Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

บรรยากาศครึ้มลมครึ้มฝนเหนือน่านฟ้าเชียงใหม่ สร้างความร้อนอบอ้าวบนพื้นดินได้ไม่น้อย

ผมควบมอเตอร์ไซป้ายทะเบียนต่างถิ่นมาถึงหอศิลปวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พอดิบพอดีกับเวลาเปิดนิทรรศการศิลปะของ ”เหล่าวายร้ายเลือดใหม่ที่จะมาชวนคุณขบคิดและตั้งคำถามกับเรื่อง Right Right ยันอะไรที่ดู Wrong Wrong” แค่คำเชิญชวนบนหน้าเพจของกิจกรรมก็ช่างยั่วยวนชวนมาดูยิ่งนัก

 

“พ่อแม่พี่น้องครับ เด็กคืออนาคตของชาติ…”

เกือบห้าปีหลังรัฐประหารเมื่อ พฤษภาคม 2557 คนที่พูดผ่านสื่อเยอะที่สุดคงหนีไม่พ้น พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ล่าสุดวันศุกร์ที่ผ่านมาก็เพิ่งพูดประโยคนี้ในรายการคืนความสุขให้คนในชาติไป ประโยคคลาสสิกที่มีข้อโต้แย้งมากมายว่า เด็กคืออนาคตของชาติจริงๆเหรอ? เด็กจะเป็นปัจจุบันของชาติไม่ได้เหรอ?

โถ…แต่ใครจะโต้แย้งท่านนายกรัฐมนตรีผู้มีคาถาเวทย์มนต์เป็นกฎหมายพิเศษตั้งหลายมาตราได้อย่างไรเล่า ปัดโธ่!!!

ขณะที่ท่านผู้นำรัฐประหารพูดได้พูดดีทุกวี่วัน สังคมไทยก็ถูกปิดปากด้วยกระบอกปืนของรัฐบาลทหารไปพร้อมๆกัน เห็นได้ชัดจากข้อมูลที่โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ iLaw รวบรวมไว้หลังการรัฐประหารปี 2557 จนถึงวันนี้ พบว่ามีผู้ถูกจับกุมหลายร้อยคนจากการพยายามแสดงออกถึงทัศนะทางการเมืองของตัวเอง และยังมีการแทรกแซงการใช้เสรีภาพทางวิชาการอีกหลายต่อหลายครั้งในยุครัฐบาล คสช.

“ในห้วงเวลาที่เสียงของเราถูก Stop หลายต่อหลายเรื่องถูกห้ามไม่ให้เรา Speak ด้วยอำนาจที่มองไม่เห็น เมื่อความจริง ความลวง และความเป็นไปในสังคมถูกพลิกกลับให้บิดเบี้ยวจนเราไม่อาจแน่ใจว่าอะไรที่ Right อะไรที่ Wrong ไม่มีแม้กระทั่งสิทธิในการเรียกร้องสิทธิ์ที่เราพึงมีในชีวิตประจำวัน พื้นที่ศิลปะเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะช่วยให้ผู้คนได้ “คิด” “พูด” และ “ส่งต่อ” เรื่องราวที่ถูกลืมเลือนออกไปสู่สังคมได้อีกครั้ง”

บรรยากาศอึดอัดอึมครึมในสังคมห้วงยามนี้ทำให้ประโยคเชิญชมนิทรรศการเพียงไม่กี่บรรทัดนี้ยิ่งตอกย้ำความจริงอันแสนปวดร้าวในบ้านเราเข้าไปอีกมากโข

Human ร้าย Human wrong คือโครงการฝึกอบรมทักษะศิลปะที่สอดแทรกเรื่องของการคิดเชิงวิพากษ์ และการเอาประเด็นสิทธิมนุษยชนหรือประเด็นทางสังคมเข้ามาเป็นส่วนร่วมในการสร้าง Concept เนื้อหาในชิ้นงานศิลปะ

ซึ่งปีที่แล้วจัดภายใต้หัวข้อ Don't get Human rights To Be wrong ล้อตามชื่อของตัวงานหลักที่เกิดจากการตั้งคำถามว่าเรายังมองเรื่องสิทธิมนุษยชนในมุมมองที่ผิดแปลกหรือว่าเป็นสิ่งที่ผิดเพี้ยนไปในสังคมไทยอยู่หรือเปล่า เป็นสิ่งที่เราไม่ควรจะพูด หรือเป็นสิ่งที่ยากเกินไปที่เราจะเข้าถึงหรือเปล่า?

ชาวแก๊ง Human ร้าย Human wrong อยากเริ่มคำว่า “สิทธิมนุษยชน” ในความหมายคือ เป็นเรื่องของสิ่งที่มันอยู่ในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่ในครอบครัว เรื่องของความรุนแรงในครอบครัว ความไม่เข้าใจกัน หรือเรื่องของการถูกกลั่นแกล้งในโรงเรียน รวมไปถึงเรื่องเพศสภาพหรือสิ่งต่างๆ ที่มันถูกกดทับปิดบังไม่ให้พูด หรือพอพูดแล้วมันกลายเป็นสิ่งผิด เลยนำมาสู่นิทรรศการปีที่ 2 คือ Don't Stop let’s speak อารมณ์ประมาณ “อย่าหยุดพูดออกมา” อะไรทำนองนั้น

“คำว่าสิทธิมนุษยชนมันควรจะถูกพูดหรือว่าตระหนักอยู่ในชีวิตประจำวันและมันไม่ควรจะมองว่าเป็นสิ่งที่ผิดแปลก”

นันท์ณิชา ศรีวุฒิ ผู้ประสานงานโครงการฯพูดประโยคแรกออกมา แล้วเล่าให้ผมฟังต่อว่า ผู้เข้าร่วมกิจกรรม Human ร้าย Human wrong ปีหนึ่งกับปีสองไม่ใช่เซตเดียวกัน เปิดรับสมัครใหม่อีกครั้งในปีที่สองแต่ยังคง Concept ว่าจะให้สมาชิกเป็นบุคคลจากหลายๆ กลุ่ม ทั้งที่เรียนหรือไม่ได้เรียนศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นศิลปินหรือว่าเป็นบุคคลธรรมดาทั่วไป นักศึกษา สาขาวิชาต่างๆ ได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน

 

นันท์ณิชา ศรีวุฒิ ผู้ประสานงานโครงการฯ

“กระบวนการในการ workshop เราตั้งเป้าอยู่แล้วว่าเราไม่ได้ต้องการคนที่ทำงานศิลปะ Perfect ที่ทำแล้วดูดีดูสวย แต่เรากำลังจะสอนให้เขารู้ว่าเราควรคิดเชิงวิพากษ์ในสังคมปัจจุบันนี้ ว่าอะไรมันผิดเพี้ยนไปหรือสิ่งไหนที่เราถูกกดทับไม่ให้พูดถึงและนำมาสู่การที่เอาสิ่งเหล่านั้นที่พวกเขาอัดอั้น หรือที่ประสบพบเจอในชีวิตประจำวัน เอามาพูดผ่านเครื่องมือที่เรียกว่าการทำงานศิลปะ

ซึ่งเราก็บอกกันโดยตลอดว่างานศิลปะนั้นไม่ใช่แค่การเพ้นท์ การปั้น การแกะสลัก แต่มันหมายถึงการเอาวัสดุอุปกรณ์หรือสิ่งรอบๆ ตัวเรามาสร้างเรื่องราว มาถ่ายทอดให้เป็นการเล่าหรือว่าพูดถึงประเด็นสิทธิมนุษยชนในมุมมองของสมาชิกแต่ละคน ที่มันจะมีความแตกต่างกัน มีสีสันในการเล่าที่มันไม่เหมือนกันอยู่แล้ว

โดยเราเห็นว่าสมาชิกตั้งแต่ปีหนึ่งถึงปีสองเนี่ยสิ่งที่เราเห็นแน่ๆ คือ เราได้พยายามผลักดันให้เขาได้พูด ได้ลองหันกลับไปมองตัวเองว่า เรื่องบางเรื่องที่พวกเขาถูกละเลยหรือมองข้ามไปนั้น มันเป็นสิ่งที่เราถูกละเมิดอยู่หรือเปล่า หรือเราถูกกดทับในเรื่องของสิทธิมนุษยชน แบบเรื่องง่ายๆ ทั่วไปเลยมันคือจุดประสงค์ของเราคือการผลักดันให้พวกเขาได้พูดได้แสดงออก ผ่านเครื่องมือที่เรียกว่าศิลปะ”

เธอพูดอย่างคล่องแคล่ว ทะมัดทะแมง พร้อมกับเล่าถึงกระบวนการคิดการทำงานต่ออีกว่า

“เราจะแยกการทำงานออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ก็คือ กลุ่มแรกเป็นเรื่องของ Concept เรื่องของสิทธิมนุษยชน เรื่องของการคิดเชิงวิพากษ์ เรื่องของการลงไปสำรวจมุมมองที่แต่ละคนมองปัญหาในสังคมตอนนี้ว่ามันเป็นยังไง หรือเกิดอะไรขึ้นบ้าง

แล้วก็อีกกลุ่มหนึ่งก็คือเรื่องของการ Practice หรือว่า การให้พวกเขาได้ลงมือปฏิบัติในเรื่องของการทำงานศิลปะในรูปแบบใหม่ที่พวกเขาไม่จำเป็นต้องยึดติดกับคำว่า วาดรูปไม่เป็นจะทำได้ไหม หรือว่าจะทำงานประติมากรรมอะไรอย่างนี้ เรามองว่างานศิลปะที่ดีมันคือการสื่อสาร ซึ่งมันคือหัวใจสำคัญของเราเลย ถ้าคุณต้องการจะสื่อสารประเด็นที่มันมีอยู่ในใจ คุณจะเลือกเอาวัสดุเอาสิ่งที่มีอยู่รอบๆ ข้างตัวคุณมาทำงานศิลปะในกำลังทรัพยากรเท่าที่คุณทำได้ คุณจะทำอย่างไรได้บ้าง”

ผู้สร้างงานศิลปะกว่า 16 ชีวิต กับ 18 ชิ้นงาน ที่ผ่านการรังสรรค์ล่วงเวลามาเกือบ 5 เดือนเต็ม เพื่อฝึกฝนทักษะศิลปะและการคิดเชิงวิพากษ์ ได้ทำความรู้จักและเรียนรู้วิธีการสื่อสารสาธารณะผ่านแนวคิดเกี่ยวกับศิลปะร่วมสมัย การใช้เสียงและพื้นที่ในงานศิลปะ การตีความและการถ่ายทอดข้อความที่จะสื่อสารรวมไปถึงการทำความเข้าใจประเด็นสิทธิมนุษยชน ถกเถียงอย่างมีเหตุผล ด้วยวิธีคิดเชิงวิพากษ์

Human ร้าย Human wrong นิยามสมาชิกและตัวผู้ทำกิจกรรมครั้งนี้ว่า “ไม่ใช่ศิลปิน” แต่คือกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งที่รู้สึกว่ามีอะไรบางอย่างอยากจะพูดกับสังคมที่ลิดรอนสิทธิ์ในการพูดของผู้คนมากเกินไป

“ทำไมเรื่องบางเรื่องถึงพูดไม่ได้ ถ้าพูดตรงๆ ก็ไม่ได้อยู่ดีในยุคสมัยเผด็จการตอนนี้ แต่ศิลปะมันเป็นพื้นที่ที่เรารู้สึกว่า มันสามารถเปิดโอกาสให้คนคิดสร้างสรรค์ผลงาน และในตัวผู้ชมที่มาปะทะกับงานศิลปะเองสามารถตีความได้อย่างอิสระ ภายใต้แนวคิดที่ตัวผู้จัดทำผลงานชิ้นนั้นต้องการเสนอ ดังนั้นเรารู้สึกว่างานศิลปะมันมีเรื่องของความปลอดภัยที่จะพูดเรื่องการเมืองในช่วงเวลานี้ในระดับหนึ่งด้วย รวมถึงว่างานศิลปะเองเราควรจะเปิดให้คำว่างานศิลปะเป็นใครก็ได้ ที่สามารถดู สามารถทำ สามารถเสพได้ ไม่ใช่ยึดติดหรือว่าผูกขาดอยู่กับคำว่าศิลปินหรือว่ากลุ่มคนที่ทำงานศิลปะเพียงอย่างเดียว” นันท์ณิชา พูดทิ้งท้ายไว้น่าสนใจ

 

พอผมจะเริ่มเดินสำรวจในงาน กวาดสายตารอบๆ เห็นคนเริ่มมากันบ้างแล้ว หน้าประตูทางเข้ามีงานชิ้นหนึ่งที่ดึงดูดสายตาจนต้องหยุดดู แล้วกลอนบทหนึ่งก็ลอยเข้ามาให้หัวผมทันที

ไม่ฆ่าน้อง…แต่ให้น้องนั่นรู้สึก

ไม่ฟ้องนาย…แต่ให้ฝึกความใจกว้าง

ไม่ขายเพื่อน…แต่ให้เพื่อนเดินร่วมทาง

คุณธรรมสามอย่าง…อยู่กลางใจ

ผมได้แต่ฉงนสงสัยว่า “ไม่ฆ่าน้อง ไม่ฟ้องนาย ไม่ขายเพื่อน” ได้กลายร่างเป็นคุณธรรมไปได้อย่างไร หลังเห็นเพื่อนๆในกองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 15 หรือค่ายวชิราวุธ นครศรีธรรมราช แห่ขึ้นสเตตัสนี้ในเฟซบุกหลังเข้ารับการประดับยศเมื่อสองสามวันที่แล้ว

เลือดลมพุ่งปรี๊ดดดด กับงานชิ้นแรกที่ชื่อ “แฟนตาซีของทหารใหม่” ซึ่งผลงานของ PlayerGuest540310283 (นามปากกา) งานชิ้นนี้คือการถ่ายทอดประสบการณ์ ความรู้สึก และความสงสัยต่อคุณค่าและความหมายของการเป็นทหาร เมื่อภาพของ “ทหารหาญ” ที่เด็กหนุ่มชาวไทยได้รับการปลูกฝังและปรุงแต่งเอาไว้อย่างสวยงาม รวมไปถึงความมีเกียรติ และหน้าที่มอบหมายอันหน้าภาคภูมิใจนั้นเป็นเพียงมายาคติที่ขัดแย้งอย่างสิ้นเชิงกับความเป็นจริงและเหตุการณ์ ที่ไม่ได้นำมาสู่ “คุณค่า” หรือ “เกียรติยศ” ใดๆ อย่างที่ทหารใหม่ถูกสอนให้วาดฝัน

ไม่ฆ่าน้อง ไม่ฟ้องนาย ไม่ขายเพื่อน

“เป็นคำแรกที่ได้ยินหลังจากที่เข้าไปในค่าย แล้วก็ ทหารเกณฑ์มีปากเหมือนมีรูตูด อันนี้ก็ได้ยินบ่อยมาก”

อดีตทหารเกณฑ์เจ้าของผลงานชิ้นนี้ตอบกลับมา หลังผมเดินเข้าไปถามตรงๆ เลยว่าคิดอย่างไรกับประโยคนี้

“ผมรู้สึกว่าในช่วงแรกที่เข้ารับการฝึกเลือดทหารเราเข้มข้นมาก ผมจำความรู้สึกช่วงนั้นได้แต่ผมไม่ได้อินอะไรมากนะ แค่รู้ว่ามันเข้ามาแล้ว Spirit พลังงานพวกนั้นเริ่มเข้ามาแล้ว เราก็รู้ว่ามันคืออะไรแล้วเราก็สังเกตการณ์เพื่อนๆ ของเราในช่วงแรกว่าเขารู้สึกยินดีปรีดามากกับการเป็นทหาร เราเป็นทหารของชาติเรารู้สึกดีมาก นี่คือเสื้อพระราชทานนะ นี่คือกระเป๋าพระราชทานนะเอาวางพื้นไม่ได้ เรารู้สึกพราวมาก

แต่คำถามคือทำไมความรู้สึกพวกนั้นถึงยังมีความรู้สึกอยากกลับบ้านอยู่ มีกระดาษเขียนติดตู้ทุกตู้เลย ทั้งๆ ที่คุณพราว ทำไมคุณถึงอยากกลับบ้านอันนี้เป็นคำถามเริ่มต้น แล้ว Final reward ของคุณคืออะไรการที่เป็นทหาร

ผมไม่มีปัญหากับการเป็นทหารเกณฑ์ เพราะผมรู้ว่ามันไม่มีทางที่ผู้ชายคนไหนจะสามารถหนีงานทหารได้โดยการไม่จ่าย ถ้าคุณบอกคุณเป็น ร.ด. แล้วคุณไม่จ่าย ผมเถียง คุณจ่ายค่าเทอมจ่ายค่าอุปกรณ์ ร.ด. ป่ะ แล้วถ้าคุณเอามารวมเป็นก้อนเดียวกับการที่คุณเอาไปยัดกับการเกณฑ์ทหารผมว่ามันจะจ่ายหนักกว่ากันไหมคือมันไม่มีทางที่คุณจะสามารถหลีกเลี่ยงการเป็นทหารได้โดยที่คุณไม่ต้องจ่ายอะไรเลยยกเว้นคุณจะมีเส้นสาย” เขาเล่าไปยิ้มไป

ผมใช้เวลาอยู่พอสมควรกับเจ้าของงานชิ้นนี้ บทสนทนาเขาลากผมดำดิ่งไปสู้ห้วงของการครุ่นคิด เห็นทัศนะเชิงวิพากษ์เขาได้ชัดเจน ผสมปนเปกับประสบการณ์ที่เขาเจอมา บนฐานข้อมูลที่ผมไม่เคยรู้มาก่อนอีกหลายเรื่อง และชิ้นงานแทบทุกชิ้นในงานก็ให้พื้นที่ได้ถกเถียงแลกเปลี่ยนประมาณนี้

 

ก่อนเข้ามาในงาน ผมเกิดความรู้สึกประหลาดใจอยู่อย่างนึงคือ เออว่ะ ทำไมเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงกลัวงานแบบนี้กันจังเลยว่ะ งานนี้ก็มีนอกเครื่องแบบเต็มไปหมด ปีก่อนก็มา ปีนี้มาอีกแล้ว ถ้าแค่ตามดูพฤติกรรมใครสักคนคงไม่ขนกันมาเยอะขนาดนี้ เขากลัวอะไรกับงานศิลปะของคนธรรมดาๆ ที่ไม่ได้มีชื่อเสียงอะไร

แต่พอผมเดินทั่วงานจึงได้คำตอบลางๆ ว่า รัฐบาลเผด็จการในยุคนี้ “กลัวความรู้และกลัวเสียงหัวเราะ” และผมรู้สึกว่าสองอย่างนี้มันอยู่ในงาน Human ร้าย Human wrong แบบ “หลากสไตล์ หลายคนเล่า”  

หากดูจากกระบวนการในการสร้างงานจนได้ชิ้นงานออกมาปรากฏอยู่ตรงหน้าผมในวันนี้ แทบปฏิเสธไม่ได้เลยครับว่า ความรู้และเสียงหัวเราะ คือผู้บงการอยู่เบื้องหลังกิจกรรมนี้

การสร้างองค์ความรู้ผ่านกระบวนการคิดเชิงวิพากษ์ให้กับกลุ่มสมาชิก Human ร้าย Human wrong คือการที่เปิดโอกาสให้พวกเขาได้คิดอย่างอิสระ อยู่นอกเหนือกรอบหรือกฎเกณฑ์ที่พยายามจะเซ็นเซอร์เขาอยู่ตลอดเวลา รวมถึงเสียงหัวเราะที่รัฐบาลเผด็จการกลัว กลัวอำนาจก็ถูกลดทอนด้วยเสียงหัวเราะจากทิศทางที่ควบคุมอะไรไม่ได้ ทำให้เขากลายเป็นตัวตลก ทำให้เขาที่อยู่สูงสุดกลายเป็นมาเผชิญหน้ากับคนทั่วไป แล้วถูกหัวเราะเยาะใส่

แต่เสียงหัวเราะนั้นมาจากการตีความยังไงก็ได้ของคนที่มาดูงานศิลปะ แล้วเขาจะกลัวทำไมในเมื่องานศิลปะใครก็เข้ามาตีความได้?

อภิบาล สมหวัง ผู้ร่วมจัดแสดงผลงาน แสดงทัศนะประเด็นที่ว่าทำไมผู้มีอำนาจถึงกลัวงานศิลปะว่า

“เพราะว่างานศิลปะมันลึกซึ้ง แล้วมันเป็นการตีความจากคนที่เข้ามาดูเอง หมายถึงว่าเราไม่ได้บอกเขาไปตรงๆ แต่มันทําให้เกิดสำนึกร่วมคือ “ความอิน” ดูแล้วอินว่าเราเคยมีประสบการณ์แบบนี้มาก่อน จากประสบการณ์ที่ผ่านมาทำให้เขาเห็นว่ามันเป็นปัญหาจริงๆ จากงานที่เราสื่อ เป็นการสร้างพลังด้วยตัวของผู้ชมเอง แล้วมันมีแนวโน้มที่จะเกิดสำนึกของสังคมส่วนรวม สํานึกสาธารณะในแบบที่เขาคอนโทรลไม่ได้ โดยที่ผู้ชมสร้างคุณค่าด้วยตัวของเขาเอง มันยิ่งทำให้ตัวผู้ชมมีพลังมากขึ้น เขาเลยกลัวว่าถ้าเกิดทุกคนที่มาดูแล้วสร้างสำนึกสาธารณะด้วยตัวของผู้ชมเอง มันจะมีพลังในการสร้างความเปลี่ยนแปลง”

เปรม อภิบาล สมหวัง

“คำๆ หนึ่ง มันซ่อนความหมายที่มันไม่ได้เป็นความหมายตรงตัว บางทีมานั่งสังเกตพอมีคนพูดคำว่าคนไทย ก็รู้สึกว่าในคำว่าไทยเป็นคำที่ ถูกหยิบมาใช้บ่อย โดยที่ความหมายจริงๆ ของมันคืออะไรก็ไม่รู้ อาจจะเป็นความเป็นไทย คนไทยหรืออะไรอย่างนี้ มันถูกหยิบมาใช้บ่อยจนรู้สึกว่าสำหรับหนูมันแทบจะไม่มีความหมายแล้วตอนนี้ ก็เลยรู้สึกว่าสรุปแล้วคำว่าไทยคืออะไร มันคือฉันหรือเธอคนเดียวหรือเปล่า เหมือนเหมารวมว่าไทยคือกู แล้วก็เหมารวมว่าคนอื่นจะต้องเป็นด้วย” จิรภิญญา รักษาสัตย์ เจ้าของผลงาน Tripplr I แสดงทัศนะอย่างตรงไปตรงมาถึงแนวคิดการสร้างชิ้นงานของเธอ

ขิม จิรภิญญา รักษาสัตย์

“อันดับแรกเราอยากเชิญชวนให้ทุกคนที่ไม่ได้อยู่ในวงการศิลปะ เป็นนักศึกษา หรือเป็นใครก็แล้วแต่ มาดูว่างานศิลปะมันเป็นเครื่องมือของทุกๆคน ใครก็ใช้ได้ แล้วเอาไปใช้เพื่อที่จะเปล่งเสียงมันอย่างในยุคนี้ เราพูดอะไรก็จะลำบากนิดหน่อย และเหตุผลที่ 2 ที่ควรจะมาดูก็คือ เรามาดูกันเถอะว่าในยุคปัจจุบันนี้ กลุ่ม Young Generation ของเราคิดและมี reaction ยังไงกับสังคมปัจจุบันที่เขารู้สึกอัดอั้น แล้วเขาพยายามอธิบายผ่านงานศิลปะอะไรได้บ้าง”

ผู้ประสานงานโครงการเธอพูดทิ้งท้ายกับผมไว้เช่นนี้

 

 

....................................

เชิญชมนิทรรศการศิลปะ

Human ร้าย, Human Wrong Exhibition Vol.2

วันเสาร์ที่ 22 กันยายน 2561 เวลา 18.00 น. เป็นต้นไป

ที่หอนิทรรศการศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

เข้าชมฟรี

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: นลธวัช มะชัย นักศึกษาการละคร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ออกเริ่มต้นการเดินทางจากเทือกเขาบรรทัด พัทลุง – นครศรีธรรมราช ดั้นด้นมาค้นหาความหมายของชีวิตเพื่อฝึกฝนการเขียนและทำละครอยู่ที่เชียงใหม่ หลังรัฐประหารเมื่อปี 2557 ได้ไม่กี่วัน ปัจจุบันยังคงเรียนหนังสือในมหาวิทยาลัยพร้อมกับทำงานอยู่ที่หอประวัติศาสตร์ประชาชนภาคเหนือ เฮือนครูองุ่น มาลิก (สวนอัญญา)

เกี่ยวกับช่างภาพ: ณัฐพนธ์ ปานอุดมลักษณ์ หรือชื่อที่ทุกคนคุ้นเคยกันว่า โฟล์ค นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะการสื่อมวลชน ม.ช. ไอ้หนุ่มภูธรนครสวรรค์ ที่ออกเดินทางไปค้นหาชีวิตตนเองถึงเวียงเชียงใหม่ สนใจในเสียงดนตรี การถ่ายภาพ และประเด็นทางสังคม เป็นนักเดินทางสุดระห่ำ ที่ไม่เคยคิดจะหยุดหาประสบการณ์ใหม่ๆให้กับชีวิต

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net