Skip to main content
sharethis

คนพิการร้อง กสม.จี้สอบสมาคม-มูลนิธิฯ โกงเงิน อมเงินค่าจ้างฝึกอบรม ทำรัฐเสียหายกว่า 1,500 ล้าน/โรงงานมะพร้าวส่งออกลอยแพ 180 คนงาน/สนช.อดีต ขรก.ครู หนุนขึ้นบำนาญ ชี้วิธีคำนวณใช้มาตั้งแต่ปี 2494 ไม่ทันสมัย/กยศ. แจงแผนปี 2562 เตรียมงบ 3 หมื่นล้านบาท ปล่อยกู้อุ้มนักเรียน-นักศึกษา 6 แสนคน/กรมบัญชีกลางโต้กลับ ขรก. เรียกบำนาญเพิ่ม เผยได้มากกว่าผู้ใช้แรงงานเสียอีก/ประธานสภาองค์การลูกจ้างระบุ ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ฉบับใหม่ เพิ่มวันลาคลอดอีก 8 วัน ในการไปฝากครรภ์ด้วยและได้ค่าจ้าง

โรงงานมะพร้าวส่งออกลอยแพ 180 คนงาน

เมื่อวันที่ 22 ก.ย. 2561 นางศิริรัตน์ ข้นสังข์ อายุ 32 ปี พร้อมด้วย นางสาวนิสา เอี่ยมสะอาดและผู้ใช้แรงงานประมาณ 180 คน ที่ได้รับความเดือดร้อนหลังจาก ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมโรงงานมะพร้าวปิดกิจการ ทำให้พนักงานตกงาน และอ้างว่าไม่ได้รับเงินชดเชยได้เดินทางเข้าที่พบ ร.ต.อ.เดช ประเสริฐศักดิ์ รองสารวัตรสอบสวน สภ.บางสะพาน เพื่อให้เรียกผู้ประกอบการโรงงานเจรจากับผู้ใช้แรงงานที่ได้รับความเดือดค้อน

นางสาวนิสา เอี่ยมสะอาด ตัวแทนแรงงาน กล่าวว่า ตนเป็นพนักงานของโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปมะพร้าวเพื่อการส่งออก โดยซื้อมะพร้าวผลสดผลิตเป็นเนื้อมะพร้าว น้ำมะพร้าว ที่ผ่านมาโรงงานประสบภาวะขาดสภาพคล่อง เนื่องจากลูกค้าในตลาดยุโรป และอเมริกาสั่งยกเลิกการซื้อสินค้า โรงงานจึงประกาศปิดตัวเมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา โดยช่วงแรกผู้ประกอบการโรงงาน ยืนยันกับคนงานกว่า 180 ราย สัญญาว่าจะจ่ายค่าแรงให้เพียง 75 เปอร์เซ็นต์ ล่าสุดยังไม่ได้จ่ายตามข้อตกลง และคนงานทั้งหมดไม่สามารถเจรจากับผู้ประกอบการได้ จึงเข้าพนักงานสอบสวนเพื่อให้เรียกเจ้าของโรงงานรับผิดชอบจ่ายคาแรงที่ตกค้าง

ต่อมาพนักงานสอบสวนได้ลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานพร้อมประสานกับผู้รับผิดชอบโรงงาน โดยนัดเจรจาในวันที่ 24 กันยายนนี้ โดยผู้ใช้แรงงานระบุว่า หากเจรจาแล้วไม่มีความคืบหน้า จะเดินทางไปร้องเรียนกับหน่วยงานที่เกี่ยวในระดับจังหวัด เพื่อขอความเป็นธรรมต่อไป

ที่มา: มติชนออนไลน์, 22/9/2561

ขรก.บำนาญ ก.สาธารณสุข เสนอกรมบัญชีกลาง เพิ่มวงเงินบำเหน็จดำรงชีพ ช่วยข้าราชการเกษียณ

พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา ข้าราชการบำนาญกระทรวงสาธารณสุข และที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ กรรมาธิการสาธารณสุข สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวว่าจริงๆ กรณีข้าราชการที่เงินบำนาญไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพนั้น มีจริงในกลุ่มของข้าราชการรุ่นเก่าอายุ 80 ปี เพราะได้รับเงินเดือนน้อยมาก เพราะเงินข้าราชการมาเพิ่มขึ้นช่วงหลังๆ แต่ในกลุ่มที่ได้รับเงินบำนาญน้อยอายุ 80 ปีนั้น จริงๆ ก็ไม่เสมอไป ส่วนใหญ่จะเป็นในข้าราชการชั้นผู้น้อย แต่ข้าราชการตำแหน่งสูงๆ ก็ได้รับกันเยอะ  อย่างไรก็ตามตนมีข้อเสนอคือ ควรจะนำเงินบำเหน็จตกทอดทายาทมาแบ่งให้กับข้าราชการเกษียณ โดยนำมาจัดสรรเพิ่มเติมให้กับเงินบำเหน็จดำรงชีพให้สูงขึ้นจะดีกว่าหรือไม่ ซึ่งอยากเสนอให้กรมบัญชีการทำตรงนี้น่าจะดีกว่า

“จริงๆ เดิมทีเงินบำเหน็จตกทอดทายาทจะให้กรณี ข้าราชการบำนาญเสียชีวิต ยกตัวอย่าง หากเงินเดือน 20,000 บาท ก็นำไปคูณกับจำนวนปีที่ทำงานราชการ เช่นทำมา 35 ปี ก็จะได้เงินประมาณ 700,000 บาท ซึ่งในอดีตเงินบำเหน็จตกทอดให้ทายาทตรงนี้ จะให้ทั้งหมด แต่มาหลายปีมีการปรับแก้เพิ่มเติม โดยแบ่งส่วนหนึ่งไม่เกิน 4 แสนเป็นเงินบำเหน็จดำรงชีพ แต่ไม่ได้ให้ก้อนเดียวจะแบ่งเป็น 2 งวด ดังนั้น เป็นไปได้หรือไม่ที่จะเพิ่มเงินบำเหน็จดำรงชีพมากขึ้น เพราะการแบ่งให้เงินตกทอดไปให้ทายาทนั้น ทั้งๆ ที่ข้าราชการยังมีส่วนที่เดือดร้อนในการดำรงชีพ ยิ่งเงินเดือนน้อยๆ ก็น่าเห็นใจ ก็ควรนำมาให้พวกเขาใช้จะดีกว่า” พญ.เชิดชู กล่าว

ที่มา: มติชนออนไลน์, 22/9/2561

สนช.อดีต ขรก.ครู หนุนขึ้นบำนาญ ชี้วิธีคำนวณใช้มาตั้งแต่ปี 2494 ไม่ทันสมัย

เมื่อวันที่ 21 ก.ย. 2561 มติชนออนไลน์ รายงานว่านายตวง อันทะไชย สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และอดีตเลขาธิการคณะกรรมการพลเรือนและบุคลากรทางการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวถึงกรณีสหพันธ์ข้าราชการบำนาญแห่งประเทศไทยกว่า 30 คน นำโดยนายชัยวัฒน์ อุดอิ่นแก้ว เลขาธิการฯ เดินทางเข้ายื่นหนังสือ ต่อนายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่สอง เพื่อเสนอร่าง พ.ร.บ.บำเหน็จบำบาญ ขอให้ สนช.สนับสนุนร่างกฎหมายฉบับนี้เข้าสู่การพิจารณา เพื่อทำให้ข้าราชการบำนาญมีรายได้เพิ่มขึ้น เนื่องจากปัจจุบันมีข้าราชบำนาญสังกัดทุกประเทศ ได้รับความเดือดร้อนจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น แต่เงินบำนาญเท่าเดิมว่าค่อนข้างเห็นด้วยในการปรับแก้บำเหน็จบำนาญ เพราะบุคคลเหล่านี้ทำประโยชน์ให้ประเทศ ควรให้ขวัญกำลังใจ แต่กฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายเกี่ยวข้องกับการเงิน สนช. มีหน้าที่สนับสนุนไม่สามารถเสนอเองได้ และเป็นอำนาจรัฐบาลที่สามารถออกกฎหมายนี้ได้

"วิธีการคำนวณบำเหน็จบำนาญตาม พ.ร.บ.บําเหน็จบํานาญข้าราชการ พ.ศ. 2494 ล่าสมัยเกินไป เพราะบังคับใช้มากว่า 50-60 ปี ไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงและไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก ควรจะปรับปรุง แก้ไขวิธีการคำนวณให้สอดคล้องกับฐานค่าครองชีพในปัจจุบันอีกด้วย" นายตวง กล่าว

ที่มา: มติชนออนไลน์, 21/9/2561

กยศ. แจงแผนปี 2562 เตรียมงบ 3 หมื่นล้านบาท ปล่อยกู้อุ้มนักเรียน-นักศึกษา 6 แสนคน

นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เปิดเผยว่า  ในปี 2562 กยศ. เตรียมงบให้กู้ 3 หมื่นล้านบาทแก่นักเรียน นักศึกษาใหม่และเก่าคาดว่ารองรับได้ 6 แสนคน โดย 2 ปีที่ผ่านมา กยศ. ใช้เงินของตัวเอง ไม่ได้ขอเงินงบประมาณในการปล่อยกู้ให้นักเรียน นักศึกษาแล้ว

นอกจากนี้ ผลจากการเร่งประชาสัมพันธ์ สร้างจิตสำนึกให้ชำระหนี้ คาดว่าในปี 2562 จะมียอดชำระหนี้เพิ่มมากกว่า 3 หมื่นล้านบาท จากในปี 2561 ที่คาดว่าจะมียอดชำระหนี้ 2.6 หมื่นล้านบาท สำหรับมาตรการหักบัญชีเงินเดือน ซึ่งเริ่มแล้วกับข้าราชการกรมบัญชีกลาง และจะทยอยเริ่มกับข้าราชการและหน่วยงานที่มีบัญชีเดือนผ่านกรมบัญชีกลาง ขณะที่การหักบัญชีเงินเดือนของลูกจ้างบริษัทเอกชนที่อยู่ในระบบหักเงินเดือนซึ่งมีอยู่ราว 1 ล้านราย ในองค์กรนายจ้างกว่า 1 แสนบริษัท จะทยอยทำข้อตกลงโดยจะเริ่มโครงการองค์กรต้นแบบในปีหน้าทำร่วมกับธนาคาร บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ รวมถึงรัฐวิสาหกิจต่างๆ คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2 ปี จึงจะสามารถดึงลูกหนี้ในบริษัทเอกชนเข้าระบบหักเงินเดือนได้หมด

รวมทั้งได้ประสานกับหน่วยงานที่ครอบครองเลขหมายโทรศัพท์ เพื่อขอเบอร์โทรศัพท์ ในการติดตามทวงหนี้ทางโทรศัพท์ และจดหมาย  โดยที่ผ่านมา กยศ. มีลูกหนี้ทั้งระบบ 4 ล้านราย แยกเป็นลูกหนี้ที่อยู่ระหว่างชำระหนี้ 3 ล้านราย ซึ่งในจำนวนนี้มี 2 ล้านรายที่ชำระหนี้ไม่สม่ำเสมอ และลูกหนี้ ที่มีคดีอยู่ในชั้นศาล 1.12 ล้านคดี และในปี 2561  กยศ.ได้ดำเนินการฟ้องร้องคดีกับผู้กู้ที่ผิดนัดชำระหนี้ประมาณ 1.2 แสนราย ซึ่งมีการติดต่อขอประนีประนอมมากกว่า 80%

นายชัยณรงค์ กล่าวถึงกรณีครูวิภา บานเย็น ผอ.โรงเรียนบ้านห้วยน้อย ต.แม่ลาด อ.คลองขลุง จ.กำแพงเพชร ได้ค้ำประกันให้นักเรียนที่ยืมเงิน กยศ. 60 ราย ซึ่งที่ผ่านมาได้มีคนนำเงินมาบริจาคช่วยเหลือทำให้ ครูวิภา นำเงินมาชำระหนี้คืน กยศ.แทนลูกศิษย์เรียบร้อยแล้ว และผลจากกรณีดังกล่าวทำให้ กยศ. เตรียมทบทวนเรื่องการค้ำประกันลูกหนี้ กยศ.ใหม่ ซึ่งปัจจุบันในจำนวนลูกหนี้ กยศ. 2.5 ล้านราย มีครูที่เป็นผู้ค้ำประกัน 0.17% หรือประมาณ 4 พันราย

ที่มา: ไทยโพสต์, 21/9/2561

กรมบัญชีกลางโต้กลับ ขรก. เรียกบำนาญเพิ่ม เผยได้มากกว่าผู้ใช้แรงงานเสียอีก

จากกรณีสหพันธ์ข้าราชการบำนาญแห่งประเทศไทย  โดยนายชัยวัฒน์ อุดอิ่นแก้ว เลขาธิการฯ เดินทางเข้ายื่นหนังสือ ต่อนายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่สอง เพื่อเสนอร่าง พ.ร.บ.บำเหน็จบำนาญ โดย ขอให้ สนช.สนับสนุนร่างกฎหมายฉบับนี้เข้าสู่การพิจารณา เพื่อทำให้ข้าราชการบำนาญมีรายได้เพิ่มขึ้น เนื่องจากปัจจุบันมีเข้าราชบำนาญสังกัดทุกประเทศ จำนวน 654,634 คน ได้รับความเดือดร้อนจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น แต่เงินบำนาญเท่าเดิม ทำให้รายได้ไม่พอกับค่าใช้จ่าย  โดยข้าราชการบำนาญถือเป็นคนจนรุ่นใหม่ ได้เงินบำนาญเดือนละ 20,000 บาท หักค่าใช้จ่ายอื่น เหลือ 18,000 บาทต่อเดือน ไม่เพียงพอต่อค่าครองชีพนั้น

เมื่อวันที่ 21 ก.ย. 2561 น.ส.สุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวว่า ยังไม่ทราบว่ามีการขอเรื่องแก้ไขบำนาญให้สูงขึ้น ซึ่งในการปรับบำนาญนั้นมีการประกันไว้ว่าต้องได้รับเท่ากับค่าแรงขั้นต่ำ 9,000 บาทต่อเดือน ดังนั้น คนที่ได้รับบำนาญ 2 หมื่นบาทต่อเดือน ถือว่าเกินว่าที่รัฐบาลประกันไว้แล้ว และเกินกว่าค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งคงต้องถามกลับไปว่า ทำไมคนที่ใช้แรงงานและได้รับค่าแรงขั้นต่ำเพียง 9,000 บาทต่อเดือนถึงพอกิน และต้องถามว่าเขามาขออะไร เพราะคนที่ได้รับบำนาญคือคนที่ไม่ได้ทำงานแล้ว ซึ่งคนที่ทำงานบางคนยังได้เงินน้อยกว่าที่เขาได้รับ

“การที่จะมาบอกว่าได้รับเงิน 2 หมื่นบาทต่อเดือนไม่พอใช้เหตุผลคืออะไร คนยากจนกว่าเขาได้รับเงินน้อยกว่านี้อีกมากทำไมเขาอยู่ได้ คนได้เงิน 2 หมื่นบาทนำเงินไปใช้อะไรกันบ้าง กิจกรรมไม่ต้องไปทำกันเยอะซิ และตรงนี้ถือเป็นเรื่องการใช้ชีวิต ทุกคนต้องบริหารจัดการชีวิตของตนเองคงไม่มีข้อแนะนำอะไร” น.ส.สุทธิรัตน์กล่าว

น.ส.สุทธิรัตน์กล่าวต่อว่า ถ้าขึ้นบำนาญต้องขึ้นเงินเดือนข้าราชการ โดยขณะนี้เงินเดือนข้าราชการที่เป็นกลุ่มคนทำงานยังไม่ได้มีการพูดถึงเลย คนรับบำนาญจะมาพูดถึงเรื่องนี้ได้อย่างไร เพราะปกติต้องขึ้นเงินเดือนข้าราชการก่อนจึงจะขึ้นเงินบำนาญ เนื่องจากเป็นเรื่องผูกติดกันไว้ แต่จะมาขอขึ้นบำนาญก่อนแบบนี้เป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

ที่มา: มติชนออนไลน์, 21/9/2561

ประธานสภาองค์การลูกจ้างระบุ ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ฉบับใหม่ เพิ่มวันลาคลอดอีก 8 วัน ในการไปฝากครรภ์ด้วยและได้ค่าจ้าง

นายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานคณะทำงานร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่...) พ.ศ. ... กล่าวถึงกรณีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติรับหลักการร่าง พงร.บ.ฉบับดังกล่าว ว่า หลังจากนี้จะมีการประชุมนัดแรกวันที่ 24 ก.ย.นี้ ซึ่งความคืบหน้าดังกล่าว ถือป็นสัญญาณที่ดี เพราะจากขั้นตอนทำให้แน่ชัดว่า กฎหมายจะประกาศใช้ทันในรัฐบาลชุดนี้ และจะเป็นผลงานที่ทำให้ลูกจ้าง 9.78 ล้านคน ได้ประโยชน์ ซึ่งตนรู้สึกพึงพอใจมาก เพราะถือเป็นครั้งแรกที่ได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มจำนวนมาก

นายมนัส กล่าวว่า สิทธิประโยชน์ของกฎหมายฉบับใหม่ หลักๆ คือ ได้รับอัตราค่าชดเชยกรณีนายจ้างเลิกจ้างมากขึ้น เดิมกำหนดอยู่ 5 อัตรา คือ 1. ลูกจ้างทำงานต่อเนื่องครบ 120 วัน ได้ค่าชดเชย 30 วัน 2. ลูกจ้างทำงานครบ 1 ปี ได้รับค่าชดเชย 90 วัน 3. ลูกจ้างทำงานต่อเนื่อง 6 ปี ได้ค่าชดเชย 180 วัน 4. ลูกจ้างทำงานต่อเนื่อง 8 ปี ได้ค่าชดเชย 240 วัน และ 5. ลูกจ้างทำงานต่อเนื่อง 10 ปี ได้ค่าชดเชย 300 วัน แต่กฎหมายฉบับใหม่ได้เพิ่มอัตราที่ 6 คือ หากทำงานต่อเนื่องครบ 20 ปี จะได้รับค่าชดเชย 400 วัน นอกจากนี้ ยังมีลากิจที่จำเป็นต้องได้ค่าจ้าง 3 วันทำการ ซึ่งปัจจุบันไม่ได้เลย

"หากกฎหมายประกาศใช้ และมีการฝ่าฝืนก็จะมีโทษทางอาญาทั้งจำทั้งปรับ เพราะเป็นกฎหมายคุ้มครองแรงงานพื้นฐาน จำคุก 1 ปี ปรับขึ้นอยู่กับมาตรา เฉลี่ย 1 แสนบาท แต่จริงๆ ไม่ค่อยขึ้นโทษอาญา จะเป็นปรับมากกว่า อีกทั้งกรณีการถูกย้ายงาน ย้ายสาขา แต่ลูกจ้างไม่ยอม จะขอลาออก นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยด้วยเช่นกัน และยังมีสิทธิอื่นๆ สำหรับลูกจ้างหญิงตั้งครรภ์ ลาคลอดเดิมได้ 90 วัน แต่ของใหม่เพิ่มมาอีก 8 วัน ในการไปฝากครรภ์ด้วยและได้ค่าจ้าง ซึ่งเป็นไปตามอนุสัญญาไอแอลโอฉบับที่ 100 เรื่องค่าตอบแทนหญิงชายต้องเทียมกัน" นายมนัส กล่าว

ที่มา: MGR Online, 21/9/2561

สนช.มีมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ไว้พิจารณา

20 ก.ย. 2561 ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ไว้พิจารณาด้วยคะแนนเห็นด้วย 177 เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี งดออกเสียง 5 เสียง กำหนดระยะเวลาแปรญัตติ 7 วัน ระยะเวลาการดำเนินงาน 30 วัน

โดยพลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า เนื่องจาก พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ใช้บังคับมาเป็นเวลานานทำให้บทบัญญัติบางประการไม่เหมาะสมกับสภาพการณ์ปัจจุบันและไม่เอื้อประโยชน์ต่อการดำเนินการเพื่อให้ความคุ้มครองลูกจ้าง สมควรแก้ไขเพิ่มเติมโดยกำหนดให้การเปลี่ยนแปลงตัวนายจ้างต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง กำหนดให้ลูกจ้างมีสิทธิลาเพื่อกิจธุระอันจำเป็นปีหนึ่งไม่น้อยกว่าสามวันทำงาน กำหนดให้ลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงมีครรภ์สามารถลาเพื่อตรวจครรภ์ก่อนคลอดบุตรได้โดยให้ถือเป็นวันลาเพื่อคลอดบุตร เพิ่มอัตราค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบยี่สิบปีขึ้นไป กำหนดให้ย้ายสถานประกอบกิจการ ให้รวมทั้งการย้ายสถานประกอบกิจการไปตั้ง ณ สถานที่ใหม่ หรือสถานที่อื่นของนายจ้าง และแก้ไขให้นายจ้างกำหนดค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุดในอัตราเท่ากันทั้งลูกจ้างชายและหญิงในงานที่มีค่าเท่าเทียมกันเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล

ด้านสมาชิกที่อภิปราย ได้ตั้งข้อสังเกตในกรณีการเพิ่มวันลาคลอดจากไม่เกิด 90 เป็นไม่เกิน 98 วัน และกำหนดให้ลูกจ้างมีสิทธิลาเพื่อกิจธุระอันจำเป็นปีหนึ่งไม่น้อยกว่าสามวันทำงานน้อยไปหรือไม่ พร้อมมองว่า การแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ครั้งนี้ ครอบคลุมกับความสอดคล้องกับอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับต่างๆ แล้วหรือไม่ ซึ่งหากสามารถแก้ไขให้สอดคล้องได้ก็จะเป็นผลดีและเกิดประโยชน์กับลูกจ้างอย่างมาก  ขณะที่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ชี้แจงเพิ่มเติมว่า การปรับวันลาคลอดและลาเพื่อกิจธุระจำเป็น ได้พิจารณาปรับเพิ่มตามหลักสากล ทั้งนี้พร้อมนำข้อสังเกตทุกประเด็นหารือในชั้นกรรมาธิการอีกครั้ง

ที่มา: สถานีวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา, 20/9/2561

สหพันธ์ข้าราชการบำนาญเกษียณบุกสภา! ชงร่าง พ.ร.บ.บำเหน็จบำนาญ ชี้เงิน 2 หมื่นต่อเดือนไม่พอใช้

20 ก.ย. 2561 ที่รัฐสภา สหพันธ์ข้าราชการบำนาญแห่งประเทศไทย กว่า 30 คน นำโดย นายชัยวัฒน์ อุตอิ่นแก้ว เลขาธิการฯ เดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อ นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่ 2 เพื่อเสนอร่าง พ.ร.บ.บำเหน็จบำนาญ

โดยนายชัยวัฒน์กล่าวว่าขอให้ สนช.สนับสนุนร่างกฎหมายฉบับนี้เข้าสู่การพิจารณา เพื่อทำให้ข้าราชการบำนาญมีรายได้เพิ่มขึ้น เนื่องจากปัจจุบันมีเข้าราชบำนาญสังกัดทุกประเทศ จำนวน 654,634 คน ได้รับความเดือดร้อนจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น แต่เงินบำนาญเท่าเดิม ทำให้รายได้ไม่พอกับค่าใช้จ่าย เป็นไปตามสภาวะเงินเฟ้อ ทั้งนี้ หากข้าราชการบำนาญมีรายได้เพิ่มขึ้นก็จะนำเงินไปใช้จ่าย ส่งผลให้เศรษฐกิจตามนโยบายของรัฐบาลดีขึ้น

"ข้าราชการบำนาญถือเป็นคนจนรุ่นใหม่ ได้เงินบำนาญเดือนละ 20,000 บาท หักค่าใช้จ่ายอื่น เหลือ 18,000 บาทต่อเดือน ไม่เพียงพอต่อค่าครองชีพที่สูงขึ้น ซึ่งจะกระทบต่อข้าราชปัจจุบันอีก 2 ล้านคน แล้วคนไทยรุ่นใหม่ที่จะเข้าสู่ระบบข้าราชการ ทำงานเพื่อประเทศชาติ" นายชัยวัฒน์ กล่าว

ด้าน นายพีระศักดิ์ กล่าวว่า โดยหลักการค่อนข้างเห็นด้วย กับผู้ทำคุณประโยชน์ให้ประเทศชาติ แต่กฎหมายฉบับนี้เข้าข่ายกฎหมายการเงิน ต้องให้รัฐบาลเห็นชอบก่อนเสนอ สนช.เสนอเองไม่ได้ จึงขอประสานหาช่องทางให้ประยื่นต่อรัฐบาล ส่วน สนช.จะให้ กมธ.พิจารณาศึกษารายละเอียดควบคู่กันไป

ที่มา: แนวหน้า, 20/9/2561

เสนอตั้งกองทุนสวัสดิการพนักงานมหาวิทยาลัย

รศ.ดร.พัทธนันท์ หรรษาภิรมย์โชค รองเลขาธิการ ศูนย์ประสานงานสถาบันอุดมศึกษาของรัฐหรือ CHES เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) มีมติเสนอให้ รมว.ศึกษาธิการ ทบทวนให้มีกองทุนเพื่อพัฒนา การอุดมศึกษาใน พ.ร.บ.การอุดมศึกษานั้น ถือเป็นเรื่องที่ดีและควรที่จะกำหนดให้มีกองทุนสวัสดิการ สำหรับพนักงานมหาวิทยาลัยทั่วประเทศเพิ่มเติมในร่างดังกล่าวด้วย เพื่อทำหน้าที่เป็นกลไกในการกำกับด้านงบประมาณให้กับสถาบันอุดมศึกษาในด้านสวัสดิการต่างๆ เช่น ค่ารักษาพยาบาล การศึกษาเล่าเรียนบุตร และค่าที่พัก เป็นต้น ซึ่งจะทำให้ขวัญกำลังใจ ความมั่นคงและความศรัทธาในวิชาชีพของอาจารย์ในมหาวิทยาลัยทั่วประเทศกลับคืนมา ซึ่งเรื่องนี้มีความสำคัญมากและต้องชี้แจงต่อกระทรวงการคลังให้เข้าใจ ถึงเหตุผลและความจำเป็นการทบทวนกองทุนเพื่อพัฒนาการอุดมศึกษา รวมทั้งกองทุนสวัสดิการสำหรับพนักงานมหาวิทยาลัยทั่วประเทศด้วย

"พนักงานมหาวิทยาลัยทั่วประเทศมีกว่าแสนคน สามารถเอื้อต่อการบริหารจัดการในรูปแบบของกองทุนได้ โดยการกำหนดรูปแบบการให้สวัสดิการต่างๆ เพราะปัจจุบันพนักงานมหาวิทยาลัยได้จ่ายเงินให้กับระบบประกันสังคมอยู่แล้ว ดังนั้นควรมีการนำเงินดังกล่าวมาปรับเปลี่ยนรูปแบบการบริหารจัดการใหม่ โดยปรับเปลี่ยนรูปแบบ การให้สวัสดิการด้านสุขภาพจากการทำประกันสังคมมาใช้สิทธิประกันสุขภาพของสำนักงานหลัก ประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อลดความซ้ำซ้อนในด้านสิทธิประกันสุขภาพขั้นต่ำที่พึงมีพึงได้จากสวัสดิการของรัฐปกติ และสามารถนำเงินกองทุนสวัสดิการฯไปซื้อประกันสุขภาพเพิ่มเติมจากภาคเอกชน ที่ สปสช.ยังไม่สามารถจ่ายได้ เป็นต้น" รศ.ดร.พัทธนันท์กล่าว

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 20/9/2561

สั่งตั้งกรรมการสอบโกงเงินคนพิการรู้ผลใน 15 วัน

จากกรณีที่ นายปรีดา ลิ้มนนทกุล ประธานเครือข่ายพิทักษ์สิทธิคนพิการ ได้ยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ให้ตรวจสอบการทุจริตเงินคนพิการ โดยพบว่าตัวเลขการจ้างงานไม่ตรงกับสิทธิของคนพิการจริง และการจ่ายค่าตอบแทนการฝึกอบรมให้กับคนพิการไม่ตรงกับความจริง ซึ่งสร้างความเสียหายถึง 1,500 ล้านบาทต่อปี

เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2561 พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน แถลงว่า สำหรับการร้องเรียนตามข่าวนั้น พบว่ามีภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง 4 ส่วนคือ คนพิการ กองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เครือข่ายพิทักษ์สิทธิคนพิการ ภาครัฐ เพื่อให้ข้อเท็จจริงปรากฏ กระทรวงแรงงานได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงในส่วนที่เกี่ยวข้องขึ้น โดยมีรองปลัดกระทรวงแรงงานเป็นประธาน โดยให้เห็นผลภายใน 15 วัน ซึ่งนับตั้งแต่ปี 2552 ที่กระทรวงแรงงานได้ส่งเสริมการมีงานทำให้กับคนพิการนั้น พบว่า ยังไม่เคยได้รับการร้องเรียนเรื่องการทุจริตเงินคนพิการแต่อย่างใด

พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวว่า กระทรวงแรงงานมีภารกิจที่เกี่ยวข้องในการส่งเสริมการมีงานทำให้คนพิการ ตาม พ.ร.บ. ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ คือ

1. จัดหางานให้คนพิการมีงานทำตามมาตรา 33 คือ สถานประกอบการต้องรับคนพิการเข้าทำงานสัดส่วน 1:100 คน หากเกิน 50 คน ต้องรับเพิ่มอีก 1 คน โดยรูปแบบการให้บริการ คือ ขึ้นทะเบียนคนพิการที่ประสงค์จะทำงานกับนายจ้าง ที่สำนักงานจัดหางานหรือทางเว็บไซต์ www.doe.go.th/smartjob ประสานนายจ้าง/สถานประกอบการเพื่อรับแจ้งตำแหน่งงานว่างและแจ้งขอใช้สิทธิตามมาตรา 33 จับคู่ตำแหน่งงานว่างกับคนพิการให้มีความเหมาะสมกับ ส่งตัวคนพิการไปพบนายจ้างเพื่อสัมภาษณ์งาน ติดตามและประเมินผลการบรรจุงาน ซึ่งในปีงบประมาณ 2561 ตั้งแต่ตุลาคม 2560 – สิงหาคม 2561 มีคนพิการขึ้นทะเบียนหางานกับกรมการจัดหางาน จำนวน 1,979 คน และบรรจุงาน จำนวน 1,565 คน

2.การส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ตามมาตรา 34 นายจ้าง/สถานประกอบการ ที่มีหน้าที่ต้องจ้างคนพิการ แต่ไม่จ้างหรือจ้างไม่ครบตามจำนวนที่กำหนด ต้องส่งเงินเข้าโดยตรงที่กองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ซึ่งในปี 2561 มีนายจ้าง/สถานประกอบการส่งเงินเข้ากองทุนฯ จำนวน 14,623 คน คิดเป็น 22.49 % จำนวน 109,500 บาทต่อคนต่อปี ซึ่งในส่วนนี้กระทรวงแรงงานไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง

3.ส่งเสริมการมีงานทำให้คนพิการ ตามมาตรา 35 กรมการจัดหางาน โดยสำนักงานจัดหางานจังหวัด และสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่เป็นหน่วยงานรับแจ้งการขอให้สิทธิและขอใช้สิทธิตามมาตรา 35 แห่ง พ.ร.บ. ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ และระเบียบคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการให้สัมปทาน จัดสถานที่จำหน่ายสินค้าหรือบริการ จัดจ้างเหมาช่วงงานหรือจ้างเหมาบริการ โดยวิธีกรณีพิเศษ ฝึกงาน หรือจัดให้มีอุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวก ล่ามภาษามือ หรือให้ความช่วยเหลืออื่นใดแก่คนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการ โดยมีการดำเนินงานของสำนักงานจัดหางานจังหวัด และสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ ซึ่งได้รับแจ้งการให้สิทธิจากนายจ้าง/สถานประกอบการแล้วจะดำเนินการตรวจสอบ ดังนี้ 1) สิทธิที่ให้แก่คนพิการครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในระเบียบฯ หรือไม่ 2) มูลค่าของสิทธิที่ให้แก่คนพิการเป็นไปตามที่กำหนดไว้ระเบียบหรือไม่ 3) คนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการสามารถรับสิทธิที่นายจ้าง/สถานประกอบการให้ได้หรือไม่ เมื่อตรวจสอบครบถ้วนแล้ว จึงอนุญาตให้นายจ้าง/สถานประกอบการ ให้สิทธิแก่คนพิการ/ผู้ดูแลคนพิการตามที่แจ้ง จากนั้น สำนักงานจัดหางานจังหวัด และสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ จะส่งสำเนาเอกสารในการให้สิทธิแก่คนพิการ/ผู้ดูแลคนพิการทั้งหมด ไปยัง สำนักงานการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด และกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เพื่อติดตามและตรวจสอบสิทธิประโยชน์ของคนพิการต่อไป

ที่มา: ไบรท์ทีวี, 19/9/2561

คนไทยวัยแรงงาน ต้องการพัฒนาขีดความสามารถด้านอาหารโภชนาการมากที่สุด

นายภุชพงค์ โนดไธสง ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ เปิดเผยผลการสำรวจความต้องการพัฒนาขีดความสามารถของประชากร พ.ศ. 2561 พบว่า ประเทศไทยมีประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป จำนวน 56.16 ล้านคน เป็นผู้ต้องการพัฒนาขีดความสามารถ 4.76 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 8.5 ของประชากรอายุ 15 ปี ขึ้นไป

เมื่อเปรียบเทียบความต้องการพัฒนาขีดความสามารถของตนเองระหว่างชายกับหญิง พบว่าหญิงต้องการพัฒนาตนเองมากกว่าชาย โดยหญิงต้องการพัฒนาขีดความสามารถ 2.46 ล้านคน ส่วนชายต้องการพัฒนาขีดความสามารถ 2.30 ล้านคน

หากพิจารณาตามรายภาค พบว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีผู้ที่ต้องการพัฒนาขีดความสามารถร้อยละ 15.3 ภาคเหนือร้อยละ 8.6 ภาคใต้ร้อยละ 8.4 ภาคกลางร้อยละ 4.5 และกรุงเทพมหานคร ร้อยละ 3.7 ตามลำดับ

อีกทั้งยังพบว่า ประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป มีความต้องการพัฒนาขีดความสามารถหรือสนใจเข้ารับการเรียนรู้ 4.76 ล้านคน โดยต้องการที่จะพัฒนาขีดความสามารถด้านอาหารและโภชนาการมากที่สุด 6.21 แสนคน ด้านการเพาะปลูกและขยายพันธุ์พืช 5.83 แสนคน เสริมสวย 4.12 แสนคน ช่างยนต์และการบำรุงรักษา 3.67 แสนคน ตัดเย็บเสื้อผ้า 3.29 แสนคน ช่างไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 3.22 แสนคน ช่างกลโรงงาน 2.09 แสนคน ช่างก่อสร้าง 1.52 แสนคน การบัญชี การเงิน การธนาคาร 1.49 แสนคน การเลี้ยงสัตว์และการขยายพันธุ์สัตว์ 1.42 แสนคน ส่วนที่เหลือกระจายอยู่ในหลักสูตรด้านอื่นๆ ตามลำดับ

ที่มา: VoiceTV, 19/9/2561

เครือข่ายประมง ค้านร่างกฎหมายแรงงานบังคับ

กระทรวงแรงงานจัดประชุมเปิดรับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 5  เพื่อประกอบพิจารณาร่างพระราชบัญญัติป้องกันและขจัดการใช้แรงงานบังคับ พ.ศ. ...ที่กระทรวงแรงงาน แต่การประชุมเริ่มไปได้ไม่นานก็ต้องยุติลง  หลังผู้ประกอบการประมงกว่า 700 คน จาก 22 จังหวัดชายฝั่งทะเล  รวมตัวคัดค้านการพิจารณากลางคัน  เพราะไม่เห็นด้วยกับร่างพระราชบัญญัติป้องกันและขจัดการใช้แรงงานบังคับ พ.ศ. .... บางมาตราเอื้อประโยชน์ให้กับลูกจ้าง จนกระทบนายจ้าง

นายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ในฐานะนายกสมาคมประมงสมุทรสงคราม เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาผู้ประกอบ การประมง เคยคัดค้านกฎหมายฉบับนี้เพราะมีบางมาตราไม่เห็นด้วยแต่วันนี้กระทรวงแรงงานก็ยังหยิบหยกนำกลับมาพิจารณาอีกครั้ง ทำให้ผู้ประกอบการประมงทั่วประเทศไม่พอใจที่ไม่รับฟังเสียงสะท้อนของพวกเขา ซึ่งหากกฎหมายบังคับใช้ ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อนายจ้างในกิจการประมงแต่ยังทำให้นายจ้างในกิจการอื่นๆทั่วประเทศได้รับความเดือดร้อนด้วย เนื่องจากกฎหมายฉบับนี้ เน้นให้ความคุ้มครองกับลูกจ้าง โดยเฉพาะในมาตรา6 (1)ที่ระบุว่า หากนายจ้างครอบครองเอกสารสำคัญใดๆของลูกจ้าง ทำให้เสียประโยชน์ ถือว่ามีความผิด ถือว่าไม่เหมาะสม เพราะหากนายจ้างเก็บเอกสารให้เพราะกลัวสูญหาย หรือเพื่อแสดงต่อเจ้าหน้าที่เมื่อถูกตรวจสอบ แต่เมื่อลูกจ้างไม่พอใจ กล่าวหาว่าถูกยึดเอกสารเพื่อให้ทำงานต่อ นายจ้างก็ถือว่ามีความผิด ถูกดำเนินคดีทันที   

ไม่ต่างจากมาตรา 6 (4) ที่ระบุว่า หากนายจ้างไม่จ่ายค่าจ่าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุดตามที่สัญญาจ้างกำหนด ถือว่ามีความผิดอาจกระทบนายจ้างรายเล็กอย่างผู้ประกอบการ SME พ่อค้าแม่ค้าที่รายได้แต่ละเดือนไม่แน่นอนบางครั้งต้องเลื่อนจ่ายเงินเดือนออกไปเพราะมีความจำเป็น หากกฎหมายบังคับใช้ อาจเป็นช่องว่างที่เอื้อต่อลูกจ้างที่ไม่พอใจ ก็ไปร้องเรียนต่อรัฐ เข้าข่ายแรงงานบังคับ นายจ้างถูกจับดำเนินคดี 

นายมงคล กล่าวต่อว่า มาตรา6(5) ก็เช่นกัน ที่ระบุว่า นายจ้างต้องจัดเวลาพัก ให้ลูกจ้าง ตนมองว่างานแต่ประเภทมีลัษณะการทำงานไม่เหมือนกัน อย่างประมงเวลาพักไม่แน่นอน เมื่อออกเรือแล้วหาปลามาได้จำนวนมาก ลูกจ้างอาจต้องทำงานต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้ปลาเน่าเสียหาย หากลูกจ้างไม่อยากทำแล้วไปร้องเรียน นายจ้างก็มีความผิด ต้องรับโทษและโทษที่ได้รับก็สูงเพิ่มเป็น 2 เท่าจากเดิม 5 ปีเป็น 10 ปี และเป็นคดีอาญาที่ยอมความกันไม่ได้ แม้นายจ้างจะยินยอมจ่ายค่าชดเชยให้แล้วก็ตาม  ซึ่งตนมองว่ามันรุนแรงเกินไป  ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง

‘กฎหมายฉบับนี้ยังให้อำนาจหน้าที่แก่เจ้าหน้าที่รัฐอย่างเต็มที่ออกตรวจได้ค้นได้เต็มที่ อาจเป็นช่องว่างที่เจ้าหน้าที่อาศัยช่องว่างนี้ในการเรียกรับผลประโยชน์จากนายจ้าง ดังนั้นจึงเรียกร้องให้ กระทรวงแรงงานควรแก้ไขในมาตราที่เป็นปัญหา การดูแลสิทธิแรงงาน กลุ่มนายจ้างไม่ได้คัดข้อง แต่กฎหมายเอื้อประโยชน์ทั้ง2 ฝ่าย ทั้งนายจ้างและลูกจ้าง เพราะการประกอบอาชีพ ทั้ง 2 ฝ่ายต้องเดินไปด้วยด้วย ขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไม่ได้ อันไหนที่ไม่ดีบกพร่องต้องปรับให้เข้าที่ เพราะนายจ้างดีๆมีอีกมากกว่านายจ้างไม่ดี’ นายมงคล กล่าว  และว่า  หากกระทรวงแรงงาน ไม่มีการแก้ไขตามที่เรียกร้อง เครือข่ายนายจ้างกว่า 50,000คน ทั่วประเทศจะรวมตัวบุกไปที่สภา เพื่อประท้วงไม่ยอมรับกฎหมายฉบับนี้เด็ดขาด

ด้านนายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ในเบื้องต้นรับหลักการไว้พิจารณา โดยจะรับฟังความเห็นจากทุกฝ่ายเพื่อให้กฏหมายบังคับใช้ เป็นกลางมากที่สุด ไม่กระทบฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ซึ่งการรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ เพื่อนำมาวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว อย่างรอบด้าน และนำมาประกอบการพิจารณา ตามกระบวนการของกฏหมาย ซึ่งนายจ้าง ผู้ประกอบการ จากหลายประเภทกิจการ ได้ร่วมแสดงความคิดเห็นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะภาคประมง หากมีผลบังคับใช้ ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบอย่างไร กระทรวงแรงงานจะรวบรวมความคิดเห็นนำเสนอตามขั้นตอนต่อไป

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 19/9/2561

คนพิการร้อง กสม.จี้สอบสมาคม-มูลนิธิฯ โกงเงิน อมเงินค่าจ้างฝึกอบรม ทำรัฐเสียหายกว่า 1,500 ล้าน

นายปรีดา ลิ้มนนทกุล ประธานเครือข่ายพิทักษ์สิทธิคนพิการ เข้ายื่นหนังสือต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ผ่านนายอัญญะรัฐ เอ่งฉ้วน ผู้อำนวยการสำนักคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ขอให้ตรวจสอบการละเมิดสิทธิและปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมกับคนพิการ โดยนายปรีดา กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมให้คนพิการมีงานทำสามารถพึ่งพาตัวเองได้ไม่เป็นภาระแก่สังคมจึงมี พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ซึ่งดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2550 โดย มาตรา 33 กำหนดว่าให้สถานประกอบการที่มีการจ้างงานตั้งแต่ 100 คนขึ้นไปต้องจ้างคนพิการ 1 คน หากสถานประกอบการใดไม่สะดวกจะจ้างงานคนพิการมาตรา 35 ก็กำหนดให้จ่ายเงินสมทบเพื่อเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแทนในอัตรา 109,500 ต่อคนต่อปีตามสัดส่วนที่ต้องจ้างจริง จากการตรวจสอบพบว่าคนพิการได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมตามมาตรา 33 ระบุตัวเลขคนพิการถูกจ้างงานจำนวน 25,000 คน แต่มีการทำงานจริงแค่ 20,000 คน ส่วนที่เหลืออีก 5,000 คน นอนอยู่กับบ้านเฉยๆ ไม่รู้ว่าตัวเองมีสิทธิได้รับสวัสดิการการจ้างงานเดือนละ 9,500 บาท จึงถูกสมาคมคนพิการและมูลนิธิช่วยเหลือคนพิการต่างๆหักหัวคิวโดยจ่ายให้คนพิการเพียงเดือนละ 500 - 3,000 บาท ทั้งนี้ประมาณการว่าความเสียหายที่เกิดจากมาตรา 33 ประมาณ 500 ล้านบาทต่อปี

นายปรีดา กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ในมาตรา 35 ที่กำหนดให้สถานบริการที่ไม่ประสงค์จะจ้างานคนพิการโดยให้จ่ายเงินค่าจ้างสมทบให้กับกองทุนฯ เป็นช่องทางทำให้เกิดการคอร์รัปชั่น 1,000 ล้านบาทต่อปี โดยช่องทางนี้สมาคมและมูลนิธิต่างๆ จะเป็นผู้รวบรวมรายชื่อคนพิการจากจังหวัดต่างๆ ส่งไปยังกรมส่งเสริมพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เพื่อเสนอโครงการจัดอบรมฝึกอาชีพให้กับคนพิการ ซึ่งช่องทางดังกล่าวทำให้เกิดมีนายใหญ่เข้ามาทุจริตทั้งค่าจ้างวิทยากรและเงินในการจัดฝึกอบรมเช่น ตั้งเบิกค่าวิทยากร 300,000 บาท จ่ายจริง 30,000 บาท หรือโครงการอบรม 6 เดือน ดำเนินการจริงแค่ 3 เดือน บางจังหวัดข้าราชการระดับผู้อำนวยการสำนักงาน ขอหัวคิวคนพิการหัวละ 9,500 ต่อคนต่อปี แลกกับการอนุมัติจัดฝึกอบรมทุกโครงการ โดยทั้งหมดทำกันเป็นขบวนการ

"การทุจริตเงินคนพิการจาก มาตรา 33 และ 35 สร้างความเสียหายถึง 1,500 ล้านบาทต่อปี คนพิการที่ผ่านการฝึกอบรมอาชีพต้องได้รับเงิน 109,500 บาท ต่อคนต่อปี แต่คนพิการไม่รู้สิทธิของตัวเอง เพราะคนพิการที่มีศึกษาระดับปวช.-ปริญญาเอกมีไม่ถึง 30,000 คน การทุจริตดังกล่าวจึงมีความเสียหายมากกว่าการโกงเงินคนจน เพราะตัวเลขคนพิการทั่วประเทศมากกว่า 1.9 ล้านคน เงินกองทุนส่งเสริมคนพิการจึงมีมากถึง 6,000 ล้านบาทต่อปี โดยที่ผ่านมาผมพยายามจะต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมจนถูกข่มขู่คุกคามหลายรูปแบบ คนพิการที่เคยร่วมต่อสู้ด้วยกันมาก็ถูกอุ้มขึ้นรถตู้ไปเจรจาให้รับเงิน 20,000 แลกกับการเซ็นยินยอมไม่ดำเนินคดี จึงเชื่อว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปสนับสนุนหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ" นายปรีดา กล่าวและว่าก่อนหน้านี้ได้เดินทางไปยื่นเรื่องที่ทำเนียบรัฐบาลมาแล้ว และอยากให้นายกรัฐมนตรีตั้งคณะทำงานขึ้นมาตรวจสอบโดยไม่มี 2 หน่วยงานคือกรมการจัดหางาน กับ พม. มาร่วมเป็นกรรมการ ซึ่งทางเครือข่ายพร้อมให้ข้อมูลโดยสามารถระบุรายชื่อนายใหญ่ในแต่ละขั้นตอนได้ทั้งหมด

ที่มา: MGR Online, 17/9/2561

แนะนายจ้างจัดสวัสดิการนอกเหนือกฎหมายในรูปแบบการออมให้ลูกจ้าง สร้างหลักประกันพร้อมก้าวสู่สังคมสูงวัย

นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยว่า กสร.ได้ส่งเสริมให้นายจ้าง สถานประกอบกิจการจัดสวัสดิการเพื่อเตรียมความพร้อมให้กับลูกจ้างในการก้าวสู่สังคมสูงวัย ทั้งนี้ข้อมูลสำมะโนประชากรและเคหะ พ.ศ. 2553 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ บ่งชี้ว่าจำนวนประชากรผู้สูงอายุมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และส่งผลให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยในอนาคต สำหรับรูปแบบของสวัสดิการที่ได้ส่งเสริมให้สถานประกอบกิจการดำเนินการ ได้แก่ การจัดสวัสดิการเกี่ยวกับสุขภาพ เช่น การจัดกิจกรรมการออกกำลังกาย การตรวจสุขภาพประจำปี การจัดตั้งชมรมสุขภาพ  เป็นต้น การจัดสวัสดิการด้านเศรษฐกิจได้ส่งเสริมในเรื่องของการจัดทำบัญชีครัวเรือน การสร้างวินัยการออม รวมไปถึงการสร้างกลไกด้านการออมด้วยการจัดตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ในสถานประกอบกิจการ เพื่อให้ลูกจ้างมีเงินสะสมไว้ใช้หลังเกษียณอายุ และในกรณีมีความจำเป็นสามารถกู้ยืมได้โดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์มาค้ำประกันและเสียดอกเบี้ยต่ำซึ่งจะช่วยป้องกันและแก้ไขปัญหาการกู้ยืมเงินจากแหล่งเงินกู้นอกระบบให้กับลูกจ้างอีกทางหนึ่งด้วย

อธิบดี กสร. กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดสวัสดิการเพื่อเตรียมความพร้อมก้าวสู่สังคมสูงวัย จะช่วยให้ลูกจ้างสามารถพึ่งพิงตนเองได้ทั้งในเชิงสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคม นายจ้าง สถานประกอบกิจการที่สนใจ สอบถามได้ที่กองสวัสดิการแรงงาน โทรศัพท์ 0 2246 6774 หรือ 0 2246 0383

ที่มา: กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน, 17/9/2561

เมียนมาจัดงานวันต่อต้านการค้ามนุษย์ แรงงานพม่ากว่า 100 ร้องถูกหลอกในไทย

เมื่อวันที่ 16 ก.ย. 2561 ที่สนามข้างกองบังคับการตำรวจภูธร จังหวัดเมียวดี ประเทศเมียนมา ตรงข้ามบ้านริมเมย ตำบลท่าสายลวด อ.แม่สอด จ.ตาก แรงงานจังหวัดเมียวดี ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ จัดงานวันต่อต้านการค้านุษย์ขึ้นมา โดยมีนายอูโซ หลุ่ย ผู้ว่าราชการจังหวัดเมียวดี เป็นประธาน และมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หัวหน้าส่วนราชการ แรงงานเมียนมา พร้อมนักศึกษา นักเรียน กว่า 1,000 คน ไปร่วมงาน ในงานมีการบรรยายให้ความรู้กฏหมายแรงงาน การรู้เท่าทันเรื่องการค้ามนุษย์ ขั้นตอนการไปขายแรงงานในต่างประเทศ ซึ่งได้ความสนใจจากแรงงานเมียนมา และบริษัทเอกชน มาก

นายตายี หัวหน้าศูนย์ช่วยเหลือแรงงานต่างด้าว ให้สัมภาษณ์ ที่จังหวัดเมียวดี ว่าการค้ามนุษย์ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง โดยแรงงานเมียนมาถูกหลอกโดยนายหน้า ซึ่งมีแรงงานถูกหลอกไปต่างประเทศเช่น ที่ประเทศอินโดนีเซีย และประเทศอื่นๆเป็นต้น จึงขอให้แรงงานเมียนมาต้องระมัดระมัดระวัง

นอกจากนี้ มีแรงงานเมียนมา 100 คน ที่เดินทางไปขายแรงงานในประเทศไทย ถูกหลอกโดยถือหนังสือเดินทางของประเทศเมียนมา แต่เมื่อถึงชายแดน จ.ตาก ฉวยโอกาสลักลอบเข้าเมืองผ่านชายแดนแม่สอด ข้ามพื้นที่ไปทำวีซ่า ที่ จ.สมุทรสาคร ซึ่งแทนที่จะเข้ามาทำวีซ่าที่ชายแดนตาก ทำให้ไม่มีข้อมูลในระบบการเข้าเมืองของไทย และยังผิดกฏหมาย จึงถูกจับ และส่งกลับไปด้าน จ.ตาก ซึ่งแรงงานเมียนมา 100 คนนี้ เสียเงินให้นายหน้า 7,000 บาท โดยนายหน้าหัก 2,000 บาท ให้เจ้าหน้าที่ 5,000 บาท ในการตีตราวีซ่าเข้าเมือง

นางมะขิ่น แรงงานเมียนมา ที่ไปร่วมงานกล่าวว่า อยากให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ช่วยกันดูแลปัญหาการค้ามนุษย์ และแรงงานเมียนมาถูกหลอกลวงด้วย เพราะปัญหาการค้ามนุษย์ยังมีอยู่

ที่มา: มติชนออนไลน์, 17/9/2561

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net