Skip to main content
sharethis

ประชาธิปัตย์เตรียมเดินหน้าหยั่งเสียงหัวหน้าพรรค ปฏิเสธข่าวจับมือกับเพื่อไทย ยันถ้ายังอยู่ใต้ทักษิณก็คงทำงานร่วมกันไม่ได้ ด้านเพื่อไทยได้สุดารัตน์เป็นสมาชิกพรรคแล้ว ภูมิธรรมเผย ถ้าประชาธิปัตย์ไม่เอานายกฯ คนนอก ค่อยดูว่านโยบายไปกันได้หรือไม่ ด้านกอบศักดิ์เผย รัฐบาล คสช.  เตรียมตั้งสภาตำบล อัดฉีดเงินลงตำบลละ 5 แสน เริ่มต้น 10 จังหวัด

ภาพจากเพจ Abhisit Vejjajiva

อภิสิทธิ์ เผยสมาชิกพรรคอีก 2.5 ล้านคนที่ยังไม่ได้ยืนยันความเป็นสมาชิกจะมีสิทธิหยั่งเสียงเลือกหัวหน้าพรรค

เมื่อวันที่ 26 ก.ย. 2561 สำนักข่าวไทย รายงานว่า อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แถลงภายหลังการประชุมใหญ่วิสามัญพรรคประชาธิปัตย์ กว่า 4 ชั่วโมงว่า ที่ประชุมมีการถกเถียงรายละเอียดทุกแง่มุม ซึ่งบรรยากาศเป็นไปด้วยดี ในการพิจารณาแก้ไขข้อบังคับพรรคให้สอดคล้องกับกฎหมายใหม่ รวมถึงเปิดโอกาสให้ประชาชนที่เป็นสมาชิกพรรคหยั่งเสียงเลือกหัวหน้าพรรค ซึ่งจะมีการออกระเบียบให้แล้วเสร็จภายในสัปดาห์นี้ ขณะเดียวกันมีการปรับโครงสร้างกรรมการบริหารใหม่ โดยมีทั้งหมด 41 คน จะกำหนดผู้หญิง 10 คน กรรมการสาขาพรรค 11 คน ต้องมีผู้หญิง 3 คน และต้องมีอายุไม่เกิน 35 ปีอีก 1 คน ซึ่งถือเป็นการขับเคลื่อนให้พรรคเกิดความก้าวหน้ามากขึ้น

อภิสิทธิ์ กล่าวว่าขั้นตอนระเบียบหยั่งเสียง ที่ประชุมเห็นชอบให้สมาชิกทั้งหมดที่ผ่านการยืนยันแสดงความเป็นสมาชิกพรรคจำนวน 8 หมื่นคน และสมาชิกเดิมกว่า 2.5 ล้านคนที่ยังไม่ยืนยันความเป็นสมาชิก มีสิทธิลงคะแนนหยั่งเสียง ส่วนวิธีการนับคะแนน จะใช้แบบวันแมนวันโหวตหรือระบบสัดส่วน คณะทำงานจะไปหารือ ซึ่งจะได้ข้อยุติภายในสัปดาห์นี้ ขณะเดียวกันจะเริ่มเปิดรับสมาชิกใหม่ในวันที่ 1 ต.ค.

อภิสิทธิ์ ยังยืนยันการลงชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบ และทันทีที่เข้าสู่กระบวนการได้รับการเสนอชื่อในการหยั่งเสียงจะยุติการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่มีการใช้อำนาจสั่งการ ในฐานะหัวหน้าพรรค แต่จะไม่ลาออกจากตำแหน่งเพราะจะทำให้กรรมการบริหารพรรคคนอื่นต้องสิ้นสภาพและทำให้ไม่มีใครทำงานให้กับพรรคก่อนที่จะมีกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ซึ่งหลังจากนี้พักจะเริ่มต้นกระบวนการหยั่งเสียงภายในเดือนตุลาคมและได้หัวหน้าพรรคในช่วงต้น พ.ย. 

อภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่าขณะเดียวกันมีการกำหนดนโยบายพรรคบรรจุไว้ในข้อบังคับพรรค โดยให้ความสำคัญกับด้านเศรษฐกิจ ที่เป็นพรรคการเมืองแรกที่กำหนดไว้ ให้ความสำคัญกับประชาชนที่มีรายได้น้อย ให้ความสำคัญแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ผลักดันทุกภาคเป็นศูนย์กลางความเจริญ และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานประเทศให้เชื่อมโยงกับภูมิภาครวมถึงพัฒนาเมืองหลักทุกภาคในประเทศให้เป็นมหานคร ขณะเดียวกันระบบภาษีจะครอบคลุมผู้มีรายได้น้อยโดยเป็นหลักสวัสดิการแห่งรัฐ ส่วนด้านการศึกษาจะดึงภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมเน้นทักษะเรียนจบแล้วมีงานทำ เช่นเดียวกับระบบสาธารณสุขประเทศจะต้องมีระบบประกันสุขภาพและเอกชนไม่เอาเปรียบประชาชน ขณะที่นโยบายด้านการเมืองพรรคประชาธิปัตย์พร้อมผลักดันบ้านเมืองให้กลับคืนสู่ประชาธิปไตยและหากข้อกฎหมายใดไม่สอดคล้องกับประชาธิปไตย พรรคประชาธิปัตย์พร้อมที่จะแก้ไข และยืนยันจะใช้อำนาจที่ได้จากประชาชนโดยไม่ลุแก่อำนาจ พร้อมรับการตรวจสอบจากทุกภาคส่วน

ทั้งนี้ โพสต์ทูเดย์ออนไลน์ รายงานด้วยว่า อภิสิทธิ์ ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวก่อนการประชุมถึงกรณีที่มีกระแสข่าวว่า นายอภิสิทธิ์กับ นายโภคิน พลกุล แกนนำพรรคเพื่อไทย มีการคุยกันว่าพรรคประชาธิปัตย์ กับพรรคเพื่อไทยจะจับมือกันและมีการยกตำแหน่งนายกรัฐมนตรีให้กันหลังการเลือกตั้งว่าเรื่องนี้เกิดขึ้นที่สำนักกฎหมายธรรมนิติ ตนไปพบนายไพศาล พืชมงคล กรรมการผู้ช่วยรองนายกรัฐมนตรี เพราะนายไพศาลทำงานสมาคมประสานเรื่องการไปประเทศจีน และมีประเด็นเรื่องที่จีนเดินทางมาประเทศไทย ซึ่งตนก็เคยพบนายโภคินแต่ไม่มีเรื่องตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจะมายกให้กัน แต่ก็มีการพุดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องการเมืองบ้าง ส่วนใหญ่พูดถึงปัญหาข้อกฎหมาย การทำงานของพรรคการเมือง โดยที่ตอนนั้นยังไม่มีการปลดล็อกหรือคลายล็อก

"ปกติผมเจอคนของพรรคเพื่อไทยในเวที หรือ ถ้าจะมีการพูดคุยเรื่องการเมืองก็จะเป็นเรื่องเหล่านี้ เพราะผมพูดชัดเจนมาตลอดว่า ผมทำการเมืองในเรื่องของอุดมการณ์ และถ้าอุดมการณ์ไม่ตรงกันก็ร่วมกันไม่ได้ ตรงนี้คือจุดที่ผมแสดงออกมาตลอด ไม่ต้องมีปัญหามาตีความกัน และผมไม่ทราบว่าข่าวมาจากไหน แต่เห็นคุณโภคินก็ออกมาปฎิเสธแล้ว ในข้อเท็จจริงพรรคเพื่อไทยก็ยังไม่ชัดเจนว่าใครเป็นผู้บริหาร” อภิสิทธิ์ กล่าว

เมื่อถามว่า มองเจตนาของข่าวที่ออกมาอย่างไร อภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตนไม่ทราบเจตนา แต่ได้บอกไปแล้วว่าเรื่องอุดมการณ์นั้นถ้าพรรคเพื่อไทยยังอยู่ภายใต้ของครอบครัวชินวัตร ไม่ดึงตัวเองให้พ้นจากการสนับสนุนของระบอบทักษิณเป็นไปไม่ได้ที่จะทำงานร่วมกัน

ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวประชาไท รายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับแคนนิเดตชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นที่จับตามองในเวลานี้ มีอยู่ 2 คนคือ อลงกรณ์ พลบุตร และนพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม สำหรับอลงกรณ์ได้เข้าหารือกับอภิสิทธิ์ เมื่อวันที่ 25 ก.ย. ได้ข้อสรุปว่า ในการหยั่งเสียงเลือกหัวหน้าพรรคจะมีการตั้งคณะกรรมการไพรมารี่ที่มาจากตัวแทน 3 ฝ่าย   เพื่อมากำหนดกติการต่างๆ ซึ่งจะมีการพูดคุยกันในช่วงสุดสัปดาห์นี้ ด้านนพ.วรงค์ และถาวร เสนเนียม จะแถลงข่าวเปิดตัวการสมัครลงชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์อย่างเป็นทางการในวันที่ 27 ก.ย. เวลา 13.00 น. ที่ลานอนุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่มหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พิษณุโลก โดยให้เหตุผลที่เลือกเปิดที่จังหวัดพิษณุโลกเพราะเห็นว่าที่ผ่านมายังไม่มีใครในจังหวัดพิษณุโลกกล้าชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคมาก่อน

ภาพจากไลน์เพื่อไทย

หญิงหน่อยสมัครสมาชิกเพื่อไทยแล้ว ด้านภูมิธรรมเผย พร้อมเปิดรับการเสนอรายชื่อแคนนิเดตหัวหน้าพรรค

ขณะที่ ข่าวสดออนไลน์ รายงานว่า ที่พรรคเพื่อไทยได้มีการจัดประชุมเพื่อพิจารณาร่างข้อบังคับพรรคใหม่ โดยมีบรรดาอดีตรัฐมนตรี แกนนำพรรคเพื่อไทย อดีต ส.ส.จากทั่วทุกภาค แกนนำ นปช. และสมาชิกพรรค เดินทางมาประชุมอย่างพร้อมเพรียง อาทิ พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ รักษาการหัวหน้าพรรค ปลอดประสพ สุรัสวดี รักษาการรองหัวหน้าพรรรค ภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรค

นิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล อดีตรองนายกฯ โภคิน พลกุล อดีตประธานรัฐสภา จาตุรนต์ ฉายแสง อดีต รมว.ศึกษาธิการ ชัยเกษม นิติสิริ อดีต รมว.ยุติธรรม เสนาะ เทียนทอง ประธานที่ปรึกษาพรรค ชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรค รวมทั้ง สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แกนนำ กทม. ซึ่งได้เดินทางมาสมัครเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยเป็นที่เรียบร้อยในเวลา 09.45 น. 

เวลา 09.00 น. ภูมิธรรม กล่าวว่า วันนี้เป็นวันแรกที่มีการเปิดบ้านให้สมาชิกของพรรค อดีตรัฐมนตรีและนักการเมืองของพรรคทั้งหมดมาพูดคุย หลังเกิดการรัฐประหารมาเกือบ 5 ปี สำหรับสาระสำคัญเป็นไปตามกระบวนการที่เข้าสู่เรื่องที่รัฐบาล และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เช่น คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้กำหนดเอาไว้ที่จะต้องทำ 2 เรื่องที่สำคัญ และเมื่อเสร็จจึงจะสามารถเข้าสู่กระบวนการของการจัดส่งผู้สมัครทั่วประเทศได้ คือ

1.การจัดการข้อบังคับพรรค ซึ่งทุกพรรคต้องดำเนินการ ขณะนี้เราได้ผ่านกระบวนการที่คณะกรรมการบริหารพรรคได้ลงมติเรียบร้อย ในส่วนของร่างที่เราได้ไปสำรวจความเห็น และนำเผยแพร่บนหน้าเว็ปไซต์พรรคแล้ว ทั้งเรื่องอุดมการณ์ เจตนารมณ์ แนวนโยบายของพรรค ส่วนขั้นที่สองคือเชิญสมาชิกพรรคจากทั่วประเทศมาพูดคุยความเห็นของอุดมการณ์ ความเห็น ซึ่งจะเป็นกรอบที่จะต้องดำเนินการ ทั้งนี้ เรามีความยุ่งยากลำบากมากสำหรับกติกาที่ผู้มีอำนาจในปัจจุบันได้เขียนไว้ ทำให้เราต้องดูสิ่งต่างๆ ดูกติกาที่เขาพยายามใช้ เพราะโทษต่างๆ ที่เกิดขึ้นค่อนข้างรุนแรงมีผลต่ออนาคตทางการเมืองของพรรคเหมือนกัน และ 2.เรื่องโครงสร้างการทำงานในอนาคต ซึ่งเราจะได้หารือกันทั้งหมด เพื่อจะเข้าไปสู่การอนุมัติข้อบังคับพรรคส่วนใหญ่ซึ่งจะจัดในวันที่ 3 ต.ค.

เมื่อถามว่าข้อสำคัญของการแก้ไขข้อบังคับพรรคจะมีการเปลี่ยนแปลงจากเดิมมากหรือไม่ เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายฉบับใหม่ ภูมิธรรม กล่าวว่า ตามเงื่อนไขข้อกำหนดทั้งหมด ผังโครงสร้าง การจัดการอุดมการณ์ ข้อจำกัดของนโยบายก็ต้องระมัดระวัง อย่างน้อยที่สุดคือการที่ยังไม่มีการแก้ไขปรับตัวเรื่องยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี หรือกฎกติกาของรัฐธรรมนูญ แม้ว่าหลายเรื่องเรายังไม่เห็นด้วยและมีทิศทางที่อาจจะต้องแก้ไขปรับปรุงร่วมกันของพี่น้องประชาชนแต่ภายใต้กฎติกากติกาเช่นนี้ เราก็คงจะต้องรักษาและยืนตามกรอบกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่

เมื่อถามว่าวันนี้เป็นการเช็คชื่อสมาชิกพรรคหรือไม่ ภูมิธรรม กล่าวว่า ไม่ใช่การเช็คชื่อ แต่ทุกคนเรายังรักกัน สามารถทำงานการเมืองร่วมกัน วันนี้จะได้ทราบว่ามีใครที่ยังรักและอยากร่วมงานกับพรรค ส่วนการเลือกหัวหน้าพรรค ก็มีอยู่ในวาระของการพูดคุย ซึ่งรายชื่อหัวหน้าพรรคเรากำลังสำรวจความคิดเห็น และที่มาจากการเสนอแนะจากสมาชิกทุกคน ถ้าเสนอมาเราก็พร้อมที่จะนำชื่อเหล่านั้นมาพิจารณา

เมื่อถามต่อว่าพรรคเพื่อไทยสามารถทำงานร่วมกับ ปชป. ได้หรือไม่ ภูมิธรรม กล่าวว่า วันนี้เราพูดเรื่องที่ทำให้เราสามารถดำเนินกิจการทางการเมืองไปได้อย่างถูกต้องจะดีกว่า เราสามารถทำงานกับฝ่ายประชาธิปไตยทั้งหมดได้ ถ้ามีจุดยืนว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตยและไม่เอาการสืบทอดอำนาจ ไม่รับการบริหารงานที่สร้างปัญหาและเป็นเผด็จการ

เมื่อถามย้ำว่าในอนาคตพรรคเพื่อไทยมีโอกาสร่วมงานกับพรรคปชป. ได้ ภูมิธรรม กล่าวว่า ถ้ายืนอยู่ฝ่ายประชาธิปไตย ไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นายกฯ และไม่เอานายกฯ ที่มาจากการสืบทอดอำนาจก็สามารถคุยกันได้ว่าจะอยู่ที่ตรงไหน นโยบายเหมือนกันไหม การบริหารงานร่วมกันที่จะพาประเทศชาติหลุดจากสภาพที่เป็นอยู่ ให้ประชาชนมีชีวิตที่ดีขึ้น ถ้าร่วมมือกันได้ก็ไปกันได้

ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่านายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกฯ ซึ่งเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย ไม่ได้มาเข้าร่วมประชุม หรือนั่งเป็นประธานการประชุมแบบทุกครั้ง รวมถึงนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ แกนนำพรรค ก็ไม่ได้มาร่วมการประชุม ซึ่งมีข่าวว่าในวันที่ 30 นี้จะมีการประชุมใหญ่ของพรรคเพื่อธรรม ที่โรงแรมออร์คิด จังหวัดเชียงใหม่ เวลา 10.00 น. โดยแหล่งข่าวจากพรรคเพื่อไทย ระบุว่า มีการคาการณ์ว่า สมชาย จะได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อธรรม และในวันนั้นจะทราบว่า อดีต ส.ส. ของพรรคเพื่อไทยคนใดจะย้ายไปสังกัดพรรคเพื่อธรรมบ้าง

ที่มาภาพจากเว็บไชต์รัฐบาลไทย

รัฐบาล คสช. เตรียมตังสภาตำบล อัดฉีดเงินลงตำบลละ 5 แสน

ขณะที่มติชนออนไลน์ รายงานว่า กอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและเร่งรัดการดําเนินงานตามนโยบายรัฐบาล (กขร.) ว่า ที่ประชุ่มเห็นชอนร่างระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วย การสร้างเสริมชุมชนเข้มแข็ง พ.ศ. ... โดยเป็นการดําเนินการให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญและแผนการปฏิรูป ประเทศ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนระดับตําบล ซึ่งเป็นรากฐานการพัฒนาประเทศ ให้พุ่มขึ้นได้ ส่วนร่วมในการอนุรักษ์ ฟื้นฟูส่งเสริมภูมิปัญญา ฯลฯ โดยจัดให้มีสภาพัฒนาตําบล เป็นกลไกในการปรึกษา หารือ และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการให้ความเห็นต่อการดําเนินโครงการหรือกิจกรรมของหน่วยงานรัฐหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ สภาพัฒนาตําบล จะเป็นเวทีของชุมชน หน่วยงาน ราชการ ในการรวมตัวปรึกษาหารือ ประสานงาน ดําเนินการจัดทําแผนการพัฒนาพื้นที่ และส่งเสริมการมีส่วน ร่วมของของสมาชิกในการพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็ง ยั่งยืน ถือเป็นการส่งเสริมประชาธิปไตยในชุมชน โดยจะ สนอที่ประทุ่มคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายใน 2 เดือนนับจากนี้

กอบศักดิ์กล่าวว่า ที่ประชุมยังเห็นชอบโครงการพัฒนาศักยภาพผู้นําชุมชนและพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมชุมชน เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาคน โดยดําเนินโครงการในลักษณะกองทุนสําหรับการพัฒนาเชิงพื้นที่ เพื่อสร้างผู้นําชุมชนที่มีศักยภาพ สร้างความเข้มแข็งแก่ชุมชน เน้นให้คนมีส่วนร่วม ในการขับเคลื่อนและคัดเลือกโครงการเพื่อพัฒนาชุมชั้น โดยให้มีการตั้งกองทุนสําหรับการพัฒนาเชิงพื้นที่ งบประมาณเริ่มต้น 2,000 ล้านบาท ระยะเวลาดําเนินการ 3 ปี ช่วงปีแรกจะเริ่มดําเนินการ กับจังหวัดที่ยากจน 10 จังหวัด 700 ตําบล งบประมาณไม่เกินตําบลละ 500,000 บาท หนึ่งตําบลสามารถเสนอไม่ได้จํากัดโครงการ ทั้งนี้จะเสนอขอความเห็นขอบคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายใน 2 เดือนนี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net