กรณีพิพาทแรงงานที่เซินเจิ้น จุดเริ่มต้นของแนวร่วมแรงงาน-นักศึกษาจีนแผ่นดินใหญ่

หลังตำรวจจีนบุกจับนักศึกษาจีนที่เคลื่อนไหวสนับสนุนการต่อสู้ของคนงานโรงงานจาสิคเทคโนโลยีที่เซินเจิ้น ก็เกิดผลสะเทือนต่อเนื่องเมื่อนักศึกษาจีนหลายมหาวิทยาลัยต่างแสดงจุดยืนสนับสนุนการต่อสู้ของแรงงาน พร้อมพิจารณาสถิติพิพาทแรงงานจีนจาก 4.8 หมื่นกรณีในปี 2539 พุ่งสู่ 6.93 แสนกรณีในปี 2551 และยังมีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ

ภาพนักศึกษาที่หนานจิงชูป้ายสนับสนุนแรงงานที่โรงงานจาสิคที่เซินเจิ้น (ที่มา: HKFP/RFA)

ฮ่องกงฟรีเพรส (HKFP) รายงานเรื่องการประท้วงนักศึกษาและบัณฑิตชาวจีนจากมหาวิทยาลัยมากกว่าสิบแห่ง ที่แสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวและแสดงการสนับสนุนกลุ่มแรงงานบริษัทจาสิคเทคโนโลยีที่เขตเศรษฐกิจพิเศษเซินเจิ้นในช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

นักกิจกรรมจากมหาวิทยาลัยปักกิ่ง มหาวิทยาลัยชิงฮวา มหาวิทยาลัยหนานจิง และมหาวิทยาลัยซุนยัตเซน ร่วมกันประท้วงโดยผู้ประท้วงสวมเสื้อยืดพิมพ์ด้วยประโยคสีแดงตัวหนาที่ระบุว่า "สามัคคีคือพลัง" 

พวกเขายังถ่ายทำวิดีโอการปราศรัยและการประท้วงอย่างสงบที่หน้าโรงงานจาสิคในย่านผิงชานของเซินเจิ้น ซึ่งเป็นย่านในทางตอนใต้ของจีนที่เป็นแหล่งเน้นผลิตสินค้าหรือวัตถุดิบให้บรรษัทข้ามชาติอื่นๆ กลุ่มนักกิจกรรมเหล่านี้ยังเผยแพร่จดหมายเปิดผนึก เว็บล็อกและรูปถ่ายเหล่านี้ผ่านทางโซเชียลมีเดียทวิตเตอร์ด้วย

เรื่องที่จุดชนวนให้มีกระแสการประท้วงนี้คือการที่ฝ่ายบริหารของจาสิคโต้ตอบการพยายามจัดตั้งสหภาพแรงงานตามแบบประชาธิปไตยด้วยการปฏิเสธไม่ยอมให้คนงานที่ถูกไล่ออกกลับเข้าทำงานได้

ในตอนที่ฮ่องกงฟรีเพรสนำเสนอบทความนี้ยังมีคนงาน 14 รายที่อยู่ในการคุมขังของทางการท้องถิ่น อีกทั้งเมื่อสัปดาห์ที่แล้วก็มีเหตุการณ์ที่ตำรวจบุกที่พักเพื่อกวาดจับนักศึกษา 50 คนที่แสดงการสนับสนุนกลุ่มแรงงาน

ข้อพิพาทระหว่างแรงงานกับบริษัทจาสิคในครั้งนี้เป็นเรื่องของการกดขี่ค่าแรง การมีค่าปรับคนทำงานที่โหดร้ายเกินไป และระบบสวัสดิการที่ไม่มีการออกเงินให้ลูกจ้าง การละเมิดสิทธิแรงงานและการปฏิบัติอย่างเลวร้ายต่อพวกเขาทำให้แรงงานเหล่านี้ต่อต้านทั้งในระดับปัจเจกและในระดับการรวมตัวกัน

ประเทศจีนมีการยกเลิกสิทธิในการหยุดงานประท้วงออกจากรัฐธรรมนูญตั้งแต่ปี 2525 แล้ว และสหภาพแรงงานอย่างเป็นทางการก็มีอยู่กลุ่มเดียวคือ 'สหพันธ์แรงงานจีน' (ACFTU) ซึ่งเป็นองค์กรส่วนหนึ่งของรัฐบาลจีน เมื่อไม่มีการนำจากสหภาพแรงงาน คนงานในสถานที่แบบจาสิคก็ได้แต่ปฏิบัติการด้วยตนเองเพื่อปกป้องสิทธิและผลประโยชน์ของตนเอง

สำนักงานสถิติของทางการจีนระบุว่าในปี 2539 มีการรับพิจารณาข้อพิพาทแรงงานจำนวน 48,121 กรณี ทั้งกรณีแบบระหว่่างบุคคลกับกรณีแบบกลุ่มคน รวมล้วมีผู้ร่วมในข้อพิพาทเหล่านี้รวม 189,120 คน โดยที่ตัวเลขเหล่านี้กำลังเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ อย่างรวดเร็วไม่ว่าจะเป็นข้อพิพาทหรือการประท้วง โดยหลังจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกในปี 2551 มีคนงานหลายล้านคนถูกลอยแพ ทำให้มีกรณีข้อพิพาทเพิ่มขึ้นเป็น 693,465 กรณี และมีคนงานที่เกี่ยวข้องกับข้อพิพาทเหล่านี้ 1.2 ล้านกรณีทั่วประเทศจีน

นอกจากการยื่นเรื่องร้องเรียนเพื่อหากลไกยุติข้อพิพาทแล้วคนงานก็พยายามเพิ่มอำนาจการรวมกลุ่มปกป้องคุ้มครองตัวเองให้แข็งแกร่งขึ้นด้วย โดยที่คนงานจาสิคยื่นเรื่องขอจัดตั้งสหภาพตามกฎหมายสหภาพแรงงานของจีนรวมถึงพร้อมที่จะเปิดเจรจาหารือกับฝ่ายบริหารของบริษัท ทว่าในช่วงเดือน ส.ค. ฝ่ายผู้บริหารจาสิคก็เริ่มจัดตั้งคณะกรรมการสหภาพขึ้นมาเองโดยแรงงานไม่มีส่วนร่วม ซึ่งถือเป็นการยึดครองพื้นที่สหภาพของแรงงานและจำกัดสิทธิในการจัดตั้งสหภาพโดยตัวแรงงานเอง

ฝ่ายนักศึกษาแสดงการสนับสนุนแรงงานจีนมาเป็นเวลาสองเดือนแล้ว โดยมีนักศึกษาเข้าร่วมแสดงออกในครั้งนี้หลายหมื่นคนจากทั่วประเทศ คนหนุ่มสาวเหล่านี้เกิดในช่วงยุคสมัยปี 2533-2543 ในสมัยที่จีนเริ่มเปิดประเทศและมีการแปรรูปอุตสาหกรรมเป็นของเอกชนเพื่อให้เกิด "ความยืดหยุ่น" ในการการทำงานและการจ้างงานในตลาดแรงงาน คนหนุ่มสาวเหล่านี้เข้าใจดีว่าควรจะมีการปรับกฎหมายให้มีความก้าวหน้ามากกว่าเพื่อให้มีการกระจายผลได้ทางเศรษฐกิจไปสู่แรงงานผู้ลงมือผลิต

50 นักศึกษาจีนหายตัวไป-หลังจนท.จีนบุกจับกรณีสนับสนุนแรงงานตั้งสหภาพ

นอกจากนี้กลุ่มนักศึกษายังสามารถใช้สื่อดิจิทัลเป็นเครื่องมือนำเสนอเรื่องการต่อสู้ของแรงงานได้อย่างมีประสิทธิภาพถึงแม้ว่าทางการจีนจะทำการบล็อกหรือนำเนื้อหาออกก็ตาม แต่มันก็ช่วยทำให้เกิดกระแสความสนใจในเรื่องนี้ในหมู่นักวิชาการและประชาชนทั่วไปทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมากลุ่มแรงงานคนรุ่นใหม่ที่ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่งต่างก็พากันนัดหยุดงานและประท้วงไม่ว่าจะ โรงงานของฟ๊อกซ์คอนน์ในเซินเจิ้น โรงงานของฮอนดาในฝอชาน และโรงงานของยื่อหยวนในตงกวง เพื่อเรียกร้องให้มีกระบวนการแบบประชาธิปไตยกับสหภาพแรงงาน นอกจากนี้ยังมีการเน้นเรียกร้องค่าแรงและสวัสดิการที่ดีหลังจากที่กลุ่มนายทุนเริ่มย้ายฐานจากกวางตุ้งไปสู่เมืองที่มีค่าแรงถูกกว่า

นอกจากนี้กลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยยังมีความกังวลเรื่องเกี่ยวกับการจ้างงานที่เป็นธรรมในยุคสมัยที่เต็มไปด้วยการจ้างแบบเหมาช่วงและการจ้างงานแบบชั่วคราว การต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมในสังคมและความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจจากรากฐานในแบบกรณีคนงานจาสิคและที่ทำงานอื่นๆ จะกลายเป็นประวัติศาสตร์ร่วมสมัยหน้าใหม่ที่จารึกลงในสังคมจีน

เรียบเรียงจาก
Shenzhen Jasic Technology: the birth of a worker-student coalition in China?,
Hong Kong Free Press, 01-09-2018

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท