อาชีพ 'พยาบาล' คนคาดหวังสูง แต่กลับถูกทำร้ายบ่อยครั้ง

อาชีพ 'พยาบาล' เป็นอาชีพที่ถูกคาดหวังต่อการให้บริการไว้สูงลิบ แต่ต้องทำงานหนักต้องทนกับสภาวะกดดัน พบมีข่าวถูกทำร้ายจากทั้งคนไข้และเพื่อนร่วมงานอยู่เนืองๆ ผลสำรวจพยาบาลออสเตรเลีย 52% มีประสบการณ์ถูกทำร้ายร่างกาย ส่วนพยาบาลอเมริกันที่ลาออก 6 เดือนแรก กว่า 60% ถูกกลั่นแกล้งจากเพื่อนร่วมงาน งานศึกษาพยาบาลไทยพบเผชิญความรุนแรงทางวาจามากที่สุด ทางกายภาพถูก 'ผลัก ดึง ลาก กระชาก' มากที่สุด และเมื่อเจอกระทำรุนแรงส่วนใหญ่ไม่เขียนบันทึกรายงาน

พยาบาลออสเตรเลีย 52% มีประสบการณ์ถูกทำร้ายร่างกาย

จากงานวิจัยของ Curtin University of Technology ประเทศออสเตรเลีย เมื่อปี 2553 ที่ได้ทำการทำแบบสอบถามพยาบาล 2,354 คน พบว่า 3 ใน 4 ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่าพวกเธอเคยมีประสบการณ์ถูกกระทำรุนแรงในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ ร้อยละ 92 ระบุว่าตนเองเคยถูกการใช้วาจารุนแรงจากผู้ป่วย

แต่ตัวเลขนี้ไม่อาจสามารถสะท้อนถึงความรุนแรงของสถานการณ์ได้ เพราะเอาเข้าจริงแล้วพยาบาลกลับรายงานต่อผู้บังคับบัญชาอย่างเป็นทางการเพียง 1 ต่อ 6 กรณีเท่านั้น คณะผู้วิจัยระบุว่าพวกเธอรู้สึกราวกับว่าการถูกทำร้ายหรือถูกระทำรุนแรงในที่ทำงานเป็นเพียงส่วนหนึ่งของงานที่พวกเธอต้องก้มหน้าทน

"พยาบาลหลายคนที่เข้ามามีส่วนร่วมในการวิจัยกล่าวว่าพวกเธอไม่ได้รายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะพวกเธอรู้สึกว่าความรุนแรงในสถานที่ทำงานเป็นเพียงส่วนหนึ่งของงานเท่านั้น"

นอกจากนี้ร้อยละ 69 ระบุว่าพวกเธอถูกคุกคามทางร่างกาย ร้อยละ 52 ถูกทำร้ายทางร่างกายโดยตรง และร้อยละ 40 ตกอยู่ในสถานการณ์ที่มีการใช้อาวุธ

ในงานวิจัยยังพบว่าอายุเพศและระดับประสบการณ์ของพยาบาลที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาแตกต่างกันไป ในขณะที่จำนวนและลักษณะของเหตุการณ์รุนแรงนั้นต่างกันไปขึ้นอยู่กับแผนกที่พวกเธอทำงานอยู่

พยาบาลอเมริกันที่ลาออก 6 เดือนแรก กว่า 60% ถูกกระทำรุนแรงจากเพื่อนร่วมงาน

ในสหรัฐฯ ประมาณร้อยละ 60 ของพยาบาลใหม่ที่ลาออกจากที่ทำงานแรกภายใน 6 เดือน เนื่องจาก 'การกลั่นแกล้งกันในที่ทำงาน' (ที่มาภาพประกอบ: nurse.org)

สมาคมพยาบาลอเมริกัน (American Nurses Association - ANA) ได้ทำการศึกษาทำร่วมกับ Vanderbilt University Medical Center พบว่าประมาณร้อยละ 60 ของพยาบาลใหม่ออกจากที่ทำงานแรกภายใน 6 เดือน เนื่องจาก 'การกลั่นแกล้งกันในที่ทำงาน' ทั้งการละเมิดทางวาจาหรือการกระทำรุนแรงจากเพื่อนร่วมงาน แม้ว่าพยาบาลส่วนใหญ่จะไม่เปิดเผยข้อมูลนี้ในระหว่างการสัมภาษณ์กับนายจ้างของพวกเธอ แต่พวกเธอจะสะดวกใจให้ข้อเท็จจริงในรายงานที่ไม่ระบุตัวตนมากกว่า

การกลั่นแกล้งในที่ทำงานที่พยาบาลรุ่นใหม่ต้องเผชิญนี้อาจจะทำให้ปัญหาการขาดแคลนวิชาชีพนี้ในสหรัฐฯ จะรุนแรงขึ้นอีก หัวข้อนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับวิชาชีพการพยาบาล การศึกษาวิจัยจำนวนมากได้สันนิษฐานว่าเหตุใดจึงมีแนวโน้มเช่นนี้ ในปี 2550 นักวิจัยพยาบาล 2 คนได้เผยแพร่ผลการศึกษาที่กล่าวถึงสาเหตุที่นางพยาบาลทำร้ายตัวเอง จากการสัมภาษณ์และการสำรวจพบว่า "พยาบาลมักขาดความเป็นอิสระรวมทั้งการควบคุมวิชาชีพของตนเอง แต่กลับต้องมีความรับผิดชอบสูง" เนื่องจากการขาดอำนาจการควบคุมวิชาชีพของตนเองนี้ "มักเป็นเหตุให้เกิดการรุกรานและการทำลายกันเองภายในกลุ่มที่ถูกกดขี่"

ในขณะที่พยาบาลยอมรับว่ามีการกลั่นแกล้งในงานวิจัยชิ้นนี้ ก็เป็นเพราะเป็นการให้ข้อมูลส่วนตัวที่เป็นความลับแก่ผู้วิจัย ทั้งนี้เป็นการยากจะให้พยาบาลส่วนใหญ่พูดอย่างเปิดเผยเกี่ยวกับการกลั่นแกล้งในที่ทำงาน เหตุเพราะกลัวว่าจะมีผลทางลบทั้งหน้าที่การงานและต่อส่วนตัวโดยตรง

‘พยาบาลไทย’ ถูกตั้งความหวังไว้สูง แต่ก็ถูกทำร้ายบ่อยครั้ง

เช่นเดียวกับที่อื่นๆ ในโลก ‘พยาบาลไทย’ มักเป็น ‘วิชาชีพ’ ที่สังคมให้ความคาดหวังจากสังคมสูงในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อสังคม ตัวอย่างเช่นในปี 2554 สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิต ได้สอบถามความคิดเห็นจากประชาชนกรณี ความคาดหวังของสังคมต่อ 'พยาบาลวิชาชีพ' ร้อยละ 64.36 ระบุว่าค่อนข้างเชื่อมั่นพยาบาลวิชาชีพ เพราะผู้ที่ประกอบวิชาชีพนี้จะต้องเป็นผู้ที่มีใจรักในงาน ยึดถือปฏิบัติตามกฎระเบียบและจรรยาบรรณวิชาชีพ ฯลฯ ร้อยละ 30.18 ระบุว่าพยาบาลวิชาชีพเป็นวิชาชีพที่ได้รับการยกย่อง เชื่อถือจากสังคม/ผู้ที่ทำงานด้านนี้จะต้องเป็นผู้ที่มีคุณธรรมจริยธรรมและมีใจรักในงานบริการ และร้อยละ 41.29 ต้องการพยาบาลที่จิตใจดีสุภาพ ยิ้มแย้ม เป็นกันเองกับทุกคน/ให้บริการที่ประทับใจ

ปี 2557 สวนดุสิตโพลได้ทำการสำรวจเรื่อง 'ความคาดหวังของสังคม ต่อวิชาชีพพยาบาล' ผลสำรวจพบว่าประชาชนร้อยละ 31.74 เห็นว่าอาชีพพยาบาลเป็นอาชีพที่ต้องเสียสละและอดทนอย่างมาก ร้อยละ 25.04 คิดว่าเป็นอาชีพที่มีเกียรติ คนในสังคมให้การยอมรับและยกย่อง ร้อยละ 18.11 คิดว่าเป็นอาชีพที่คนคาดหวังว่าจะได้รับการดูแลรักษาอย่างดี สามารถช่วยชีวิตคนได้ ร้อยละ 40.26 คาดหวังว่าพยาบาลจะต้องมีใจบริการ เสียสละช่วยเหลืออย่างเต็มใจ และร้อยละ 41.24 ระบุว่าอยากได้พยาบาลที่น่ารัก สุภาพ อ่อนหวาน ใจดี และล่าสุดเมื่อเดือน ส.ค. 2561 ซูเปอร์โพล ได้สำรวจความคิดเห็นประชาชนเรื่อง 'ความพอใจต่อบริการโรงพยาบาล' ร้อยละ 61.3 ระบุว่าสาเหตุทำให้เกิดความพอใจจะแนะนำคนอื่นให้ใช้บริการโรงพยาบาลก็คือ พยาบาลดี พนักงานดี ยิ้มแย้มแจ่มใส ช่วยแก้ปัญหา ติดตามผล

แต่กระนั้นในรอบไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้พบว่ามีข่าวการทำร้ายพยาบาลและบุคลากรทางสารณสุขอยู่บ่อยครั้ง ตัวอย่างเช่น

พ.ย. 2559 พยาบาลชาย โรงพยาบาลอรัญประเทศ จ.สระแก้ว ถูกผู้ป่วยและเพื่อนผู้ป่วยอีก 2 คนรุมทำร้าย เหตุไม่พอใจหลังมาทำแผลที่เท้า แต่ถูกแจ้งให้รอเพราะต้องใส่ท่อช่วยหายใจให้ผู้ป่วยที่อาการหนักกว่า

มี.ค. 2560 มีกรณีแพทย์ของโรงพยาบาลแห่งหนึ่งใน จ.ลำปาง ลวนลามและทำอนาจารพยาบาลโรงพยาบาลเดียวกัน

เม.ย. 2560 ชายวัยรุ่นเข้ามาเคาะประตูห้องเรียกเจ้าหน้าที่พยาบาลประจำโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลแห่งหนึ่งใน จ.บึงกาฬ ซึ่งขณะนั้นเข้าเวรอยู่โรงพยาบาลคนเดียวเพื่อมาขอรับยาแก้ปวดศีรษะ เมื่อพยาบาลเดินจะไปเปิดห้องทำงานก็ถูกชายวัยรุ่นคนนี้ทำร้ายร่างกายหวังที่จะข่มขืน

พ.ย. 2560 ผู้ป่วยอาการปวดหัวไมเกรนที่เข้ามารักษาตัวในห้องฉุกเฉินโรงพยาบาลชัยภูมิ ไม่พอใจพยาบาลที่ให้รอนานและได้รับการบริการล่าช้าได้ทำการตบเข้าที่หน้าพยาบาล

ม.ค. 2561 ชายหนุ่มนุ่งผ้าขนหนูผืนเดียวบุกโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ต.วัดหูช้าง จ.นนทบุรี โดยวิ่งตรงมาเข้าห้องเจ้าหน้าที่ พยาบาลเวรที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่เกรงว่าจะไม่ปลอดภัยจึงหนีออกจากห้องก่อนโทรศัพท์ได้แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ

ก.พ. 2561 คนร้ายบุกเข้าทำร้ายพยาบาลโรงพยาบาลนางรอง จ.บุรีรัมย์ ภายในหอพักของเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล โดยได้ทำร้ายร่างกายรวมทั้งใช้มีดจี้คอหวังที่จะข่มขืน

ก.ย. 2561 ข้อมูลจากสหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทยระบุว่ามีกรณีการร้องเรียนของพยาบาลโรงพยาบาลในภาคตะวันออกเฉียงเหนือแห่งหนึ่ง ถูกแพทย์ในโรงพยาบาลเดียวกันทำร้ายโดยการใช้กระดาษม้วนตีที่ศีรษะและหมวกพยาบาลที่ใส่ในขณะปฏิบัติหน้าที่รวมทั้งตะโกนชี้หน้าด่าต่อหน้าเพื่อนพยาบาลและเจ้าหน้าที่ผู้ช่วยเหลือคนไข้ที่กำลังปฏิบัติงานให้บริการผู้ป่วยอยู่และต่อหน้าผู้ป่วยที่มารับบริการนับร้อยคน

งานศึกษาพบพยาบาลไทย เผชิญความรุนแรงทางวาจามากที่สุด ทางกายภาพถูก 'ผลัก ดึง ลาก กระชาก' มากที่สุด ส่วนใหญ่ไม่เขียนบันทึกรายงาน

 

001.jpg

นอกจากงานที่หนักแล้ว บ่อยครั้งเมื่อเกิดความเจ็บป่วย พยาบาลไทยก็ต้องรักษาตนเอง (แฟ้มภาพ)

จากงานศึกษา ความรุนแรงในสถานที่ทำงานและการจัดการของบุคลากรทางการพยาบาลหน่วยงานอุบัติเหตุและฉุกเฉิน ที่เผยแพร่ใน Rama Nurs J (January - April 2010) ที่ได้ทำการศึกษาบุคลากรทางการพยาบาลที่ปฏิบัติงานในหน่วยงานงานอุบัติเหตุและฉุกเฉิน โรงพยาบาลรามาธิบดี และโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา จำนวน 124 คน ผลการศึกษาที่น่าสนใจพบว่าบุคลากรทางการพยาบาลส่วนใหญ่ร้อยละ 84.7 มีประสบการณ์การถูกกระทำรุนแรง ส่วนพฤติกรรมหรือลักษณะของผู้ป่วยหรือญาติที่มีแนวโน้มว่าจะก่อความรุนแรงมีลักษณะเมาสุราร้อยละ 91.4 รองลงมาคือ มีลักษณะท่าทีไม่เป็นมิตรหรือเรียกร้องการบริการต่างๆ ตลอดเวลา ร้อยละ 73.3 และมีลักษณะสับสน ขาดสติ ร้อยละ 70.5 บริเวณเกิดอุบัติการณ์ของความรุนแรงได้มากที่สุด คือ พื้นที่รอตรวจ พบร้อยละ 59.1 รองลงมา คือ บริเวณตรวจคัดกรองผู้ป่วย ร้อยละ 25.7 ช่วงเวลาที่เกิดเหตุการณ์กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ระบุว่าความรุนแรงเกิดขึ้นได้ไม่จำกัดช่วงเวลาปฏิบัติงานร้อยละ 65.7 แต่พบว่าเวรบ่ายจะเกิดเหตุการณ์ได้มากที่สุด

ลักษณะของความรุนแรงทางวาจาที่บุคลากรทางการพยาบาลได้รับส่วนใหญ่เป็นลักษณะการใช้น้ำเสียงตะคอก ตะโกน ร้อยละ 82.9 รองลงมาคือ การไม่ให้เกียรติหรือการใช้คำพูดคุกคามวางตัวเหนือกว่า/อ้างตัวว่าเป็นผู้มีอุปการะคุณ ร้อยละ 75.2 ส่วนลักษณะความรุนแรงทางร่างกายที่ได้รับเป็นลักษณะผลัก ดึง ลาก กระชาก ร้อยละ 38.1 รองลงมาคือมีเป็นการขว้างปาด้วยวัตถุ ร้อยละ 18.1

ผลของการถูกกระทำรุนแรงต่อร่างกายของบุคลากรทางการพยาบาลส่วนใหญ่พบว่าไม่มีการบาดเจ็บคิดเป็นร้อยละ 32.4 รองลงมาเป็นรอยขีดข่วนร้อยละ 28.6 ผลของการถูกกระทำรุนแรงต่อจิตใจของบุคลากรทางการพยาบาลพบว่า มีความรู้สึกโกรธ คิดเป็นร้อยละ 72.4 รองลงมาคือ มีภาวะเครียด ร้อยละ 67.6 และรู้สึกเสียใจ ร้อยละ 51.4 สำหรับผลของการถูกกระทำรุนแรงที่มีต่อหน่วยงานและวิชาชีพพยาบาลพบว่าบุคลากรทางการพยาบาลสูญเสียความพึงพอใจในงาน คิดเป็นร้อยละ 76.2 ความเชื่อมั่นในวิชาชีพต่ำลงร้อยละ 42.9 ขณะที่ ร้อยละ 49.5 รายงานว่าทำให้มีการพัฒนาปรับปรุงงานดีขึ้น

การจัดการกับความรุนแรงในสถานที่ทำงานบุคลากรทางการพยาบาลส่วนใหญ่ใช้วิธีเดินหนีหรือหลีกเลี่ยง ร้อยละ 75.2 รองลงมาใช้การพูดระบายกับเพื่อน/เพื่อนร่วมงาน/สมาชิกในครอบครัว ร้อยละ 74.3 และใช้การพูดคุยปกติและชี้แจงทำความเข้าใจกับผู้กระทำความรุนแรงร้อยละ 71.4 จากการศึกษาบุคลากรทางการพยาบาลรายงานว่าหน่วยงานมีการจัดการกับปัญหาความรุนแรงโดยร้อยละ 85.7 สามารถขอความช่วยเหลือจากผู้ร่วมงานในเวรได้ รองลงมาร้อยละ 74.3 ขอความช่วยเหลือจากทีมรักษาความปลอดภัยได้ทันทีร้อยละ 44.8 มีระบบการรายงานชัดเจน และร้อยละ 44.2 มีระบบแจ้งเหตุ

บุคลากรทางการพยาบาลที่มีประสบการณ์การถูกกระทำรุนแรงส่วนใหญ่ไม่เขียนบันทึกรายงานถึงร้อยละ 77.1 สาเหตุที่ไม่เขียนบันทึกรายงาน ขึ้นกับความรุนแรงของเหตุการณ์ร้อยละ 88.9 และขึ้นกับผู้บังคับบัญชาพิจารณาให้เขียนร้อยละ 34.6 และเห็นว่าเป็นเรื่องเฉพาะของแต่ละคนร้อยละ 24.7 ส่วนใหญ่หน่วยงานได้ดำเนินการสอบสวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับบุคลากรที่เขียนบันทึกรายงานคิดเป็นร้อยละ 95.8 และหน่วยงานมีการดำเนินการต่อกรณีร้องเรียนจากผู้ที่กระทำความรุนแรง คือการติดต่อ/ชี้แจง สาเหตุของปัญหาที่ผู้ร้องเรียนไม่พอใจและก่อความรุนแรง คิดเป็นร้อยละ 87.5 มีการดำเนินตามกฎหมาย ร้อยละ 16.7 และไม่ได้ดำเนินการใดๆ ร้อยละ 8.3

ความคิดเห็นเกี่ยวกับการช่วยเหลือเมื่อพบเหตุการณ์เพื่อนร่วมงานถูกกระทำรุนแรงขณะปฏิบัติงานส่วนใหญ่ร้อยละ 90 ของกลุ่มตัวอย่าง เห็นว่าจะเข้าไปช่วยเหลือเพื่อนร่วมงานโดยแยกเพื่อนออกจากเหตุการณ์ก่อน ให้กำลังใจเพื่อน พร้อมแก้ไขสถานการณ์ที่เกิดขึ้นโดยตอบข้อสงสัยและให้ข้อมูลแก่ผู้ป่วยและญาติ แต่ถ้าปัญหาจะนำไปสู่ความขัดแย้ง หรือยุติด้วยดีไม่ได้ จะมอบภาระให้กับพยาบาลหัวหน้าเวร รายงานผู้บังคับบัญชา และขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย

ส่วนความคิดเห็นต่อคำถามที่ว่า “เมื่อท่านได้รับมอบหมายให้แก้ปัญหาความรุนแรงในหน่วยงานจะทำอย่างไร” ร้อยละ 64 .46 เห็นว่า ควรกำหนดระเบียบสำหรับผู้ที่เข้า-ออก ในหน่วยงาน เช่นการจำกัดผู้เข้าเยี่ยม จัดทำแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนให้แก่บุคลากรทางการพยาบาล ในการควบคุมสถานการณ์ความรุนแรงไม่ให้เกิดขึ้นในหน่วยงาน การจัดให้มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย หรือตำรวจ ร้อยละ 20.66 เห็นว่าควรจัดการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับพฤติกรรมบริการการจัดการกับความรุนแรง และส่วนที่เหลือร้อยละ 14.88 เห็นว่า ควรประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับขั้นตอนการบริการเพื่อลดความเครียดในขณะการรอคอยเพื่อรับการรักษา

 

ที่มาบางส่วนเรียบเรียงจาก
Over 90% of nurses experience violence or verbal abuse (Nursing Time, 4/2/2010)
Nurse Bullying: Stand Up And Speak Out (nurse.org, 14/4/2017)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท