เวทีต้านข่าวปลอม หนุนสื่อสร้างสรรค์ระบุ ควรหาเครื่องมือจัด-วิธีการข้อมูลที่สังคมมีส่วนร่วม

กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยจัดเสวนาภาคีเฝ้าระวังสื่อออนไลน์ อนุกรรมการร่าง พ.ร.บ. ส่งเสริมจริยธรรมสื่อระบุ ร่างฯ พ.ร.บ. ใหม่ มุ่งจำกัดแต่สื่อ ไม่จำกัดตัวบุคคล ต้องมีการแยกแยะ จัดการข้อมูลจริง-เท็จ เหตุคนไทยกังวลเรื่องข่าวปลอมมาก ที่ปรึกษาโครงการห้องกันข่าวลวงเล่าความคืบหน้าการทำงานร่วมกับเครือข่าย อดีต ผอ. มีเดีย มอนิเตอร์ระบุ อยากให้มีเครื่องมือที่เช็คทั้งข่าวลวงและระดับการรู้เท่าทันสื่อของชาวเน็ต

ซ้ายไปขวา: พีรพล อนุตรโสตถิ์ อดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ วสันต์ ภัยหลีกลี้ ปรเมศวร์ มินศิริ

25 ก.ย. 2561 กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์จัดงานเสวนาส่งเสริมการรู้เท่าทันสื่อ “ป้องปรามสื่อร้าย ขยายสื่อดี ร่วมเป็นภาคีเฝ้าระวังสื่อออนไลน์”  ที่สำนักงานกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ โดยมี ผศ.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ ประธานคณะทำงานติดตามและประเมินผลโครงการหรือกิจกรรมด้านเฝ้าระวังและรู้เท่าทัน ปรเมศวร์ มินศิริ ผู้บริหาร kapook.com และที่ปรึกษาโครงการ Media Fun Facts เครือข่ายประชาชนป้องกันการแพร่กระจายข่าวลวง ส่งเสริมสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ อดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ ผู้ก่อตั้งแพลตฟอร์มข่าวภูมิภาคออนไลน์ www.77kaoded.com ดำเนินการเสวนาโดยพีรพล อนุตรโสตถิ์ ผู้ผลิตและผู้ดำเนินรายการชัวร์ก่อนแชร์ ช่อง MCOT

อดิศักดิ์กล่าวว่า ปัจจุบันข่าวปลอม (Fake news) เปลี่ยนรูปแบบไปจากใบปลิว ข่าวปลอมเกิดขึ้นบนวิกฤตความน่าเชื่อถือของสื่อและถูกแพร่กระจายอย่างรวดเร็วผ่านกลไกโซเชียลมีเดีย ความสะเพร่าในการทำงานของสื่อหลักนั้นเป็นปุ๋ยชั้นดีให้กับข่าวปลอม สถิติจากต่างประเทศแสดงให้เห็นว่าประเทศที่กังวลสื่อปลอมมากๆ คือประเทศที่มีความน่าเชื่อถือของสื่อต่ำ

การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ครั้งล่าสุด มีการเก็บสถิติและพบว่าการเข้าถึงสื่อปลอมของผู้บริโภคมีผลมากโดยเฉพาะในช่วงก่อนวันเลือกตั้งที่ข่าวปลอมยิ่งมีความน่าเร้าใจจนมียอดการเข้าถึงเยอะกว่าเนื้อหาจากสื่อกระแสหลักเสียอีก ความจริงเฟซบุ๊คคือต้นตอสำคัญที่หลังๆ มาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งโซเชียลเน็ตเวิร์คดังกล่าวให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก มีความพยายามสร้างกลไกตรวจสอบข่าวปลอมและพิสูจน์ตัวตนของคนที่ลงทะเบียน

สถิติของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) พบว่าคนไทยท่องอินเทอร์เน็ตเฉลี่ยวันละ 10 ชั่วโมง คิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของชีวิตซึ่งถือเป็นเรื่องน่าตกใจ ผลสำรวจจากแหล่งเดียวกันระบุว่าปัญหาที่กวนใจคนเล่นเน็ตเป็นเรื่องข่าวปลอมและข้อมูลปลอมเป็นส่วนใหญ่ สะท้อนว่าแม้คนไทยใช้อินเทอร์เน็ตเยอะแต่ก็อยู่บนความไม่มั่นใจในข้อมูลที่พบบนอินเทอร์เน็ต อีกเรื่องที่น่าห่วงก็คือคนไทยพร้อมให้ข้อมูลส่วนตัวแบบไม่ค่อยระมัดระวัง หรือไม่ก็ไม่ได้อ่านเงื่อนไขการใช้งาน กลายเป็นให้ข้อมูลทุกอย่างแบบไม่รู้ตัว

อดิศักดิ์เสนอว่าต้องมีการสร้างระบบชลประทานข้อมูลข่าวสาร เพื่ออย่างน้อยมีตัวคัดกรองหรือเส้นทางให้เดินไป โดยได้มีการแบ่งข้อมูลเป็นข้อมูลร้อนและเย็น ซึ่งทั้งสองชนิดไม่ได้ถูกหรือผิดเสียทีเดียว แต่ก็มีข่าวที่เป็นพิษ ซึ่งขณะนี้ทาง Media Fun Facts ก็ได้จัดทำระบบร้องเรียนข่าวปลอมอยู่ นอกจากนั้น องค์กรวิชาชีพสื่อทั้งในรูปแบบสมาคม องค์กรสื่อและตัวบุคคลต้องเอาจริงเอาจังกว่านี้ในเรื่องการจัดการกับข่าวปลอม ตนไปอยู่ในอนุกรรมการร่างกฎหมายหลายชุดแล้วก็คิดว่ากฎหมายไม่ช่วย สื่อกระแสหลักอย่างหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์มีสื่อออนไลน์คู่ขนานไปหมดเลยและทุกสำนักไม่ได้เอาจริงเอาจังในการยับยั้งข่าวปลอม ข่าวที่ไม่ได้รับการตรวจสอบ และยังแพร่กระจายแข่งกันเพื่อเอาเรตติ้ง สื่อกระแสหลักต้องมีการปฏิรูปครั้งใหญ่

ต่อประเด็นของร่าง พ.ร.บ. ส่งเสริมจริยธรรมสื่อที่มีการเผยร่างฯ ออกมาเมื่อ 18 ก.ย. ที่ผ่านมา อดิศักดิ์ ผู้เป็นหนึ่งในอนุกรรมการร่างฯ ให้ความเห็นว่าหลักการใหญ่ของ พ.ร.บ. คือการกำกับดูแลองค์กรสื่อ เป็นการจำกัดจริยธรรมผ่านองค์กรสื่อ ไม่ได้ไปยุ่งกับตัวบุคคลเพราะไม่สามารถเข้าไปล่วงละเมิดได้ เพจของบุคคลไม่นับ ที่ผ่านมาองค์กรสื่อถูกวิพากษ์วิจารณ์เยอะว่าเป็นเสือกระดาษ เช่น ถ้าลงโทษสำนักข่าวแล้วสำนักข่าวไม่พอใจก็ลาออกจากการเป็นสมาชิกสภาการหนังสือพิมพ์ องค์กรที่จะตั้งขึ้นมาใหม่ (ตามร่างฯ) คือสภาวิชาชีพสื่อมวลชนที่มาจากหลายแพลตฟอร์มซึ่งแต่เดิมไม่มีหน่วยงานรองรับ จะมีก็แต่สภาการหนังสือพิมพ์ที่มีอยู่เดิมคอยรับเรื่อง ซึ่งห้าปีที่ผ่านมาร้อยละ 90 เป็นเรื่องออนไลน์ ร่างฯ นี้จริงๆ แล้วมีขึ้นหลังจากปฏิเสธร่างฯ ของสภาขับเคลื่อนที่จะตีทะเบียนนักข่าว ซึ่งคาดว่ากลางเดือนคงจะผ่านไปยัง สนช.  และวันที่ 29 ก.ย. นี้จะมีการประชาพิจารณ์ที่เจ้าพระยาปาร์ค

ผุดร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรมสื่อฯ บทเฉพาะกาลเปิดช่องปลัดนายกฯ-กสทช. เป็น กก.สภาวิชาชีพสื่อฯ

ปรเมศวร์กล่าวว่า จากประสบการณ์ทำงานบนอินเทอร์เน็ตมานานพบว่าคนต้องการความสะดวก จึงหาช่องทางที่สะดวกที่สุดในการแจ้งเรื่องข่าวปลอม และได้ข้อสรุปว่าช่องทางสะดวกที่สุดคือช่องทางที่คนใช้งาน จึงเปิดช่องทางแจ้งเรื่องในหลายแพลตฟอร์ม ทั้งยังจับมือกับเครือข่ายต่างๆ เช่น กสทช. สภาการหนังสือพิมพ์ โดยมีการทำงานต่อเนื่องทั้งตระเวนจัดงานเสวนา เวิร์คชอปในหลายจังหวัด

ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ kapook.com ยังเสนอให้มีเครื่องมือกำกับข่าวปลอมในลักษณะแบบที่เครดิตบูโรทำกับบัตรเครดิต แต่ถ้าทำก็จะมีคำถามว่าคุณเป็นใครถึงจะมากำกับกันแบบนี้ จึงต้องมีเครื่องมือที่คนสามารถช่วยกันทำ ช่วยกันกรองอย่างเป็นระบบและแบบแผน ถ้ามีชุดข้อมูลหรือเครื่องมือเช่นว่าก็อาจเป็นโอกาสในการร่วมมือกับเจ้าของแพลตฟอร์ม เช่น เฟซบุ๊คในการช่วยเช็คข้อมูลในประเทศ ในส่วนของตนนั้น ในอนาคตคงจะร่วมงานกับสถาบันการศึกษาเพื่อทำให้เกิดความตระหนักเรื่องข่าวจริงข่าวเท็จ เรื่องความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่การสอนแบบเดิมจะเข้าถึงได้น้อยมาก จะทำอย่างไรให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จริงๆ และเมื่อได้เรียนรู้แล้วก็กลายเป็นภาคีเครือข่ายของเราด้วยในตัว

เอื้อจิตกล่าวว่า มูลนิธิสื่อมวลชนศึกษา (มีเดียมอนิเตอร์) หน่วยงานที่ศึกษา ตรวจสอบข้อมูลเชิงวิชาการเพื่อการปฏิรูปสื่ออย่างสร้างสรรค์ ซึ่งตนเคยเป็นผู้อำนวยการได้ปิดไปแล้วสองปี เพราะการเข้ามาของสื่อโซเชียลที่ทำให้วาระของสังคมเปลี่ยนเร็วมากจนการตรวจสอบและทำผลการศึกษาวิ่งตามไม่ทัน โครงการ Media Fun Facts ที่มีขึ้นมานั้นมีลักษณะเป็นทีมงานคัดกรองข้อมูลออนไลน์ รับเรื่องแจ้งข้อมูลที่ดีและไม่ดี จึงจำเป็นต้องมีตัวระบบ ทีมงาน และมีการสื่อสาร ถ้าโครงการนี้จะพัฒนาไปได้ก็ควรมีเครื่องมือให้คนช่วยกันตรวจสอบข่าวอย่างให้สังคมมีส่วนร่วม ที่ผ่านมามีเดียมอนิเตอร์พยายามขยายเครือข่ายแต่ไม่ประสบความสำเร็จ ไม่เจอเครือข่าย เจอแต่ผู้ใช้งาน ซึ่งการทำงานผูกขาดการตรวจสอบเนื้อหาอยู่กับคนไม่กี่คนนั้นเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง อยากให้มีการออกแบบเครื่องมือบางอย่างในการตรวจสอบข้อมูลแล้วปล่อยไปในโลกออนไลน์ให้คนใช้ตรวจเช็คสื่อ และหวังว่าจะไปถึงขั้นที่สามารถวัดระดับการรู้เท่าทันสื่อของผู้ใช้ได้

เอื้อจิตเชื่อว่าพลังผู้ใช้สื่อออนไลน์นั้นบางทีอาจจะเข้มแข็งกว่าการดูแลของภาครัฐ ทาง Media Fun Facts เองก็ได้มีการยกกรณีศึกษาของทีมฟุตบอลหมูป่า อะคาเดมี ที่โลกออนไลน์ต่างตั้งคำถามต่อการทำงาน รวมถึงทวงถามจริยธรรมจากสื่อทั้งหลายไม่เพียงแต่จากสื่อกระแส ซึ่งสื่อเองก็ได้สติและตอบโจทย์โลกออนไลน์แล้ว แต่คนที่ไม่ได้สติกลับกลายเป็นรัฐบาลที่เอาเด็กไปสร้างภาพลักษณ์ โดยสื่อและองค์กรต่างๆ ควรสร้างเครื่องมือและพื้นที่รูปธรรมที่ไม่ได้เป็นการเซ็นเซอร์ และต้องสร้างวัฒนธรรมการสื่อสารใหม่ ทำสิ่งที่สื่อสารออกมาให้มีความหมาย ปลูกฝังวัฒนธรรมที่เอาข้อมูลมาแชร์และเติมเต็มกัน มีคนเอามาแชร์กันแบบไม่มีใครฟันว่าถูกหรือผิด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท