รายงานสหรัฐฯ เผยทหารพม่าทารุณต่อโรฮิงญาในวงกว้าง ผบ.ทสส.พม่าขออย่าแทรกแซง

รายงานของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุความโหดร้ายของกองทัพพม่าที่กระทำต่อชนกลุ่มน้อยโรฮิงญา ทั้งการสังหารผู้คนในวงกว้างรวมถึงเด็กเล็ก ฝังคนทั้งเป็น จับตัวเด็กผู้หญิงมัดแล้วรุมข่มขืน ก่อนหน้านี้สหประชาชาติเคยสืบสวนและระบุว่าควรนำตัวผู้นำทหารพม่าเข้าสู่กระบวนการศาลอาญาระหว่างประเทศ ส่วนผู้นำทหาร พล.อ. มินอ่องลาย โต้ตอบเรื่องการสืบสวนนี้โดยบอกว่านานาชาติไม่ควร "แทรกแซงกิจการภายใน" ของพวกเขา

เจ้าหน้าที่พม่าขุดศพ 10 ร่างขึ้นมาจากหลุมศพขนาดใหญ่ที่ค้นพบที่หมู่บ้านอินดิน ห่างจากเมืองซิตตะเหว่ เมืองหลวงรัฐยะไข่ไปทางเหนือ 50 กม. ภาพถ่ายเมื่อ 19 ธันวาคม 2560 ล่าสุดรายงานข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนของรอยเตอร์ยืนยันว่าผู้เสียชีวิตทั้งหมดเป็นพลเรือนที่ถูกเจ้าหน้าที่พม่าร่วมกับชาวบ้านยะไข่สังหาร (ที่มา: Office of the Commander-in-Chief)

ทางการสหรัฐฯ เปิดเผยการสืบสวนสอบสวนกรณีการใช้ความรุนแรงต่อชาวโรฮิงญาเมื่อช่วงเดือน ส.ค. 2560 ว่ากองทัพพม่าทำการสังหารหมู่ รุมข่มขืน และกระทำความโหดร้ายอื่นๆ ต่อชาวโรฮิงญาจริงโดยมีการวางแผนไตร่ตรองไว้ก่อน

รายงานฉบับนี้เป็นสิ่งที่ทำให้สหรัฐฯ มีความชอบธรรมในการคว่ำบาตรทางการพม่ามากขึ้นไปอีก อย่างไรก็ตามรายงานดังกล่าวก็ไม่ได้พูดถึงความโหดร้ายของกองทัพพม่าว่าเป็นการ ‘ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์’ หรือ ‘อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ’ แต่อย่างใด ทั้งนี้ทางการสหรัฐฯ ยังระบุว่าจะมีการให้ความช่วยเหลือต่อผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาในวงเงิน 185 ล้านดอลลาร์ด้วย

รายงานของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้ข้อมูลมาจากการสัมภาษณ์ชาวโรฮิงญามากกว่า 1,000 คนในค่ายผู้ลี้ภัยที่บังกลาเทศ เหตุรุนแรงเมื่อปีที่แล้วทำให้ชาวโรฮิงญาต้องอพยพจากรัฐยะไข่ไปสู่ประเทศบังกลาเทศซึ่งมีจำนวนประมาณ 700,000 คน

5 เรื่องควรรู้หลังยูเอ็นจัดหนักพม่าด้วยรายงานที่ดุดันในกรณีโรฮิงญา

ศาลอาญาระหว่างประเทศจะสอบสวนพม่ากวาดล้างโรฮิงญา

พม่าจำคุก 7 ปี 2 นักข่าวรอยเตอร์เปิดโปงสังหารหมู่โรฮิงญา

คุยกับผู้กำกับหนังรางวัลที่เวนิส 'กระเบนราหู' แด่โรฮิงญา ผู้ลี้ภัยที่ไม่อาจเอ่ยเสียง

แอมเนสตี้เปิดชื่อนายทหารพม่าเอี่ยวโจมตีชาวโรฮิงญา-เข้าข่ายอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ

รายงานระบุว่าความรุนแรงต่อชาวโรฮิงญาที่เกิดขึ้นมีความสุดโต่ง เป็นไปในพื้นที่ใหญ่ๆ และขยายเป็นวงกว้าง มีลักษณะเอียงไปในทางทั้งการก่อการร้ายให้เกิดความหวาดกลัวและบีบให้ชาวโรฮิงญาออกไปจากพื้นที่ นอกจากนี้ยังมีลักษณะแบบที่วางแผนเตรียมการมาเป็นอย่างดี

ผู้ที่ให้สัมภาษณ์ต่อรายงานของทางการสหรัฐฯ พูดถึงเรื่องที่พวกเขาเห็นทหารสังหารเด็กทารกและเด็กเล็ก ยิงคนที่ไม่มีอาวุธ ฝังคนทั้งเป็นหรือโยนลงหลุมฝังศพหมู่ นอกจากนี้ยังพูดถึงความรุนแรงทางเพศที่กระทำต่อผู้หญิง มีผู้เห็นเหตุการณ์รายหนึ่งเล่าว่ามีเด็กผู้หญิงชาวโรฮิงญา 4 คน ถูกจับตัวเอาไปมัดแล้วถูกข่มขืนเป็นเวลา 3 วัน จนทำให้พวกเธอเลือดออกอย่างหนักและอยู่ในสภาพ "ครึ่งเป็นครึ่งตาย"

ก่อนหน้านี้องค์การสหประชาชาติเคยพูดถึงการใช้ความรุนแรงกับชาวโรฮิงญาเมื่อวันที่ 25 ส.ค. 2560 ว่าเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และเมื่อกลางปีนี้ทางยูเอ็นก็ส่งทีมสืบสวนของตัวเองลงไปจนได้รายงานที่ระบุว่ากองทัพพม่ากระทำการโดย "มีเหตุจงใจฆ่าล้างเผ่าพันธุ์" และเรียกร้องให้นำตัวเจ้าหน้าที่ทหารระดับนายพล 5 นายกับผู้บัญชาการทหารสูงสุดเข้ารับการไต่สวนจากศาลอาญาระหว่างประเทศ

ทางฝ่ายผู้นำทหารพม่าโต้ตอบข้อกล่าวหาของนานาชาติ โดย พล.อ.มินอ่องลาย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของพม่ากล่าวเตือนว่าการประชุมหารือในเวทีการประชุมใหญ่ของสหประชาชาติในสัปดาห์นี้ ที่จะมีผู้นำจากทั่วโลกเข้าร่วมเพื่อหาทางนำเหล่านายพลที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงต่อชาวโรฮิงญารับผิดชอบกับสิ่งที่ทำ เพื่อ "แทรกแซงกิจการภายใน" ประเทศพม่าอาจจะสร้าง "ความเข้าใจผิด" ได้ นับเป็นครั้งแรกที่ผู้นำทหารพม่ากล่าวเรื่องนี้ออกสื่อนับตั้งแต่มีรายงานกล่าวหาพวกเขาจากสหประชาชาติ

เรียบเรียงจาก

Report blames Myanmar army for 'large-scale' attacks on Rohingya, Aljazeera,  Sep. 25, 2018

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท