Skip to main content
sharethis

โฆษกวิป สนช. เผยการพิจารณาประมวลกฎหมายยาเสพติดมีความล่าช้า เหตุ กมธ. มีความเห็นต่างกัน คาดพิจารณาไม่ทันในรัฐบาลนี้ จ่อล่ารายชื่อ 20 สนช. เสนอใช้ ม.44 ปลดล็อกกัญชาทางการแพทย์ ด้านองค์กรเภสัชรับกัญชาเกรดเอจาก บช.ปส. แล้ว คาดผลิตน้ำมันกัญชา 5 มิลลิลิตร 18,000 ขวด

26 ก.ย. 2561 ข่าวสดออนไลน์ รายงานว่า เมื่อวันที่ 24 ก.ย. ที่ผ่านมา น.พ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิปสนช.) ในฐานะรองประธานกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ. ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. …. และร่างประมวลกฎหมายยาเสพติด กล่าวถึงความคืบหน้าการพิจารณาเนื้อหาการถอดกัญชาออกจากยาเสพติดประเภท 5 เพื่อใช้ทางการแพทย์เท่านั้น

โดยน.พ.เจตน์เผยว่า แนวคิดนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของกมธ.วิสามัญพิจารณาร่างประมวลกฎหมายยาเสพติด ร่างพ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด และร่างพ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลฯ รวม 3 ฉบับ การพิจารณาค่อนข้างล่าช้า และมีรายละเอียดเยอะ แต่ละประเด็นยังมีความเห็นต่างกันมาก จึงเป็นห่วงว่าร่างกฎหมายจะพิจารณาไม่ทันสมัยนี้

นอกจากนี้ยังมีข้อจำกัด แม้จะถอดกัญชาออกจากยาเสพติดประเภท 5 ในร่างกฎหมายเดิม ที่ยังไม่ได้พิจารณากำหนดพื้นที่เฉพาะ ให้เพียงเป็นพื้นที่ทดลองทางวิชาการ สำหรับงานวิจัยทางการแพทย์เท่านั้น

“ที่ผ่านมาในการอภิปรายร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในสภา มีข้อเสนอให้เสนอเป็นร่างกฎหมายอีกหนึ่งฉบับแยกออก เพื่อแก้ไขในส่วนที่ให้ถอดกัญชาออกจากยาเสพติดประเภท 5 สำหรับใช้ในการแพทย์เท่านั้น ไม่ให้ใช้สำหรับการบันเทิง”

“ดังนั้น กลุ่มสนช. จึงล่ารายชื่อให้ได้ 20 รายชื่อ ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 133 เพื่อเสนอร่างกฎหมายตามเนื้อหา ให้เสร็จในสัปดาห์นี้ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อวงการการแพทย์และสาธารณสุข ทั้งนี้ หากรัฐบาลยอมใช้มาตรา 44 ปลดล็อก ก็สามารถทำได้ทันที เพื่อประโยชน์ของผู้ป่วยอีกจำนวนมาก” น.พ.เจตน์กล่าว

ขณะเดียวกัน CH7NEWS รายงานด้วยว่า นพ.โสภณ เมฆธน ประธานคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม หรือ อภ. ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณานำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ รับมอบกัญชาของกลางจำนวน 100 กิโลกรัมจากกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) มี พล.ต.ต.ทนงศักดิ์ ทั่งทอง รอง ผบช.ปส. นายวชิระ อำพนธ์ ผู้อำนวยการกองวัตถุเสพติด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาเข้าร่วมส่งมอบ

คณะกรรมการฯ กำหนดใช้กัญชาทางการแพทย์ไว้ 4 เรื่อง คือ 1.การพัฒนาสายพันธุ์ 2.การทำสารสกัด 3.ข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ และ 4.การควบคุม ส่วนกัญชาของกลางที่รับมอบมี 3 รูปแบบ ได้แก่ กัญชาอัดแท่งห่อฟอยล์สีทอง ห่อพลาสติกธรรมดา และดอกที่บรรจุในถุงพลาสติก โดยจะนำมาหาสารสกัดสำคัญ THC ซึ่งเป็นสารที่กล่อมประสาท และ CBD สำหรับรักษากลุ่มโรคลมชัก รวมถึงหาปริมาณสารสำคัญ และการปนเปื้อนสิ่งต่างๆ อาทิ โลหะหนัก ยาฆ่าแมลง เป็นต้น

ประธานคณะกรรมการพิจารณานำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ เปิดเผยว่า องค์การเภสัชกรรมวางเป้าหมายพัฒนากัญชาของกลาง 100 กิโลกรัม เป็นสารสกัดเข้มข้น 10 - 15 ลิตร แล้วนำมาเจือจางเป็นน้ำมันกัญชาขนาด 5 มิลลิลิตร จำนวน 18,000 ขวด ใช้หยอดใต้ลิ้นภายในเดือน ธ.ค. นี้ และมีแนวคิดศึกษาพัฒนาสายพันธุ์กัญชาให้มีคุณภาพ ปรับปรุงพื้นที่ภายใน อภ. เพาะปลูกกัญชา 2 สายพันธุ์ เพื่อเตรียมพร้อมเดินหน้าต่อในระดับอุตสาหกรรม

จากข้อมูลวิชาการทั่วโลกพบมีการใช้กัญชาทางการแพทย์ที่ชัดเจนอยู่ 4 กลุ่มโรค คือ 1.รักษาอาการคลื่นไส้ในผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ให้คีโม 2. โรคลมชักในเด็ก 3. ปลอกประสาทอักเสบ และ 4. อาการปวดที่ใช้มอร์ฟีนในการบรรเทาอาการ ส่วนข้อเสนอเพื่อการรักษาโรคอื่นๆ เช่น อัลไซเมอร์ และพาร์กินสัน รวมถึงการใช้ในแพทย์แผนไทยที่มีกว่า 100 ตำรับ ต้องศึกษาเพิ่ม โดยหวังว่ากฎหมายจะปลดล็อกให้ใช้กัญชาเพื่อการรักษาโรคทางการแพทย์ได้ภายในปี 2562 ขณะนี้กฎหมายอยู่ในขั้นตอนการหารือของ สนช. และทางปปส. ก็มีการพูดถึงการใช้ มาตรา 44 มาปลดล็อกเรื่องนี้ด้วย

ผู้สื่อข่าวประชาไทรายงานเพิ่มเติมว่า ความเคลื่อนเรื่องการปลดล็อกกัญชาทางการแพทย์นี้ สืบเนื่องจากการที่กระทรวงสาธารณสุขได้ออกคำสั่กระทรวงเลขที่ 530/2561 เรื่อง แต่ตั้งคณะกรรมการพิจารณาการนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ เมื่อวันที่ 4 พ.ค. 2561 โดยเนื้อหาในคำสั่งดังกล่าวระบุว่า มีข้อมูลปรากฎว่ามีการนำกัญชา ซึ่งปัจจุบันจัดเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ตาม พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์อย่างหลากหลายในต่างประเทศ ประกอบกับขณะนี้ประเทศไทยอยู่ระหว่างการปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติดังกล่าวให้ใช้ยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 เพื่อการรักษาโรค หรือเพื่อการศึกษาวิจัยได้ ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินการรองรับกับการนำกัญชามาใช้ประโยชน์ในทางการแพท์ และการศึกษาวิจัยในประเทศมีการขับเคลื่อนอย่างเป็นระบบ มีประสิทธิภาพ มีความเหมาะสม รัดกุม เพื่อให้การใช้ประโยชน์จากกัญชาในทางการแพทย์เกิดประโยชน์สูงสุด

สธ. สั่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาการใช้กัญชาทางการแพทย์

ครม. เห็นชอบร่างกฎหมายยาเสพติด ให้ใช้กัญชาวิจัยกับคนได้ อนุญาต ป.ป.ส. กำหนดพื้นที่ปลูก

ผู้ใช้กัญชาทางการแพทย์เรียกร้องนายกรัฐมนตรีเร่งถอด 'กัญชา' จากบัญชียาเสพติด

ต่อมาวันที่ 15 พ.ค. 2561 คณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบโดยร่างกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติด 3 ฉบับ ประกอบด้วย พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. .... , ร่างประมวลกฎหมายยาเสพติด และร่างพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....

สำหรับประมวลกฎหมายยาเสพติดได้มีการรับในหลักการว่า อนุญาตให้หน่วยงานของรัฐ อาจกำหนดพื้นที่ในการทดลองเพาะปลูกพืชที่เป็นหรือให้ผลผลิตเป็นยาเสพติดให้โทษหรืออาจใช้ผลิตเป็นยาเสพติดให้โทษ หรือผลิตและทดสอบเกี่ยวกับยาเสพติดได้ เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์

อย่างไรก็ตาม กระแสการเรียกร้องการกัญชาทางการแพทย์ ได้มีมาก่อนหน้านี้แล้ว โดยเมื่อวันที่ 27 มิ.ย. 2560 เครือข่ายผู้ใช้กัญชาทางการแพทย์ ได้เข้ายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาลขอให้เร่งถอดกัญชาออกจากบัญชียาเสพติด และบรรจุเป็นพืชสมุนไพร เพื่อเปิดให้นำไปวิจัย และพัฒนาในทางการแพทย์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net