นักสืบพันทิปหลบไป: ชาวเน็ตขุดปมค่ายกักกันอุยกูร์ในจีน พบหลักฐานรูป-เอกสาร

ชาวเน็ตหลายรายสืบค้นข้อมูลเรื่องค่ายกักกัน ปลูกฝังความเชื่อชาวอุยกูร์เพื่อส่งให้นักข่าวที่ต้องการเข้าไปหาความจริงในจีน นักสืบอินเทอร์เน็ตเหล่านี้ใช้เครื่องมือสืบค้น บันทึก เผยแพร่แบบง่ายๆ และพบหลักฐานทั้งภาพถ่าย เอกสาร และอื่นๆ ก่อนที่รัฐบาลจะทำลายทิ้งเพื่อปฏิเสธการมีอยู่ของมันอย่างที่บอกปัดมาตลอด

ผู้ต้องขังฟังปาฐกถาในค่าย "ปรับทัศนคติ (re-education camp)" ในเขตปกครองตนเองซินเจียงเมื่อ เม.ย. 2560 (ที่มา: wikipedia

สื่อดิแอตแลนติกนำเสนอเรื่องที่นักข่าวพลเมืองและนักวิชาการกำลังพยายามค้นหาและเผยแพร่หลักฐานเกี่ยวกับค่ายกักกันชาวอุยกูร์ในประเทศจีนที่กลายเป็นข่าวอื้อฉาวระดับโลก มีการประเมินจากองค์กรสิทธิมนุษยชนสหรัฐฯ ว่ามีผู้ต้องขังชาวมุสลิมในพื้นที่ปกครองตนเองซินเจียงถูกจับเข้าค่ายกักกันอยู่ราวมากกว่า 1 ล้านราย ก่อนหน้านี้มีสื่อหลายแห่งนำก็ได้เสนอการสัมภาษณ์อดีตผู้ต้องขังในสถานกักกัน "ปรับทัศนคติ" เหล่านั้นแล้ว

จีนพยายามปฏิเสธการมีอยู่ของค่ายกักกัน ปลูกฝังความเชื่อใหม่แก่ชาวมุสลิมหลังจากเรื่องอื้อฉาวนี้ออกสู่สายตาชาวโลก โดยได้ปฏิเสธเรื่องนี้ในที่ประชุมสหประชาชาติเมื่อเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา จีนอ้างว่าค่ายดังกล่าวเป็นค่ายฝึกวิชาชีพสำหรับผู้ต้องหา แต่ทว่าสิ่งเหล่านี้ก็ไม่พ้นสายตา "ชาวเน็ต" ทั้งหลายที่พยายามสอดส่องติดตามหลักฐานที่ทางการจีนเหลือทิ้งไว้ตามอินเทอร์เน็ต เมื่อเทียบกับจีนที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยีทันสมัยในการสอดแนมประชาชนแล้ว ชาวเน็ตของโลกเหล่านี้ใช้เทคโนโลยีง่ายๆ อย่างกูเกิล ทวิตเตอร์ และเว็บไซต์เก็บข้อมูลบรรณสารทางเว็บอย่าง "เดอะเวย์แบ็คแมชชีน" เป็นเครื่องมือค้นหา บันทึกและเผยแพร่ร่องรอยค่ายกักกันที่จีนพยายามปิดงำไว้

กลุ่มนักข่าวพลเมืองและนักวิชาการที่ติดตามค้นหาข้อมูลเรื่องเหล่านี้ในขณะที่จีนเริ่มทำลายเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับค่ายกักกันเนื่องจากกลัวถูกคว่ำบาตรจากรัฐบาลสหรัฐฯ ที่กำลังพิจารณาว่าจะคว่ำบาตรเจ้าหน้าที่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับค่ายกักกัน ทิโมธี โกรส นักวิชาการในจีนที่ร่วมสืบค้นเรื่องนี้บอกว่าสิ่งที่ใช้สืบค้นมีแค่ทักษะภาษาจีนแมนดาริน คอมพิวเตอร์หนึ่งเครื่อง และการเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตเท่านั้น เขาบอกว่าการทำตัวเป็น "นักสืบโลกเสมือนจริง" เช่นนี้เป็นเรื่องเร่งด่วนเพราะทางการจีนกำลังพยายามลบเอกสารดังกล่าวเหล่านั้น

โกรสสืบหาหลักฐานเหล่านี้เริ่มจากการค้นหาด้วยคำว่า "ศูนย์ปรับทัศนคติ" ในเว็บไป่ตู้ (Baidu) ซึ่งเป็นเว็บให้บริการสืบค้นของจีน ทำให้เขาพบเจอชื่อนโยบายที่เรียกว่า "งานถอนการเป็นผู้มีแนวคิดสุดโต่ง" ที่นำมาใช้กับกลุ่มชาวมุสลิมในมณฑลซินเจียงไม่ว่าจะเป็นชาวอุยกูร์หรือชาวเชื้อสายคาซัค เขาใช้ชื่อนโยบายนี้สืบค้นต่อจนพบว่ามีรูปงานตัดริบบินเปิดตัวสถานกักกันแห่งหนึ่งที่เพิ่งสร้างขึ้นใหม่ซึ่งถือเป็นหลักฐานเชิงวัตถุสำหรับเขา หลังจากที่โกรสพบเจอรูปภาพเหล่านี้แล้วเขาก็เซฟภาพพร้อมบันทึกข้อมูลอื่นๆ ไว้แล้วก็ส่งมันเป็นไฟล์ PDF อัพโหลดขึ้นบรรณสารเวย์แบ็คแมชชีนที่คอยเก็บประวัติข้อมูลต่างๆ รวมถึงโพสต์เนื้อหาเหล่านี้บนทวิตเตอร์

หลักฐานสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือสัญญาจ้างประมูลที่รัฐบาลจีนประกาศหาบริษัทรับเหมาสร้างค่ายกักกัน  เอเดรียน เซนซ์ นักวิจัยที่วิทยาลัยวัฒนธรรมและเทววิทยายุโรปในเยอรมนีพบสัญญาดังกล่าวบนอินเทอร์เน็ต โดยเขาพบเจอและได้บันทึกรายการสัญญาลักษณะดังกล่าวที่มีชื่อบริษัทที่เสนอรับก่อสร้างถึง 70 บริษัท ข้อมูลเหล่านี้ยังระบุสเป็กการก่อสร้างว่าให้มีกำแพงสูง มีหอสังเกตการณ์ มีรั้วลวดหนาม ระบบการสอดแนม และสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับกองกำลังตำรวจติดอาวุธรวมถึงอุปกรณ์ด้านการรักษาความปลอดภัยอื่นๆ

เซนซ์ยังต่อยอดการค้นหาในเรื่องการรับสมัครผู้บริหารค่ายกักกัน เขาตั้งข้อสังเกตว่ามีการตั้งเกณฑ์การศึกษาไว้ต่ำมาก ทำให้ข้ออ้างที่ว่าค่ายกักกันเหล่านี้เป็น "โรงเรียนฝึกอบรมวิชาชีพ" น่าสงสัยเพราะโดยทั่วไปแล้วในจีนจะมีการจ้างคนที่ระดับการศึกษาสูงกว่านี้ในการทำงานเกี่ยวกับการฝึกวิชาชีพ

การสืบสวนลักษณะนี้เคยถูกนำเสนอมาแล้วในกรณีของ ชอว์น จาง นักศึกษาด้านนิติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแห่งบริติชโคลัมเบีย ผู้สืบค้นเรื่องค่ายกักกันในจีนด้วยวิธีการค้นหาภาพถ่ายผ่านดาวเทียมจากกูเกิลเอิร์ธ จางบอกว่าในทีแรกเขาทำไปด้วยความกังขาเมื่อได้อ่านข่าวเจอเรื่องค่ายกักกันอุยกูร์ เขาสงสัยว่ามันเป็นไปได้หรือในการสร้างค่ายกักกันที่ใช้บรรจุคนจำนวนมากถึงล้านคนในยุคสมัยปัจจุบัน

'ชอว์น จาง' นักศึกษาชาวจีนผู้ใช้ภาพถ่ายดาวเทียม เปิดโปง 'ค่ายกักกันฯ' รัฐบาลจีน

หลังจากที่จางตรวจเช็คข้อมูลด้วยตนเองแล้วก็ค้นพบหลักฐานค่ายกักกันจากภาพถ่ายดาวเทียมและนำไปเผยแพร่ต่อผ่านโซเชียลมีเดีย ทำให้นักข่าวมืออาชีพและนักวิชาการเกิดความสนใจเข้าไปร่วมมือกับเขาด้วย เช่นกรณีของนักข่าววอลล์สตรีทเจอร์นัลที่สอบถามข้อมูลจากจางและได้ลงไปสืบสวนค่ายกักกันในเมืองตูร์ฟานที่เคยมีภาพถ่ายดาวเทียมของจางระบุว่ามีค่ายกักกันอยู่จริงที่นั่น

จางอธิบายว่า เขาแยกแยะค่ายกักกันออกจากอาคารอื่นๆ จากการออกแบบที่ต่างจากอาคารอื่นๆ เช่น จำนวนชั้นของอาคารและขนาดลานสนามหญ้า แต่เขาก็ยังไม่กล้าฟันธงจนกระทั่งมีนักข่าวติดต่อเขาและไปลงพื้นที่จริงซึ่งจางพร้อมจะให้ข้อมูลกับนักข่าวเหล่านี้

อีธาน ซัคเคอร์แมน ผู้อำนวยการศูนย์เพื่อสื่อพลเมืองที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์กล่าวว่าวิธีการวิเคราะห์ภาพถ่ายผ่านดาวเทียมนี้มีการนำมาใช้บ่อยครั้งและเป็นประโยชน์กับการเตรียมข้อมูลด้านสิทธิมนุษยชนมาโดยตลอด อย่างไรก็ตามภาพถ่ายดาวเทียมอย่างเดียวอาจจะยังไม่พอ ต้องมีการลงพื้นที่ค้นหาความจริงระดับภาคพื้นดินด้วย

หนึ่งในคนที่สืบค้นข้อมูลจากทางไกลส่วนใหญ่ก็เป็นชาวอุยกูร์เอง เช่น คนที่ทำข่าวในเรดิโอฟรีเอเชีย หรือคนที่ออกจากประเทศจีนแต่ยังคงเป็นห่วงสภาพญาติๆ ตัวเองที่บ้านเกิด มีหญิงชาวอุยกูร์ที่ใช้นามแฝงว่านูร์ที่สามารถขุดค้นข้อมูลรูปภาพผู้ต้องขังในค่ายกักกันออกมาได้แล้วนำมาเผยแพร่ทางโซเชียลมีเดีย จากนั้นก็มีคนส่งต่อรูปนี้ไปทั่ว นอกจากรูปถ่ายค่ายกักกันแล้ว นูร์ยังเก็บข้อมูลอื่นๆ ของรัฐบาลไว้จำนวนมาก เธอบอกว่าการสืบค้นข้อมูลเหล่านี้ทำให้เธอรู้สึกว่าไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ตาม เธอไม่สามารถหนีจากความเจ็บปวดกับสิ่งที่เกิดขึ้นในซินเจียงได้เลย เธอถึงต้องทำอะไรบางอย่างเพื่อไม่ให้จิตใจแหลกสลาย

ดิแอตแลนติกระบุว่าวิธีการสืบค้นข้อมูลดิจิทัลเหล่านี้ไม่ต้องอาศัยเทคโนโลยีขั้นสูง แต่เปิดให้เอาไปต่อยอดได้ เน้นเรื่องความฉับไวทันการณ์ มีความโปร่งใส และอาศัยกาารร่วมไม้ร่วมมือกัน

สำหรับผู้ค้นข้อมูลอย่างโกรสนั้นบอกว่าเป็นเรื่องสำคัญที่จะได้พูดคุยกับชาวอุยกูร์ด้วยตัวเองแทนที่จะสอบถามแต่จากเจ้าหน้าที่รัฐบาลซึ่งจะให้ข้อมูลระดับพื้นๆ ไม่อธิบายรายละเอียดข้างใน นอกจากนั้นเจ้าหน้าที่ในแต่ละแห่งก็อาจจะตีความนโยบายไม่เหมือนกันด้วย

เรียบเรียงจาก

Internet Sleuths Are Hunting for China’s Secret Internment Camps for Muslims, The Atlantic, Sep. 15, 2018

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท