจะประชุมใหญ่ต้องแจ้งล่วงหน้า 7 วัน

“ในวันนั้นจะได้นำร่างข้อบังคับที่กรรมการบริหารพรรคเห็นชอบในวันนี้เสนอต่อที่ประชุมใหญ่พรรค และเมื่อที่ประชุมใหญ่เห็นชอบแล้วก็หวังว่าระเบียบ กกต. จะเอื้อให้สะดวกในการหาสมาชิกและจัดตั้งสาขาพรรคได้ในหลายพื้นที่ ขณะเดียวกันจะประสาน กกต. ขอใช้วิธีการรับสมาชิกทางอิเลิคทรอนิคส์เพื่อความสะดวกด้วย” อภิสิทธิ์ กล่าว

อภิสิทธิ์ กล่าวว่า นโยบายที่จะใช้ในข้อบังคับพรรคจะใช้ฉบับย่อที่พรรคมองเห็นว่าเป็นปัญหาในยุคปัจจุบัน ทั้งความเหลื่อมล้ำด้านเศรษฐกิจ การศึกษา การกระจายอำนาจ ส่วนการหยั่งเสียงหัวหน้าพรรคจะเป็นไปตามร่างข้อบังคับพรรคที่ยืนยันหลักการเรื่องการให้สมาชิกมีส่วนร่วม โดยคุณสมบัติคงไม่เปลี่ยนไปจากเดิมว่าผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อชิงหัวหน้าพรรคจะต้องเป็นอดีตส.ส. และมีอดีต ส.ส .รับรองไม่น้อยกว่า 20 คน หรือสมาชิกรับรองภาคละไม่น้อยกว่า 500 คน ซึ่งบุคคลตามข่าวอยู่ในข่ายคนในอยู่แล้ว เพราะเคยเป็นอดีต ส.ส. คงไม่ยากที่จะมีสมาชิกรับรอง ส่วนกรณีที่เป็นคนนอกที่เพิ่งเป็นสมาชิกและไม่เคยมีตำแหน่งก็ใช้จำนวนคนรับรองเป็นสองเท่าจากที่กำหนด

ส่วนการทำไพรมารีโหวตผู้สมัคร ส.ส. อภิสิทธิ์ ะบุว่า ต้องดูเงื่อนไขเวลา แต่ที่ผ่านมาพรรคดำเนินการโดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมอยู่แล้ว ไม่น้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ สิ่งสำคัญที่เห็นว่าเป็นอุปสรรคในการหาสมาชิกคือ คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความาสงบแห่งชาติ(คสช.) ที่ห้ามหาเสียงทางอิเลคทรอนิคส์  ซึ่งจะเป็นข้อจำกัดในการหาสมาชิกพรรค

“ไม่อยากให้มองว่า ข้อจำกัดมาเป็นการกำจัดพรรคการเมือง แต่อยากให้มองว่าเป็นการกำจัดการมีส่วนร่วมของประชาชนมากกว่า และคนที่ได้ประโยชน์ที่สุดคือคนที่ซื้อเสียง คนที่จะได้คะแนนบริสุทธิ์จากประชาชน จะต้องทำกิจกรรมทางการเมือง” อภิสิทธิ์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวประชาไท รายงานเพิ่มเติมว่า รายชื่อผู้ท้าชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นข่าวในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น มีทั้ง อลงกรณ์ พลบุตร ซึ่งได้ลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ไปเพื่อร่วมงานกับรัฐบาล คสช. ปัจจุบันยังดำรงตำแหน่งรองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) และนพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส. พิษณุโลก ซึ่งสุเทพ เทือกสุบรรณ ได้ออกมาบอกว่าไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับการส่งตัวนพ.วรงค์ เพื่อชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคกับอภิสิทธิ์

การดำเนินการเพื่อหยั่งเสียงผู้สมควรดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อภิสิทธิได้เปิดเผยช่วงเวลาคราวๆ ก่อนหน้านี้ว่า หลังจากมีการแก้ไขข้อบังคับของพรรคเสร็จสิ้นแล้ว ใช้เป็นรับสมัครสมาชิกพรรคไปอีกประมาณ 2-3 สัปดาห์ และเปิดให้มีการหยั่งเสียงพร้อมกับเปิดรับสมาชิกอย่างต่อเนื่องไปอีก 2-3 สัปดาห์ โดยในเดือน พ.ย. 2561 คาดว่าจะสามารถประกาศรายชื่อที่ได้รับการหยั่งเสียงได้ และหลังจากนั้น 7 วันจะมีการประชุมพรรคเพื่อเลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่

สำหรับอภิสิทธิ เวชชาชีวะ เริ่มต้นดำรงหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เมื่อวันที่ 5 มี.ค. 2548 ตลอดระยะเวลา 13 ปีกว่าที่ดำรงตำแหน่งยังไม่เคยนำพาพรรคประชาธิปัตย์ชนะการเลือกตั้งในระดับประเทศได้เลย ในปี 2548 แพ้พรรคไทยรักไทย ต่อมาในปี 2549 อภิสิทธิ์ และประชาธิปัตย์บอยคอดการเลือกตั้ง จนที่สุดแล้วก็มีการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2549 ต่อมาในการเลือกตั้งปี 2550 แพ้พรรคพลังประชาชน ในการเลือกตั้งปี 2554 แพ้พรรคเพื่อไทย และในการเลือกตั้งปี 2557 อภิสิทธิ์ และประชาธิปัตย์บอยคอดการเลือกตั้ง และการรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 ก็เกิดขึ้น

ทั้งนี้อภิสิทธิ์สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้เพียงครั้งเดียว จากการที่การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของสมชาย วงสวัสดิ์ สิ้นสภาพลง เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 2551 หลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 9-0 ตัดสินยุบพรรคพลังประชาชน  และตัดสิทธิทางการเมืองหัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรค 5 ปี (รวม 37 คน) นอกจากนี้ยังสั่งยุบพรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย จากข้อหาเรื่องการทุจริตการเลือกตั้ง ต่อมา 17 ธ.ค. 2551 อภิสิทธิ์ได้รับการสนับสนุนจาก แกนนำ 4 พรรคร่วมรัฐบาลเดิม ประกอบด้วย พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา พรรคเพื่อแผ่นดิน พรรคมัชฌิมาธิปไตย และพรรคชาติไทยพัฒนา รวมทั้งกลุ่มเพื่อนเนวิน ทำให้สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ หลังจากนั้นไม่นานในปี 2552 ช่วงเดือน มี.ค.- เม.ย. ก็เกิดการชุมนุมของกลุ่ม นปช. ขึ้น ซึ่งมีการกล่าวโจมตีอภิสิทธิ์ว่าจัดตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net