Skip to main content
sharethis

ทนายญาติผู้ตาย คดีสลายการชุมนุม นปช. ปี 53 มั่นใจพยานหลักฐานชัดว่าใครลงมือ แม้มีข่าว 'นายพล' รุกเจรจาอัยการให้ยุติคดี ขณะที่ แม่พยาบาลเกดจ่อยื่นให้กำลังใจอัยการพรุ่งนี้ หวังให้ยึดมั่นในหลักกฎหมาย ไม่หวั่นไหวกับการข่มขู่ ของเจ้าหน้าที่ทหารชั้นนายพลตามที่เป็นข่าว

ภาพที่ถูกถ่ายจากดาดฟ้า สตช. เย็นวันที่ 19 พ.ค.53 โดยทหารในภาพมองไปยังหน้าวัดปทุมฯ

18 ก.ย. 2561 จากกรณี เมื่อวันที่ 16 ก.ย.ที่ผ่านมา ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำนปช. ได้เขียนจดหมายเปิดผนึกถึงอัยการสูงสุดและผู้เกี่ยวข้องในคดีสลายการชุมนุมกลุ่ม นปช. เมื่อปี 2553 และมีผู้เสียชีวิตจำนวนมากลงบนเฟสบุ๊กแฟนเพจ 'นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ' โดยระบุ ถึง บทความคอลัมน์ มองรอบทิศ เรื่อง "นายพล" เดินแรง โดยผู้ใช้นามปากกา พยัคฆ์น้อย หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับประจำวันที่ 6 ก.ย. 2561 ซึ่งเขียนว่ามีนายทหารระดับ "นายพล" เดินทางไปยังสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับสำนวนคดีสลายการชุมนุมกลุ่ม นปช.เมื่อปี 2553 โดย "นายพล" ขอให้ผู้ใหญ่ฝ่ายอัยการยุติเรื่องดังกล่าว โดยเฉพาะกรณีเกือบ 20 ศพ ที่ศาลไต่สวนสาเหตุการตายเป็นที่ยุติแล้วว่าเสียชีวิตเพราะถูกกระสุนปืนความเร็วสูงจากฝั่งเจ้าหน้าที่ ให้ทำเป็น "สำนวนมุมดำ" หาตัวผู้กระทำความผิดไม่ได้ จึงไม่ต้องส่งฟ้องศาล และ ณัฐวุฒิ ยังระบุด้วยว่า จะมอบหมายตัวแทนฝ่ายกฎหมายเดินทางไปยืนคำร้องเรื่องนี้ต่อสำนักงานอัยการสูงสุดอีกครั้งในสัปดาห์หน้า นั้น

ทนายมั่นใจ พยานหลักฐานที่ชัดเจนว่าใครกระทำผิด

ผู้สื่อข่าวประชาไท สอบถาม ไปยัง โชคชัย อ่างแก้ว หนึ่งในทนายความญาติผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์สลายการชุมนุมกลุ่ม นปช. ถึงข่าวกาารสั่งการของนายพลนั้น โชคชัย กล่าวว่า พวกตนก็ทราบ ในทางคดีนี้มันคงไม่จบ สำหรับการยื่นเรื่องที่อัยการนั้นก็ยื่นกันมาหลายรอบเพื่อให้อัยการได้ดำเนินการต่อไปตามกระบวนการยุติธรรม เพราะมันมีพยานหลักฐานที่ชัดเจนอยู่แล้วนสำนวนการไต่สวนการตาย
ซึ่งตนก็เชื่อว่าทางฝั่งอัยการที่ดูแลรับผิดชอบก็คงทราบดีว่าเรื่องนี้หากยุติดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดมันจะเป็นปัญหาต่อไปในวันข้างหน้ากับทางด้านอัยการเอง

หากอัยการยุติไม่ส่งฟ้องคดีต่อศาลนั้น โชคชัย กล่าวว่า กระบวนการมันจะยุติ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเด็ดขาด เพราะสามารถรื้อเรื่องนี้ขึ้นมาอีกได้ เนื่องจากโดยข้อเท็จจริงมันมีพยานหลักฐานที่จะดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดได้อยู่แล้ว

ทนายความ ญาติผู้เสียชีวิตฯ กล่าวด้วยว่า บางสำนวนมันชัดอยู่แล้วว่ามีใครเกี่ยวข้องบ้าง ยกตัวอย่าง กรณี 6 ศพวัดปทุม เป็นสำนวนที่ชัดมาก ว่า หน่วยกำลังเป็นหน่วยไหน มีใครบ้าง หากปกติแล้วจะต้องสั่งฟ้องไปแล้ว แต่ที่เราทราบมันมีกระบวนการพยายมไม่ให้ดำเนินคดีหรือให้ยุติตั้งแต่เริ่มเหตุการณ์แล้ว โดยที่ปัจจุบันที่ ณัฐวุฒิ พูดนั้นยิ่งทำให้ชัด

คดีฟ้อง “ผู้สั่งการ” สลายการชุมนุม คือ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ และสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ และ ผู้อำนวยการ ศอฉ. หลัง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ไม่รื้อฟื้นนั้น โชคชัย ประเมินว่าด้วยภาวะแบบนี้ ยังไม่สามารถขยับอะไรได้ คงต้องรอเวลาที่สามารถทำอะไรได้มากกว่านี้ เนื่องจากคนที่มีอำนาจสามารถแทรกแซงได้ หวังว่าอีกไม่นานจะดำเนินการใหม่อีกครั้ง 

แม่พยาบาลเกดจ่อยื่นให้กำลังใจอัยการ

ขณะที่ พะเยาว์ อัคฮาด มารดาของกมนเกด อัคฮาด พยาบาลอาสาผู้เสียชีวิตในเหตุสลายการชุมนุม หรือ 1 ใน 6 ศพวัดปทุมฯ ที่ศาลมีคำสั่งในการไต่สวนการเสี่ยชีวิตแล้วว่ามาจากเจ้าหน้าที่ทหาร โพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊กส่วนตัวในลักษณะสาธารณะว่า พรุ่งนี้เวลา 11.00 น. ตนกับพ่อน้องเฌอ (พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ) จะเดินทางไปที่สำนักงานอัยการสูงสุด(ถนนรัชดา)เพื่อไปยื่นหนังสือถึงอัยการสูงสุด สอบถามและให้กำลังใจอัยการเจ้าของสำนวน คดี 6 ศพวัดปทุมและคดีล้อมปราบปี 53 ซึ่งอยู่ในชั้นพิจารณา ขอให้อัยการมีกำลังใจและยึดมั่นในหลักกฎหมาย ไม่หวั่นไหวกับการข่มขู่ ของเจ้าหน้าที่ทหารชั้นนายพลตามที่เป็นข่าว

สำหรับคดี 6 วัดปทุมวนาราม ศาลมีคำสั่งในการไต่สวนการเสียชีวิตตั้งแต่ 6 ส.ค.56 แล้ว ว่า สุวัน ศรีรักษา อายุ 30 ปี อาชีพเกษตรกร ผู้เสียชีวิตที่ 1, อัฐชัย ชุมจันทร์ อายุ 28 ปี บัณฑิตคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคําแห่ง ผู้เสียชีวิตที่ 2, มงคล เข็มทอง อายุ 36 ปี เจ้าหน้าที่อาสามูลนิธิปอเต็กตึ๊ง ผู้เสีย ชีวิตที่ 3, รพ สุขสถิต อายุ 66 ปี อาชีพพนักงานขับ รถรับจ้างในสนามบิน ผู้เสียชีวิตที่ 4, กมนเกด ฮัคอาด อายุ 25 ปี อาชีพพยาบาลอาสา ผู้เสียชีวิตที่ 5, และ อัครเดช ขันแก้ว อาชีพรับจ้าง ผู้เสียชีวิตที่ 6 โดยทั้ง 6 ศพ ถูกยิงเสียชีวิตที่วัดปทุมวนาราม เมื่อวันที่ 19 พ.ค.2553 ในเหตุการณ์สลายการชุมนุม ของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. สมัย อภิสิทธิ์  เป็นนายกรัฐมนตรี

ศาลสั่งว่าผู้ตายที่ 1,3-6 ถึงแก่ความตายเนื่องจากกระสุนปืน .223 จากทหารกองพันจู่โจมพิเศษที่ 3 ค่ายเอราวัณ จ.ลพบุรี ที่ประจำอยู่บริเวณรางรถไฟฟ้า BTS หน้าวัดปทุมฯ ขณะเกิดเหตุ ส่วนผู้ตายที่ 2 ตายจากกระสุน .223 จากกองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 31 รักษาพระองค์ที่ประจำการอยู่บริเวณถนนพระราม 1 ช่วงเกิดเหตุ ภายใต้คำสั่งของ ศอฉ.  และผลการตรวจจากสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ไม่พบร่องรอยการยิงปืนของมือทั้ง 6 ศพ จึงเชื่อว่าทั้ง 6 ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการใช้อาวุธปืน รวมทั้งขณะเกิดเหตุมีด่านเจ้าหน้าที่ตรวจค้นอาวุธแน่นหนา 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net