ศาลสั่งจำคุก 3 จำเลย คดีปล้นนักท่องเที่ยวต่างชาติ 12 ปี แม้สู้ถูกซ้อมให้รับสารภาพในชั้น ตร.

ศาลจังหวัดหัวหินลงโทษจำคุกจำเลย คดีปล้นทรัพย์นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติจากคำรับสารภาพในชั้นสอบสวน คำรับสารภาพในชั้นสอบสวนเกิดจากการซ้อมทรมาน ห้ามไม่ให้รับฟัง จ่ออุทธรณ์คำพิพากษาของศาลต่อไป 'มูลนิธิผสานวัฒนธรรม' ชี้แนวโน้มการพิพากษาคดีของศาลในหลายคดีให้น้ำหนักและรับฟังคำรับสารภาพในชั้นสอบสวนเพื่อลงโทษจำเลยมากขึ้น โดยเฉพาะคดีที่กระทำผิดต่อนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ คดีที่เป็นที่สนใจของสังคม และคดีความมั่นคง

24 ก.ย.2561 มูลนิธิผสานวัฒนธรรม รายงานว่า เมื่อวันที่ 19 ก.ย.ผ่านมา ศาลจังหวัดหัวหินมีคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ ทอ.2/2560 ระหว่างพนักงานอัยการจังหวัดหัวหิน โจทก์ ณัฐวัตร หรือเจมส์ หรือเจมส์หรอ หรือเจมส์หลอ ธนัฏฐิกาญจนา หรือธนัฎฐิกาญจนา ที่ 1 กับพวกรวมสามคน จำเลย โดยพิพากษาจำคุกจำเลยทั้งสามคนละ 18 ปี ปรับคนละ 900 บาท คำรับสารภาพของจำเลยที่ 1 ในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดี จึงลดโทษจำเลยที่ 1 คงจำคุก 12 ปี ปรับ 600 บาท

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม รายงานรายละเอียดเกี่ยวกับคดีนี้ว่า เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 26 ก.ค. 2559 นักท่องเที่ยวชาวอิตาลี และชาวโมรอคโคได้แจ้งความร้องทุกข์ไว้ที่ สภ.สามร้อยยอด ว่าในวันดังกล่าว เวลาประมาณตีสามครึ่งถึงตีสี่ ทั้งสองได้ถูกคนร้ายซึ่งใช้จักรยานยนต์เป็นพาหนะ ร่วมกันทำร้ายร่างกายแล้วปล้นทรัพย์ ณ บริเวณริมถนนปราณบุรี-สามร้อยยอด หมู่ที่ 1 ตำบลสามร้อยยอด อำเภอสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ต่อมาตำรวจชุดจับกุมได้จับกุมจำเลยที่ 1 โดยให้การรับสารภาพและซัดทอดจำเลยอื่น เจ้าหน้าที่จึงจับกุม จำเลยที่ 2 และ 3 ซึ่งให้การปฏิเสธ หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ปฏิเสธว่าไม่ได้กระทำผิดและได้กลับคำให้การโดยร้องเรียนมูลนิธิผสานวัฒนธรรมว่าตนถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจบางคนในชุดจับกุมซ้อมทรมานให้รับสารภาพ และเพื่อนสาวที่อยู่กับตนในขณะถูกจับกุมก็ถูกชายคนหนึ่งที่ทำงานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจลวนลามทางเพศ มูลนิธิฯ จึงได้ส่งเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิฯ ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบกรณีร้องเรียนดังกล่าว และพบพยานหลักฐานน่าเชื่อว่าจำเลยที่ 1 ถูกซ้อมทรมานให้รับสารภาพจริง และพยานหลักฐานที่พนักงานสอบสวนนำมากล่าวหาจำเลยทั้งสามมีพิรุธและไม่น่าเชื่อถือ จึงได้ร่วมกับ Innocence Project ให้ความช่วยเหลือจัดหาทนายความให้แก่จำเลยในคดีนี้

ในการพิจารณาคดี ทางนำสืบของโจทก์ไม่พบทรัพย์ของกลางที่ได้จากการปล้นทรัพย์ มีเพียงคำรับสารภาพในชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 และคำให้การของผู้เสียหายที่ 2 ในชั้นสอบสวนและชั้นสืบพยานก่อนฟ้อง ซึ่งในขั้นตอนดังกล่าว ทนายความมูลนิธิฯ และ innocence Project ที่ให้ความช่วยเหลือยังไม่ได้เข้าไปในคดี โดยคำให้การพยานโจทก์มีข้อพิรุธน่าสงสัยอยู่หลายประการ เช่นคำให้การชั้นสอบสวนและคำเบิกความในชั้นศาลของผู้เสียหายที่ 2 ขัดแย้งกันเอง พยานโจทก์ซึ่งได้ให้ความช่วยเหลือผู้เสียหายในคืนเกิดเหตุ ก็เบิกความต่อศาลว่าผู้เสียหายทั้งสองมีอาการเมาสุรา   

ส่วนจำเลยทั้งสามนำสืบโดยอ้างฐานที่อยู่ โดยมีพยานพยานบุคคลและหลักฐานเป็นกล้องวงจรปิดของโรงแรมซึ่งจำเลยที่ 1 และที่ 3 พักอาศัยอยู่กับพยานซึ่งเป็นหญิงสาวอีก 2 คน ในคืนเกิดเหตุตั้งแต่เวลาก่อนเที่ยงคืนจนกระทั่งถึงเวลา 10 นาฬิกาเศษของวันรุ่งขึ้น โดยไม่มีภาพปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ที่ 3 ออกไปจากโรงแรมดังกล่าวแต่อย่างใด และพนักงานโรงแรมยังเบิกความยืนยันต่อศาลว่าในคืนเกิดเหตุจำเลยที่ 1 และที่ 3 พักอาศัยอยู่ที่โรงแรมก่อนเที่ยงคืนจนกระทั่งช่วงสายของวันรุ่งขึ้น ส่วนจำเลยที่ 2 มีพยานซึ่งเป็นคนในครอบครัวเบิกความยืนยันฐานที่อยู่

ศาลมีคำพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสาม โดยรับฟังคำรับสารภาพชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 คำซัดทอดของจำเลยที่ 1 ต่อจำเลยที่ 2 ซึ่งให้การปฏิเสธมาแต่แรก โดยเห็นว่าพยานหลักฐานของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ว่าขณะเกิดเหตุอยู่ที่โรงแรมนั้นไม่น่าเชื่อถือ

สำหรับคดีนี้ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ระบุด้วยว่า ทางมูลนิธิฯ และโครงการ Innocent Project ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายต่อจำเลยที่1และจำเลยที่ 2 นอกจากเนื่องด้วยทั้งสองมีฐานะยากจนแล้ว เราพบว่าคำให้การของจำเลยที่1  ที่ซัดทอดจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 เกิดจากการทำร้ายร่างกายเพื่อให้รับสารภาพ  แม้จะไม่มีหลักฐานทางการแพทย์ที่ตรวจร่องรอยบาดแผลเพราะมีการตรวจร่างกายภายหลังเหตุการณ์ระยะหนึ่ง การทำร้ายร่างกายเพื่อบังคับให้สารภาพบ่อยครั้งไม่ปรากฏบาดแผลภายนอกจึงต้องการการตรวจพิสูจน์โดยแพทย์นิติเวชที่เชี่ยวชาญไม่ใช่แพทย์อายุรกรรมและเจ้าหน้าที่ฝ่ายพยาบาลของทางราชทัณฑ์ตามที่ในคำพิพากษาได้อ้างว่า ๆ ไม่มีร่องรอยบาดแผลจากการทรมาน  

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ระบุด้วยว่า หากศาลกลับระบุในคำพิพากษาว่าการซัดทอดบุคคลหรือคำรับสารภาพที่ถูกทำร้ายร่างกายอยู่ไม่อาจกระทำโดยการโกหกได้นั้นเป็นการกล่าวอ้างที่ขาดหลักการทางนิติจิตเวชศาสตร์โดยไม่มีผู้เชี่ยวชาญมาเบิกความเป็นพยานต่อศาลแต่อย่างไร คำพิพากษาลดโทษจำเลยที่ 1 แต่เพียงคนเดียวจาก 18 ปี เป็น 12 ปี โดยอ้างคำสารภาพประกอบการซัดทอดจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 เป็นประโยชน์ในการพิจารณาคดีจึงเป็นการอ้างที่ขัดกับคำให้การปรากฏในชั้นศาลว่า จำเลยที่ 1 ยืนยันว่าตนเป็นผู้บริสุทธิ์และการซัดทอดเกิดขึ้นเพราะทนความบาดเจ็บจากการถูกทำร้ายร่างกายโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจกลุ่มหนึ่งในชั้นจับกุมไม่ไหว โดยมีพยานจำเลยรู้เห็นเหตุการณ์ดังกล่าวมาให้การยืนยันสิ่งที่เห็นและได้ยินว่าจำเลยที่ 1 ร้องโอดโอยเพราะได้รับบาดเจ็บในขณะถูกจับกุม จำเลยทั้งสามเห็นว่าตนไม่ได้รับความเป็นธรรมจากคำพิพากษาดังกล่าวของศาลชั้นต้น จึงจะใช้สิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลต่อไป

จำเลยทั้งสามเห็นว่าตนไม่ได้รับความเป็นธรรมจากคำพิพากษาดังกล่าวของศาลชั้นต้น จึงจะใช้สิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลต่อไป

ภายหลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาจำคุกและปรับจำเลยทั้งสาม ศาลชั้นต้นส่งคำร้องขอปล่อยชั่วคราวให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาสั่ง โดยศาลอุทธรณ์มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยทั้งสามโดยกำหนดวงเงินปล่อยชั่วคราวเป็นเงิน 800,000 บาท เพิ่มจากเดิมที่ศาลชั้นต้นกำหนดวงเงินปล่อยชั่วคราวไว้ 300,000 บาท โดยไม่ได้ระบุรายละเอียด เหตุผล หรือความจำเป็นในการกำหนดวงเงินที่เพิ่มขึ้นสูงมากดังกล่าว ซึ่งตามข้อบังคับของประธานศาลฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขเกี่ยวกับการเรียกประกันหรือหลักประกันในการปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2548 ข้อ 6 วรรคสอง กำหนดไว้ว่า “ในกรณีที่ศาลพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยเกิน 3 ปี และศาลเห็นสมควรอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์ฎีกาได้โดยมีประกันและหลักประกัน หากศาลเห็นว่าสมควรกำหนดวงเงินประกันให้สูงขึ้นจากที่ศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์กำหนดไว้ ก็ให้กำหนดวงเงินประกันเพิ่มขึ้นได้แต่ไม่ควรเพิ่มเกินกึ่งหนึ่ง” ซึ่งกรณีดังกล่าวนี้ วงเงินปล่อยชั่วคราวตามข้อบังคับประธานศาลฎีกาจึงไม่ควรเกิน 450,000 บาท โดยอาจกำหนดต่ำกว่าหรือสูงกว่าจำนวนดังกล่าวได้ แต่พึงอยู่ภายใต้หลักการในข้อบังคับประธานศาลฎีกาฯ ข้อ 4 วรรคสาม ที่กำหนดว่า “ในกรณีที่จำต้องเรียกหลักประกัน ก็ให้พิจารณาว่าหลักประกันนั้นคุ้มกับวงเงินประกันที่กำหนดหรือไม่ โดยให้คำนึงถึงความน่าเชื่อถือของผู้ขอประกัน หลักประกัน และฐานะของผู้ต้องหาหรือจำเลยประกอบด้วย” การกำหนดจำนวนเงินประกันสูงทำให้ หลักทรัพย์ที่จำเลยที่ 2 เคยยื่นไว้ต่อศาลมีมูลค่าไม่เพียงพอ จึงจำต้องขอปล่อยชั่วคราวโดยใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (กำไล EM) ซึ่งศาลชั้นต้นอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว แต่การติดกำไล EM ที่เท้า อาจทำให้จำเลยที่ 2 ที่ประกอบอาชีพทำประมงประสบอุบัติเหตุแหอวนพันติดกำไล EM ได้  

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ซึ่งให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อของการซ้อมทรมาน ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ปัจจุบันมีแนวโน้มการพิพากษาคดีของศาลในหลายคดี ที่ให้น้ำหนักและรับฟังคำรับสารภาพในชั้นสอบสวนเพื่อลงโทษจำเลยมากขึ้น โดยเฉพาะคดีที่กระทำผิดต่อนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ คดีที่เป็นที่สนใจของสังคม และคดีความมั่นคงที่ศาลรับฟังกระทั่งบันทึกการสอบปากคำผู้ถูกกักตัวตามกฎอัยการศึกและผู้ถูกควบคุมตัวตาม พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ทั้งๆที่บุคคลดังกล่าวยังไม่ตกเป็นผู้ต้องหาแต่อย่างใด คำรับสารภาพดังกล่าวในหลายคดี เกิดจากการถูกทรมาน ข่มขู่ หรือชักจูงโดยเจ้าหน้าที่ ตกอยู่ในภาวะจำยอม  มีปัญหาเรื่องไม่เข้าใจภาษาหรือขาดความเข้าใจกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ไม่มีทนายความหรือทนายความที่เจ้าหน้าที่จัดให้ขาดความรับผิดชอบหรือขาดประสบการณ์ เกรงใจเจ้าหน้าที่ ทำให้คนจน คนด้อยการศีกษา ผู้ต้องสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับคดีนโยบาย คดีความมั่นคง หรือแรงงานข้ามชาติที่ตกเป็นผู้ต้องหาจำนวนมาก ต้องติดคุกทั้งๆที่ไม่ได้กระทำความผิด หรือความผิดที่ตนกระทำไม่ได้ร้ายแรงดังที่ถูกตั้งข้อหา  การที่พนักงานอัยการและศาล รับฟังคำรับสารภาพในชั้นสอบสวนของจำเลย ที่น่าสงสัยว่ามิได้กระทำด้วยความสมัครใจ หรือได้มาโดยมิชอบ ขัดต่อหลักการรับฟังพยานหลักฐานในการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม (Fair Trial) 

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ระบุอีกว่า เป็นที่รับรู้กันทั่วไปว่าคดีที่ผู้ต้องหาหรือผู้ต้องสงสัยถูกเจ้าหน้าที่ซ้อมทรมานเพื่อให้รับสารภาพหรือเพื่อให้ได้ข้อมูลสารสนเทศก์ ยังเกิดขึ้นเป็นประจำ ทั้งในชั้นจับกุมและสอบสวนผู้ต้องหาคดีอาญาและในคดีความมั่นคง ทั้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้และคดีการเมืองในที่อื่นๆ แต่เจ้าหน้าที่ที่กระทำผิดมักไม่ถูกลงโทษ ลอยนวลพ้นผิด (Impunity) ทั้งในทางวินัยและทางอาญา ทั้งๆที่ประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทรมานมาตั้งแต่ปี 2550 แต่จนบัดนี้ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายอนุวัติการเพื่อปฏิบัติตามพันธกรณีภายใต้อนุสัญญาดังกล่าว ทำให้การสอบสวนและลงโทษเจ้าหน้าที่ที่กระทำผิดไม่ได้ผล

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท