Skip to main content
sharethis

ศาลชั้นต้นตัดสิน จำเลยที่1,2,4 และ 9-13 จำคุก 4 ปี จำเลยที่ 3 จำคุก 6 ปี และยกฟ้อง จำเลยที่ 5-8 และ 14 ส่วนเรื่องซ้อมทรมานศาลชี้ไม่มีหลักฐาน ‘นักวิชาการผู้สังเกตการณ์ในคดี’ ระบุใช้ผลการซักถามตัดสินคดี สร้างอำนาจและความชอบธรรมกับกระบวนการในค่ายทหาร ครอบครัวจำเลย กล่าว “น้อยใจที่เขาไม่เชื่อ เพราะเราเป็นคนสามจังหวัดชายแดนใต้”

 

กลุ่มทนายจากศูนย์ทนายความมุสลิม (ภาพจากสำนักข่าว Benarnews)

25 ก.ย.2561 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ ที่ศาลอาญา รัชดาฯ ห้อง 904 เวลาประมาณ 10.30 น. ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาคดี ‘ระบิดน้ำบูดู’ หรือเหตุกวาดจับหน้า ม.ราม โดยตัดสินให้จำเลยที่ 1,2,4 และ 9-13 ผิดข้อหาอั้งยี่ ซ่องโจร รวมโทษจำคุก 6 ปี ลดโทษ 1 ใน 3 เนื่องจากให้การเป็นประโยชน์กับคดี เหลือ 4 ปี จำเลยที่ 3 ผิดข้อหาอั้งยี่ ซ่องโจร และมีวัตถุระเบิดรวมโทษจำคุก 9 ปี ลดโทษ 1 ใน 3 เหลือ 6 ปี และยกฟ้องจำเลยที่ 5-8 และ 14 เนื่องจากไม่มีหลักฐานให้เชื่อว่าเกี่ยวข้องกับขบวนการก่อการร้าย โดยจำเลยที่ 5,6,7,8 และ 14 จะได้รับการปล่อยตัวในเย็นวันนี้ ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ

ส่วนการซ้อมทรมานจำเลยขณะอยู่ในค่ายทหาร ศาลเห็นว่าไม่ได้มีหลักฐานทางร่างกาย และจำเลยไม่ได้ร้องทุกข์กับเจ้าหน้าที่ในเรื่องนี้ ดังนั้นผลของการซักถามในกระบวนการซักถามกับเจ้าหน้าที่ทหารภายใต้กฎหมายพิเศษคือ คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/58 และ 13/59 จึงถูกนำมาพิจารณาด้วย

ทั้งนี้ในสำนวนฟ้องได้ระบุว่าจำเลยทั้ง 14 คน ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของคณะบุคคลที่ใช้ชื่อว่า “ขบวนการกู้ชาติรัฐปัตตานี” อันเป็นคณะบุคคลในรูปแบบของการวางแผนร่วมกันจะแบ่งแยกดินแดน และก่อการร้ายในพื้นที่กทม.และสมุทรปราการ

8 ข้อสรุปคดี ‘ระเบิดน้ำบูดู’ หลักฐานอ่อน ซ้อมทรมาน คนจนชายแดนใต้ ฯลฯ ศาลนัดชี้ชะตา 25 ก.ย. นี้

คำพิพากษาชี้พื้นที่ที่จำเลยอยู่มีการก่อเหตุความไม่สงบ มีการซุกซ่อนมือถือ มีคำสารภาพจำเลยเตรียมพื้นที่ก่อระเบิด

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเริ่มต้นศาลได้ขอให้ผู้ที่เข้ามาร่วมรับฟังคดีทุกคนปิดเครื่องมือสื่อสาร ห้ามถ่ายภาพ, บันทึกข้อมูลและบันทึกเสียงภายในห้องพิจารณาคดี หากใครที่ทำไปแล้วศาลให้โอกาสในการลบไฟล์ข้อมูลดังกล่าวออก

รายงานคำพิพากษาของ iLaw ระบุว่า ศาล อธิบายว่า ในการอ่านคำพิพากษาของศาลว่า ศาลจะอ่านในส่วนคำฟ้อง ข้อเท็จจริงและข้อวินิจฉัย ในส่วนแรกนี้จะเป็นเรื่องคำฟ้องที่เกี่ยวข้องกับขบวนการกู้ชาติรัฐปัตตานี โดยมีวัตถุประสงค์ในการแบ่งแยกดินแดนคือ จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาสและบางส่วนของจังหวัดสงขลา มีกองกำลังติดอาวุธ ใช้กำลังประทุษร้ายเจ้าหน้าที่รัฐและประชาชน โดยจำเลยทั้งหมดถูกกล่าวหาว่า เข้าร่วมกับขบวนการดังกล่าวเข้าข่ายความผิดฐานอั้งยี่และซ่องโจรตามประมวลกฎหมายอาญา ขณะที่จำเลยที่ 3 ถูกกล่าวหาเพิ่มเติมว่า มีสารระเบิดชนิด PETN มีน้ำหนัก ปริมาณเท่าใดไม่ปรากฏชัดอันเป็นวัตถุระเบิดตามพ.ร.บ.อาวุธปืนฯ (ทั้งนี้ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ระบุด้วยว่า คำพิพากษาของศาลที่อ่านได้ระบุถึงการก่อตั้งขบวนการกู้ชาติปาตานีดังกล่าวเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2503)

รายงานคำพิพากษาของ iLaw ระบุว่า ศาล อธิบายว่า ในการอ่านคำพิพากษาของศาล ข้อเท็จจริงเบื้องต้นปรากฏว่า ในระหว่างปี 2555-2559 มีเหตุความไม่สงบในพื้นที่อำเภอศรีสาคร จังหวัดนราธิวาสมาตลอด เช่นการก่อเหตุความวุ่นวายเผารถยนต์, วางระเบิดแสวงเครื่องและการลอบยิงอาสาสมัครรักษาดินแดน โดยจำเลยส่วนใหญ่มีภูมิลำเนาอยู่ที่อำเภอศรีสาคร จังหวัดนราธิวาส และรู้จักกับผู้ที่เคยมีประวัติการก่อเหตุในพื้นที่อำเภอศรีสาคร บางส่วนมาจากอำเภอจะแนะ จังหวัดนราธิวาส และจำเลยที่ 7 และ 14 มาจากอำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี

ข้อเท็จจริงเบื้องต้นปรากฏว่า ในระหว่างปี 2555-2559 มีเหตุความไม่สงบในพื้นที่อำเภอศรีสาคร จังหวัดนราธิวาสมาตลอด เช่นการก่อเหตุความวุ่นวายเผารถยนต์, วางระเบิดแสวงเครื่องและการลอบยิงอาสาสมัครรักษาดินแดน โดยจำเลยส่วนใหญ่มีภูมิลำเนาอยู่ที่อำเภอศรีสาคร จังหวัดนราธิวาส และรู้จักกับผู้ที่เคยมีประวัติการก่อเหตุในพื้นที่อำเภอศรีสาคร บางส่วนมาจากอำเภอจะแนะ จังหวัดนราธิวาส และจำเลยที่ 7 และ 14 มาจากอำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี

จำเลยทั้งหมดเดินทางขึ้นมายังกรุงเทพฯและอยู่อาศัยในหลายพื้นที่เช่น หัวหมาก หน้ามหาวิทยาลัยรามคำแหง, มีนบุรีและบางพลี เป็นต้น ต่อมาผู้เคยก่อเหตุในพื้นที่ศรีสาครส่งพัสดุที่บรรจุโทรศัพท์เคลื่อนที่มาโดยผ่านญาติของจำเลยที่ 4 พัสดุดังกล่าวมีการซุกซ่อนอยู่ภายใต้ขวดน้ำบูดูและเครื่องเทศ เมื่อจำเลยได้พัสดุดังกล่าวก็นำไปซุกซ่อนบนฝ้าเพดานห้องพักย่านบางพลี

ขณะที่จำเลยที่ 9 ให้การในชั้นสอบสวนทำนองว่า จำเลยที่ 1 ขู่บังคับในตนต้องไปตระเตรียมพื้นที่ในการก่อเหตุระเบิด หากตนไม่กระทำตามจะทำร้ายครอบครัวของตน ตนจึงไปสำรวจพื้นที่การก่อระเบิด ซึ่งคือบริเวณถังขยะหน้าห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี หัวหมาก ก่อนวันเกิดเหตุพบว่า จำเลยบางส่วนประชุมวางแผนกันและดื่มน้ำพืชกระท่อมร่วมกันก่อนถูกจับกุมในที่สุด นอกจากนี้จากการตรวจสอบสารประกอบระเบิดของเจ้าหน้าที่นิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรมพบว่า มือซ้ายของจำเลยที่ 3 ปนเปื้อนสาร PETN ที่เป็นสารระเบิดชนิดแรงดันสูง ไม่ละลายน้ำ สามารถล้างออกได้ด้วยผงซักฟอกหรือสบู่

ในส่วนของข้อวินิจฉัยระบุว่า แม้ว่าในคดีนี้จะไม่มีประจักษ์พยานที่ชัดแจ้ง แต่ตามธรรมชาติของกระบวนการก่อเหตุความวุ่นวายจะต้องเก็บเป็นความลับเพื่อไม่ให้รั่วไหลไปถึงเจ้าหน้าที่บ้านเมือง ดังนั้นจึงต้องพิจารณาหาพยานหลักฐานอื่นๆเช่น คำให้การซัดทอดของจำเลย โดยแม้ว่า ในการสืบพยานจำเลย จำเลยบางส่วนจะให้การว่า มีการทำร้ายร่างกายระหว่างการสอบสวน แต่เป็นการอ้างตัวเองเบิกความอย่างลอยๆ และไม่มีหลักฐานอื่นใดที่จะชี้ชัดว่า จำเลยถูกทำร้ายจริง ทั้งยังไม่มีการร้องทุกข์กล่าวโทษเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวไว้ด้วย

ทนายชี้ มีแค่ผลซักถามในค่ายทหารมาใช้เป็นหลักฐาน ซ้อมทรมานไม่อาจพิสูจน์ได้

 

กิจจา อาลีอิสเฮาะ ทนายความจำเลยจากศูนย์ทนายความมุสลิม ตั้งข้อสังเกตว่า ในส่วนของพยานหลักฐาน ศาลเห็นว่าจากการสืบพยานไม่มีหลักฐานใดที่จะนำมาใช้พิจารณาให้จำเลยต้องติดคุก แต่สุดท้ายเมื่อเกี่ยวข้องกับคดีความมั่นคงตั้งแต่ 2-3 ปีหลังที่ผ่านมา แนวคำพิพากษาศาลฎีกา ศาลให้รับฟังผลการซักถามของผู้ต้องสงสัยในค่ายทหารภายใต้กฎหมายพิเศษ

กิจจาให้ความเห็นว่า ปัญหาหนึ่งของคดีความมั่นคงคือ ผู้ที่ถูกควบคุมตัวในชั้นกฎหมายพิเศษเช่น พ.ร.ก. ฉุกเฉิน กฎหมายอัยการศึก จนถึงทุกวันนี้ เช่นในคดีนี้ แต่ศาลบอกว่าขาดหลักฐาน ในความจริงคือหลังจากการสอบสวนญาติก็ไม่สามารถเข้าเยี่ยมได้ทันที และปัจจุบันการกระทำของเจ้าหน้าที่ก็มีวิธีการมากมายที่ทำให้ไม่เกิดร่องรอย หรือมีการข่มขู่ว่าเมื่อพบญาติแล้วห้ามบอกเรื่องการซ้อมทรมาน ดังนั้นผู้ต้องหาจึงไม่สามารถนำพยานหลักฐานมาพิสูจน์ได้

โดยในคดีนี้ทางทนายได้ให้จำเลยแต่ละคนเขียนข้อเท็จจริงตั้งแต่ต้นว่าถูกซ้อมอย่างไร ซึ่งพบว่าเกือบทุกคนกล่าวว่าถูกข่มขู่ทำร้าย เช่น การตบบ้องหู การปล่อยอยู่ในห้องเย็นถอดเสื้อผ้า ซึ่งเป็นวิธีการที่ไม่ให้เกิดบาดแผล

“ที่ผ่านมาพอมีเรื่องซ้อมทรมานแล้วเราแจ้งสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน กว่าจะดำเนินการก็ผ่านไป 1-2 ปี จนถึงปัจจุบันก็ไม่เคยมีการตรวจสอบเรื่องนี้เลย เราในฐานะทนายทำงานมาหลายสิบปีก็ไม่รู้จะทำอย่างไรที่จะรักษาสิทธิของผู้ต้องหา แต่ขอยืนยันจะทำหน้าที่ปกป้องสิทธิให้กับประชาชนตลอดไป” กิจจากล่าว

กิจจากล่าวว่า ในขั้นตอนต่อไปเป็นหน้าที่ของทนายความที่จะต้องยื่นอุทธรณ์ภายใน 30 วัน แต่ถ้าภายใน 30 วัน คำพิพากษาก็ดีหรือเอกสารที่ต้องใช้ประกอบการอุทธรณ์ยังไม่ได้ ก็ต้องขอขยาย ทนายความก็จะดำเนินการให้ถึงที่สุด

ใช้ผลการซักถามตัดสินคดี สร้างอำนาจและความชอบธรรมกับกระบวนการในค่ายทหาร

 

ชลิตา บัณฑุวงศ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ผู้สังเกตการณ์ในคดี ให้ความเห็นว่า จากการมาฟังคำพิพากษาวันนี้มีเรื่องน่าสนใจ 2 ประเด็น ประเด็นแรกคือการให้น้ำหนักกับผลการซักถาม โดยที่กระบวนการซักถามนั้นมีเพียงผู้ต้องหา ไม่มีทนายหรือญาติอยู่ด้วย ผลการซักถามนี้กลายเป็นมีน้ำหนักในการตัดสินคดีนี้ ซึ่งที่ผ่านมาในกระบวนการยุติธรรมก็มีความระมัดระวังในการใช้ผลการซักถามในการพิจารณาคดี แต่ในช่วง 1-2 ปี ก็มีแนวพิพากษาศาลฎีกาที่ยอมรับข้อมูลจากผลการซักถาม ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ากังวลเพราะเป็นการให้อำนาจและความชอบธรรมกับกระบวนการในค่ายทหารที่ซักถามภายใต้กฎหมายพิเศษต่างๆ ประเด็นนี้เป็นสิ่งที่นักวิชาการหรือนักสิทธิมนุษยชนหรือคนที่ต้องการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมต้องคิดถึง

เลือกใช้ชุดข้อมูลประวัติศาสตร์ นำสู่ผลตัดสิน ควรถกเถียงว่าชุดประวัติศาสตร์ที่ยกมาเป็นข้อเท็จจริงแค่ไหน

 

ชลิตากล่าวต่อว่า อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ การให้ความสำคัญหรือใช้ชุดข้อมูลทางประวัติศาสตร์บางอย่างเกี่ยวกับรัฐปาตานีหรือขบวนการแบ่งแยกดินแดนถือเสมือนว่าเป็นข้อเท็จจริงอย่างหนึ่ง และโยงเข้ากับพยานหลักฐานอย่างอื่น และนำไปสู่ผลคำพิพากษา ตรงนี้อาจจะต้องมีการถกเถียงกันสักนิดหรือไม่ว่าชุดประวัติศาสตร์ที่ยกมาสามารถยึดถือในฐานะข้อเท็จจริงได้มากน้อยแค่ไหน แล้วจริงๆ ก็มีคำอธิบายทางประวัติศาสตร์เรื่องนี้ในหลายแบบ

“รู้สึกเสียใจกับญาติพี่น้องและครอบครัวของจำเลยทั้ง 14 คน ก็ให้กำลังใจ และจากนี้เราอาจจะต้องคุยกันว่าจะทำอย่างไรต่อไป” ชลิตากล่าวทิ้งท้าย

เสียงจากครอบครัว “น้อยใจที่เขาไม่เชื่อ เพราะเราเป็นคนสามจังหวัดชายแดนใต้”

 
ฮานีละห์ ดือรามะ หรือ เมาะซู (ภาพจากสำนักข่าว Benarnews)
 

เมาะซู มารดาของจำเลยที่ 4 กล่าวว่า น้อยใจที่เขาไม่เชื่อในสิ่งที่เราพูด แค่เพราะเราเป็นคนสามจังหวัดชายแดนใต้

“แม่เชื่อว่าลูกแม่ไม่ได้เป็นผู้ก่อการร้าย เขามาทำงานที่กรุงเทพฯ มันเป็นความผิดของแม่ด้วยที่ให้เขามาทำงานที่กรุงเทพฯ ทั้งที่เขาไม่อยากมา น้องคนเล็กก็จะนับวันรอทุกวันว่าเมื่อไหร่พี่จะได้ปล่อยตัว แล้วแม่ไม่ได้พาเขามาด้วยครั้งนี้เพราะเชื่อว่าจะพาพี่กลับบ้าน” เมาะซูกล่าว

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ชี้ แม้ไทยเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาต่อต้านการซ้อมทรมาน แต่กฎหมายยังไม่อนุวัติ

 

สำหรับประเด็นการซ้อมทรมานนั้นมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ซึ่งให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อของการซ้อมทรมาน ได้ตั้งข้อสังเกตก่อนหน้านี้ว่า ปัจจุบันมีแนวโน้มการพิพากษาคดีของศาลในหลายคดี ที่ให้น้ำหนักและรับฟังคำรับสารภาพในชั้นสอบสวนเพื่อลงโทษจำเลยมากขึ้น โดยเฉพาะคดีที่กระทำผิดต่อนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ คดีที่เป็นที่สนใจของสังคม และคดีความมั่นคงที่ศาลรับฟังกระทั่งบันทึกการสอบปากคำผู้ถูกกักตัวตามกฎอัยการศึกและผู้ถูกควบคุมตัวตาม พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ทั้งๆ ที่บุคคลดังกล่าวยังไม่ตกเป็นผู้ต้องหาแต่อย่างใด คำรับสารภาพดังกล่าวในหลายคดี เกิดจากการถูกทรมาน ข่มขู่ หรือชักจูงโดยเจ้าหน้าที่ ตกอยู่ในภาวะจำยอม มีปัญหาเรื่องไม่เข้าใจภาษาหรือขาดความเข้าใจกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ไม่มีทนายความหรือทนายความที่เจ้าหน้าที่จัดให้ขาดความรับผิดชอบหรือขาดประสบการณ์ เกรงใจเจ้าหน้าที่ ทำให้คนจน คนด้อยการศีกษา ผู้ต้องสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับคดีนโยบาย คดีความมั่นคง หรือแรงงานข้ามชาติที่ตกเป็นผู้ต้องหาจำนวนมาก ต้องติดคุกทั้งๆที่ไม่ได้กระทำความผิด หรือความผิดที่ตนกระทำไม่ได้ร้ายแรงดังที่ถูกตั้งข้อหา การที่พนักงานอัยการและศาล รับฟังคำรับสารภาพในชั้นสอบสวนของจำเลย ที่น่าสงสัยว่ามิได้กระทำด้วยความสมัครใจ หรือได้มาโดยมิชอบ ขัดต่อหลักการรับฟังพยานหลักฐานในการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม (Fair Trial)

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ระบุอีกว่า เป็นที่รับรู้กันทั่วไปว่าคดีที่ผู้ต้องหาหรือผู้ต้องสงสัยถูกเจ้าหน้าที่ซ้อมทรมานเพื่อให้รับสารภาพหรือเพื่อให้ได้ข้อมูลสารสนเทศก์ ยังเกิดขึ้นเป็นประจำ ทั้งในชั้นจับกุมและสอบสวนผู้ต้องหาคดีอาญาและในคดีความมั่นคง ทั้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้และคดีการเมืองในที่อื่นๆ แต่เจ้าหน้าที่ที่กระทำผิดมักไม่ถูกลงโทษ ลอยนวลพ้นผิด (Impunity) ทั้งในทางวินัยและทางอาญา ทั้งๆที่ประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทรมานมาตั้งแต่ปี 2550 แต่จนบัดนี้ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายอนุวัติการเพื่อปฏิบัติตามพันธกรณีภายใต้อนุสัญญาดังกล่าว ทำให้การสอบสวนและลงโทษเจ้าหน้าที่ที่กระทำผิดไม่ได้ผล

 

อนึ่ง ‘คดีระเบิดน้ำบูดู’ คือเหตุการณ์กวาดจับนักศึกษาและชาวมุสลิมที่พักย่าน ม. รามคำแหง กว่า 40 คน โดยเมื่อวันที่ 10 ต.ค. 59 โดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงอ้างสาเหตุว่ามีการซ่องสุมและจะก่อเหตุระเบิด ‘คาร์บอม’ และได้กวาดจับคนมุสลิมย่าน มหาวิทยาลัยรามคำแหง จนนำมาสู่การขยายผลจับกุมในจังหวัดสมุทรปราการ และจังหวัดนราธิวาสด้วย โดยที่เมื่อกวาดจับกว่า 40 คนในช่วงแรก จากนั้นมีการกันคนที่เป็นนักศึกษาจริงๆ ออก จนเหลือ 14 คน ซึ่งเป็นชายจากจังหวัดชายแดนใต้ อายุระหว่าง 19-32 ปี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กที่เพิ่งมาหางานทำในกรุงเทพฯ เป็นครั้งแรก แต่จากหลักฐานที่พบมีเพียงเครื่องข้าวยำรวมทั้งน้ำบูดูเท่านั้น ดังนั้นคดีนี้จึงถูกเรียกกันว่า 'คดีระเบิดน้ำบูดู'

ปัจจุบันคดีลากยาวเกือบ 2 ปี และ 14 จำเลยถูกจับกุมทั้งหมดไม่ได้สิทธิประกันตัว ในข้อหาร่วมกันเป็นอั้งยี่ ซ่องโจร และมีวัตถุระเบิดที่ไว้ในครอบครองโดยผิดกฎหมาย

อาดิลัน อาลีอิสเฮาะ หนึ่งในทนายความของจำเลยเล่าว่า จำเลยบางส่วนกล่าวว่าถูกบังคับให้รับสารภาพ เนื่องจากถูกข่มขู่ ซ้อม ทำร้าย ให้เกิดความหวาดกลัว ซึ่งในความเป็นจริงแล้วจำเลยไม่ได้กระทำการดังกล่าว และเนื่องจากเป็นการควบคุมตัวในค่ายทหารตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/58 และ 13/59 จึงไม่มีพยานหลักฐานการถูกข่มขู่ ซ้อม หรือทำร้าย

 

*ประชาไทเพิ่มเติมเนื้อหาจากไอลอว์และมูลนิธิผสานวัฒนธรรมเมื่อเวลา 14.53 น. วันที่ 26 ก.ย.2561

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net