Skip to main content
sharethis

ส่องสาระสำคัญร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรมและวิชาชีพสื่อมวลชน ฉบับรับฟังความคิดเห็น พบให้มีการตั้งสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ มีอำนาจกำหนดมาตรฐานกลางจริยธรรมสื่อ พิจารณาเรื่องร้องเรียน สั่งแก้ไขข้อความสื่อที่ผิดจริยธรรมได้ พร้อมสั่งลงโทษปรับ บทเฉพาะกาลเป็นโอกาสให้ปลัดนายกฯ-กสทช. ดำรงตำแหน่ง

แฟ้มภาพประชาไท:เทพชัย หย่องกำลังแถลงข่าวต่อต้านร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ในเวลานั้นมีข้อกำหนดให้สื่อต้องขึ้นทะเบียน กำหนดให้สภาวิชาชีพสื่อประกอบด้วยตัวแทนรัฐจาก 4 กระทรวง สุดท้ายกฎหมายฉบับดังกล่าวถูกตีตกไปเพราะองค์วิชาชีพสื่อฯ ไม่เห็นด้วย แต่เวลานี้เทพชัย หย่อง และอีกหลายคน นั่งเป็นอนุกรรมการจัดทำร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน

เมื่อวันที่ 18 ก.ย. 2561 คณะกรรมการดำเนินการปฏิรูปกฎหมายในระยะเร่งด่วน กรมประชาสัมพันธ์ และสำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ได้เปิดให้มีการแสดงความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) ส่งเสริมจริยธรรมและวิชาชีพสื่อมวลชน (ฉบับรับฟังความคิดเห็น) ผ่านช่องทางออนไลน์เป็นระยะเวลา 15 วัน ตั้งแต่วันที่ 18 ก.ย. – 5 ต.ค. 2561

ส่องแผนปฏิรูปสื่อฯ พบเตรียมออก พ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรมสื่อฯ ภายในปี 2561

มีการระบุถึงความจำเป็นในการร่างกฎหมายดังกล่าวว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 35 บัญญัติให้บุคคลซึ่งประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนย่อมมีเสรีภาพในการเสนอข่าวสาร หรือการแสดงความคิดเห็นตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพ เสรีภาพดังกล่าวให้ครอบคลุมถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งปฏิบัติหน้าที่สื่อมวลชนแต่ให้คำนึงถึงวัตถุประสงค์และภารกิจของหน่วยงานที่ตนสังกัดอยู่ด้วย เพื่อให้การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และมีองค์กรที่จะทำหน้าที่ดังกล่าว สำหรับร่าง พ.ร.บ. ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน มีสาระสำคัญดังนี้

บทเฉพาะกาล เปิดช่องให้ กสทช. และปลัดสำนักนายกฯ นั่งเป็นกรรมการสภาวิชาชีพสื่อฯ

มาตรา 30 ระบุว่า ในวาระเริ่มแรกให้มีสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติประกอบด้วย

-ปลัดสํานักนายกรัฐมนตรี หรือผู้ที่ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีมอบหมาย

-เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือผู้ที่เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติมอบหมาย

-ผู้แทนผู้ปฏิบัติงานด้านสื่อสารมวลชนซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจากรายชื่อทื่สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติเสนอจํานวน 2 คน

-ผู้แทนผู้ปฏิบัติงานด้านสื่อสารมวลชนซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจากรายชื่อที่สภาวิชาชีพข่าววิทยุ และโทรทัศน์ไทยเสนอจํานวน1 คน

-ผู้แทนผู้ปฏิบัติงานด้านสื่อสารมวลชนซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจากรายชื่อที่สภาวิชาชีพกิจการการกระจายเสียงและแพร่ภาพ (ประเทศไทย) เสนอจํานวน 1 คน

-ผู้แทนผู้ปฏิบัติงานด้านสื่อสารมวลชนซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจากรายชื่อที่สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์เสนอจํานวน 1 คน

-ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจากรายชื่อผู้เชี่ยวชาญด้านวิชาการสื่อสารมวลชน กฎหมาย สิทธิมนุษยชน และการคุ้มครองผู้บริโภค ที่เสนอโดยกรรมการตามที่ระบุมาข้างต้น ด้านละ 1 คน รวม 4 คน

มาตรา 31 ให้สภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติตามมาตรา 30 จัดทําระเบียบหรือข้อบังคับเท่าที่จําเป็นโดยเฉพาะเพื่อให้ได้มาซึ่งกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติและหลักเกณฑ์การจ่ายค่าตอบแทนและสิทธิประโยชน์อื่นใดของกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ รวมทั้งข้อบังคับว่าด้วยกระบวนการรับเรื่อง ร้องเรียน มาตรการในการลงโทษ และข้อบังคับว่าด้วยการรับจดแจ้งและเพิกถอนองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ทั้งนี้ภายในกําหนดเวลาหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

มาตรา 32 ในวาระเริ่มแรกเมื่อครบกําหนดสองปีให้กรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ ในส่วนกรรมการตัวแทนองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนจํานวน 2 คน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จํานวน 2 คน ออกจากตําแหน่ง โดยวิธีการจับสลาก และให้ถือว่าการออกจากตําแหน่งโดยการจับสลากดังกล่าวเป็นการพ้นตําแหน่งตามวาระ

เมื่อครบกําหนดตามวาระดังกล่าว หากยังมิได้แต่งตั้งกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติขึ้นใหม่ ให้กรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติซึ่งพ้นจากตําแหน่งตามวาระนั้นอยู่ในตําแหน่งเพื่อดําเนินงาน ต่อไปจนกว่ากรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติซึ่งได้รับแต่งตั้งใหม่เข้ารับหน้าที่

(บทเฉพาะนี้ไม่ได้ระบุถึงการพ้นจากตำแหน่งของกรรมการสภาวิชาชีพสื่อฯ ในส่วนของปลัดสำนักนายากยกรัฐมนตรี และเลขาธิการ กสทช. ซึ่งนั่นหมายความตัวแทนในส่วนนี้จะดำรงตำแหน่งจนครบวาระ 4 ปีเต็ม)

มาตรา 33 ให้กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมฯ จัดสรรทุนประเดิมให้สํานักงานสภาวิชาชีพสื่อฯ ไม่น้อยกว่าปีละ 100 ล้านบาท เป็นระยะเวลา 3 ปีเพื่อให้การดําเนินงานของสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติเป็นไปอย่างมี ประสิทธิภาพและต่อเนื่อง

ตั้งสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ มีอำนาจกำหนดมาตรฐานกลางจริยธรรมสื่อ พิจารณาเรื่องร้องเรียน สั่งแก้ไขข้อความ ภาพ ภาพเคลื่อนไหว

มาตรา 5 กำหนดให้มีสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ ประกอบด้วยกรรมการตัวแทนองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน(คณะบุคคลไม่ว่าจะเป็นนิติบุคคลหรือไม่ก็ตาม ที่มีวัตถุประสงค์และมีการดําเนินงานเพื่อส่งเสริมวิชาชีพสื่อมวลชนและมาตรฐานจริยธรรมสื่อมวลชน และได้รับ การจดแจ้งตามพระราชบัญญัตินี้) จํานวน 5 คน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 4 คน ซึ่งสรรหาจากผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ด้านวิชาการสื่อสารมวลชน กฎหมาย สิทธิมนุษยชน และการคุ้มครองผู้บริโภค

ในส่วนของการสรรหาและคัดเลือกถูกระบุไว้ในมาตรา 6 ได้ระบุการคัดเลือกในส่วนของกรรมการตัวแทนองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน โดยกำหนดให้สมาชิกองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ดังต่อไปนี้ กลุ่มสภาวิชาชีพหนังสือพิมพ์ กลุ่มสภาวิชาชีพวิทยุและโทรทัศน์ กลุ่มสภาวิชาชีพสื่อออนไลน์ กลุ่มสมาคมวิชาชีพสื่อมวลชนระดับชาติ และกลุ่มสมาคมวิชาชีพสื่อมวลชนระดับท้องถิ่น คัดเลือกกันเองให้เหลือผู้แทน กลุ่มละ 2 คน โดยต้องประกอบด้วยผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนอิสระ และผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนที่มีสังกัด

นั่นเท่ากับว่าจะมีผู้ได้รับเลือกทั้งหมด 10 คน จากนั้นให้คณะกรรมการสรรหากรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนคัดเลือกให้เหลือ 5 คน โดยจะต้องมีอย่างน้อย 1 คนที่เป็นสื่อมวลชนอิสระ ทั้งนี้คณะกรรมการสรรหาฯ มีจำนวนทั้ง 9 คน ประกอบด้วย

-คณบดีหัวหน้าภาควิชา หรือผู้แทนคณะหรือภาควิชาด้านนิเทศศาสตร์หรือสื่อสารมวลชน ในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐที่ไม่ใช่มหาวิทยาลัยราชภัฏ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล คัดเลือกกันเองให้เหลือ 1 คน

-คณบดีหัวหน้าภาควิชา หรือผู้แทนคณะหรือภาควิชาด้านนิเทศศาสตร์หรือสื่อสารมวลชน ในมหาวิทยาลัยราชภัฏ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล คัดเลือกกันเองให้เหลือ 1 คน

-คณบดีหัวหน้าภาควิชา หรือผู้แทนคณะหรือภาควิชาด้านนิเทศศาสตร์หรือสื่อสารมวลชน ในสถาบันอุดมศึกษาของเอกชน คัดเลือกกันเองให้เหลือ 1 คน

-ผู้แทนองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนด้านสื่อวิทยุและโทรทัศน์ สื่อหนังสือพิมพ์ สื่อออนไลน์ ที่มีกลไกกำกับจริยธรรม กลไกรับเรื่องร้องเรียนและการไต่สวน โดยดำเนินการอย่างต่อเนื่อง 5 ปี ด้านละ 1 คน รวม 3 คน

-ผู้แทนองค์กรคุ้มครองผู้บริโภค 1 คน

-ผู้แทนสภาทนายความ 1 คน

-ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

ทั้งนี้เมื่อได้คณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อฯ ในส่วนตัวแทนองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน 5 คนแล้ว ให้คณะกรรมการวิชาชีพฯ ดำเนินการสรรหากรรมการสภาวิชาชีพในส่วนผู้ทรงคุณวุฒิอีก 4 คน จากผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ด้านวิชาการสื่อสารมวลชน กฎหมาย สิทธิมนุษยชน และการคุ้มครอง ผู้บริโภค ด้านละ 1 คน ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่สภาวิชาชีพสื่อฯ กําหนด โดยกรรมการสภาวิชาชีพสื่อฯ มีวาระการดำรงดำเหน่งคราวละ 4 ปี ดำรงตำแหน่งได้ไม่เกิน 2 วาระ

สำหรับอำนาจหน้าที่ของสภาวิชาชีพสื่อในมาตรา 12 ระบุให้ 1.มีหน้าที่พิจารณารับจดแจ้ง และเพิกถอนสมาชิกภาพขององค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน 2.กำหนดให้มีอำนาจกำหนดมาตรฐานกลางของจริยธรรมสื่อมวลชนที่เป็นที่ยอมรับตามมาตรฐานสากล  3.ส่งเสริมจริยธรรมสื่อมวลชนให้แก่องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน โดยการส่งเสริมและสนับสนุนนการจัดฝึกอบรม หรือสัมมนา หรือศึกษาดูงาน หรือดําเนินการอื่นใด และสนับสนุนให้สมาชิกดําเนินการดังกล่าวให้แก่ ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนและองค์กรสื่อมวลชนที่เป็นสมาชิกของตน เพื่อให้มีอุดมการณ์ร่วมกันในการประกอบวิชาชีพโดยคํานึงถึงจริยธรรมและมาตรฐานทางวิชาชีพสื่อมวลชน

4.ส่งเสริมการรวมกลุ่มและการกํากับดูแลกันเองขององค์กรสื่อมวลชน และองค์กรวิชาชีพ สื่อมวลชนในระดับชาติภูมิภาค จังหวัด หรือท้องถิ่น 5.ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตรวจสอบสื่อมวลชน และการรู้เท่าทันสื่อมวลชน 6.ส่งเสริมให้องค์กรสื่อมวลชนจัดให้มีคณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนด้านจริยธรรม สื่อมวลชนภายในองค์กร 7.พิจารณาเรื่องร้องเรียนในกรณีมีการละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน หรือกรณีผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนละเมิดจริยธรรมสื่อมวลชนผ่านองค์กรสื่อมวลชนที่สังกัด

8.ออกคําสั่ง ยกคํากล่าวหา ตักเตือน สั่งให้แก้ไขข้อความ ภาพ ภาพเคลื่อนไหว หรือเยียวยา อย่างใดอย่างหนึ่งแล้วแต่กรณี 9.พิจารณาคำอุทธรณ์กรณีที่คณะกรรมการจริยธรรมีคำสั่งหรือไม่มีคำสั่งลงโทษทางปกครอง 10.เสนอความเห็น หรือให้คำแนะนําต่อคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับมาตรการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน และมาตรการคุ้มครองประชาชนจากการประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน 11.ออกระเบียบเกี่ยวกับการจดแจ้ง และการกํากับดูแลองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน และการกําหนดคุณสมบัติขององค์กรสื่อมวลชน

12.จัดให้มการประเมินการปฏิบัติงานของสภาแบบมีส่วนร่วม 13.กําหนดระเบียบ หลักเกณฑ์และวิธีการตามที่กําหนดในพระราชบัญญัตินี้ 14.แต่งตั้งคณะอนุกรรมการและคณะทํางานเพื่อดําเนินการตามหน้าที่และอํานาจของสภา 15.ปฏิบัติการอื่นตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่น

ให้อำนาจตั้งคณะกรรมการจริยธรรม 7 คน พิจารณาลงโทษทางปกครอง สั่งปรับไม่เกิน 5 หมื่นต่อหนึ่งกรรม

มาตรา 14 ระบุให้สภาวิชาชีพสื่อฯ แต่งตั้งคณะกรรมการจริยธรรมคณะหนึ่ง จํานวน 7 คน เพื่อพิจารณาเรื่องละเมิดจริยธรรมสื่อมวลชนโดย การได้มาและวิธีการดําเนินงานของคณะกรรมการจริยธรรมให้เป็นไปตามข้อบังคับที่สภากําหนด ต้องต้องมีผู้แทน ดังต่อไปนี้

-ผู้แทนจากสภาวิชาชีพสื่อ ในส่วนกรรมการตัวแทนองค์การวิชาชีพสื่อ 1 คน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 1 คน

-ผู้แทนนักวิชาการสื่อสารมวลชน จํานวน 1 คน

-ผู้แทนองค์กรคุ้มครองผู้บริโภค จํานวน 1 คน

-ผู้แทนสภาทนายความ จำนวน 1 คน

-ผู้แทนองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน จํานวน 2 คน

โดยการวินิจฉัยว่าองค์กรสื่อมวลชนละเมิดจริยธรรมสื่อมวลชนและมติให้ลงโทษทางปกครอง ต่อองค์กรสื่อมวลชน ต้องมีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนกรรมการทั้งหมด และสามารถรับเรื่องร้องเรียน วินัจฉัยองค์กรสือมวลชนที่ไม่ได้เป็นสมาชิกองค์กรวิชาชีพสื่อได้

มาตรา 16 ระบุว่า องค์กรสื่อมวลชนมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมสื่อมวลชนที่สภากำหนด องค์กรสื่อมวลชนใดฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจรยธรรมสื่อมวลชนตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าองค์กรสื่อมวลชนนั้นฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามจริยธรรมของสื่อมวลชน

“องค์กรสื่อมวลชน” ในความหมายของร่างกฎหมายฉบับนี้ หมายถึง คณะบุคคลไม่ว่าจะเป็นนิติบุคคลหรือไม่ก็ตาม ที่ประกอบ กิจการสื่อมวลชนเพื่อประโยชน์สาธารณะ ไม่ว่าจะอยู่ในรูปสื่อสิ่งพิมพ์วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ สื่อดิจิทัล หรือในรูปอื่นใดที่สามารถสื่อความหมายให้ประชาชนทราบได้เป็นการทั่วไป

ส่วนคำว่า “สื่อดิจิทัล” หมายความว่า สื่อที่มีการนําเอาข้อมูล ได้แก่ข้อความ เสียง ภาพ ภาพเคลื่อนไหว โดยอาศัยเทคโนโลยีการสื่อสารเข้ามาช่วยให้ข้อมูลเหล่านนั้ เชื่อมโยงหรือแปลงสภาพเข้าด้วยกัน เพื่อประโยชน์ ในการสื่อความหมายให้ประชาชนทราบได้เป็นการทั่วไป

สำหรับโทษทางปกครอง มาตรา 17 กำหนดให้มีโทษ 4 ระดับ 1.ตักเตือน 2ภาคทัณฑ์ 3.ตำหนิโดยเปิดเผยต่อสาธารณชน และ4.ปรับทางปกครอง โดยในการพิจารณา ให้คำนึงถึงความร้ายแรงแห่งพฤติกรรม ที่กระทําผิด และความเสียหายที่เกิดจากการกระทํานั้น ตลอดจนความหนักเบาของโทษ ส่วนโทษปรับทางปกครอง จํานวนค่าปรับทางปกครองต้องไม่เกิน 50,000 บาทในแต่ละกรรม

อย่างไรก็ตามโทษในมาตรา 17 นี้ จะไม่นำมาใช้กับองค์กรสื่อมวลชนที่เป็นสมาชิกขององค์กรวิชาชีพ สื่อมวลชนที่ได้รับการจดแจ้ง เว้นแต่จะมีการร้องขอจากองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนนั้น

ซึ่งนั่นหมายความว่า บทลงโทษที่ตั้งไว้นี้โดยหลักแล้วจะใช้กับองค์การสื่อมวลชนที่ไม่ได้เป็นสมาชิกองค์กรวิชาชีพสื่อฯ เว้นแต่จะมีการร้องของจากองค์กรวิชาชีพสื่อฯ ขึ้นมา ซึ่งนัยหนึ่งคือการเน้นให้สื่อกำกับดูแลกันเอง ฉะนั้นบทลงโทษดังกล่าวจึงมีผลโดยตรงต่อองค์กรสื่อมวลชน ที่ไม่เข้าร่วมสังกัดภายใต้องค์กรวิชาชีพ

เปิดรายชื่อคณะอนุกรรมการจัดทำร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน

1.

นายคำนูณ สิทธิสมาน

ที่ปรึกษา/อนุกรรมการ

2.

นายมานิจ สุขสมจิตร

ประธานอนุกรรมการ

3.

ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีหรือผู้แทน

อนุกรรมการ

4.

ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

อนุกรรมการ

5

นายเสรี วงษ์มณฑา

อนุกรรมการ

6

นายประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์

อนุกรรมการ

7

นายก้าวโรจน์ สุตาภักดี

อนุกรรมการ

8.

นายโกศล สงเนียน

อนุกรรมการ

9.

นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี

อนุกรรมการ

10.

นายไชยยงค์ มณีรุ่งสกุล

อนุกรรมการ

11.

นายเทพชัย หย่อง

อนุกรรมการ

12.

นายปราเมศ เหล็กเพชร

อนุกรรมการ

13.

นางพิจิตรา สึคาโมโต้

อนุกรรมการ

14.

นายวิทวัส ชัยปาณี

อนุกรรมการ

15.

นางสุวรรณา จิตประภัสสร์

อนุกรรมการ

16.

นางสาวสุวรรณา สมบัติรักษาสุข

อนุกรรมการ

17.

นายอดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ

อนุกรรมการ

18.

นางสาวอรดา วงศ์อำไพวิทย์

อนุกรรมการ

19.

อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์หรือผู้แทน

อนุกรรมการและเลขานุการ

20.

ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

อนุกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ

21.

ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย

อนุกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ

22.

ผู้แทนกระทรวงวัฒนธรรม

อนุกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ

23.

ผู้แทนกรมประชาสัมพันธ์

อนุกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net