4 สภาวิชาชีพ ค้าน ม.48 ใน ร่างพ.ร.บ.การอุดมศึกษา แนะตัดคำว่า 'วิชาชีพ' ออก

สภาวิศวกร สภาสถาปนิก สภาทนายความและสภาวิชาชีพบัญชี ร่วมแถลง คัดค้าน ม. 48 แห่ง ร่าง พ.ร.บ.การอุดมศึกษา ร้องขอตัดคำว่า 'วิชาชีพ' ออกจาก มาตราดังกล่าว ระบุเพื่อปกป้องสวัสดิภาพในชีวิต ร่างกายและทรัพย์สินของประชาชน ตลอดจนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

18 ก.ย.2561 วันนี้ เมื่อเวลาประมาณ 10.30 น. ที่สภาสถาปนิก 4 สภาวิชาชีพ ประกอบด้วย ดร.กมล ตรรกบุตร นายกสภาวิศวกร พลเรือเอกฐนิธ กิตติอำพน นายกสภาสถาปนิก ทัศไนย ไชยแขวง อุปนายกสภาทนายความ และ ประเสริฐ หวังรัตนปราณี อุปนายกสภาวิชาชีพบัญชี ร่วมกันแถลงข่าว เรื่อง “กรณีมาตรา 48 แห่งร่างพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา ก่อให้เกิดผลกระทบและความเสียหายต่อประชาชน เศรษฐกิจและสังคม อย่างไร”

โดย  สภาวิชาชีพทั้ง 4 คัดค้านบทบัญญัติของมาตรา 48 แห่ง “ร่างพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ…..”  โดยขอให้ตัดคำว่า “วิชาชีพ” ที่ระบุใน มาตรา 48 ออกทั้งหมด เพื่อเป็นการปกป้องสวัสดิภาพในชีวิต ร่างกายและทรัพย์สินของประชาชน ตลอดจนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

โดยมีรายละเอียดดังนี้

แถลงสภาทนายความ สภาวิศวกร สภาสถาปนิก และสภาวิชาชีพบัญชี  เรื่อง“กรณีมาตรา 48 แห่งร่างพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา ก่อให้เกิดผลกระทบและความเสียหายต่อประชาชน เศรษฐกิจและสังคม อย่างไร”

สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2561 คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบในหลักการร่างพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ. .... นั้น ในส่วนที่ 3 การบริการวิชาการแก่สังคม มาตรา 48 แห่งร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวได้บัญญัติให้ “สถาบันอุดมศึกษาสามารถให้บริการทางวิชาชีพ และให้คำปรึกษาทางวิชาชีพได้”ซึ่งเป็นบทบัญญัติดังกล่าว เป็นการบัญญัติกฎหมายที่ขัดกับบทบัญญัติของกฎหมายรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560  กฎหมายวิชาชีพวิศวกร สถาปนิก ทนายความและกฎหมายวิชาชีพบัญชี รวมถึงขัดแย้งกับร่างพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ. ....ในหมวด๒ว่าด้วยหลักการสำคัญของการจัดการอุดมศึกษามาตรา 8  ในหมวด5ว่าด้วยหน้าที่และอำนาจของสถาบันอุดมศึกษามาตรา 37 (3) และมาตรา 48 ซึ่งผลของการบัญญัติให้ “สถาบันอุดมศึกษาสามารถให้บริการทางวิชาชีพ และให้คำปรึกษาทางวิชาชีพได้” จะส่งผลกระทบและความเสียหายต่อเศรษฐกิจ สังคม และประชาชนส่วนรวม ดังนี้

1. การบัญญัติกฎหมายให้สถาบันอุดมศึกษาสามารถให้บริการทางวิชาชีพ และให้คำปรึกษาทางวิชาชีพได้ จะทำให้สถาบันอุดมศึกษาของรัฐสามารถออกไปรับจ้างประกอบธุรกิจกับหน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานเอกชนได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย อันเป็นการกระทำที่ขัดกับบทบัญญัติของกฎหมายรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 หมวดที่ 6 ว่าด้วยแนวนโยบายแห่งรัฐมาตรา 75 วรรค 2 ที่บัญญัติไว้ว่า “รัฐต้องไม่ประกอบกิจการที่มีลักษณะเป็นการแข่งขันกับเอกชน…”โดยเฉพาะสถาบันอุดมศึกษาของรัฐที่ได้รับเงินงบประมาณอุดหนุนจากรัฐบาลมาประกอบวิชาชีพโดยใช้ทรัพยากรของรัฐโดยไม่มีต้นทุน ต่างกับภาระต้นทุนของภาคเอกชนทำให้ได้เปรียบภาคเอกชน ทำให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม อีกทั้งส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ทำให้ไม่เกิดการว่าจ้างนิติบุคคลเอกชนหรือจ้างในอัตราที่ต่ำมาก กระทบต่อการเจริญเติบโต การพัฒนาด้านวิชาชีพ ตลอดจนการจ้างงานบุคลากรวิชาชีพขององค์กรวิชาชีพภาคเอกชนอย่างมากและอาจเป็นสาเหตุให้วิชาชีพเกิดความอ่อนแอในอนาคต

2. การบัญญัติกฎหมายให้สถาบันอุดมศึกษาสามารถให้บริการทางวิชาชีพ และให้คำปรึกษาทางวิชาชีพได้เป็นการบัญญัติกฎหมายที่ขัดแย้งกับบทบัญญัติกฎหมายวิชาชีพวิศวกร สถาปนิก ทนายความกฎหมายวิชาชีพบัญชี และกฎหมายจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุภาครัฐ ที่บังคับใช้อยู่แล้วในปัจจุบัน ส่งผลกระทบต่อการบังคับใช้กฎหมายต่อผู้กระทำการฝ่าฝืนกฎหมายดังกล่าว อันจะนำไปสู่ข้อพิพาทระหว่างสภาวิชาชีพกับสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ ที่จะส่งผลกระทบล่าช้าต่อการบริหารจัดการกิจการภาครัฐและส่งผลกระทบถึงสังคม ประชาชนในที่สุด

3. การบัญญัติกฎหมายให้สถาบันอุดมศึกษาสามารถให้บริการทางวิชาชีพ และให้คำปรึกษาทางวิชาชีพได้ส่งกระทบต่อมาตรฐานความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนผู้ใช้บริการเนื่องจากสถาบันอุดมศึกษาสามารถประกอบวิชาชีพควบคุมได้อย่างอิสระในทุกสาขาวิชาชีพอย่างไม่จำกัดขอบเขตและไร้การกำกับดูแลจากสภาวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง

อีกทั้งงานด้านวิชาชีพของผู้ประกอบวิชาชีพเกิดจากการนำเอาพื้นฐานทางวิชาการมาฝึกฝนสะสมทักษะและประสบการณ์จนมีความสามารถและผ่านระบบการทดสอบจากสภาวิชาชีพเฉพาะด้านในเรื่องนั้น ๆ เช่น บริษัทวิศวกรที่ปรึกษาที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านออกแบบสะพาน ก็มาจากวิศวกรในวิชาชีพที่ได้ฝึกฝน เรียนรู้การออกแบบสะพานมาเป็นเวลานานจนมีความเชี่ยวชาญในเรื่องสะพานดังกล่าว แต่สถาบันอุดมศึกษามิได้มีผ่านกระบวนการฝึกฝนสะสมทักษะและประสบการณ์ดังกล่าว อาจจะส่งผลกระทบต่อมาตรฐานความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนผู้ใช้บริการ

4. ส่งผลกระทบต่อคุณภาพทางการศึกษาซึ่งเป็นงานในหน้าที่หลัก พระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ. .... และพระราชบัญญัติจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาต่าง ๆ ควรมุ่งเน้นให้บุคลากรทำหน้าที่และอุทิศเวลา ในการดำเนินการทางด้านวิชาการ การเรียน การสอน และการวิจัยมากกว่าบริการวิชาชีพ

5. การให้สถาบันอุดมศึกษาที่มีฐานะเป็นนิติบุคคลมหาชนตามกฎหมาย ซึ่งไม่ได้เป็นนิติบุคคลที่ได้รับใบอนุญาตสามารถประกอบวิชาชีพควบคุมได้ ส่งผลให้การได้รับบริการวิชาชีพไม่มีเกณฑ์มาตรฐานในการกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพควบคุมซึ่งเกณฑ์มาตรฐานในการกำกับดูแลมีตั้งแต่ในชั้นของการออกแบบ การปฏิบัติตามสัญญา การรับประกันผลงาน อาจทำให้ไม่สามารถปกป้องความปลอดภัยในชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของประชาชน และสังคม

ซึ่งแตกต่างจากนิติบุคคลมหาชนอื่นๆที่จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ หน้าที่ และภารกิจเฉพาะในขอบเขตงานของตนเองรับผิดชอบเท่านั้น อาทิเช่น การไฟฟ้านครหลวงมีอำนาจหน้าที่ในจัดให้ได้มา การจำหน่ายและดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับพลังงานไฟฟ้าซึ่งเข้าข่ายเป็นงานวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมสาขาวิศวกรรมไฟฟ้าการไฟฟ้านครหลวงจึงสามารถประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมได้เพียงในงานวิศวกรรมไฟฟ้าเท่านั้น ไม่อาจดำเนินการวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม หรือวิชาชีพอื่น ๆ ได้

6. มาตรา 48 ทำให้ไม่มีหลักประกันใด ๆ ในการประกอบวิชาชีพในส่วนของความรับผิดชอบต่อผลงาน เนื่องจากหากว่าจ้างนิติบุคคลผู้ได้รับใบอนุญาตจากสภาวิชาชีพ หากปรากฏว่านิติบุคคลผู้นั้นกระทำผิด สภาวิชาชีพจะมีอำนาจตามกฎหมายในการตรวจสอบและลงโทษบุคคลดังกล่าวได้ถึงขั้นไม่อนุญาตให้ประกอบวิชาชีพต่อไปได้ (เพิกถอนใบอนุญาต) การมีมาตรา 48 ทำให้ไม่สามารถควบคุมดูแลสถาบันอุดมศึกษาในลักษณะดังกล่าวได้

7. ปัญหาเรื่องความโปร่งใสและธรรมมาภิบาล

7.1 การกำหนดให้สถาบันอุดมศึกษาสามารถบริการวิชาชีพได้ทำให้บุคลากรในสถาบันอุดมศึกษา
ต้องมาเบียดบังเวลาราชการในการเรียนการสอนหนังสือเพื่อมาประกอบวิชาชีพควบคุม

7.2 มาตรา 48 ส่งผลให้เกิดช่องว่างในการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุภาครัฐเปิดช่องให้มีการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้าง ร่วมถึงมีการรับจ้างช่วง (sub) งานในนามของสถาบันอุดมศึกษาและส่งต่องานให้บริษัทเอกชนเป็นผู้ดำเนินการ (หักหัวคิว)

7.3 ส่งผลกระทบต่อระบบภาษีของรัฐ เนื่องจากการว่าจ้างสถาบันอุดมศึกษาไม่ต้องเสียภาษีรายได้

7.4 เกิดความไม่เหมาะสมที่หน่วยงานของรัฐจะว่าจ้างหน่วยงานของรัฐหรือสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ

ด้วยกันเองในการบริการวิชาชีพในอัตราค่าจ้างเท่ากับราคาค่าจ้างที่ดำเนินการโดยเอกชน

7.5 ส่งผลให้เกิดการทุจริตแบบบูรณาการ โดยเฉพาะสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ เนื่องจากรายได้จากการประกอบวิชาชีพถือเป็นเงินนอกระบบงบประมาณ ทำให้หน่วยงานตรวจสอบของรัฐอื่นๆไม่สามารถตรวจสอบได้

7.6 เกิดความตกต่ำของมาตรฐานทางศีลธรรม และจริยธรรมแห่งวิชาชีพ ส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของวิชาชีพจะลดลง ทำให้ไม่อาจตอบสังคมได้ว่า การให้บริการทางวิชาชีพถือเป็นหน้าที่ของสถาบันอุดมศึกษา หรือไม่

ดังนั้น สภาวิชาชีพทั้ง 4 จึงขอคัดค้านบทบัญญัติของมาตรา 48 แห่ง “ร่างพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ…..”  โดยขอให้ตัดคำว่า “วิชาชีพ” ที่ระบุใน มาตรา 48 ออกทั้งหมด เพื่อเป็นการปกป้องสวัสดิภาพในชีวิต ร่างกายและทรัพย์สินของประชาชน ตลอดจนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท