ปากคำ 'นิธิ เอียวศรีวงศ์' พยานจำเลยคดี 'ไผ่ ดาวดิน' ชูป้ายคัดค้านรัฐประหาร

ไผ่ ดาวดิน ในชุดนักโทษซักถามความ 'นิธิ เอียวศรีวงศ์' ด้วยตัวเอง ในคดีชูป้ายคัดค้านรัฐประหารเมื่อ 22 พ.ค. 58 โดยนิธิให้การต่อศาลว่า คณะรัฐประหารทุกคณะสับสนระหว่างอำนาจของตนเองกับอำนาจของรัฐ การคัดค้าน คสช. ของไผ่ ดาวดิน กระทบต่อความมั่นคงของ คสช. ไม่ใช่กระทบต่อความมั่นคงของชาติ


จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน ร่วมถ่ายรูปกับนิธิ เอียวศรีวงศ์ นักประวัติศาสตร์ชื่อดัง รวมทั้งถ่ายรูปกับเพื่อนๆ และพ่อแม่ของเขา ทั้งนี้จตุภัทร์เดินทางมาจากทัณฑสถานบำบัดพิเศษขอนแก่น อ.เมือง จ.ขอนแก่น เพื่อขึ้นศาลในคดีชูป้ายคัดค้านรัฐประหาร เหตุเกิดเมื่อ 22 พ.ค. 2558 โดยวันนี้เป็นการสืบพยานจำเลยปากสุดท้าย

18 ก.ย. 2561 ที่ศาลทหาร ขอนแก่น บรรดาผู้สังเกตการณ์คดีจากกรุงเทพฯ ราว 20 คน มารอให้กำลังใจ ไผ่ ดาวดิน หรือ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ตั้งแต่เช้าจนราว 11.20 น.จึงได้เข้าห้องพิจารณาคดี ใช้เวลาราว 2 ชั่วโมงจึงเสร็จสิ้น

วันนี้เป็นการสืบพยานจำเลยปากสุดท้าย คือ นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักประวัติศาสตร์ชื่อดัง โดยไผ่ที่ถูกนำตัวมาจากทัณฑสถานบำบัดพิเศษขอนแก่น อ.เมือง จ.ขอนแก่น ได้ขอใช้สิทธิถามความด้วยตนเอง นับเป็นการถามความครั้งแรกของเขาหลังเรียนจบนิติศาสตร์เมื่อปีที่ผ่านมา

(แฟ้มภาพ) จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ชูป้ายผ้าเขียนข้อความ "คัดค้านรัฐประหาร" ร่วมกับเพื่อนกลุ่มดาวดินที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จ.ขอนแก่น ในโอกาสครบรอบ 1 ปี รัฐประหาร เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 

คดีนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2558 นักศึกษากลุ่มดาวดินทำกิจกรรมชูป้ายต่อต้าน คสช.ในวาระครบ 1 ปีรัฐประหาร ไผ่โดนฟ้องในความผิดขัดคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 3/2558 ที่กำหนดห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน จากนั้นเขายังถูกดำเนินคดีทางการเมืองอีกเรื่อยๆ รวมทั้งสิ้น 5 คดี อย่างไรก็ตามคดีที่ทำให้เขาต้องอยู่ในเรือนจำอย่างยาวนานเกือบ 2 ปีมานี้คือคดีมาตรา 112 จาการแชร์ข่าวของบีบีซี ซึ่งเขาตัดสินใจรับสารภาพและศาลพิพากษาลงโทษจำคุก 2 ปี 6 เดือน

สำหรับการสืบพยานโดยสรุปมีดังนี้

ไผ่ถามพยานว่าการรัฐประหารในประเทศไทยครั้งใดที่มีนัยสำคัญทางการเมือง นิธิเบิกความว่า ในบรรดาการรัฐประหาร 13 ครั้งนับตั้งแต่ 2475 ถึงปัจจุบัน เขาคิดว่าที่สำคัญมีอยู่ 2 ครั้ง คือ การรัฐประหาร ปี 2476 และปี 2557

กรณี 2476 เมื่อพระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นประกาศพระราชกฤษฎีกา "ปิดสภา" งดใช้รัฐธรรมนูญฉบับแรกหลายมาตรา ยกเว้นเพียงหมวดสถาบันพระมหากษัตริย์ จากนั้นพระยาพหลพลพยุหเสนาก็ได้ทำการรัฐประหารยึดอำนาจเพื่อกอบกู้รัฐธรรมนูญคืนมาใหม่ จึงเป็นตัวอย่างให้เห็นว่าทหารมีหน้าที่รักษารัฐธรรมนูญ เป็นตัวอย่างที่ดีแต่ไม่เคยถูกทำตาม

กรณี 2557 คสช. นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำการรัฐประหาร ในสถานการณ์ที่ประเทศไทยมีการปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญมาต่อเนื่องถึง 17 ปีนับตั้งแต่ปี 2540 แม้มีรัฐประหาร 2549 ก็ใช้เวลาเพียงปีเดียวแล้วมีรัฐธรรมนูญ 2550 ที่ใกล้เคียงกับ 2540

"นี่เป็นโอกาสที่การปกครองแบบประชาธิปไตยจะดำรงต่อไปได้อย่างมั่นคงแข็งแรงได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก แต่การรัฐประหาร 2557 ได้ตัดโอกาสอนาคตของประเทศไทยไปเลย"

"ผลจาการรัฐประหารทำให้เกิดความทรุดโทรมทางเศรษฐกิจอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ...อีกประการคือ โอกาสที่จะเรียนรู้สิทธิเสรีภาพของประชาชน ซึ่งอาจถูกบ้างผิดบ้างนั้นหายไปเลย"

ไผ่ถามพยานเกี่ยวกับข้ออ้างความชอบธรรมหรือเหตุแห่งการรัฐประหารว่าคืออะไรและเพียงพอไหม นิธิตอบว่า ปี 2557 มีการอ้างเรื่องทุจริตคอร์รัปชันและการแตกแยกของประชาชน ซึ่งปัญหาสองอย่างนี้สามารถแก้ไขได้ในระบอบประชาธิปไตย ไม่มีประเทศประชาธิปไตยใดไม่มีการโกงเลยหรือประชาชนไม่แตกแยกเลย

ไผ่ถามพยานเกี่ยวกับบทบาทของนักศึกษา เยาวชน ในอดีตที่คัดค้านรัฐประหารและเรียกร้องประชาธิปไตย นิธิตอบว่า คนมีการศึกษามีบทบาทในทางการเมืองตั้งแต่อย่างน้อยสมัย ร.5 พระองค์ทรงแย่งอำนาจบริหารมาจากเหล่าขุนนางได้ก็ด้วยอาศัยคนหนุ่มรุ่นใหม่ที่มีการศึกษาในราชสำนัก นิธิยังยกตัวอย่างบทบาทคนหนุ่มสาวในขบวนการเสรีไทย, 14 ตุลาคม 2516, พฤษภา 2535 มาจนปัจจุบันเช่นเดียวกับที่จำเลยและกลุ่มนักศึกษาทำ

"การเคลื่อไหวใหญ่ๆ ในโลกเกิดขึ้นจากการเคลื่อนไหวเล็กๆ เช่นนี้ คนเหล่านี้คือคนที่ไม่ต้องการเห็นประเทศถอยหลัง การปกป้องประชาธิปไตยถูกกำหนดในรัฐธรรมนูญ 2540 แต่แม้รัฐธรรมนูญถูกฉีกไป แต่คนเหล่านี้ก็มีสำนึกตลอดมาว่าเป็นหน้าที่ที่ต้องทำ"

"การเคลื่อนไหวแบบนี้เกิดตลอดมาในทางประวัติศาสตร์ ในทุกสังคม และเกิดผลดีกับสังคม ตอนขบวนการเสรีไทยเคลื่อนไหวรัฐบาลสมัยนั้นก็ปราบ แต่สุดท้ายประเทศรอดเพราะคนที่เคยถูกตราหน้าว่าเป็นกบฏ"

ไผ่ถามว่า "หากมองในมุมประวัติศาสตร์สังคมศาสตร์ การกระทำของจำเลยสมควรได้รับโทษหรือไม่"

นิธิตอบคำถามไผ่ว่า "ผมเห็นว่าคณะรัฐประหารทุกคณะสับสนระหว่างอำนาจของตนเองกับอำนาจของรัฐ การคัดค้าน คสช.ของจำเลยกระทบต่อความมั่นคงของ คสช. ไม่ใช่กระทบต่อความมั่นคงของชาติ"

หลังคำตอบของนิธิ ศาลย้ำว่าแน่ใจหรือไม่ว่าว่าต้องการให้บันทึกเช่นนี้ ไผ่และนิธิตอบว่า "ใช่"

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่าวันนี้ทนายความยื่นคำร้องขอให้ศาลทหารส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 26,44 หรือไม่ สามารถฟ้องคดีจำเลยได้หรือไม่ และขอให้ศาลทหารเลื่อนอ่านคำพิพากษาไปก่อนเพื่อรอคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ศาลรับคำร้องไว้และสั่งให้เลื่อนการพิพากษาออกไป โดยในระหว่าง 30 วันนี้หากอัยการไม่ยื่นความเห็นถือว่าไม่คัดค้าน ศาลก็จะทำการนัดฟังคำสั่งต่อไปว่าจะส่งศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่

เจ้าหน้าที่จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนแจ้งว่า นอกจากนี้ทนายความยังยื่นประกันตัวไผ่ในคดีนี้ และคดีการจัดเสวนาพูดเพื่อเสรีภาพ วางหลักทรัพย์เป็นเงินสดคดีละ 10,000 บาท ในช่วงเย็นศาลทหารมีคำสั่งให้ปล่อยชั่วคราวเรียบร้อยแล้ว แต่ไผ่ยังคงต้องถูกคุมขังจากโทษในคดี 112 ต่อไป อย่างไรก็ตามการได้รับอนุญาตประกันตัวในคดีอื่นที่อยู่ระหว่างพิจารณาคดีจะส่งผลให้จำเลยน่าจะสามารถยื่นขอพักโทษออกจากเรือนจำก่อนกำหนดได้หากถูกคุมขังครบตามหลักเกณฑ์กรมราชทัณฑ์

สตั้น 10 วิ ทหารเบิกความยันชูป้ายค้านรัฐประหาร = ทำลายประชาธิปไตย ต้องรับโทษ, 23 ส.ค. 2561

สำหรับการสืบพยานโจทก์ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2560 ร.อ.อภินันท์ วันเพ็ชร ผู้บังคับกองร้อยสารวัตร มทบ.23 ซึ่งเป็นผู้ร่วมจับกุมจำเลยกับพวกในวันเกิดเหตุเคยเบิกความตอนหนึ่งว่า การรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 เป็นการกระทำที่น่าชื่นชมและสนับสนุน จำเลยจึงไม่ควรมาคัดค้าน ส่วนการกระทำของจำเลยกับพวกที่ไปชูป้าย “คัดค้านรัฐประหาร” นั้นแม้จะเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต แต่เป็นการทำลายประชาธิปไตย สมควรได้รับโทษและปรับทัศนคติ (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท