น่าละอาย.. แล้วไงต่อ? ชวนดูความสำคัญ-อำนาจของรายงานยูเอ็นที่ไทยจะเฉยไม่ได้

คุยกับพิมพ์สิริ เพชรน้ำรอบ อดีตเจ้าหน้าที่ฝ่ายเอเชียตะวันออก สภาเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาแห่งเอเชีย ถึงเบื้องหลังการออกรายงานประจำปีเรื่องนักสิทธิฯ ถูกคุกคาม ที่เป็นกระแสให้ภาครัฐของไทยออกมาแก้เกี้ยวเรื่องการถูกตีตราว่า “น่าละอาย” ชี้ตัวรายงานแม้ไม่มีผลใดๆ แต่ท่าทีของไทยและจุดยืนของประชาสังคม - ประเทศอื่นจะทำให้มันมีคมเขี้ยว

ที่มาภาพ: ทำเนียบรัฐบาล

18 ก.ย.2561 กลายเป็นกระแสยกใหญ่เมื่อรัฐบาลและผู้มีตำแหน่งออกมาตอบโต้กรณีที่ประเทศไทยไปโผล่ในรายงานประจำปีขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ว่าเป็นหนึ่งใน 29 ประเทศ (หรือ 38 ประเทศถ้านับรวมกับของสองปีก่อนในภาคผนวก) ที่มีการกระทำในลักษณะเอาคืน (reprisal) กับผู้ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนที่ติดต่อ หรือทำงานร่วมกับกลไกสิทธิมนุษยชนของยูเอ็น ซึ่งในรายงานระบุว่าพฤติกรรมดังกล่าวเป็นเรื่องที่ ‘น่าละอาย’ เมื่อ 12 ก.ย. ที่ผ่านมา

การถูกองค์กรโลกบาลอย่างยูเอ็นบอกว่าประเทศมีพฤติกรรมที่น่าละอายคงเปรียบเทียบได้กับการถูกปักป้ายประจานกลางตลาดสด การเผยแพร่รายงานเล่มดังกล่าวตามมาด้วยการตอบโต้ของ พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีที่ระบุว่าทาง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของรัฐบาลทหาร หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยืนยันว่ารัฐบาลไม่มีนโยบายหรือเจตนาคุกคาม ข่มขู่นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน และได้มีการบรรจุประเด็นนักสิทธิฯ เป็นประเด็นหลักในร่างแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 4 ที่จะมีผลบังคับใช้ในปี 2562 - 2566 โดยสัปดาห์นี้ทูตไทยประจำยูเอ็นจะร่วมรับฟังการนำเสนอรายงานชิ้นดังกล่าวและจะขอชี้แจงข้อเท็จจริงให้ชัดเจน (ที่มา:ไทยพีบีเอส)

ไทยติด 1 ใน 38 ประเทศ ‘น่าละอาย’ รายงาน UN กรณีคุกคามนักสิทธิฯ - ผู้เกี่ยวข้อง

ก.ต่างประเทศ เตรียมชี้แจงยูเอ็นกรณี 'ประเทศน่าละอาย' ที่เจนีวา 19 ก.ย.นี้

นอกจากนั้นยังมีการตอบโต้จาก ปิติกาญจน์ สิทธิเดช อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ออกแถลงการณ์ชี้แจงว่ารัฐบาลตระหนักถึงการคุ้มครองนักสิทธิฯ ไม่ว่าจะเป็นการแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อพัฒนามาตรการในการคุ้มครองนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนที่เสี่ยงถูกละเมิด จัดทำคู่มือนักปกป้องสิทธิมนุษยชน รับเรื่องร้องทุกข์ ร้องเรียน ไปจนถึงการติดตามสถานการณ์นักปกป้องสิทธิมนุษยชนเพื่อหาทางช่วยเหลือและการจัดทำรายงานสถานการณ์การละเมิดสิทธิเสรีภาพ และสิทธิมนุษยชนเสนอต่อนายกฯ อย่างต่อเนื่องเป็นประจำ ส่วนกรณีของไมตรี จำเริญสุขสกุลและน.ส.ศิริกาญจน์ เจริญศิริ (ทนายจูน) ที่ปรากฏในรายงานนั้น ปิติกาญจน์กล่าวว่า กรณีทั้งสองอยู่ในขั้นตอนกระบวนการยุติธรรมและเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ถ้ามีการขอให้ทางรัฐบาลช่วยเหลือในด้านต่างๆ เช่นการปรึกษาทางกฎหมาย การช่วยเหลือทางคดี การประกันตัว หรือหากถูกข่มขู่ คุกคาม ไม่ได้รับความปลอดภัยก็สามารถขอรับความคุ้มครองได้ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองฯพยานในคดีอาญา (ที่มา: โพสท์ทูเดย์)

ปรากฏการณ์ที่ภาครัฐออกมาโชว์ซูเปอร์เซฟลูกยิงของยูเอ็นเป็นพัลวันสะท้อนอิทธิพลขององค์กรโลกบาลที่ไม่มีอำนาจทางทหารและเศรษฐกิจติดตัวจนบางครั้งก็ถูกเรียกว่าเป็นเสือกระดาษ แล้วอะไรคืออำนาจ หรือความสำคัญเบื้องหลังของกระดาษ 52 หน้านี้

ประชาไทคุยกับ พิมพ์สิริ เพชรน้ำรอบ อดีตเจ้าหน้าที่ฝ่ายเอเชียตะวันออกของสภาเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาแห่งเอเชีย (Forum Asia - Asian Forum for Human Rights and Development) ถึงเบื้องหลัง ความสำคัญของรายงาน รวมถึงสิ่งที่ไทยอาจต้องเจอเมื่อมีรายงานเช่นนี้

พิมพ์สิริ เพชรน้ำรอบ

พิมพ์สิริ กล่าวว่า ประเด็นการเอาคืน คุกคามนักปกป้องสิทธิฯ หรือคนทำงานด้านสิทธิฯ ที่ทำงานกับกลไกยูเอ็นเรื่องสิทธิมนุษยชนกลายเป็นที่กังวลของอันโตนิโอ กูเตร์เรซ เลขาธิการยูเอ็นคนปัจจุบันตั้งแต่ปี 2559 เนื่องจากแนวโน้มด้านสถิติการถูกคุกคามที่สูงขึ้น ทำให้นักสิทธิฯ หวาดกลัวที่จะทำงานกับกลไกของยูเอ็นและเป็นการทำลายชื่อเสียงยูเอ็นไปในตัว ซึ่งตัวอันโตนิโอเองมองว่าเป็นการโจมตียูเอ็น

ความกังวลนำไปสู่การปรึกษากับหลายๆ องค์กร ทั้งสำนักงานข้าหลวงใหญ่แห่งสหประชาชาติ (OHCHR) คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (อังกฤษ: United Nations Human Rights Council; ย่อ: UNHRC) กลไกผู้ตรวจการพิเศษ และกลไกสนธิสัญญา ซึ่งสุดท้ายอันโตนิโอประกาศตั้งตำแหน่งผู้ช่วยเลขาธิการสำหรับประเด็นสิทธิมนุษยชนเพื่อดูแลประเด็นนี้โดยเฉพาะ นำโดย แอนดรูว์ กิลมอร์ โดยตั้งใจว่าจะเป็นการสร้างระบบการป้องกันหรือพูดถึงการเอาคืน ข่มขู่คุกคามที่แต่เดิมกระจัดกระจายอยู่ตามกลไกต่างๆ ให้เป็นระบบมากขึ้น ถ้ามีกรณีเรื่องการเอาคืน ข่มขู่คุกคามเกิดขึ้น ทุกหน่วยงานของยูเอ็นจะต้องให้ความสนใจโดยมีแอนดรูว์เป็นศูนย์กลาง

ทั้งนี้ พิมพ์สิริ ให้ข้อมูลว่ารายงานที่ออกมาเป็นการออกชื่อเพื่อทำให้อับอายเท่านั้น (Naming and Shaming) ซึ่งไม่มีผลในทางกฎหมาย และไทยไม่มีข้อบังคับที่ต้องทำตามหรือชี้แจงอะไร แต่การไม่สนใจรายงานอาจนำมาซึ่งการสูญเสียภาพลักษณ์ในเวทีโลก ซึ่งผลกระทบอาจลามทุ่งไปถึงเรื่องเศรษฐกิจ

“จะมีการนำเรื่องนี้ (เรื่องของไทยในรายงาน) ไปประชุมในระดับสูงที่รวมถึงรัฐ ประชาสังคม สถานทูต หน่วยงานยูเอ็นต่างๆ แปลว่ารัฐไทยจะต้องตอบคำถามเรื่องนี้อย่างเป็นทางการ คือจะไม่ตอบก็ได้เพราะกลไกกฎหมายระหว่างประเทศไม่ได้มีการบังคับใช้แบบบนลงล่างเหมือนกฎหมายภายใน แต่ปกติไทยจะตอบอย่างเป็นทางการ”

“ถ้าไม่ตอบมีผลในทางหน้าตา ซึ่งไทยไม่ค่อยยอมเสียหน้าในเวทีระหว่างประเทศ อีกอย่างที่เป็นรูปธรรมคือมันสามารถถูกนำมาใช้ในการรณรงค์กับภาคประชาสังคมได้ โดยเฉพาะกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่อาจมีอิทธิพลกับไทยในประเด็นเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน เช่น อียู (สหภาพยุโรป) ที่มีอาณัติเฉพาะที่จะต้องทำงานเพื่อปกป้องนักปกป้องสิทธิไม่ว่าในประเทศไหน แล้วถ้าไทยออกมาแบบนี้ (ไม่ชี้แจงอย่างเป็นทางการ) ประชาสังคมก็สามารถนำไปรณรงค์ต่อได้”

“รายงานตัวนี้สามารถถูกนำไปอ้างอิงว่าคุณไม่ได้ทำตามพันธะสัญญาที่ให้ไว้กับองค์กรระหว่างประเทศ และส่วนกลไกสนธิสัญญา โดยเฉพาะกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights หรือ ICCPR) ที่ไทยเพิ่งถูกทบทวนไปเมื่อปี 2560 ก็มีผู้เชี่ยวชาญได้ให้ความเห็นเรื่องนี้” อดีตเจ้าหน้าที่ Forum-Asia กล่าว

ICCPR: ปูพื้นก่อนชมเวทีโลกล้อมไทย ชำแหละทุกปมละเมิดสิทธิบ่ายวันนี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท