Skip to main content
sharethis

ข้าราชการบำนาญยื่น สนช. ขอแก้ไข พ.ร.บ.บำเหน็จบำนาญ เพิ่มเงินจากปัจจุบัน ที่อ้างว่า 6.5 แสนคนได้บำนาญเฉลี่ย 2 หมื่นบาท กลายเป็นคนจนรุ่นใหม่ ทั้งที่ทำงานเพื่อชาติ

อธิบดีกรมบัญชีกลางสวนกลับ ว่าเงินบำนาญประกันไว้ อย่างน้อยต้องได้เท่าค่าแรงขั้นต่ำเดือนละ 9,000 บาท ได้ 2 หมื่นถือว่าเกินแล้ว ทำไมไม่พอใช้ ทำไมคนงานค่าแรงขั้นต่ำจึงอยู่ได้เอาเงินไปใช้อะไร ต้องรู้จักบริหารจัดการชีวิตตัวเอง กิจกรรมก็ไม่ต้องไปทำเยอะ

อธิบดีเลยล่อเป้า ข้าราชการบำนาญยัวะ ย้อนว่าต่อให้ไม่มีลูกไม่มีผัว ก็ลองใช้เงินเดือนละ 9,000 บาทดูบ้างสิ จะพอไหม ข้าราชการส่วนใหญ่ไม่ได้ไต่ขึ้นถึงอธิบดีอย่างท่าน ซึ่งเมื่อเกษียณ คงได้บำนาญหลายหมื่น ข้าราชการ 80% เกษียณที่ระดับปฏิบัติการ ระดับชำนาญการ เงินบำนาญไม่ปรับตามค่าครองชีพ สูงวัยเข้าก็ไม่พอใช้

เรื่องนี้ถ้าฟังความเห็นชาวบ้าน ตามโลกออนไลน์ ไม่ต้องสงสัย 99.99% ด่าขรม ข้าราชการมีสิทธิเหนือประชาชน ยังมาขอเพิ่มเงิน อย่าอ้างว่าทำเพื่อชาติ ทุกคนก็ทำประโยชน์ให้ประเทศเหมือนกัน บ้างก็ด่าเลยเถิด เช่น เช้าชามเย็นชาม ฉ้อราษฎร์บังหลวงยังเอาเปรียบผู้เสียภาษี

อันที่จริง ข้าราชการดี ๆ ก็เยอะ แล้วที่ออกมาบ่นส่วนใหญ่ ก็ไม่ได้ฉ้อฉล เป็นพวกตำแหน่งไม่สูง เงินเดือนไม่มาก แต่ปฏิกิริยาประชาชน นอกจากสะท้อนความไม่พอใจรัฐราชการ ที่มากขึ้นทุกวัน ๆ ยังสะท้อนความเรียกร้องต้องการ ให้รัฐสร้างหลักประกันแก่ทุกคน นอกจากรักษาฟรี เบี้ยคนชรา กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ยังน่าจะเพิ่มด้านอื่น ๆ เช่น กองทุนการออม หรือระบบช่วยเหลือดูแลผู้สูงวัย

ระหว่างข้าราชการกับประชาชนมีความเหลื่อมล้ำ แต่สังเกตให้ดี ระหว่างข้าราชการฝ่ายต่าง ๆ ก็เหลื่อมล้ำมากเช่นกัน ทั้งระบบค่าตอบแทน บัญชีเงินเดือนฝ่ายต่าง ๆ การคิดความดีความชอบ สวัสดิการ หรือภาระงานที่แตกต่าง เช่นหมอ พยาบาล เหนื่อยยาก หามรุ่งหามค่ำ แต่บางหน่วยงานเข้าสาย เลิกบ่าย ไม่มีงานทำ เหลือเวลาออกกำลังกาย (แถมอยู่บ้านหลวงน้ำไฟฟรี)

ความเหลื่อมล้ำในระบบราชการนี้มาจากอำนาจต่อรองของข้าราชการแต่ละฝ่าย แต่ละยุคสมัย ทับซ้อนจนไม่เห็นทางแก้ เช่นทหารมีอำนาจมากตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน ประเทศไทยก็มีนายพลมากกว่า 1,500 คน ที่แค่พลตรีก็เทียบเท่าอธิบดี การนับอายุราชการเพื่อคำนวณบำนาญ ก็นับตั้งแต่เข้าเป็นนักเรียนทหาร ระยะหลัง ๆ ทหารตำรวจก็แย่งกันลงใต้ เพื่อนับอายุทวีคูณ

เกือบ 20 ปีก่อนมีการแยกบัญชีเงินเดือนศาล ก็พุ่งปรี๊ดจนผู้พิพากษาหลายร้อยคนมีเงินเดือนเท่ารัฐมนตรี แม้เข้าใจได้ ผู้พิพากษาต้องมีอิสระ แต่บัญชีเงินเดือนศาลก็ใช้เทียบอัยการ องค์กรอิสระ ที่ผุดตามมาอีกมาก นิติกรทั้งระบบราชการก็อ้างว่าสมองไหล ได้เงินเพิ่มกันหมด

ระบบราชการพยายามปฏิรูป เช่นเลิกใช้ซี หันมาประเมินผลงานเป็นระดับชำนาญการ ชำนาญการพิเศษ เชี่ยวชาญ เชี่ยวชาญพิเศษ ฟังเหมือนดี แต่คนทำงานจริงกลับตันเพราะทำผลงานไม่เก่ง คนทำผลงานเก่งได้ดี นาน ๆ เข้าก็เป็นระบบหัวโต คือมีเงินเดือนสูงระดับบนเต็มไปหมด

ในภาพรวมอย่างนี้ ข้าราชการที่ได้บำนาญ 2 หมื่นบาทจึงน่าเห็นใจ ยิ่งระยะหลังเงินเดือนราชการสูงขึ้นมาก มีการปรับหลายครั้ง ค่าครองชีพก็ขยับตาม คนเกษียณไปก่อนเสียหายหลายต่อ แต่นั่นแหละ ถ้าไม่แก้ความเหลื่อมล้ำ ทั้งในระบบราชการเองและกับประชาชน ก็คงมีคนสนับสนุนน้อยมาก

เว้นแต่ สนช.จะอยากหาความนิยมกับเพื่อนสูงวัยแล้วส่งเผือกร้อนให้รัฐบาล

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน: ข่าวหุ้นธุรกิจ kaohoon.com/content/253510

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net