Skip to main content
sharethis

ผลโพล นศ. มช. สะท้อนความล้มเหลวของรัฐประหาร คนรุ่นใหม่ต้องการนโยบายมากกว่าตัวบุคคล ชี้ คสช. สอบตกเรื่องแก้ปัญหาคอร์รัปชั่น-สร้างความปรองดอง ต้องการเลือกตั้งภายในปี 62 และ นศ. ส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจระบบลงคะแนน ขณะที่ความนิยมพรรคอนาคตใหม่ 27% ตามด้วยเพื่อไทย 26% นักวิชาการชี้ หลังเลือกตั้งทหารอาจเข้ามาอยู่ในการเมืองต่อแต่ต้องดีลกับหลายกลุ่ม ใช้อำนาจดิบแบบเดิมไม่ได้

จากซ้ายไปขวา กฤษณ์พชร โสมณวัตร, อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์, สมชาย ปรีชาศิลปกุล

26 ก.ย.2561 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่(มช.) จัดเสวนาเรื่อง "ทัศนคตินักศึกษา มช. ต่อรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นกิจกรรมประกอบการเรียนวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วิเคราะห์ผลโพลโดย อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ และสมชาย ปรีชาศิลปกุล คณะนิติศาสตร์ ดำเนินรายการโดย กฤษณ์พชร โสมณวัตร คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

เบื้องต้นสมชาย ปรีชาศิลปกุล คณะนิติศาสตร์ ได้กล่าวถึงภาพรวมแบบสำรวจรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้ง โดยเลือกสำรวจนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 11-17 ก.ย. ที่ผ่านมา มีแบบสำรวจทั้งหมด 5,446 ชุด แบ่งเป็นชั้นปีที่1-25%, ชั้นปีที่2-25%, ชั้นปีที่3-25%, ชั้นปีที่4-21%, มากกว่า 4 ปี-4% โดยกระจายเป็นภูมิลำเนา ภาคเหนือ66%, ภาคอีสาน 6%, ภาคกลาง8%, ภาคใต้12% และกทม.และปริมณฑล 8% และเป็นเพศชาย 39% เพศหญิง 59% อื่นๆ2%

ทั้งนี้สมชายได้เล่าถึงคำถามทั้ง 10 ข้อของแบบสำรวจ พร้อมทั้งวิเคราะห์ถึงผลของแบบสำรวจดังนี้

ข้อที่ 1 ในรอบ 3 เดือนที่ผ่านมา ท่านตั้งใจดูรายการคืนวันศุกร์ของ คสช. มากน้อยแค่ไหน

คำตอบได้แก่ ไม่เคยดู 51%, ดูน้อย (1-3 ครั้ง) 33.4% ,ปานกลาง (4-6 ครั้ง) 9.9%, ดูมาก (7-9 ครั้ง) 3.8%, ส่วนดูมากที่สุด (10-12 ครั้ง) 0.9%

สมชายสรุปว่า หากรวมคนที่ไม่เคยดูถึงดูน้อยจะพบว่ามีถึงประมาณ 80%

ข้อที่ 2 ท่านคิดว่า คสช. และรัฐบาลสามารถแก้ไขปัญหาความแตกแยกและการสร้างความปรองดองได้ดีเพียงใด

คำตอบได้แก่ แย่มาก 16% แย่ 29% ปานกลาง 44% ดี 9% ดีเยี่ยม 2%

สมชายพูดโดยรวมว่าการแก้ไขปัญหาเรื่องความแตกแยกและสร้างความปรองดอง มีคนคิดว่า คสช. แก้ปัญหาได้ดีประมาณ 11% ปานกลาง 44% และแย่ 45% ถ้าเป็นข้อสอบก็เรียกว่าตกเกือบผ่าน

ข้อ3 ท่านคิดว่า คสช. และรัฐบาลสามารถแก้ไขปัญหาเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่นได้มากน้อยเพียงใด

คำตอบได้แก่ แก้ไขปัญหาได้ดีเยี่ยม 2%, แก้ไขปัญหาได้ดี 7%, แก้ไขปัญหาได้ปานปลาง 35%, แก้ไขปัญหาได้แย่ 33%, แก้ไขปัญหาได้แย่มาก 23%

สมชายกล่าวว่า แสดงให้เห็นว่าเรื่องคอร์รัปชั่นในรัฐบาลชุดนี้นั้นสอบตกค่อนข้างชัดเจนในสายตานักศึกษา

ข้อ4 ในรอบ 4 ปีที่ผ่านมา ท่านคิดว่าการทำงานของรัฐบาลที่นำโดย คสช. อยู่ในระดับใด

คำตอบได้แก่ การทำงานดีเยี่ยม 1%, การทำงานดี8%, การทำงานปานกลาง 41%, การทำงานแย่ 32%, การทำงานแย่มาก 18%

ข้อ5 ท่านอยากให้การเลือกตั้งเกิดขึ้นอย่างช้าที่สุดเมื่อใด

คำตอบได้แก่ อยากให้การเลือกตั้งเกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 37%, อยากให้การเลือกตั้งเกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคม 2562 12%, อยากให้การเลือกตั้งเกิดขึ้นภายในปี 2562 46%, ไม่อยากให้มีการเลือกตั้ง 5%

สมชายกล่าวว่า แสดงให้เห็นว่าโดยรวมแล้วคิดว่าต้องมีการเลือกตั้งภายในปี 62

ข้อ6 อะไรคือปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการตัดสินใจลงคะแนนของท่าน

คำตอบได้แก่ ตัดสินใจลงคะแนนจากชื่อเสียงของบุคคล 7%, ตัดสินใจลงคะแนนจากนโยบายและผลงานของพรรคที่สังกัด 88%, ตัดสินใจลงคะแนนด้วยปัจจัยอื่นๆ 5%

สมชายชี้ว่า แสดงให้เห็นว่าชื่อเสียงตัวบุคคลมีจำนวนน้อยกว่าอย่างเห็นได้ชัด

ข้อ7 ท่านเข้าใจหรือไม่ว่าในนการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2560 ระบบการลงคะแนนเป็นอย่างใด

เข้าใจถึงระบบการลงคะแนน 36%, ไม่เข้าใจถึงระบบการลงคะแนน 16%, ไม่ทราบถึงระบบการลงคะแนน 48%

สมชายสรุปว่า คนที่ไม่รู้การลงคะแนนรวมถึงไม่เข้าใจการลงคะแนนมีจำนวนมาก ซึ่งสะท้อนไปถึงคนส่วนใหญ่ในประเทศที่ยังไม่รู้ระบบการเลือกตั้ง อันเป็นคำถามที่จะส่งไปถึง กกต.

ข้อ8 ท่านเข้าใจหรือไม่ว่าในการเลือกตั้งครั้งนี้จะมี ส.ส. จำนวนเท่าใด

เข้าใจถึงจำนวน ส.ส. 17%, ไม่เข้าใจถึงจำนวนส.ส. 20%, ไม่ทราบถึงจำนวนส.ส. 63%

สมชายกล่าวว่า นักศึกษา มช. มากกว่า 80% ไม่รู้ว่าจะมี สส.จำนวนเท่าไหร่ สะท้อนให้เห็นว่าการพูดถึงการเลือกตั้งต้องมาพร้อมระบบการลงคะแนนและการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการเลือกตั้งให้กว้างขวางมากขึ้น

ข้อ9 หากมีการจัดการเลือกตั้งท่านคิดว่าจะลงคะแนนให้พรรคการเมืองใด

พรรคอนาคตใหม่ 27%, พรรคเพื่อไทย 26%, พรรรคประชาธิปัตย์ 15%, พรรคเกรียน4%, พรรครวมพลังประชาชาติไทย 2%, พรรคชาติไทยพัฒนา 2%, พรรคทวงคืนผืนป่าประเทศไทย 2%, พรรคสามัญชน 2%, พรรคเสรีรวมไทย 2%, พรรคประชาชนปฏิรูป 2%, อื่นๆ 16%

สมชายวิเคราะห์ว่า ที่น่าสนใจคือพรรคอนาคตใหม่กับเพื่อไทยได้คะแนนไล่เลี่ยกันและรวมแล้วเกินครึ่ง ขณะที่พรรคที่ดูเหมือนจะสนับสนุนทหาร เช่น พรรคประชาชนปฏิรูป พรรครวมพลังประชาชาติไทย รวมแล้วได้เพียง 4%

ข้อ10 ท่านอยากให้ใครมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป

ทักษิณ ชินวัตร 24%, ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ 19%, อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ 10%, เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล 8%, ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร 6%, ประยุทธ์ จันทร์โอชา 6%, ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ 4%, ชวน หลีกภัย 3%, สุเทพ เทือกสุบรรณ 2%, อื่นๆ 19%

สมชายแสดงความเห็นว่า คิดว่าน่าสนใจที่ นักศึกษา มช. ซึ่งเป็นคนลงคะแนนครั้งแรก เลือกทักษิณซึ่งไม่ได้อยู่กับการเมืองไทยมาเป็น 10 ปี ส่วนคนที่ได้ที่สอง คือคนที่เพิ่งโผล่เข้ามาในการเมืองคือธนาธร ขณะที่เนติวิทย์ได้ 8% มากกว่า ประยุทธ์ซึ่งได้ 6% อาจเข้าใจได้ในแง่ว่าเป็นนักศึกษาด้วยกันเอง ส่วนคำตอบอื่นๆ ในที่นี่ไม่ระบุชื่อ มีระบุชื่อบ้างแต่ก็กระจัดกระจาย สิ่งที่เราเห็นน่าจะสะท้อนความคิดเห็นทางการเมืองของนักศึกษาพอสมควรว่าใครเป็นที่นิยม

 

‘อรรถจักร’ ชี้ ผลโพลสะท้อนความล้มเหลวของรัฐประหาร คนรุ่นใหม่ต้องการนโยบายมากกว่าตัวบุคคล

 

อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วิเคราะห์ว่า ถ้าเรามองแบบสอบถาม 10 ข้อโดยวางอยู่บนบริทบสังคม เราสามารถอธิบายได้ 2 ด้าน คือ ความล้มเหลวของการรัฐประหาร และมุมมองคนรุ่นใหม่ที่มีต่ออนาคต

อรรถจักรกล่าวว่า ข้อ 1-4 สอบถามความรู้สึกของ นศ.ต่อคณะรัฐประหาร คิดว่ามันคือการสะท้อนลึกลงไป ทบทวนประวัติศาสตร์การรัฐประหาร ซึ่งคนรุ่นใหม่ห้าพันกว่าคนมองว่าการรัฐประหารล้มเหลวโดยสิ้นเชิง แน่นอนว่าไม่ตรงทั้งหมดร้อยเปอร์เซ็นต์

มองในมุมกลับทั้งการปรองดอง การคอร์รัปชั่น ไม่ได้ถูกแก้ปัญหา นี่เป็นการทบทวนประวัติศาสตร์ของคนรุ่นใหม่ เราจะแก้ไขปัญหาด้วยการรัฐประหารไม่ได้ และความล้มเหลวโดยสิ้นเชิงอีกอันคือรายการคืนวันศุกร์ ซึ่งควรจะต้องมีคนฟังอยู่บ้าง แต่เด็กรุ่นใหม่แทบจะไม่มีใครฟังเลย

ต่อมาคือข้อ 5-10  ซึ่งอรรถจักร์กล่าวว่า สะท้อนเด่นชัดว่ามีความตึงเครียดในความสัมพันธ์ทางอำนาจอยู่ค่อนข้างมาก เมื่อดูว่าเกิดจากอะไร ข้อ 9-10 การเลือกส่วนใหญ่คือ พรรคอนาคตใหม่และเพื่อไทย คือสองพรรคส่วนที่แตกต่างหรือถูกทำให้แตกต่างจากพรรคอื่นๆ หากเราดูข้อ 10 จะพบว่าประยุทธ์กับยิ่งลักษณ์คะแนนเท่ากันคือ 6%

ดังนั้นเมื่อมองอนาคต คนรุ่นใหม่เองก็ยังไม่รู้ว่าจะมองไปทางไหนชัดๆ แต่ขณะเดียวกันคนรุ่นใหม่ก็รู้สึกว่ามีความอึดอัดคับข้องใจในกลุ่มพวกเขาอยู่

อรรถจักร์ตั้งคำถามว่าความคับข้องใจเกิดจากอะไร เนื่องเพราะมีความเปลี่ยนแปลงในกลุ่มนักศึกษาค่อนข้างมาก นักศึกษาเริ่มเข้ามาเป็นชนชั้นกลางที่ไม่ได้สัมพันธ์กับระบบอุปถัมภ์ในหมู่บ้านแบบเดิมแล้ว ดังนั้นเขาจึงคิดเรื่องนโยบายและผลงานของพรรค ถ้าย้อนกลับไปถามผู้ปกครองของนักศึกษาพวกเขาอาจจะพูดถึงตัวบุคคล คะแนนเสียง ชื่อเสียงมากกว่า นี่คือตัวชี้ให้เห็นว่าในทางสังคมกำลังเกิดชนชั้นกลางที่ต้องการนโยบาย คือเรื่องหลักที่หากรัฐบาลใหม่ไม่สามารถเข้าใจตรงนี้ ความตึงเครียดนี้ก็ระเบิดได้

ความตึงเครียดประการต่อมาที่สำคัญคือข้อ 5 เมื่อนักศึกษามองทบทวนอดีตแล้วรู้ว่า คสช. ล้มเหลวจากข้อ 1-4 สิ่งที่นักศึกษาต้องการคือมองหาทางเลือกใหม่ที่จะสร้างสังคมร่วมกัน และทางเลือกใหม่อยู่ที่ข้อ 5 ว่าขอให้การเลือกตั้งอยู่ในปี 62

“โพลนี้จึงสะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยอย่างมากมาย สะท้อนให้เห็นถึงความคาดหวังของคนรุ่นใหม่ โพลชุดนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะทำให้นักการเมืองทั้งหลายต้องคิดการสื่อสารใหม่ ผมเชื่อว่าถ้าเอา 10 ข้อนี้ส่งไปให้มหาวิทยาลัยอื่น ผลก็จะได้ใกล้เคียงกับอันนี้ และถ้านักศึกษาไปลงคะแนนตามนี้ ผมคิดว่าเราจะกลายเป็นแผงกำลังชุดหนึ่งที่จะร่วมกันเดินไปข้างหน้าได้” อรรถจักร์กล่าว

หลังเลือกตั้งทหารอาจเข้ามาอยู่ในการเมืองต่อแต่ต้องดีลกับหลายกลุ่ม ใช้อำนาจดิบแบบเดิมไม่ได้

 

มีคำถามจากในห้องเสวนาว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่ทหารจะเข้ามายุ่งเกี่ยวอีกครั้งหลังเลือกตั้ง หรือเกิดการรัฐประหารขึ้นอีกครั้ง

สมชายตอบว่า คิดว่าตอนนี้พวกเราอยู่ในจุดที่แย่ที่สุดแล้วเมื่อทหารเข้ามายึดอำนาจ หลังจากนี้ทหารก็อาจจะเข้ามาผ่านทางรัฐธรรมนูญ ผ่านการเลือกตั้ง ซึ่งพอเขาต้องอยู่ในการเมืองที่มีการเลือกตั้ง เขาก็ต้องเข้ามาปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มการเมืองกลุ่มอื่นๆ เพราะฉะนั้นการใช้อำนาจแบบดิบๆ อย่างเดิมน่าจะเกิดขึ้นได้ยากขึ้น แต่ประเทศไทยเราไว้ใจไม่ได้ ตนเคยคิดว่าเราจะไม่ตกต่ำไปมากกว่านี้ แล้วมันก็ยังไปเรื่อยๆ

อรรถจักร์กล่าวว่า หลังการเลือกตั้งแล้วจะทำให้พล.อ. ประยุทธ์ (จันทร์โอชา) ต้องเล่นบทที่ประสานผลประโยชน์มากขึ้น แล้วการประสานผลประโยชน์นี้ท้ายสุดก็จะไม่สามารถแก้ปัญหาเรื่องคอร์รัปชั่นได้ และอย่าไปคิดว่ากองทัพบกจะอยู่ข้างหลังพลเอกประยุทธ์ในรัฐบาลต่อไปร้อยเปอร์เซ็นต์ ตนคิดว่าพล.อ. อภิรัชต์ คงสมพงษ์เองก็คงจะเห็นจังหวะที่เมื่อไหร่จะถอย จะหยุด

“เกมการเมืองข้างหน้าจะขึ้นอยู่กับพวกเรามากขึ้น การคุมการเมืองแบบ 4 ปีที่ผ่านคงจะทำไมได้ และเรามีสิทธิที่จะส่งเสียงได้มากขึ้น สร้างพลัง สร้างความรู้ เปลี่ยนสังคมได้มากขึ้น” อรรถจักร์กล่าว

อรรถจักรกล่าวต่อว่า การรัฐประหารจะเกิดขึ้นได้อีกไหม ตอนปี 35 ตนก็คิดว่าจะไม่มีแล้ว แต่มันก็กลับมาอีก แต่ตนคิดว่าถัดจากนี้ไป ถ้าจะมีรัฐประหารมันต้องซับซ้อนมากกว่านี้ เพราะรัฐบาลใหม่จะเป็นรัฐบาลจากหลายกลุ่มเพื่อสร้างภาวะสมดุล กลุ่มหนึ่งก็คือกลุ่มทหาร อีกกลุ่มก็คือนักการเมือง อีกกลุ่มคือกลุ่มทุนประชารัฐ ซึ่งคุมไปทั่วประเทศแล้ว ถ้า 3 กลุ่มนี้สามารถสร้างความสมดุลได้แบบที่พลเอกเปรมเคยทำ เขาก็จะยังอยู่ได้ แต่ความสมดุลนี้จะอยู่ได้ไหมเมื่อสังคมข้างล่างเปลี่ยน ก็คงต้องคิดกันอีกมาก คนที่จะเป็นนายกครั้งหน้าหากมาจากฝั่ง คสช. ก็ไม่ง่ายที่จะใช้อำนาจดิบแบบที่ใช้มา 4 ปี เพราะต้องดีลกับหลายฝ่าย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net