Skip to main content
sharethis

กลุ่มคนไทยรักสันติ บุกเข้ายื่นหนังสือถึงรองอธิการบดี ม.อ.ปัตตานี เรียกร้องตรวจสอบนักศึกษา “PerMAS” ที่เคลื่อนไหวต่อต้านการใช้กฎอัยการศึกในพื้นที่หนองจิก หวั่นเป็นการสร้างความคิดต่อต้านรัฐ

ที่มาภาพจากเฟสบุ๊ก Noi Thamsathien 

24 ก.ย.2561 ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า ที่หน้ามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี พงษ์พันธ์ จันเล็ก แกนนำกลุ่มคนไทยพื้นที่รักสันติ พร้อมด้วยกลุ่มชาวไทยพุทธและมุสลิมกว่า 100 คน ได้มารวมตัวกันพร้อมเดินขบวนนำพวงหรีดที่มีข้อความระบุว่า “อาลัยยิ่งแด่สถาบันการศึกษา” และถือป้ายต่อต้านความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากการกระทำของกลุ่มก่อความไม่สงบ และไม่เห็นด้วยกับกิจกรรมของกลุ่มนักเคลื่อนไหว และได้นำหนังสือแถลงการณ์เตรียมยื่นต่อรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ที่หน้าตึกอธิการบดี 

โดยมาจากกรณีการเคลื่อนไหวของกลุ่มบุคคล และกลุ่มนักศึกษาที่เรียกตัวเองว่า “PerMAS” สหพันธ์นิสิตนักศึกษานักเรียนและเยาวชนปัตตานีและ คปส. เครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพ ที่ได้ออกแถลงการณ์ทำจดหมายเปิดผนึกถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.ท.ปิยวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 4 โดยมีสาระต่อต้านการออกประกาศการใช้กฎอัยการศึกในพื้นที่ ต.บางเขา และ ต.ท่ากำชำ อ.หนองจิก ที่มีผลบังคับใช้เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา จากเหตุการณ์คนร้ายซุ่มยิงเจ้าหน้าที่ทหารพราน หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 43 ขณะลาดตระเวนเส้นทาง เป็นเหตุให้เสียชีวิต 2 นาย บาดเจ็บ 4 นาย เหตุเกิดเมื่อวันที่ 11 ก.ย. ที่ผ่านมา

พงษ์พันธ์ เปิดเผยว่า ทางกลุ่มได้ออกติดตามการเคลื่อนไหวของกลุ่ม “PerMAS”  ซึ่งเป็นการทำกิจกรรมในพื้นที่สร้างความคิดต่อต้านรัฐ สร้างเงื่อนไขขัดขวางการสร้างสันติสุขในพื้นที่ วันนี้จึงเดินทางมาแสดงจำนงยื่นหนังสือ และขอให้ผู้บริหารมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้ตรวจสอบ และกวดขันไม่ให้กลุ่มนักศึกษาเหล่านี้ออกไปสร้างความเสียหายในชุมชน ในพื้นที่ที่ต้องการสร้างความสันติสุข แถลงการณ์กลุ่มคนไทยพื้นที่รักสันติ จึงยื่นข้อเรียกร้อง 5 ข้อ ดังนี้

1. เห็นด้วยกับเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎอัยการศึก จนได้ตัวผู้กระทำความผิด
2. สถาบันไม่ควรอนุมัติให้ นศ.จัดกิจกรรมอันจะก่อให้เกิดความแตกแยก จากคำว่าประชาชนไทย และประชาชนปัตตานี
3. ไม่กระทำตนตามกฎหมาย ไม่เคารพกฎหมายการแสดงออกนี้ถือเป็นกบฏ
4. การใช้อำนาจใช้กฎหมายนี้ถูกต้อง เพราะเป็นประเทศไทย ไม่ใช่แผ่นดินปัตตานี
5. เห็นด้วยกับการบังคับใช้กฎหมายในเหตุการณ์เฉพาะ และให้คลายสถานการณ์เมื่อสำเร็จแล้ว เห็นด้วยกับการใช้ในแต่ละสถานการณ์ และขอสนับสนุนให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ให้เกิดสันติสุขกลับมาโดยเร็ว และขอกำลังใจให้เสนอความจริงกับทุกกลุ่มฝ่ายที่ร่วมสร้างสันติสุขให้เกิดในพื้นที่

ผู้จัดการออนไลน์ รายงานด้วยว่า ภายหลังการอ่านแถลงการณ์ กลุ่มคนไทยพื้นที่รักสันติได้ยื่นหนังสือให้แก่ ผศ.ดร.มนทิรา ลีลาเกรียงศักดิ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี โดย ผศ.ดร.มนทิรา กล่าวยืนยันจุดยืนว่า มหาวิทยาลัยยืนอยู่ข้างความถูกต้องและเคารพกฎหมาย ยินดีรับเรื่องให้คณะผู้บริหารได้ประชุมหารือ และแก้ไขปัญหาไปสู่การหาทางออกเรื่องนี้ต่อไป

ส่วนแถลงการณ์ที่ถือว่าเป็นต้นตอของการออกมาแสดงพลังคัดค้านของกลุ่มไทยพื้นที่รักสันติหนนี้ วอยส์ออนไลน์ คาดว่าเป็นแถลงการณ์ของกลุ่มเปอร์มาสที่ออกเมื่อวันที่ 21 ก.ย.ที่ออกเนื่องในวันสันติภาพสากล ใจความท่อนหนึ่งของแถลงการณ์กล่าวว่า “สหพันธ์นิสิตนักศึกษา นักเรียนและเยาวชนปาตานี หรือ PerMAS เป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อให้ประชาชนปาตานีมีสิทธิทางการเมืองในการกำหนดชะตากรรมของตนเอง ด้วยสภาพความขัดแย้งทางการเมืองว่าด้วยอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนปาตานีนั้น ประชาชนชาวปาตานีตกอยู่ภายใต้สภาพความหวาดกลัวจากปฏิบัติการทางอาวุธของทั้งสองฝ่าย ตราบใดที่แนวนโยบายการแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองนี้เป็นไปตามแนวคิดความมั่นคงและนำโดยนโยบายการทหาร....” แถลงการณ์ฉบับนั้นเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกกฎอัยการศึก ขอให้พรรคการเมืองผลักดันให้การเจรจาสันติภาพปาตานีเป็นวาระแห่งชาติ 

เปอร์มาส และ คปส. เป็นกลุ่มที่มีกิจกรรมในพื้นที่เรื่อยมา ล่าสุดกลุ่มเปอร์มาสได้จัดเสวนาในหัวข้อ ปาตานี: สิทธิในการกำหนดชะตากรรมตัวเองเพื่อสันติภาพ นอกจากนั้นยังได้จัดเสวนาที่นำตัวแทนพรรคการเมืองไปร่วมกันพูดคุยเรื่อง “สัญญาณการเลือกตั้ง ทิศทางการเมืองไทยต่ออนาคตสันติภาพปาตานี” เมื่อ 15 ก.ย. อย่างไรก็ตาม กลุ่มมักจัดกิจกรรมรณรงค์ในหลายประเด็นที่สวนทางกับมาตรการของเจ้าหน้าที่ เช่นเมื่อวันที่ 20 ก.ย. ได้นำสมาชิกกลุ่มจำนวนหนึ่งเดินทางไปยังตำบลบางเขาซึ่งเป็นพื้นที่ประกาศใช้มาตรการควบคุมเต็มขั้นตามกฎอัยการศึกและพูดคุยกับชาวบ้านพร้อมทั้งละหมาดเพื่อขอความปลอดภัยให้กับประชาชนในพื้นที่ 

สำหรับมาตรการดังกล่าว วอยส์ออนไลน์ ระบุว่า ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากผู้ที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนหลายคนที่แสดงความเป็นห่วงว่าจะก่อให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่ก็สร้างความวิตกจนกระทบต่อวิถีการทำมาหากิน นักวิชาการบางรายถึงกับเรียกร้องให้ยกเลิกกฎอัยการศึกโดยเปิดเผย กลุ่มมาราปาตานีก็ออกแถลงการณ์ร่วมเรียกร้องให้มีการยกเลิกกฎอัยการศึกเช่นเดียวกัน 

โดยเมื่อวันที่ 16 ก.ย.ที่ผ่านมา พล.ท.ปิยวัฒน์ จัดแถลงข่าว ณ มณฑลทหารบกที่ 46 ประกาศ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ฉบับที่ 86/2561 ให้ ต.บางเขา และ ต.ท่ากำซำ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เป็นพื้นที่ควบคุมพิเศษชั่วคราวโดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.กฎอัยการศึก พ.ศ.2457 และกำหนดให้ผู้ที่อาศัยในพื้นที่ดังกล่าวนำอาวุธปืน และเครื่องกระสุนทุกชนิด รถยนต์ รถจักรยานยนต์ และเรือทุกประเภทมาแสดงต่อเจ้าหน้าที่ทหารเพื่อตรวจสอบตั้งแต่วันที่ 17-23  ก.ย. 2561 ณ ที่ว่าการอำเภอหนองจิก จ.ปัตตานี ภายหลังเกิดเหตุการณ์ซุ่มยิงทหารพรานเสียชีวิต 2 นาย บาดเจ็บอีก 4 นายขณะที่ทั้งหมดกำลังเดินกลับฐานใน อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 11 ก.ย. ที่ผ่านมา 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net