ใจ อึ๊งภากรณ์: วิกฤตขยะพลาสติกรกโลก

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ทุกๆ ปีมีการผลิตพลาสติกเท่ากับน้ำหนักมนุษย์ทุกคนบนโลกนี้ และคาดว่าในปี 2050 จะมีพลาสติกในทะเลมากกว่าปลา นักวิจัยบางคนเสนออีกว่าคนที่กินอาหารทะเลเป็นประจำจะกลืนเศษพลาสติกเล็กๆ จากปลาหมื่นกว่าชิ้น ซึ่งเรายังไม่ทราบว่าจะมีผลอะไรต่อสุขภาพ


ปลาวาฬกลืนพลาสติกจนตาย

ปัญหาขยะพลาสติกได้กลายเป็นวิกฤตสำหรับสิ่งแวดล้อมและความอยู่ดีกินดีของมนุษย์และสัตว์โดยทั่วไป ทั้งนี้เพราะผลผลิตพลาสติกใช้เวลาเป็นศตวรรษก่อนที่มันจะเน่าเปื่อย และเพราะการผลิตพลาสติกในรอบ 50 ปี เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล

เมื่อสมัยผมเป็นเด็ก น้ำอัดลมมักจะขายในขวดแก้วที่ดื่มแล้วส่งกลับไปที่โรงงานเพื่อใช้ต่อไปอีกหลายครั้ง แต่ในยุคนี้ทุกวินาทีโรงงานอุตสาหกรรมของโลกผลิตขวดพลาสติก 16,000 ขวด และบริษัทโคคาโคลาบริษัทเดียวผลิตขวดพลาสติกหนึ่งแสนล้านขวดต่อปี เพราะการผลิตขวดพลาสติกเพื่อใช้ครั้งเดียวถูกกว่าการใช้ขวดแก้วที่ต้องนำไปล้าง

เมื่อสมัยผมเป็นเด็ก เวลาเราจะซื้ออาหารที่ขายกันหน้าปากซอยไปกินที่บ้าน เราจะใช้ปิ่นโตที่ยกไปที่ร้านแล้วให้เขาเติมอาหารลงไป แต่ในยุคนี้เราจะซื้ออาหารในถุงพลาสติกแทน และถุงพลาสติกเป็นสิ่งที่สร้างปัญหาขยะเช่นกัน

การค้นพบวิธีผลิตพลาสติกผูกพันกับการพัฒนาอุตสาหกรรมน้ำมันอย่างใกล้ชิด เพราะพลาสติกเป็นผลผลิตจากการกลั่นน้ำมัน การขยายตัวของการผลิตพลาสติกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หลังสงครามโลกครั้งที่สอง และมีทั้งคุณและโทษต่อสังคม ในด้านประโยชน์การผลิตพลาสติกในรูปแบบต่างๆ ทำให้สามารถพัฒนาเทคโนโลจีทางการแพทย์ได้ และเป็นวัตถุที่มีประโยชน์ในเครื่องมือไฟฟ้า ฯลฯ อย่างไรก็ตามการขยายตัวของการผลิตขวด หลอด และถุงพลาสติกชนิดที่ใช้แล้วทิ้ง กลายเป็นวิกฤตสำหรับเราในยุคนี้

กระแสต่อต้านขยะพลาสติกทำให้บริษัทใหญ่และรัฐบาลในบางประเทศปรับตัว เช่นในหลายประเทศของยุโรปมีการพยายามยกเลิกการให้ถุงพลาสติกในร้านค้า หรือลดปริมาณการขายกาแฟในถ้วยพลาสติกเป็นต้น บางแห่งมีการเก็บขยะพลาสติกไปรีไซเคิลหรือไปแปรรูปผ่านการหลอมและใช้ใหม่ แต่ในความเป็นจริง บริษัทใหญ่ใช้พลาสติกที่มาจากการรีไซเคิลแค่ 6.6% ของการผลิตเท่านั้น เพราะการผลิตขวดพลาสติกใหม่ราคาถูกกว่าการรีไชเคิล ยิ่งกว่านั้นราคาขยะพลาสติกตกต่ำลงจนไม่คุ้มค่าสำหรับบริษัทต่างๆ ที่จะขนไปรีไซเคิล ดังนั้นมีการนำไปฝังดินหรือทิ้งในทะเลแทน

เรื่องเงินเรื่องทองเป็นหัวใจของเรื่อง เพราะในระบบทุนนิยม รูปแบบการผลิตทุกอย่างถูกกำหนดจากปริมาณกำไรที่กลุ่มทุนจะได้ ถ้าการผลิตถุงหรือขวดพลาสติกสร้างกำไรมากกว่าการลดพลาสติก กลุ่มทุนจะทำต่อไปไม่ว่าจะสร้างปัญหาอะไรให้กับชาวโลก

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน: https://turnleftthai.wordpress.com/2018/09/23

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท