ส่องสาระสำคัญร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรมและวิชาชีพสื่อมวลชน ฉบับรับฟังความคิดเห็น พบให้มีการตั้งสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ มีอำนาจกำหนดมาตรฐานกลางจริยธรรมสื่อ พิจารณาเรื่องร้องเรียน สั่งแก้ไขข้อความสื่อที่ผิดจริยธรรมได้ พร้อมสั่งลงโทษปรับ บทเฉพาะกาลเป็นโอกาสให้ปลัดนายกฯ-กสทช. ดำรงตำแหน่ง
แฟ้มภาพประชาไท:เทพชัย หย่องกำลังแถลงข่าวต่อต้านร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ในเวลานั้นมีข้อกำหนดให้สื่อต้องขึ้นทะเบียน กำหนดให้สภาวิชาชีพสื่อประกอบด้วยตัวแทนรัฐจาก 4 กระทรวง สุดท้ายกฎหมายฉบับดังกล่าวถูกตีตกไปเพราะองค์วิชาชีพสื่อฯ ไม่เห็นด้วย แต่เวลานี้เทพชัย หย่อง และอีกหลายคน นั่งเป็นอนุกรรมการจัดทำร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน
เมื่อวันที่ 18 ก.ย. 2561 คณะกรรมการดำเนินการปฏิรูปกฎหมายในระยะเร่งด่วน กรมประชาสัมพันธ์ และสำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ได้เปิดให้มีการแสดงความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) ส่งเสริมจริยธรรมและวิชาชีพสื่อมวลชน (ฉบับรับฟังความคิดเห็น) ผ่านช่องทางออนไลน์เป็นระยะเวลา 15 วัน ตั้งแต่วันที่ 18 ก.ย. – 5 ต.ค. 2561
มีการระบุถึงความจำเป็นในการร่างกฎหมายดังกล่าวว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 35 บัญญัติให้บุคคลซึ่งประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนย่อมมีเสรีภาพในการเสนอข่าวสาร หรือการแสดงความคิดเห็นตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพ เสรีภาพดังกล่าวให้ครอบคลุมถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งปฏิบัติหน้าที่สื่อมวลชนแต่ให้คำนึงถึงวัตถุประสงค์และภารกิจของหน่วยงานที่ตนสังกัดอยู่ด้วย เพื่อให้การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และมีองค์กรที่จะทำหน้าที่ดังกล่าว สำหรับร่าง พ.ร.บ. ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน มีสาระสำคัญดังนี้
บทเฉพาะกาล เปิดช่องให้ กสทช. และปลัดสำนักนายกฯ นั่งเป็นกรรมการสภาวิชาชีพสื่อฯ
มาตรา 30 ระบุว่า ในวาระเริ่มแรกให้มีสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติประกอบด้วย
-ปลัดสํานักนายกรัฐมนตรี หรือผู้ที่ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีมอบหมาย
-เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือผู้ที่เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติมอบหมาย
-ผู้แทนผู้ปฏิบัติงานด้านสื่อสารมวลชนซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจากรายชื่อทื่สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติเสนอจํานวน 2 คน
-ผู้แทนผู้ปฏิบัติงานด้านสื่อสารมวลชนซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจากรายชื่อที่สภาวิชาชีพข่าววิทยุ และโทรทัศน์ไทยเสนอจํานวน1 คน
-ผู้แทนผู้ปฏิบัติงานด้านสื่อสารมวลชนซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจากรายชื่อที่สภาวิชาชีพกิจการการกระจายเสียงและแพร่ภาพ (ประเทศไทย) เสนอจํานวน 1 คน
-ผู้แทนผู้ปฏิบัติงานด้านสื่อสารมวลชนซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจากรายชื่อที่สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์เสนอจํานวน 1 คน
-ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจากรายชื่อผู้เชี่ยวชาญด้านวิชาการสื่อสารมวลชน กฎหมาย สิทธิมนุษยชน และการคุ้มครองผู้บริโภค ที่เสนอโดยกรรมการตามที่ระบุมาข้างต้น ด้านละ 1 คน รวม 4 คน
มาตรา 31 ให้สภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติตามมาตรา 30 จัดทําระเบียบหรือข้อบังคับเท่าที่จําเป็นโดยเฉพาะเพื่อให้ได้มาซึ่งกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติและหลักเกณฑ์การจ่ายค่าตอบแทนและสิทธิประโยชน์อื่นใดของกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ รวมทั้งข้อบังคับว่าด้วยกระบวนการรับเรื่อง ร้องเรียน มาตรการในการลงโทษ และข้อบังคับว่าด้วยการรับจดแจ้งและเพิกถอนองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ทั้งนี้ภายในกําหนดเวลาหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
มาตรา 32 ในวาระเริ่มแรกเมื่อครบกําหนดสองปีให้กรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ ในส่วนกรรมการตัวแทนองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนจํานวน 2 คน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จํานวน 2 คน ออกจากตําแหน่ง โดยวิธีการจับสลาก และให้ถือว่าการออกจากตําแหน่งโดยการจับสลากดังกล่าวเป็นการพ้นตําแหน่งตามวาระ
เมื่อครบกําหนดตามวาระดังกล่าว หากยังมิได้แต่งตั้งกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติขึ้นใหม่ ให้กรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติซึ่งพ้นจากตําแหน่งตามวาระนั้นอยู่ในตําแหน่งเพื่อดําเนินงาน ต่อไปจนกว่ากรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติซึ่งได้รับแต่งตั้งใหม่เข้ารับหน้าที่
(บทเฉพาะนี้ไม่ได้ระบุถึงการพ้นจากตำแหน่งของกรรมการสภาวิชาชีพสื่อฯ ในส่วนของปลัดสำนักนายากยกรัฐมนตรี และเลขาธิการ กสทช. ซึ่งนั่นหมายความตัวแทนในส่วนนี้จะดำรงตำแหน่งจนครบวาระ 4 ปีเต็ม)
มาตรา 33 ให้กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมฯ จัดสรรทุนประเดิมให้สํานักงานสภาวิชาชีพสื่อฯ ไม่น้อยกว่าปีละ 100 ล้านบาท เป็นระยะเวลา 3 ปีเพื่อให้การดําเนินงานของสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติเป็นไปอย่างมี ประสิทธิภาพและต่อเนื่อง
ตั้งสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ มีอำนาจกำหนดมาตรฐานกลางจริยธรรมสื่อ พิจารณาเรื่องร้องเรียน สั่งแก้ไขข้อความ ภาพ ภาพเคลื่อนไหว
มาตรา 5 กำหนดให้มีสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ ประกอบด้วยกรรมการตัวแทนองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน(คณะบุคคลไม่ว่าจะเป็นนิติบุคคลหรือไม่ก็ตาม ที่มีวัตถุประสงค์และมีการดําเนินงานเพื่อส่งเสริมวิชาชีพสื่อมวลชนและมาตรฐานจริยธรรมสื่อมวลชน และได้รับ การจดแจ้งตามพระราชบัญญัตินี้) จํานวน 5 คน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 4 คน ซึ่งสรรหาจากผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ด้านวิชาการสื่อสารมวลชน กฎหมาย สิทธิมนุษยชน และการคุ้มครองผู้บริโภค
ในส่วนของการสรรหาและคัดเลือกถูกระบุไว้ในมาตรา 6 ได้ระบุการคัดเลือกในส่วนของกรรมการตัวแทนองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน โดยกำหนดให้สมาชิกองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ดังต่อไปนี้ กลุ่มสภาวิชาชีพหนังสือพิมพ์ กลุ่มสภาวิชาชีพวิทยุและโทรทัศน์ กลุ่มสภาวิชาชีพสื่อออนไลน์ กลุ่มสมาคมวิชาชีพสื่อมวลชนระดับชาติ และกลุ่มสมาคมวิชาชีพสื่อมวลชนระดับท้องถิ่น คัดเลือกกันเองให้เหลือผู้แทน กลุ่มละ 2 คน โดยต้องประกอบด้วยผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนอิสระ และผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนที่มีสังกัด
นั่นเท่ากับว่าจะมีผู้ได้รับเลือกทั้งหมด 10 คน จากนั้นให้คณะกรรมการสรรหากรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนคัดเลือกให้เหลือ 5 คน โดยจะต้องมีอย่างน้อย 1 คนที่เป็นสื่อมวลชนอิสระ ทั้งนี้คณะกรรมการสรรหาฯ มีจำนวนทั้ง 9 คน ประกอบด้วย
-คณบดีหัวหน้าภาควิชา หรือผู้แทนคณะหรือภาควิชาด้านนิเทศศาสตร์หรือสื่อสารมวลชน ในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐที่ไม่ใช่มหาวิทยาลัยราชภัฏ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล คัดเลือกกันเองให้เหลือ 1 คน
-คณบดีหัวหน้าภาควิชา หรือผู้แทนคณะหรือภาควิชาด้านนิเทศศาสตร์หรือสื่อสารมวลชน ในมหาวิทยาลัยราชภัฏ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล คัดเลือกกันเองให้เหลือ 1 คน
-คณบดีหัวหน้าภาควิชา หรือผู้แทนคณะหรือภาควิชาด้านนิเทศศาสตร์หรือสื่อสารมวลชน ในสถาบันอุดมศึกษาของเอกชน คัดเลือกกันเองให้เหลือ 1 คน
-ผู้แทนองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนด้านสื่อวิทยุและโทรทัศน์ สื่อหนังสือพิมพ์ สื่อออนไลน์ ที่มีกลไกกำกับจริยธรรม กลไกรับเรื่องร้องเรียนและการไต่สวน โดยดำเนินการอย่างต่อเนื่อง 5 ปี ด้านละ 1 คน รวม 3 คน
-ผู้แทนองค์กรคุ้มครองผู้บริโภค 1 คน
-ผู้แทนสภาทนายความ 1 คน
-ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
ทั้งนี้เมื่อได้คณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อฯ ในส่วนตัวแทนองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน 5 คนแล้ว ให้คณะกรรมการวิชาชีพฯ ดำเนินการสรรหากรรมการสภาวิชาชีพในส่วนผู้ทรงคุณวุฒิอีก 4 คน จากผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ด้านวิชาการสื่อสารมวลชน กฎหมาย สิทธิมนุษยชน และการคุ้มครอง ผู้บริโภค ด้านละ 1 คน ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่สภาวิชาชีพสื่อฯ กําหนด โดยกรรมการสภาวิชาชีพสื่อฯ มีวาระการดำรงดำเหน่งคราวละ 4 ปี ดำรงตำแหน่งได้ไม่เกิน 2 วาระ
สำหรับอำนาจหน้าที่ของสภาวิชาชีพสื่อในมาตรา 12 ระบุให้ 1.มีหน้าที่พิจารณารับจดแจ้ง และเพิกถอนสมาชิกภาพขององค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน 2.กำหนดให้มีอำนาจกำหนดมาตรฐานกลางของจริยธรรมสื่อมวลชนที่เป็นที่ยอมรับตามมาตรฐานสากล 3.ส่งเสริมจริยธรรมสื่อมวลชนให้แก่องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน โดยการส่งเสริมและสนับสนุนนการจัดฝึกอบรม หรือสัมมนา หรือศึกษาดูงาน หรือดําเนินการอื่นใด และสนับสนุนให้สมาชิกดําเนินการดังกล่าวให้แก่ ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนและองค์กรสื่อมวลชนที่เป็นสมาชิกของตน เพื่อให้มีอุดมการณ์ร่วมกันในการประกอบวิชาชีพโดยคํานึงถึงจริยธรรมและมาตรฐานทางวิชาชีพสื่อมวลชน
4.ส่งเสริมการรวมกลุ่มและการกํากับดูแลกันเองขององค์กรสื่อมวลชน และองค์กรวิชาชีพ สื่อมวลชนในระดับชาติภูมิภาค จังหวัด หรือท้องถิ่น 5.ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตรวจสอบสื่อมวลชน และการรู้เท่าทันสื่อมวลชน 6.ส่งเสริมให้องค์กรสื่อมวลชนจัดให้มีคณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนด้านจริยธรรม สื่อมวลชนภายในองค์กร 7.พิจารณาเรื่องร้องเรียนในกรณีมีการละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน หรือกรณีผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนละเมิดจริยธรรมสื่อมวลชนผ่านองค์กรสื่อมวลชนที่สังกัด
8.ออกคําสั่ง ยกคํากล่าวหา ตักเตือน สั่งให้แก้ไขข้อความ ภาพ ภาพเคลื่อนไหว หรือเยียวยา อย่างใดอย่างหนึ่งแล้วแต่กรณี 9.พิจารณาคำอุทธรณ์กรณีที่คณะกรรมการจริยธรรมีคำสั่งหรือไม่มีคำสั่งลงโทษทางปกครอง 10.เสนอความเห็น หรือให้คำแนะนําต่อคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับมาตรการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน และมาตรการคุ้มครองประชาชนจากการประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน 11.ออกระเบียบเกี่ยวกับการจดแจ้ง และการกํากับดูแลองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน และการกําหนดคุณสมบัติขององค์กรสื่อมวลชน
12.จัดให้มการประเมินการปฏิบัติงานของสภาแบบมีส่วนร่วม 13.กําหนดระเบียบ หลักเกณฑ์และวิธีการตามที่กําหนดในพระราชบัญญัตินี้ 14.แต่งตั้งคณะอนุกรรมการและคณะทํางานเพื่อดําเนินการตามหน้าที่และอํานาจของสภา 15.ปฏิบัติการอื่นตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่น
ให้อำนาจตั้งคณะกรรมการจริยธรรม 7 คน พิจารณาลงโทษทางปกครอง สั่งปรับไม่เกิน 5 หมื่นต่อหนึ่งกรรม
มาตรา 14 ระบุให้สภาวิชาชีพสื่อฯ แต่งตั้งคณะกรรมการจริยธรรมคณะหนึ่ง จํานวน 7 คน เพื่อพิจารณาเรื่องละเมิดจริยธรรมสื่อมวลชนโดย การได้มาและวิธีการดําเนินงานของคณะกรรมการจริยธรรมให้เป็นไปตามข้อบังคับที่สภากําหนด ต้องต้องมีผู้แทน ดังต่อไปนี้
-ผู้แทนจากสภาวิชาชีพสื่อ ในส่วนกรรมการตัวแทนองค์การวิชาชีพสื่อ 1 คน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 1 คน
-ผู้แทนนักวิชาการสื่อสารมวลชน จํานวน 1 คน
-ผู้แทนองค์กรคุ้มครองผู้บริโภค จํานวน 1 คน
-ผู้แทนสภาทนายความ จำนวน 1 คน
-ผู้แทนองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน จํานวน 2 คน
โดยการวินิจฉัยว่าองค์กรสื่อมวลชนละเมิดจริยธรรมสื่อมวลชนและมติให้ลงโทษทางปกครอง ต่อองค์กรสื่อมวลชน ต้องมีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนกรรมการทั้งหมด และสามารถรับเรื่องร้องเรียน วินัจฉัยองค์กรสือมวลชนที่ไม่ได้เป็นสมาชิกองค์กรวิชาชีพสื่อได้
มาตรา 16 ระบุว่า องค์กรสื่อมวลชนมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมสื่อมวลชนที่สภากำหนด องค์กรสื่อมวลชนใดฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจรยธรรมสื่อมวลชนตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าองค์กรสื่อมวลชนนั้นฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามจริยธรรมของสื่อมวลชน
“องค์กรสื่อมวลชน” ในความหมายของร่างกฎหมายฉบับนี้ หมายถึง คณะบุคคลไม่ว่าจะเป็นนิติบุคคลหรือไม่ก็ตาม ที่ประกอบ กิจการสื่อมวลชนเพื่อประโยชน์สาธารณะ ไม่ว่าจะอยู่ในรูปสื่อสิ่งพิมพ์วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ สื่อดิจิทัล หรือในรูปอื่นใดที่สามารถสื่อความหมายให้ประชาชนทราบได้เป็นการทั่วไป
ส่วนคำว่า “สื่อดิจิทัล” หมายความว่า สื่อที่มีการนําเอาข้อมูล ได้แก่ข้อความ เสียง ภาพ ภาพเคลื่อนไหว โดยอาศัยเทคโนโลยีการสื่อสารเข้ามาช่วยให้ข้อมูลเหล่านนั้ เชื่อมโยงหรือแปลงสภาพเข้าด้วยกัน เพื่อประโยชน์ ในการสื่อความหมายให้ประชาชนทราบได้เป็นการทั่วไป
สำหรับโทษทางปกครอง มาตรา 17 กำหนดให้มีโทษ 4 ระดับ 1.ตักเตือน 2ภาคทัณฑ์ 3.ตำหนิโดยเปิดเผยต่อสาธารณชน และ4.ปรับทางปกครอง โดยในการพิจารณา ให้คำนึงถึงความร้ายแรงแห่งพฤติกรรม ที่กระทําผิด และความเสียหายที่เกิดจากการกระทํานั้น ตลอดจนความหนักเบาของโทษ ส่วนโทษปรับทางปกครอง จํานวนค่าปรับทางปกครองต้องไม่เกิน 50,000 บาทในแต่ละกรรม
อย่างไรก็ตามโทษในมาตรา 17 นี้ จะไม่นำมาใช้กับองค์กรสื่อมวลชนที่เป็นสมาชิกขององค์กรวิชาชีพ สื่อมวลชนที่ได้รับการจดแจ้ง เว้นแต่จะมีการร้องขอจากองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนนั้น
ซึ่งนั่นหมายความว่า บทลงโทษที่ตั้งไว้นี้โดยหลักแล้วจะใช้กับองค์การสื่อมวลชนที่ไม่ได้เป็นสมาชิกองค์กรวิชาชีพสื่อฯ เว้นแต่จะมีการร้องของจากองค์กรวิชาชีพสื่อฯ ขึ้นมา ซึ่งนัยหนึ่งคือการเน้นให้สื่อกำกับดูแลกันเอง ฉะนั้นบทลงโทษดังกล่าวจึงมีผลโดยตรงต่อองค์กรสื่อมวลชน ที่ไม่เข้าร่วมสังกัดภายใต้องค์กรวิชาชีพ
เปิดรายชื่อคณะอนุกรรมการจัดทำร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน
1. |
นายคำนูณ สิทธิสมาน |
ที่ปรึกษา/อนุกรรมการ |
2. |
นายมานิจ สุขสมจิตร |
ประธานอนุกรรมการ |
3. |
ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีหรือผู้แทน |
อนุกรรมการ |
4. |
ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา |
อนุกรรมการ |
5 |
นายเสรี วงษ์มณฑา |
อนุกรรมการ |
6 |
นายประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์ |
อนุกรรมการ |
7 |
นายก้าวโรจน์ สุตาภักดี |
อนุกรรมการ |
8. |
นายโกศล สงเนียน |
อนุกรรมการ |
9. |
นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี |
อนุกรรมการ |
10. |
นายไชยยงค์ มณีรุ่งสกุล |
อนุกรรมการ |
11. |
นายเทพชัย หย่อง |
อนุกรรมการ |
12. |
นายปราเมศ เหล็กเพชร |
อนุกรรมการ |
13. |
นางพิจิตรา สึคาโมโต้ |
อนุกรรมการ |
14. |
นายวิทวัส ชัยปาณี |
อนุกรรมการ |
15. |
นางสุวรรณา จิตประภัสสร์ |
อนุกรรมการ |
16. |
นางสาวสุวรรณา สมบัติรักษาสุข |
อนุกรรมการ |
17. |
นายอดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ |
อนุกรรมการ |
18. |
นางสาวอรดา วงศ์อำไพวิทย์ |
อนุกรรมการ |
19. |
อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์หรือผู้แทน |
อนุกรรมการและเลขานุการ |
20. |
ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ |
อนุกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ |
21. |
ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย |
อนุกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ |
22. |
ผู้แทนกระทรวงวัฒนธรรม |
อนุกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ |
23. |
ผู้แทนกรมประชาสัมพันธ์ |
อนุกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ |