หอศิลป์กรุงเทพฯ ไร้งบจาก กทม. 2 ปีติด ผู้บริหารยันไม่ปิด รัดเข็มขัด ลดกิจกรรม

นัดแต่งชุดดำ 26 ก.ย.นี้ ผู้บริหารหอศิลป์จัดงานแถลงนโยบายรัดเข็มขัด จากเหตุสำนักวัฒนธรรมกีฬาและการท่องเที่ยวไม่ให้งบหอศิลป์กรุงเทพฯ ปี 61-62 โดยปี 61 กทม. ไม่อนุมัติงบ 40 ล้านทั้งที่ระบุในสัญญา ขณะที่ค่าใช้จ่ายปี 54-60 รวม 426 ล้านบาท และก่อนหน้านี้มีข่าว กทม.จะเข้าบริหารหอศิลป์เอง แต่โดนต้านจึงล้มเลิก

ภาพบริเวณหน้าหอศิลป์ฯ ซึ่งเป็นพื้นที่จัดกิจกรรม 'เลือกตั้งที่(รัก)ลัก' เมื่อวันที่ 14 ก.พ.2558

24 ก.ย.2561 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีการแชร์ข้อความจากผู้ใช้เฟสบุ๊ก 'Thida Plitpholkarnpim' ของ ธิดา ผลิตผลการพิมพ์ บรรณาธิการนิตยสาร Bioscope ซึ่งโพสต์ข้อความเกี่ยวกับหอศิลป์ กทม. ระบุว่า ดังที่เราเคยได้ยินข่าวเมื่อหลายเดือนก่อนว่า มีความพยายามของกทม.ที่จะยึดหอศิลป์ไปบริหารเอง แม้การต่อต้านของหลายๆ ฝ่ายจะทำให้ความพยายามนั่นเงียบไป แต่ตอนนี้ท่าทางบานปลายกว่าที่คิด เพราะข่าวล่าสุด ไม่มีงบจาก กทม. 2 ปีติด หอศิลป์วิกฤติหนัก แต่ผู้บริหารยันไม่ปิด ต่อลมหายใจด้วยมาตรการรัดเข็มขัด ตัดนิทรรศการ ลดกิจกรรม ลดเวลาทำการ งานระดับชาติบางกอกเบียนนาเล่ เทศกาลละคร ร้านค้า ผู้ใช้บริการเดือดร้อนถ้วนหน้า

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า วันที่ 26 ก.ย.นี้ มีการนัดหมายว่า ผู้บริหาร พนักงาน และเจ้าหน้าที่ของหอศิลป์ฯ ศิลปิน จะพร้อมใจกันกันแต่งชุดดำ พร้อมเชิญชวนผู้ที่ไม่เห็นด้วยแต่งชุดดำเข้าร่วมงาน เวลา 13.30 น. ชั้น 1 ห้องเอนกประสงค์ เพื่อแถลงนโนบายรัดเข็มขัด กรณีที่ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร และผู้อำนวยการสำนักวัฒนธรรมกีฬาและการท่องเที่ยวไม่ให้งบประมาณในการดำเนินกิจกรรมในปี 2561 และ 2562 รวมทั้งศิลปินและผู้สนับสนุนหอศิลป์ฯ ยังนัดกันแสดงออกด้วยการแต่งกายชุดดำที่หอศิลป์ในวันเดียวกัน ขณะที่บนโซเชียลมีเดีย ข้อความจำนวนมากถูกส่งต่อผ่านแฮชแท็ก saveYOURbacc หรือ “รักษาหอศิลป์ฯ ของคุณ” ตั้งแต่เมื่อวานนี้

‘อัศวิน’ เคยโดนต้านหนัก หลังมีข่าว กทม. จะเข้าบริหารหอศิลป์ฯ เอง

โดยก่อนหน้านี้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ระบุว่า มีแนวคิดที่ กทม.จะเข้ามาบริหารหอศิลป์ กรุงเทพฯ และต้องการพัฒนาพื้นที่ในหอศิลป์ ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของเยาวชนผ่านรูปแบบโคเวิร์คกิ้งสเปซ (co-working space)

ทำให้บุคคลที่ทำงานในวงการสร้างสรรค์ ผ่านโซเชียลมีเดีย และการรวบรวมรายชื่อผ่านแคมเปญรณรงค์ คัดค้านกรุงเทพมหานครเข้ามาบริหารจัดการหอศิลป์ กรุงเทพฯ ผ่าน เว็บไซต์ change.org ที่ปัจจุบันมีผู้สนับสนุน 20,636 คน แล้ว หลังจากนั้น พล.ต.อ.อัศวิน ได้โพสต์บนเฟซบุ๊ก "ผู้ว่าฯ อัศวิน" วันที่ 14 พ.ค. โดยยอมถอยแนวคิดดังกล่าว โดยระบุว่า ไม่เคยคิด และไม่มีทางที่จะทำลายสถานที่แสดงศิลปะและวัฒนธรรมของประเทศเรา เพียงแต่ต้องการพัฒนาสถานที่แห่งนี้ให้ได้ใช้ประโยชน์สูงสุด แต่ติดที่ระเบียบและกฎหมายที่มอบกิจการให้กับมูลนิธิ ถ้าประชาชนไม่เห็นด้วย กทม.ก็จะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับพัฒนาในพื้นดังกล่าว

ปี 61 กทม. ไม่อนุมัติงบ 40 ล้าน ทั้งที่ระบุในสัญญา ขณะที่ค่าใช้จ่ายปี 54-60 รวม 426 ล้าน

ขณะเดียวกัน ปวิตร มหาสารินันทน์ ผู้อำนวยการหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ได้เคยระบุไว้กับไทยรัฐออนไลน์ เมื่อวันที่ 14 พ.ค. ที่ผ่านมาว่า กลางปีที่แล้วสภา กทม.ไม่อนุมัติงบที่ขอไปเพื่อใช้ปีนี้ 40 ล้านบาท ตามแผนงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2561 ที่มีผลตั้งแต่ 1 ต.ค.2560 โดยสภากทม.เสนอว่าหากจะขอใช้งบให้อยู่ในการพิจารณาของสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กทม. โดยทางมูลนิธิหอศิลป์กรุงเทพฯ ต้องเสนอโครงการเพื่ออนุมัติทีละโครงการ และที่ผ่านมาก็เสนอโครงการไปแล้ว บางโครงการใช้งบ 5 แสนบาท แต่ก็ยังไม่ได้รับอนุมัติใดๆ ดังนั้นค่าใช้จ่ายตั้งแต่เดือนต.ค. 60 จึงเป็นรายได้ที่เหลืออยู่จากช่วงหลายปีที่ผ่านมา และงบรายได้ที่มูลนิธิหอศิลป์กรุงเทพฯ ให้เช่าพื้นที่ และจากเอกชนผู้สนับสนุน

“ที่ผ่านมาได้งบประมาณกทม.ปีละประมาณ 40-60 ล้านบาท รวม 7 ปีประมาณ 322 ล้านบาท และมาจากมูลนิธิหอศิลป์กรุงเทพฯ บริหารพื้นที่ต่างๆ และผู้สนับสนุน ประมาณ 144 ล้านบาท ส่วนค่าใช้จ่าย 7 ปี ประมาณ 426 ล้านบาท โดยรวมจึงยังเหลืองบอีกประมาณ 40 ล้านบาท

“ในปีล่าสุด คือปี 2560 ได้งบจากกทม. 45 ล้านบาท มูลนิธิหอศิลป์กรุงเทพฯ หารายได้เอง 37 ล้านบาท และมีค่าใช้จ่าย 75 ล้านบาท ส่วนจำนวนประชาชนที่เข้ามาที่หอศิลป์ฯ ก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากปี 2558 มี 1.1 ล้านคน ปี 2559 จำนวน 1.2 ล้านคน และปี 2560 มี 1.7 ล้านคน มูลนิธิบริหารพื้นที่นี้มาตั้งแต่ปี 2551 แต่ช่วง 3 ปีแรกยังไม่มีสัญญาโอนสิทธิ์ มูลนิธิจึงหารายได้จากการบริหารพื้นที่ไม่ได้ แต่นับตั้งแต่ปี 2554 ได้ทำสัญญาการโอนสิทธิ์ มีอายุสัญญา 10 ปีสิ้นสุดปี 2564 โดยตามสัญญา กทม. ต้องจัดสรรงบส่วนหนึ่งเพื่อบริหารจัดการพื้นที่ด้วย” ปวิตร กล่าว

หอศิลป์ พื้นที่ชุมนุมทางการเมือง แม้ตอนนี้จะทำไม่ได้เพราะขัด พ.ร.บ. ชุมนุมฯ

ทั้งนี้หอศิลป์กรุงเทพฯ ยังเคยเป็นพื้นที่ทางการเมืองในจัดเสวนาและจัดการชุมนุมของประชาชนกลุ่มต่างๆ สาเหตุส่วนหนึ่งเป็นเพราะเป็นจุดที่ค่อนข้างสะดวกต่อการเดินทาง แม้จะมีกิจกรรมบางส่วนที่ไม่ได้รับอนุญาตให้จัด เช่น ในปี 55 งาน ‘แขวนเสรีภาพ’ ซึ่งมีทั้งการฉายภาพยนตร์ ปาฐกถา และการบรรยายทางวิชาการ หรือภายหลังไม่ได้เป็นการบอกโดยตรง แต่มีป้ายเขียนที่ลานหน้าหอศิลป์ว่า “อยู่ระหว่างการปรับปรุงพื้นที่” และบางครั้งก็เกิดจากเจ้าหน้าที่โทรศัพท์มาหาหอศิลป์ว่างานนั้นเข้าข่ายการชุมนุมทางการเมือง ซึ่งผิดคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/58 จนหอศิลป์ต้องยกเลิกการจัดงานนั้น เช่น ปี 59 งานเสวนา ‘รัฐธรรมนูญใหม่ เอาไงดีจ๊ะ?’ และในปีเดียวกัน กิจกรรม PetchaKucah 20x20 หัวข้อ "รัฐธรรมนูญ"

ภาพบริเวณหน้าหอศิลป์ฯ ซึ่งเป็นพื้นที่จัดกิจกรรม 'เลือกตั้งที่(รัก)ลัก' เมื่อวันที่ 14 ก.พ.2558 ซึ่งมีการล้อมรั้วและติดป้าย "อยู่ระหว่างการปรับปรุงพื้นที่" โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจตรึงกำลังอยู่ด้านใน (ที่มาภาพ freedom.ilaw.or.th)

นอกจากนี้ที่ผ่านมาลานหน้าหอศิลป์กรุงเทพฯ ก็ใช้เป็นจัดกิจกรรมชุมนุมตั้งแต่ การชุมนุมประท้วงสร้างเขื่อนแม่วงก์ปี 2556 ชุมนุมประท้วงต้านรัฐประหาร ปี 2557-2558 แต่ภายจากมี พ.ร.บ. การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 หอศิลป์กรุงเทพฯ ได้ถูกเจ้าหน้าที่ระบุว่าอยู่ในรัศมี 150 เมตรจากวังสระปทุมตามมาตรา 7 ที่บัญญัติว่า "การจัดการชุมนุมสาธารณะในรัศมี 150 เมตรจากพระบรมหาราชวัง พระราชวัง วังของรัชทายาทหรือพระบรมวศ์ตั้งแต่สมเด็จเจ้าฟ้าขึ้นไป พระราชนิเวศน์ พระตําหนักหรือจากที่ซึ่งพระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท พระบรมวงศ์ตั้งแต่สมเด็จเจ้าฟ้าขึ้นไป หรือผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ ประทับหรือพำนัก หรือสถานที่พํานักของพระราชอาคันตุกะ จะกระทํามิได้"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท