Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


จากซ้ายไปขวา ชีค ฮาสินา นายกรัฐมนตรีบังกลาเทศ เชริง วังชุก หัวหน้าคณะผู้บริหารรัฐบาลชั่วคราวของภูฎาน นเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย วิน มินต์ ประธานาธิบดีพม่า ขัทคะ ปราสาท ศรรมะ โอลี นายกรัฐมนตรีเนปาล ไมตรี พาละ สิริเสนา ประธานาธิบดีศรีลังกา และพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทย ในพิธีปิดการประชุมระดับผู้นำ (BIMSTEC Summit) ครั้งที่ 4 ณ กรุงกาฐมาณฑุ ประเทศเนปาล
ที่มา: https://www.thedailystar.net/news/politics/bimstec-leaders-sign-kathmandu-declaration-4th-summit-concludes-nepal-1627141

เมื่อวันที่ 30-31 สิงหาคม ค.ศ. 2018 ที่ผ่านมา กลุ่มประเทศสมาชิกบิมสเทค 7 ประเทศ หรือ “ความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ” (Bay of Bengal Initiative for Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation-BIMSTEC) ได้มีการประชุมระดับผู้นำ (BIMSTEC Summit) ครั้งที่ 4 ซึ่งจัดขึ้น ณ กรุงกาฐมาณฑุ ประเทศเนปาล สำหรับการประชุมครั้งนี้ ประเทศสมาชิกได้ออก “ปฏิญญากาฐมาณฑุ” (Kathmandu Declaration) เพื่อทบทวนความร่วมมือที่ผ่านมาและเป็นแนวทางในการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันให้มีมากยิ่งขึ้น ประกอบกับ การประชุมครั้งนี้จัดขึ้นหลังจากเว้นระยะการประชุมระดับผู้นำเป็นเวลา 4 ปี โดยการประชุมครั้งที่ 3 เกิดขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 2014 ที่กรุงเนปิดอว์ ประเทศพม่า การประชุมระดับผู้นำของบิมสเทคที่เนปาลที่ผ่านมา จึงมีประเด็นที่สำคัญที่อาจจะสะท้อนพัฒนาการความร่วมมือตลอดระยะเวลา 21 ปีของการก่อตั้งองค์กรนี้นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1997

ภูมิหลัง: จาก BIST-EC สู่ BIMSTEC และบทบาทของไทย

ประเทศไทยมีบทบาทและความสำคัญต่อบิมสเทคตั้งแต่เริ่มแรก กล่าวคือ บิมสเทคก่อตั้งขึ้นจากการริเริ่มของไทยในยุคหลังสงครามเย็น ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่กระแสภูมิภาคนิยมกำลังมาแรงและการกีดกันทางการค้ามีแนวโน้มสูงขึ้น โดยเริ่มต้นจากในสมัยรัฐบาลนายชวน หลีกภัย (ค.ศ. 1992-1995) ที่ให้ความสำคัญกับนโยบายการสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจในระดับอนุภูมิภาค และต้องการขยายบทบาทของไทยในการเป็นศูนย์กลางความร่วมมือดังกล่าวจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปยังภูมิภาคอื่นๆที่อยู่ใกล้เคียง ประกอบกับ ในเวลานั้น ประเทศไทยมีกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้านในภาคใต้ เหนือ และตะวันออกแล้ว แต่ยังขาดกรอบความร่วมมือในลักษณะเดียวกันกับประเทศที่ตั้งอยู่ทางภาคตะวันตก[1]  ซึ่งประเทศในอนุทวีปเอเชียใต้ในเวลานั้นอย่างอินเดียและศรีลังกาก็ได้เริ่มมีการปฏิรูปทางเศรษฐกิจเพื่อเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจแบบเสรี[2] และมีแนวโน้มความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งมีแหล่งวัตถุดิบและมีศักยภาพเป็นตลาดที่สำคัญสำหรับการค้าการลงทุนของไทยต่อไป โดยความร่วมมืออนุภูมิภาคนี้มีเป้าหมายครอบคลุมประเทศไทย อินเดีย ศรีลังกา บังกลาเทศ และพม่า ด้วยแนวความคิดดังกล่าว คณะรัฐมนตรีในสมัยนั้นได้มีมติเห็นชอบในหลักการเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม ค.ศ. 1994 ซึ่งเสนอโดยรองนายกรัฐมนตรี ดร. ศุภชัย พานิชภักดิ์ โดยให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการ[3] อย่างไรก็ตาม แนวความคิดดังกล่าวไม่ได้รับการนำไปปฏิบัติ เนื่องจากรัฐบาลนายชวน หลีกภัย ประกาศยุบสภาจากการถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจในประเด็นความไม่โปร่งใสในประเด็นการออกเอกสารสิทธิที่ดินทำกิน ส.ป.ก. 4-01 และรัฐบาลต่อมาของนายบรรหาร ศิลปะอาชา (ค.ศ. 1995-1996) ก็ไม่ได้สานต่อแนวคิดนี้และอยู่ในตำแหน่งแค่เพียงปีเดียว หลังจากนั้น แนวคิดความร่วมมือข้างต้นก็ได้รับการรื้อฟื้นขึ้นอีกครั้งในสมัยรัฐบาลพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ (ค.ศ. 1996-1997) ซึ่งให้ความสำคัญกับแนวคิดมองตะวันตกและประกาศให้เป็นหนึ่งส่วนของนโยบายต่างประเทศ นายพิทักษ์ อินทรวิทยนันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศในขณะนั้นได้เดินทางไปเยือนศรีลังกา บังกลาเทศ และอินเดียเพื่อทาบทามเข้าร่วมกลุ่มความร่วมมือเศรษฐกิจอนุภูมิภาค ส่วนพม่าในเบื้องต้นแสดงท่าทีว่ายังไม่พร้อมที่จะเข้าร่วม[4] ในที่สุด 4 ประเทศข้างต้นรวมทั้งไทยก็ได้ลงนามใน “ปฏิญญากรุงเทพฯ” (Bangkok Declaration) ว่าด้วยการจัดตั้งกรอบความร่วมมือเศรษฐกิจระหว่างบังกลาเทศ-อินเดีย-ศรีลังกา-ไทย (Bangladesh-India-Sri Lanka-Thailand Economic Cooperation-BIST-EC) ในวันที่ 6 มิถุนายน ค.ศ. 1997 โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อสร้างความเจริญทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศสมาชิก ต่อมาเมื่อพม่าเข้าร่วมกลุ่มความร่วมมือฯในเดือนธันวาคมของปีเดียวกันก็มีการเปลี่ยนชื่อเป็น BIMST-EC หรือ Bangladesh-India-Myanmar-Sri Lanka-Thailand Economic Cooperation หลังจากนั้น เมื่อเนปาลและภูฎานเข้าร่วมเป็นสมาชิกในปี ค.ศ. 2004 จึงมีการเปลี่ยนชื่อกลุ่มอีกครั้งเป็น BIMSTEC หรือ Bay of Bengal Initiative for Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation ซึ่งเป็นชื่อที่ใช้จนถึงปัจจุบัน[5] โดยเริ่มแรก บิมสเทคมีความร่วมมือใน 6 สาขาหลักคือ สาขาการค้าและการลงทุน สาขาคมนาคมและสื่อสาร สาขาพลังงาน สาขาการท่องเที่ยว สาขาเทคโนโลยี และสาขาประมง ในปัจจุบันมีการขยายสาขาความร่วมมือครอบคลุมมากถึง 14 สาขา เช่น วัฒนธรรม เกษตร การลดความยากจน การต่อต้านการก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติ การจัดการสิ่งแวดล้อมและภัยพิบัติ  เป็นต้น โดยประเทศสมาชิกทั้ง 7 ประเทศเป็นผู้รับผิดชอบในแต่ละสาขาความร่วมมือ[6] ขณะทีกลไกการทำงานของบิมสเทคมี 6 ระดับ[7] โดยระดับสูงสุดคือ การประชุมระดับผู้นำ ซึ่งเริ่มต้นขึ้นเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 2004

ภาพรวมการประชุมระดับผู้นำครั้งที่ 1-3

การประชุมระดับผู้นำครั้งที่ 1 จัดขึ้นที่ประเทศไทย เมื่อเดือนกรกฎาคม ปี ค.ศ. 2004 โดยเป็นการประชุมผู้นำอย่างไม่เป็นทางการ (Summit Retreat) ผู้นำทั้ง 7 ประเทศจึงได้มีโอกาสหารือกันอย่างกว้างขวางในหลายประเด็น โดยประเทศสมาชิกได้เน้นย้ำในการสร้างความก้าวหน้าอย่างเป็นรูปธรรมใน 6 สาขาหลักข้างต้น ที่สำคัญ ที่ประชุมได้ให้การรับรองปฏิญญาการประชุมระดับผู้นำในกรอบบิมสเทค (BIMSTEC Summit Declaration) ซึ่งกำหนดชื่อความร่วมมือใหม่เป็น “ความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ” หรือ บิมสเทค นอกจากนี้ ปฏิญญาฯ ยังได้เน้นย้ำถึงความสำคัญในการพัฒนาศักยภาพของภูมิภาคและการขยายความร่วมมือไปสู่สาขาใหม่ๆ การจัดตั้งเขตการค้าเสรีบิมสเทค ซึ่งประเทศสมาชิกได้มีการลงนามในกรอบความร่วมมือเรื่องนี้ในเดือนกุมภาพันธ์ของปีเดียวกัน การร่วมมือต่อต้านการก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติ รวมทั้งปัญหาข้ามพรมแดนอื่นๆ[8] ส่วนการประชุมระดับผู้นำครั้งที่ 2 จัดขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี ค.ศ. 2008 ที่กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย ซึ่งที่ประชุมได้มีการรับรองปฏิญญาผู้นำบิมสเทค ครั้งที่ 2 โดยมีสาระสำคัญคือ การยืนยันเจตนารมณ์ที่จะพัฒนาความร่วมมือกันในสาขาความต่างๆทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม และแสดงความยินดีต่อความก้าวหน้าในสาขาความร่วมมือต่างๆที่สำคัญ เช่น การจัดตั้งศูนย์พลังงาน (BIMSTEC Energy Center) ศูนย์อุตุนิยมวิทยาและสภาพภูมิอากาศ (BIMSTEC Weather and Climate Center) ที่อินเดีย การบรรลุข้อตกลงบางประการเกี่ยวกับการจัดตั้งเขตการค้าเสรี เป็นต้น นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้แสดงความกังวลต่อสถานการณ์ต่างๆของโลก[9] หลังจากนั้น การประชุมระดับผู้นำก็ว่างเว้นถึง 6 ปี จนมีการจัดประชุมครั้งที่ 3 เมื่อปี ค.ศ. 2014 โดยมีพม่าเป็นเจ้าภาพ ในการประชุมครั้งนี้ ประเทศสมาชิกได้ลงนามจัดตั้งสำนักเลขาธิการบิมสเทค (BIMSTEC Secretariat) ซึ่งตั้งอยู่ที่กรุงธากา ประเทศบังกลาเทศ โดยมีนาย Sumith Nakandala ชาวศรีลังกา เป็นเลขาธิการคนแรก ซึ่งถือเป็นพัฒนาการสำคัญอย่างหนึ่งขององค์กรนับแต่ตั้งก่อตั้งในปี ค.ศ. 1997  ขณะที่เลขาธิการบิมสเทคคนปัจจุบันคือ นาย M. Shahidul Islam เป็นชาวบังกลาเทศ นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้ทบทวนความร่วมมือที่ผ่านมาใน 14 สาขาอีกด้วย[10]

สาระสำคัญในการประชุมระดับผู้นำครั้งที่ 4

การประชุมระดับผู้นำครั้งที่ 4 จัดขึ้นเมื่อวันที่ 30-31 สิงหาคม ค.ศ. 2018 ที่ผ่านมา โดยมีเนปาลทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพต่อจากพม่า ภายใต้หัวข้อ “Towards a Peaceful, Prosperous and Sustainable Bay of Bengal Region” ในการประชุมครั้งนี้ ประเทศสมาชิกได้มีการรับรองปฏิญญากาฐมาณฑุ ซึ่งมีทั้งหมด 18 เรื่อง โดยมีเป้าหมายเพื่อยืนยันเจตนารมณ์ในการพัฒนาความร่วมมือร่วมกัน ทบทวนความร่วมมือที่ผ่านมา และเป็นแนวทางในการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันให้มีมากยิ่งขึ้น โดยมีสาระสำคัญหลายประการ กล่าวคือ ด้านการปรับโครงสร้างองค์กร (Institutional reform) เช่น การจัดตั้งคณะทำงานถาวรบิมสเทค (BIMSTEC Permanent Working Committee-BPWC) เพื่อดูแลเรื่องงานบริหารและงบประมาณ รวมถึงเรื่องอื่นๆของสำนักเลขาธิการและศูนย์บิมสเทค การหาลู่ทางความเป็นไปได้ในการจัดตั้งกองทุนเพื่อการพัฒนาบิมสเทค (BIMSTEC Development Fund-BDF) เพื่อใช้ประโยชน์ในการวิจัย การจัดทำแผนงาน และกิจกรรมอื่นๆขององค์กร มอบหมายให้สำนักเลขาธิการฯเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดเตรียมร่างกฎบัตรบิมสเทค (BIMSTEC charter) โดยคาดว่าจะมีการรับรองในการประชุมระดับผู้นำครั้งต่อไป เห็นควรในการเพิ่มศักยภาพการทำงานให้กับสำนักเลขาธิการฯ ทั้งในเรื่องงบประมาณและบุคคล เพื่อให้การทำงานของหน่วยงานดังกล่าวมีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้เน้นย้ำการเร่งสร้างความก้าวหน้าในสาขาความร่วมมือหลักเพื่อให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรม โดยไทยได้เสนอเอกสารเชิงหลักการว่าด้วยการจัดลำดับความสำคัญสาขาความร่วมมือของบิมสเทคอีกด้วย เป็นต้น ด้านความเชื่อมโยง (Connectivity) เช่น เน้นย้ำความร่วมมือด้านการเชื่อมโยงทั้งทางบก ทางน้ำ และอากาศ และเร่งรัดให้มีการลงนามความตกลงการเดินเรือตามชายฝั่งภายใต้กรอบบิมสเทค (BIMSTEC Coastal Shipping Agreement) และความตกลงยานยนต์ภายใต้กรอบบิมสเทค (BIMSTEC Motor Vehicle Agreement) ให้เร็วที่สุดเพื่อความสะดวกในการเคลื่อนย้ายผู้คนและสินค้า แสดงความพอใจในการจัดเตรียมร่างแผนแม่บทด้านความเชื่อมโยงของบิมสเทค (BIMSTEC Master Plan on Transport Connectivity) และเห็นควรให้มีการเชื่อมต่อแผนดังกล่าวกับแผนการเชื่อมโยงของกรอบความร่วมมืออื่นๆ เช่น ASEAN Master Plan on Connectivity 2025 (MPAC 2025), Ayeyawady-Chao Phraya-Mekong Economic Cooperation Strategy (ACMECS) นอกจากนี้ ที่ประชุมยังพูดถึงการเชื่อมโยงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำหรับด้านการค้าและการลงทุน (Trade and Investment) ประเทศสมาชิกได้เน้นย้ำความสำคัญของความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ และเร่งรัดให้มีการลงนามข้อตกลงเขตการค้าเสรีภายใต้กรอบบิมสเทค (BIMSTEC Free Trade Area-FTA) รวมถึงข้อตกลงอื่นๆที่เกี่ยวข้องโดยเร็ว อีกทั้งยังแสดงความพอใจในความก้าวหน้าการเจรจาความตกลงการค้าสินค้า (Agreement on Trade in Goods) และความตกลงความร่วมมือด้านศุลกากร (Agreement on Customs Cooperation) ในด้านการต้อต้านการก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติ (Counter Terrorism and Transnational Crime) ประเทศสมาชิกมีมุมมองและจุดยืนต่อต้านร่วมกันในประเด็นนี้ และหวังว่าจะมีการลงนามร่วมกันในอนุสัญญาบิมสเทคว่าด้วยความช่วยเหลือซึ่งกันและกันด้านอาญา (BIMSTEC Convention on Mutual Legal Assistance in Criminal Matters) รวมทั้งเรียกร้องให้ประเทศสมาชิกที่เหลือให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาบิมสเทคว่าด้วยความร่วมมือด้านการต่อต้านการก่อการร้ายข้ามชาติ อาชญากรรมข้ามชาติที่จัดตั้งขึ้นในลักษณะองค์กร และการลักลอบการค้ายาเสพติด (BIMSTEC Convention on Cooperation in Combating International Terrorism, Transnational Organized Crime and Illicit Drug Trafficking) ในการประชุมครั้งนี้ ประเทศสมาชิกทั้ง 7 ประเทศได้ร่วมกันลงนามในร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการเชื่อมโยงโครงข่ายระบบไฟฟ้าภายใต้กรอบบิมสเทค หรือ Memorandum of Understanding on BIMSTEC Grid Interconnection เพื่อกระชับความร่วมมือด้านพลังงาน อีกทั้งที่ประชุมยังได้ตั้งเป้าหมายลดความยากจนจากภูมิภาคอ่าวเบงกอลให้ได้ภายใน ค.ศ. 2030 เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายขององค์การสหประชาชาติใน 2030 Agenda for Sustainable Development นอกจากนี้ ประเทศสมาชิกได้พูดถึงความร่วมมือในสาขาอื่นๆ อีกด้วย เช่น การจัดการสิ่งแวดล้อมและภัยพิบัติ  การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เทคโนโลยี เกษตรกรรม การประมง สาธารณสุข การปฏิสัมพันธ์ระหว่างประชาชน วัฒนธรรม การท่องเที่ยว เป็นต้น[11] ในวันสุดท้ายของการประชุมได้มีการส่งต่อตำแหน่งประธานบิมสเทคจากเนปาลให้กับศรีลังกาซึ่งจะทำหน้าที่ประธานฯและเป็นเจ้าภาพในการประชุมระดับผู้นำครั้งต่อไป

บทสรุป

ในปัจจุบัน บิมสเทคถือได้ว่าเป็นเวทีความร่วมมือในระดับอนุภูมิภาคเพียงเวทีเดียวที่เชื่อมโยงประเทศสมาชิกของ 2 ภูมิภาคเข้าด้วยกัน คือ อินเดีย บังกลาเทศ ศรีลังกา และเนปาลจากเอเชียใต้ พม่า และไทยจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งทั้งสองภูมิภาคถือเป็นจุดยุทธศาสตร์เชื่อมมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิค ตามนโยบาย “Look West” ของไทย และนโยบาย “Look East” ของอินเดียและประเทศเอเชียใต้[12] บิมสเทคถือเป็นกลุ่มความร่วมมืออนุภูมิภาคที่มีศักยภาพและน่าจับตามอง มีประชากรรวมกันประมาณ 1,500 ล้านคน ซึ่งคิดเป็น 22 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งโลก และมีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (gross domestic product-GDP) รวมกันกว่า 2.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ[13] อย่างไรก็ตาม กลุ่มความร่วมมือนี้กลับไม่มีความก้าวหน้าอย่างที่คาดหวัง โดยเฉพาะการจัดตั้งเขตการค้าเสรีภายใต้กรอบบิมสเทคที่ยังไม่ประสบความสำเร็จ ซึ่งมีการลงนามในกรอบความร่วมมือเรื่องนี้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2004 โดยมีอุปสรรคสำคัญ เช่น ระดับการพัฒนาเศรษฐกิจที่แตกต่างกันในระหว่างประเทศสมาชิก ส่งผลให้การค้าการลงทุนระหว่างกันอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่ไทยมีนโยบายเศรษฐกิจแบบเปิด แต่สมาชิกบางประเทศยังคงตั้งกำแพงภาษีการค้าที่สูง รวมทั้งยังคงไว้ซึ่งอุปสรรคทางการค้าบางอย่างที่มิใช่ภาษี (Non Tariff Barriers-NTBs)  การขาดแคลนสาธารณูปโภคที่ทันสมัยที่สามารถเชื่อมโยงในการขนส่งสินค้าบริเวณชายแดน ประเทศอย่างเนปาลและภูฎานก็เป็นประเทศที่ไม่มีทางออกทะเล (Landlocked Country) และมีขนาดสายการบินที่เล็ก ทำให้มีข้อจำกัดในการขนส่ง นอกจากนี้ ประเทศสมาชิกบางประเทศยังมีความขัดแย้งระหว่างกัน[14] และมีปัญหาความไม่มีเสถียรภาพของการเมืองภายใน ขณะที่การเกิดขึ้นของกรอบความร่วมมือนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นผลมาจากการประสานกันของนโยบายมองตะวันตกของไทย และนโยบายมองตะวันออกของอินเดีย ไทยและอินเดียจึงถือได้ว่าเป็นประเทศเสาหลักของกรอบความร่วมมือนี้ ทั้งสองประเทศจำเป็นต้องแสดงบทบาทที่เข้มแข็งในการผลักดันโครงการความร่วมมือต่างๆในกรอบบิมสเทคให้ได้ผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว ที่สำคัญ ความสำเร็จในเวทีนี้ในอนาคตอาจจะเป็นตัวอย่างของความร่วมมือระหว่างประเทศกำลังพัฒนา (South-South Cooperation) การประชุมระดับผู้นำครั้งต่อไปที่ศรีลังกาคงมีความคืบหน้ามากขึ้นในประเด็นความร่วมมือต่างๆข้างต้น จะติดตามและนำมารายงานให้ทราบต่อไป

 

เชิงอรรถ

[1] จุลชีพ ชินวรรโณ, ภูมิทัศน์เศรษฐกิจการเมืองโลก: วิกฤตกับการท้าทายในศตวรรษที่ 21 (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2558), 327.

[2] อินเดียเริ่มการปฏิรูปเปิดเสรีทางเศรษฐกิจอย่างจริงจังในช่วงต้นทศวรรษ 1990 ส่วนศรีลังกามีระบบเศรษฐกิจที่ค่อนข้างเปิดตั้งแต่ได้รับเอกราช แต่ในช่วงปีค.ศ. 1960-1977 มีการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจในลักษณะ “inward-oriented” อย่างไรก็ตาม รัฐบาลศรีลังกายุคหลังสงครามเย็นก็ได้สานต่อนโยบายเปิดเสรีที่ริเริ่มไว้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1977

[3] หอจดหมายเหตุกระทรวงการต่างประเทศ. แฟ้ม 0703-429-706-402-38/01 เรื่อง โครงการความร่วมมือทางเศรษฐกิจอนุทวีป (ไทย-อินเดีย-ศรีลังการ-บังกลาเทศ-พม่า) เพื่อขยายตลาดและเพิ่มอำนาจต่อรองระหว่างประเทศ. 2538.  

[4] จุลชีพ ชินวรรโณ, ภูมิทัศน์เศรษฐกิจการเมืองโลก: วิกฤตกับการท้าทายในศตวรรษที่ 21, 327.

[5] BIMSTEC Secretariat, “About BIMSTEC,” BIMSTEC, https://bimstec.org/?page_id=189 (accessed September 3, 2018).

[6] ดูรายละเอียดใน BIMSTEC Secretariat, “Sectors,” BIMSTEC, https://bimstec.org/?page_id=199 (accessed September 3, 2018).

[7] ดูรายละเอียดใน BIMSTEC Secretariat, “BIMSTEC Mechanism,” BIMSTEC, https://bimstec.org/?page_id=1761 (accessed September 3, 2018).

[8] จุลชีพ ชินวรรโณ, ภูมิทัศน์เศรษฐกิจการเมืองโลก: วิกฤตกับการท้าทายในศตวรรษที่ 21, 333.

[9] สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลี, “การประชุม BIMSTEC Summit ครั้งที่ 2 ณ กรุงนิวเดลี”, Royal Thai Embassy, newdelhi.thaiembassy.org/th/2008/11/การประชุม-bimstec-summit-ครั้งที่-2-ณ-กร/ (สืบค้นเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2561).

[10] จุลชีพ ชินวรรโณ, ภูมิทัศน์เศรษฐกิจการเมืองโลก: วิกฤตกับการท้าทายในศตวรรษที่ 21, 334.

[11] ดูรายละเอียดใน BIMSTEC Secretariat, “Fourth BIMSTEC Summit Declaration”, BIMSTEC, https://drive.google.com/file/d/0Bw5iVdDDVNCRTko2ek02Y1F0T3hQemM1NTdjUy1icGZUOGMw/view (accessed September 3, 2018).

[12] กรุงเทพธุรกิจ, “ไทยเสนอ 5 ทิศทางผลักดัน BIMSTEC สู่อนุภูมิภาคแห่งความมั่นคง”, กรุงเทพธุรกิจ, http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/811742 (สืบค้นเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2561).

[13] BIMSTEC Secretariat, “About BIMSTEC”.

[14] ดูรายละเอียดใน Sampa Kundu, “BIMSTEC at 17: An Assessment of its Potential,” India Quarterly 70, no. 3 (2014): 207-224.


เกี่ยวกับผู้เขียน: อาดีลัน อุสมา เป็นนักศึกษาปริญญาเอก Centre for Indo-Pacific Studies. School of International Studies. Jawaharlal Nehru University. New Delhi. India.

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net