'ซิโน-ไทย' จ่ายชดเชยชาวหัวหินกระทบรถไฟทางคู่ ผู้แทนชุมชนหวั่นไม่แฟร์-ยังไม่มีที่ไป

โครงการรถไฟทางคู่นครปฐม-หัวหินขยับ บริษัทซิโน-ไทย หนึ่งในผู้ชนะประมูลก่อสร้างจาก ร.ฟ.ท. ตั้งโต๊ะจ่ายเงิน 1 ใน 19 ชุมชนที่หัวหิน ด้านหนึ่งในผู้แทนชุมชนระบุ บริษัทไม่เข้าร่วมประชุมกับกรรมการแก้ไขปัญหาที่ผู้ว่าฯ เป็นประธาน และไม่มีการเปิดเผยข้อมูลการประมูลใดๆ หวั่นจะถูกกดราคา และยังไม่มีข้อตกลงชัดเจนว่าจะได้ย้ายไปที่ไหน

ภาพบ้านในชุมชนหนองแก หนึ่งในชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการรถไฟทางคู่นครปฐม-หัวหิน

เมื่อ 18 ก.ย.ที่ผ่านมา เพจหัวหินมีอะไรบอกด้วย ได้ถ่ายทอดสดเฟซบุ๊ค (ไลฟ์) เจ้าหน้าที่บริษัทซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ตั้งโต๊ะจ่ายเงินผู้ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างรถไฟทางคู่เส้นทางช่วงนครปฐม - หัวหิน

โดยการจ่ายเงินดังกล่าว เป็นการจ่ายในส่วนของชาวบ้านชุมชนหนองแกตะวันออก หนึ่งใน 19 ชุมชนที่ได้รับผลกระทบในเขตเทศบาลหัวหินที่ต้องย้ายออกจากพื้นที่ที่จะมีโครงการก่อสร้างเนื่องจากเป็นที่ของการรถไฟ แห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ท่ามกลางกระแสเรื่องความโปร่งใส เป็นธรรมของอัตราการชดเชยเยียวยา และเรื่องที่ดินใหม่สำหรับผู้ได้รับผลกระทบที่ยังไม่ชัดเจนจากทางเจ้าของสัมปทานและคู่สัญญา

บาหยัน บุญมา ตัวแทนกลุ่มชุมชนที่ได้รับความเดือดร้อนที่เข้าประชุมร่วมกับคณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่ประกอบด้วยตัวแทนชุมชนที่ได้รับผลกระทบและตัวแทนฝ่ายรัฐ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์เป็นประธานเมื่อวันที่ 17 ก.ย. ที่ผ่านมา กล่าวกับประชาไทว่า มีคำสั่่งของบริษัทให้รื้อย้ายออกจากพื้นที่ภายในเดือน พ.ย. ปีนี้ ซึ่งกระทบกับผู้อาศัยใน 19 ชุมชนที่มีจำนวนถึง 1,200 ครัวเรือนหรือราว 4,000 คน  ประเด็นปัญหาที่มีคือกังวลว่าค่ารื้อย้ายไม่เป็นธรรม เนื่องจากตัวแทนของทั้งสองบริษัทไม่มาร่วมประชุมกับคณะกรรมการแก้ไขปัญหา และไม่มีการเปิดเผยข้อมูลเรื่องรายละเอียดการประมูลโครงการ ทำให้กังวลว่าราคาที่ได้นั้นต่ำกว่าราคาค่ารื้อถอน เยียวยาที่บริษัททั้งสองส่งประมูลกับการรถไฟไป นอกจากนั้น ที่ประชุมคณะกรรมการฯ ยังไม่มีมติชัดเจนเรื่องพื้นที่ที่จะรองรับชาวชุมชนที่ต้องย้ายออกไป

บ้านในชุมชนหัวดอน อีกหนึ่งชุมชนที่ได้รับผลกระทบ

“ซิโน-ไทยกับอิตาเลียนไทยไม่เปิดเผยข้อมูลตรงนี้เลยว่าไปประมูลมาได้เท่าไหร่ เอะอะก็อ้างว่าเป็นราคากลาง แต่จริงๆ ข้อมูลตัวนี้น่าจะเปิดเผยกับชาวบ้านได้เพราะการรถไฟต้องให้บริษัทประมูลค่ารื้อถอน ค่าเยียวยาจะได้ตารางเมตรละเท่าไหร่ แต่เหมือนว่าหน่วยงานมากด (ราคา) เราให้ต่ำที่สุด”

“จริงๆ ควรได้ราคามากกว่านี้ แต่อันนี้ต่ำสุดเลย บ้านปูน (ชั้นเดียว) หลังหนึ่งได้หมื่นกว่าบาท คิดดูว่าเป็นไปได้ไหม” บาหยัน กล่าว

จากวิดีโอคลิปวิดีโอของเพจหัวหินมีอะไรบอกด้วย พบว่าลักษณะการจ่ายเงินผู้ได้รับผลกระทบนั้นจ่ายให้เป็นเช็ค มีเอกสารที่ระบุประเภทบ้านและมีการวัดขนาดเป็นหน่วยตารางเมตรเอาไว้

การประชุมของคณะกรรมการแก้ไขปัญหาครั้งที่แล้วมีขึ้นเมื่อ 24 ส.ค. ก่อนที่จะมีการประชุมอีกครั้งในวันที่ 17 ก.ย. ที่ผ่านมา โดยมีนายอำเภอหัวหินเป็นผู้แทนปลัดจังหวัด ซึ่งเป็นผู้แทนของผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ซึ่งเป็นองค์ประธานอีกที แต่ยังไม่มีข้อสรุปว่าพื้นที่ใดจะเป็นพื้นที่รับรองการย้ายของชาวบ้าน ซึ่งตามเอกสารการประชุมพบว่ามีมติให้ยืดระยะเวลารื้อถอนออกไปจนกว่าผู้ได้รับความเดือดร้อนจะหาที่ดินเพื่ออยู่อาศัยและทำมาหากินได้

ช่วงวันที่ 18-19 ก.ย. ผู้สื่อข่าวประชาไทติดต่อไปยังสถานีรถไฟหัวหินหลายครั้งเพื่อสอบถามนายสถานีซึ่งเป็นผู้เข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมการแก้ไขปัญหาในวันจันทร์ที่ผ่านมา แต่ได้รับแจ้งจากผู้ช่วยนายสถานีและเจ้าหน้าที่สถานีว่า นายสถานีไม่อยู่

เส้นทางรถไฟทางคู่ ช่วงนครปฐม-หัวหิน (ที่มา: ร.ฟ.ท.)

เมื่อ ก.ย. 2560 ฐานเศรษฐกิจรายงานว่า รถไฟทางคู่นครปฐม-หัวหินเปิดให้เอกชนเสนอราคาทางอิเล็กทรอนิกส์แบ่งเป็นสองสัญญา มูลค่ารวม 16,066 ล้านบาท สัญญาที่หนึ่ง (ช่วงนครปฐม-หนองปลาไหล) ระยะทาง 93 กม. มีการเสนอราคาต่ำสุดอยู่ที่ 8,198 ล้านบาท (ราคากลาง 8,390 ล้านบาท) บริษัท เอ.เอส. แอสโซซิเอท เอนจิเนียริ่ง (1964) ชนะการประมูล มีเอกชนร่วมประมูล 11 ราย สัญญาส่วนที่สอง (ช่วงหนองปลาไหล-หัวหิน) ระยะทาง 76 กม. ผู้เสนอราคาต่ำสุด 7,520 บาท (ราคากลาง 7,676 ล้านบาท) บริษัทซิโน-ไทย เอ็นจิเนียนิ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ชนะประมูล

เว็บไซต์ ร.ฟ.ท. ให้ข้อมูลว่า โครงการรถไฟทางคู่ช่วงนครปฐม-หัวหิน เป็นรถไฟทางคู่ช่วงสายใต้ ระยะทางราว 170 กม. มีสถานีจำนวน 28 สถานี โดยก่อสร้างทางรถไฟเพิ่มหนึ่งทางขนานไปกับทางรถไฟที่มีอยู่เดิมไปตลอดสายทาง รางกว้าง 1 เมตร เป็นแบบใช้หินโรยทาง ติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณโทรคมนาคมสำหรับทางคู่ เริ่มต้นที่สถานีนครปฐม จ.นครปฐม สิ้นสุดที่สถานีหนองแก จ.ประจวบคีรีขันธ์มีงบประมาณ 20,145.59 ล้านบาท มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งทางรถไฟ ลดระยะเวลาเดินทาง เพิ่มทางเลือกในการเดินทาง กระจายความเจริญสู่ภูมิภาค

โครงการดังกล่าวรับดำเนินการโดยบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัดและ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ระยะเวลาก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. 2561 – 31 ม.ค. 2564 รวม 36 เดือน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท