Skip to main content
sharethis

ตัวแทนเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ วิจารณ์ ร่าง พ.ร.บ.ประชารัฐ ยิ่งเป็นอุปสรรคกับรัฐสวัสดิการ ‘บัตรคนจน’ ให้อำนาจเจ้าหน้าที่-เพิ่มความนิยมให้รัฐ ชี้ 300-400 บาท ไม่ได้แก้ปัญหาความยากจน ไม่อาจทำให้ชีวิตใครดีขึ้น แนะปฏิรูปภาษี เขย่าอำนาจรัฐ เพื่อจัดรัฐสวัสดิการ หรือนำตัวอย่างสิทธิประโยชน์ 7 อย่างของประกันสังคมมาใช้กับคนทั้งประเทศแทน

นิมิตร์ เทียนอุดม ตัวแทนเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ (ภาพจากเว็บไซต์ไอลอว์)

 

หลังจากวันที่ 13 ก.ย. ที่ผ่านมา สภานิติบัญญัติ (สนช.) ได้มีมติเอกฉันท์ 187 เสียง งดออกเสียง 4 จากจำนวนผู้เข้าประชุม 191 รับหลักการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การจัดประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม พ.ศ.... วาระแรก เพื่อผลักดันให้โครงการประชารัฐ โดยเฉพาะการทำบัตรสวัสดิการให้ผู้มีรายชื่อได้ ใช้เป็นกฎหมายแบบถาวร และมีกระบวนการพิจารณาผ่านคณะกรรมฯ ซึ่งได้แต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อพิจารณาเนื้อหา

กรุงเทพธุรกิจรายงานว่า เหตุผลที่ คณะรัฐมนตรี (ครม.) เสนอร่างกฎหมาย เพื่อให้เกิดความยั่งยืนต่อการยกระดับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้มีรายได้น้อย รวมถึงลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม กระจายรายได้อย่างเป็นธรรม สำหรับเนื้อหาที่สำคัญ อาทิ กำหนดให้มีคณะกรรมการประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม โดยมี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธาน และมีกรรมการที่มาจากฝ่ายข้าราชการประจำ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเชี่ยวชาญด้านสังคม พัฒนาทรัพยากรมนุษย์และเศรษฐศาสตร์ ทำหน้าที่เสนอแผนงาน นโยบายและมาตรการที่เกี่ยวกับประชารัฐสวัสดิการ ช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อย

นอกจากนั้นยังกำหนดให้ตั้งกองทุนประชารัฐฯ จำนวน 1 กองทุนเพื่อใช้จ่ายด้านการช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อยตามประชารัฐสวัสดิการ ที่ลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐหรือเพื่อสนับสนุนโครงการที่ให้บริการทางสังคมเพื่อช่วยเหลือประชาชนในภาวะลำบากทุกประเภท โดยที่มาของกองทุน อาทิ เงินทุนประเดิมที่รัฐจัดสรร, เงินที่จัดสรรจากงบประมาณ, เงินบริจาค, เงินที่รับจากองค์การระหว่างประเทศ

นอกจากนี้ กรุงเทพธุรกิจ ยังตั้งข้อสังเกตว่า การประชุมเพื่อพิจารณารายละเอียดของร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว กำหนดให้แปรญัตติ 7 วัน และมีเวลาทำงาน 30 วัน ซึ่งถือว่าเป็นระยะเวลาการทำงานที่เร่งรัดกว่าการพิจารณาร่างกฎหมายทั่วไป ที่จะใช้เวลาทำงานอย่างน้อย 45 วัน

ประชาไทสัมภาษณ์ นิมิตร์ เทียนอุดม ตัวแทนเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ ที่ติดตามระบบสวัสดิการและประเด็นนี้อย่างใกล้ชิด เพื่อวิเคราะห์ ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว รวมทั้งข้อเสนอแนะเพื่อพัฒนาระบบสวัสดิการในสังคมไทยให้ก้าวหน้า โดยมีรายละเอียดดังนี้

กฎหมายที่ยิ่งเป็นอุปสรรคกับรัฐสวัสดิการ

 

นิมิตร์ ให้ความเห็นว่า กฎหมายนี้คืออกฎหมายที่ออกมารองรับโครงการบัตรสวัสดิการแห่ง ซึ่งยังเป็นเรื่องชั่วคราวให้เป็นเรื่องถาวร หมายความว่าทำให้การสงเคราะห์แบบนี้มีกฎหมายรองรับ และทำให้การเกิดสวัสดิการถ้วนหน้ายากขึ้นอีก เพราะแสดงให้เห็นว่ารัฐเชื่อเรื่องการสงเคราะห์เฉพาะจุด ไม่ได้เชื่อว่าประเทศนี้จะมีรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าสำหรับคนทุกคน และเชื่อว่าการมีรัฐสวัสดิการเป็นภาระ

กฎหมายฉบับนี้เป็นเหมือนการประทับตราว่าต่อจากนี้นโยบายอะไรที่ช่วยเฉพาะกลุ่มจะกระทำได้เลย เพราะตั้งกองทุนขึ้นมารองรับสำหรับโครงการอื่นด้วยนอกจากโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เงินกองทุนนี้จะใช้จ่ายสำหรับโครงการประชารัฐอื่นที่จะมี

‘บัตรคนจน’ ให้อำนาจเจ้าหน้าที่-เพิ่มความนิยมให้รัฐ

 

ตัวแทนเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ มองว่า กระบวนการพิสูจน์ความจนนั้นรัฐก็ต้องลงทุน นอกจากนั้นยังเป็นการให้อำนาจกับเจ้าหน้าที่รัฐเป็นคนเลือกที่จะให้สิทธิแก่คนที่ไม่มีปากมีเสียงกับเจ้าหน้าที่รัฐ เป็นเครื่องมือทางการเมืองของรัฐในการซื้อความนิยมจากกลุ่มคนที่ได้รับผลประโยชน์ ซึ่งเคยเกิดปัญหาแบบนี้มาตลอดในอดีต

“ตั้งแต่ ‘บัตร 500’ คือขายบัตร 500 บาทให้แก่คนจนเพื่อรับการรักษาพยาบาลที่เหมาะสม ก็มีคนจำนวนมากที่ได้บัตร 500 ทั้งที่ไม่ได้จน เรื่องบัตรสวัสดิการแห่งรัฐก็เช่นกัน เราก็พบว่ามีคนจนอีกจำนวนมากที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนรับบัตรสวัสดิการฯ และรัฐยังต้องลงทุนสร้างระบบสิบกว่าล้านเพื่อตรวจจับว่าใครจนไม่จน” นิมิตร์ กล่าว

300-400 บ. ไม่ได้แก้ปัญหาความยากจน ไม่อาจทำให้ชีวิตใครดีขึ้น

 

นิมิตร์ กล่าวต่อว่า พอเป็นกฎหมายโอกาสที่จะแก้ไขปรับปรุงก็ยากขึ้น เพราะคุณจะทำให้ประชาชนทะเลาะกันเอง เช่นตอนนี้ ถ้าเราให้ความเห็นว่าบัตรสวัสดิการรัฐไม่ดี เป็นประชานิยมแบบหนึ่ง เป็นกลไกหนึ่งในการซื้อเสียงของรัฐบาล ก็จะทำให้กลุ่มคนสิบกว่าล้านคนที่เขาได้ประโยชน์ไม่พอใจ เพราะเขาคิดว่าแม้จะได้เงินน้อย 300-400 บาทต่อเดือน แต่ก็ยังดีกว่าไม่ได้เลย แต่อันที่จริงคือการให้เงินเท่านี้ไม่ได้เกิดประโยชน์ต่อระบบโดยรวม ไม่ได้แก้ไขปัญหาความยากจนได้อย่างเห็นชัด เพราะเงินจำนวนนี้ก็ไม่ได้ช่วยให้ชีวิตใครดีขึ้น และประชาชนกลุ่มนี้ก็ไม่ได้มีอำนาจต่อรองเพิ่มขึ้นเลย

จัดสรรเงินภาษี เขย่าอำนาจรัฐ เพื่อรัฐสวัสดิการ ตัวอย่าง 7 สิทธิประโยชน์จากประกันสังคม

 

เขากล่าวต่อว่า แต่ถ้ารัฐเชื่อว่าหน้าที่รัฐคือต้องดูแลทุกคนตามแต่ปัญหาและศักยภาพ ก็จะสามารถหาวิธีจัดสรรเพื่อให้คนได้รายได้ที่เป็นธรรม เพียงพอต่อการดำรงชีวิต ตัวอย่างเช่น ประเทศที่เป็นรัฐสวัสดิการหากคุณทำงานรัฐก็จะการันตีรายได้ขั้นต่ำที่จะดำรงชีพ ดังนั้นเขาจะเอาทุกคนเข้ามาอยู่ในฐานการจ้างงานและฐานภาษี และดูว่าหากใครมีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์รัฐก็ช่วยให้มีรายได้มากพอ โดยที่ไม่ต้องมีการพิสูจน์ความจน ซึ่งเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องมีการปฏิรูปภาษี คือการเขย่าอำนาจรัฐในการใช้ภาษี เพื่อให้รัฐนำมาภาษีที่ได้มาจัดรัฐสวัสดิการ เป็นการทอนอำนาจของรัฐลง

“มันน่าเสียดายที่ทำไมรัฐไม่ใช้กฎหมายนี้เขียนเรื่องรัฐสวัสดิการไปเลย ว่าจะมีการจัดสรรระบบภาษีเพื่อนำไปใช้ในเรื่องรัฐสวัสดิการ ข้อเสนอที่น่าสนใจคือสามารถนำตัวอย่างสิทธิประโยชน์ 7 อย่างของประกันสังคมมาใช้กับคนทั้งประเทศได้ เพราะสิทธิประโยชน์เหล่านี้คือรูปแบบของรัฐสวัสดิการ” นิมิตร์ กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net