Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

30 กันยายน 2561 คือ วันสิ้นสุด “ข้อตกลงสภาพการจ้าง” ระหว่างบริษัทมิตซูบิชิ อิเล็คทริค
คอนซูมเมอร์ โปรดักส์ (ประเทศไทย) กับสหภาพแรงงานมิตซูบิชิ อิเล็คทริค ประเทศไทย ที่เป็นผลมาจากเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2561 ทั้งสองฝ่ายต่างได้ลงนามใน “บันทึกข้อตกลงสภาพการจ้าง” ที่เจรจาไกล่เกลี่ยสำเร็จที่โรงแรมชลอินเตอร์ จ.ชลบุรี

โดยบันทึกฉบับนี้เป็นผลมาจากการยื่นข้อเรียกร้องของสหภาพแรงงานฯต่อบริษัทเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2560 และบริษัทก็ยื่นข้อเรียกร้องสวนกลับต่อสหภาพแรงงานในวันที่ 25 กันยายน 2560 ทั้งนี้มีการเจรจาไกล่เกลี่ยเรื่อยมาตั้งแต่เดือนกันยายน-ธันวาคม 2560 แต่ไม่มีข้อยุติใดๆ

ในที่สุดนำมาสู่การที่บริษัทฯได้ใช้สิทธิ “ปิดงาน งดจ้าง งดทำงาน งดจ่ายค่าจ้างและเงินอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน” ต่อสมาชิกสหภาพแรงงานมิตซูบิชิ อีเล็คทริค ประเทศไทยกว่า 1,800 คน ตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2560 เป็นต้นไป ซึ่งเป็นไปตามข้อกฎหมายที่กำหนดไว้ตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 และเป็นข่าวโด่งดังในสื่อมวลชนแทบทุกสำนักในช่วงปลายปี 2560

คนงานที่นี่ค่าเฉลี่ยรายได้ประมาณเดือนละ 13,000-20,000 บาท (ไม่รวมค่าทำงานล่วงเวลา-OT) ที่จะหายไปตามระยะเวลาการถูกปิดงานดังกล่าวแน่นอนตามมาตรา 12 วรรคท้าย พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ระบุไว้ว่า “กรณีที่ระยะเวลาที่กำหนดตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างสิ้นสุดลง ถ้ามิได้มีการเจรจาตกลงกันใหม่ ให้ถือว่าข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างนั้นมีผลบังคับใช้ต่อไปอีกคราวละหนึ่งปี”

แต่นั้นเองเมื่อสหภาพแรงงานไม่สามารถยื่นข้อเรียกร้องใหม่ได้ด้วยเงื่อนไขบางประการ ตามกฎหมายจักต้องใช้ข้อตกลงเดิมต่อไป แต่ก็พบว่าในช่วงกลางเดือนกันยายน 2561 ที่ผ่านมา ทางบริษัทกลับได้มีการทำข้อตกลงสภาพการจ้างกับพนักงานเป็นรายบุคคลแทน เพื่อเลี่ยงมาตรา 12 วรรคท้าย และสามารถกำหนด “ข้อตกลงสภาพการจ้างใหม่ที่บริษัทเป็นผู้ออกแบบเงื่อนไขโดยตรง” โดยสหภาพแรงงานมิได้มีส่วนใดๆในการเจรจาต่อรองทั้งสิ้น

ทราบมาว่าในข้อตกลงของพนักงานบางคน พบว่า ข้อหนึ่งได้เขียนไว้ในท่วงทำนองที่สามารถตีความได้ว่า "ข้าพเจ้ามิได้เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานใดๆในบริษัท และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องอื่นใด หากพิสูจน์ได้ภายหลังว่า มีส่วนเกี่ยวข้องหรือสนับสนุน ยินดีให้บริษัทหักเงินเดือน รายได้ สวัสดิการต่างๆ เพื่อคืนสิทธิที่ได้รับตามหนังสือเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างนี้โดยทันที"

นี้ย่อมเป็นสิทธิและความตกลงใจของพนักงานแต่ละคนที่เซ็นต์ยินยอม มิใช่การบังคับ ข่มขู่ ขืนใจแต่อย่างใด

ท่ามกลางสถานการณ์ภายในรั้วบริษัทที่ดำเนินไป สมาชิกสหภาพแรงงานกว่า 48 คน จนบัดนี้ยังอยู่นอกโรงงานมาใกล้ครบ 1 ปี ในจำนวนนี้เป็นกรรมการสหภาพแรงงานแทบทั้งหมด โดยบริษัทยังคงจ่ายค่าจ้างให้ตามที่เคยได้รับ ขณะเดียวกันก็มีสมาชิกสหภาพแรงงาน 2 คน ได้รับหมายศาลเลิกจ้างเนื่องจากมีสถานะเป็นกรรมการลูกจ้าง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ที่กำหนดให้ต้องขออนุญาตศาลแรงงานเท่านั้น อีก 24 คน เป็นจดหมายแจ้งเลิกจ้างด้วยข้อหาที่แตกต่างกันออกไป


เพราะด้วยข้อจำกัดจากประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 หมิ่นประมาท ดิฉันคงทำได้แค่เพียงบันทึกประวัติศาสตร์เรื่องราวชาวมิตซูแอร์ เสียงเพรียกจากดอนหัวฬ่อ กันยายน 2560 ถึงกันยายน 2561 ได้เพียงเท่านั้น ที่เหลือคงคือความทรงจำและรอยทางกาลเวลาที่มิอาจหวนกลับก่อนไปถึงเรื่องราวแต่ละช่วงเวลา

หลายคนอาจสงสัยว่า “ข้อตกลงสภาพการจ้าง (Agreement Relating to Conditions of Employment)  คืออะไร ?”

นี้อาจต้องย้อนไปในกฎหมายแรงงานฉบับแรกของไทย คือ มาตรา 114 แห่งพระราชบัญญัติแรงงาน พ.ศ. 2499 เรียกว่า “สัญญาการร่วมเจรจาต่อรอง” (Collective Bargaining Agreement) คือ ข้อตกลงระหว่างฝ่ายองค์การลูกจ้าง คือ สหภาพแรงงาน สหพันธ์แรงงาน หรือสภาองค์การลูกจ้าง ที่เข้าร่วมเจรจาต่อรองกับนายจ้างหรือองค์การฝ่ายนายจ้าง คือ สมาคมนายจ้าง สหพันธ์แรงงาน หรือสภาองค์การนายจ้างเพื่อทำข้อตกลงหรือสัญญาการร่วมเจรจาต่อรอง โดยกลุ่มลูกจ้างไม่มีสิทธิดังกล่าวในการทำข้อตกลงโดยตรง

ต่อมาในประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการแรงงานสัมพันธ์ ลงวันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2515 และพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ไม่ได้ใช้ถ้อยคำเหมือนในพระราชบัญญัติแรงงาน พ.ศ. 2499 แต่เปลี่ยนไปใช้คำว่า “ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง” และกำหนดความหมายของข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างไว้ในมาตรา 5 ซึ่งหมายถึง “ข้อตกลงระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง หรือระหว่างนายจ้างหรือสมาคมนายจ้างกับสหภาพแรงงานเกี่ยวกับสภาพการจ้าง”

กล่าวได้ว่า “ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง” จึงต้องเป็นเรื่องที่ตกลงกัน โดยเกี่ยวกับสภาพการจ้างซึ่งได้แก่ เงื่อนไขการจ้างหรือการทำงาน กำหนดวันเวลาทำงาน ค่าจ้าง สวัสดิการ การเลิกจ้าง และประโยชน์อื่นของนายจ้างหรือลูกจ้างอันเกี่ยวกับการทำงานหรือการจ้าง เช่น วันเวลาทำงาน วันหยุดวันลา ค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด การจัดสวัสดิการรถรับส่งพนักงาน เงื่อนไขการเลิกจ้าง เงินรางวัลพิเศษหรือเงินโบนัส เป็นต้น

หากนายจ้างและลูกจ้างตกลงกันในเรื่องอื่นที่ไม่เกี่ยวกับสภาพการจ้าง ข้อตกลงนั้นจะไม่ใช่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างแต่อย่างใด เช่น นายจ้างอนุญาตให้สหภาพแรงงานมีที่ทำการอยู่ภายในบริเวณบริษัท ถือเป็นเรื่องประโยชน์ของสหภาพแรงงานโดยเฉพาะไม่เกี่ยวกับสภาพการจ้าง บริษัทสามารถยกเลิกได้ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4503/2545) ตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 พบว่า ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
 

  1. ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่เกิดจากการแจ้งข้อเรียกร้องจากองค์กรแรงงานหรือองค์กรนายจ้าง
     
  2. ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ไม่ได้เกิดจากการแจ้งข้อเรียกร้องเกี่ยวกับสภาพการจ้าง

พบว่า สิ่งที่บริษัทมิตซูบิชิ อิเล็คทริค คอนซูมเมอร์ โปรดักส์ (ประเทศไทย) ดำเนินการอยู่เมื่อช่วงกลางเดือนกันยายน 2561 นั้น จึงเป็นไปตามข้อ (2) เรียกว่า “ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่เกิดจากการตกลงกันโดยตรง” เป็นข้อตกลงที่เกิดจากนายจ้างและลูกจ้างตกลงกันเองโดยที่ไม่ได้มีการแจ้งข้อเรียกร้อง

แน่นอนข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างไม่ว่าจะเกิดจากการแจ้งข้อเรียกร้องหรือไม่ได้เกิดจากการแจ้งข้อเรียกร้อง มีผลเหมือนกัน คือ เป็นข้อตกลงที่นายจ้างและลูกจ้างต้องผูกพันปฏิบัติตาม ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจะ
ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงโดยลำพังไม่ได้

อย่างไรก็ตามผลทางกฎหมายก็แตกต่างกันหลายประการจากการที่สหภาพแรงงานหรือลูกจ้างได้ร่วมกันลงรายมือชื่อตามที่กฎหมายกำหนดไว้เป็นผู้ยื่นข้อเรียกร้อง ไม่ว่าจะเป็น
 

  1. ระยะเวลาการใช้บังคับ
  • ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ไม่ได้เกิดจากการแจ้งข้อเรียกร้อง นายจ้างกับลูกจ้างจะ
    ตกลงกันให้มีผลบังคับนานเท่าใดก็ได้ ถือเป็นเรื่องความตกลงทั่วไป
  • ส่วนข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่เกิดจากการแจ้งข้อเรียกร้อง มาตรา 12 แห่ง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 กำหนดห้ามไม่ให้ตกลงกันเกินกว่า 3 ปี
  1. การจดทะเบียนและการปิดประกาศ
  • กรณีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ไม่ได้เกิดจากการแจ้งข้อเรียกร้อง เพียงแต่นายจ้างลูกจ้างตกลงกันก็มีผลบังคับได้ โดยไม่จำเป็นต้องนำข้อตกลงไปจดทะเบียนหรือนำไปปิดประกาศ ณ ภายในบริษัทแต่อย่างใด
     
  • ส่วนข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่เกิดจากการแจ้งข้อเรียกร้อง กฎหมายบังคับว่า เมื่อ
    ตกลงกันได้แล้วนายจ้างมีหน้าที่นำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างไปปิดประกาศภายใน 3 วันนับแต่ตกลงกันได้ โดยจะต้องปิดประกาศไว้อย่างน้อย 30 วัน และจะต้องนำไปจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานภายใน 15 วันอีกด้วย
  1. สิทธิในการใช้มาตรการทางแรงงานสัมพันธ์
  • ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ไม่ได้เกิดจากการแจ้งข้อเรียกร้องเป็นเรื่องความตกลงระหว่างนายจ้างและลูกจ้างด้วยกันเอง หรืออาจเกิดจากนายจ้างฝ่ายกำหนดขึ้นฝ่ายเดียว ข้อตกลงประเภทนี้ไม่มีผลก่อให้เกิดสิทธิในการใช้มาตรการทางแรงงานสัมพันธ์ด้วยการนัดหยุดงานหรือปิดงาน
     
  • แต่ถ้าเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่เกิดจากการแจ้งข้อเรียกร้อง เป็นการยื่นข้อเรียกร้องตามขั้นตอนและวิธีการที่กฎหมายแรงงานสัมพันธ์กำหนดไว้ หากนายจ้างลูกจ้างตกลงกันไม่ได้ จนเป็นข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ นายจ้างลูกจ้างย่อมมีสิทธิใช้มาตรการทางแรงงานสัมพันธ์ ด้วยการนัดหยุดงานหรือปิดงานได้
  1. การคุ้มครองลูกจ้างที่เกี่ยวกับข้อเรียกร้อง มาตรา 123 แห่ง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518
  • ให้ความคุ้มครองลูกจ้าง โดยบัญญัติห้ามไม่ให้นายจ้างเลิกจ้างที่เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้อง ในระหว่างที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลใช้บังคับอยู่ ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตามมาตรานี้ หมายถึงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่เกิดจากการแจ้งข้อเรียกร้องเท่านั้น
     
  • ถ้าเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ไม่ได้เกิดจากการแจ้งข้อเรียกร้อง ไม่บังคับตามมาตรา 123 ที่ไม่ได้ห้ามลูกจ้างเลิกจ้างที่เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้อง
  1. ผลการฝ่าฝืนข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง
  • กรณีที่มีการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่เกิดจากการแจ้งข้อเรียกร้อง ผู้ฝ่าฝืนอาจได้รับโทษอาญาตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 131
  • แต่ถ้าเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ไม่ได้เกิดจากการแจ้งข้อเรียกร้อง ผู้ฝ่าฝืนไม่ต้องรับโทษทางอาญา คงแต่รับผิดในทางแพ่งในเรื่องผิดสัญญาเท่านั้น
  1. ข้อตกลงที่เกิดขึ้นไม่จำเป็นต้องเป็นคุณกับลูกจ้าง
  • ข้อตกลงใดที่เป็นข้อตกลงที่ไม่เกี่ยวกับสภาพการจ้างที่เกิดจากการแจ้งข้อเรียกร้อง ข้อตกลงดังกล่าวนั้น ถึงแม้ว่าจะไม่เป็นคุณแก่ลูกจ้างก็ตาม ก็ถือว่าไม่ขัดกับมาตรา 20 ใน พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518
  • สำหรับข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่เกิดขึ้นจากการแจ้งข้อเรียกร้อง ต้องอยู่ในบังคับของมาตรา 19 และมาตรา 20 ดังนั้นห้ามไม่ให้นายจ้างทำสัญญาจ้างกับลูกจ้างเป็นรายคน โดยขัดแย้งกับข้อตกลงที่เกี่ยวกับสภาพการจ้าง โดยเฉพาะกับลูกจ้างที่ถูกผูกพันด้วยผลของมาตรา 19 เว้นแต่สัญญาจ้างนั้นจะเป็นคุณแก่ลูกจ้างยิ่งกว่าเท่านั้น

เหล่านี้คือสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นกับพนักงานบริษัทมิตซูบิชิ อิเล็คทริค คอนซูมเมอร์ โปรดักส์ (ประเทศไทย) ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2561 เป็นต้นไป โดยคำว่า “สหภาพแรงงาน” ถูกทำให้หายไปอย่างไร้ร่องรอย


8 มกราคม 2561

  • ภายหลังวันหยุดยาวช่วงเทศกาลปีใหม่ วันนี้เป็นวันแรกที่มีการเปิดงานของบริษัท สมาชิกสหภาพแรงงานที่ถูกปิดงานกว่า 1,600 คน ได้มารวมตัวกันที่วัดมาบสามเกลียว หมู่ 7 ต.ดอนหัวฬ่อ อ.เมือง จ.ชลบุรี ใกล้บริษัทฯ กลางนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร (วัดที่เคยเป็นข่าวประกาศขาย และเหลือเจ้าอาวาสรูปเดียว ไม่มีใครมาทำบุญ อีกทั้งมีรถบรรทุกพ่วง 18 ล้อ วิ่งผ่านตลอดเวลา)
     
  • ทั้งนี้ในช่วงปีใหม่ 2561 ทางกรรมการสหภาพแรงงานได้มีการประชุมหารืออย่างต่อเนื่อง และมากางเต็นท์เตรียมสถานที่ชุมนุมตั้งแต่วันเสาร์ที่ 6 มกราคม 61
     
  • แหล่งข่าวจากพื้นที่ให้ข้อมูลมาว่า “บริษัทได้ส่งพนักงานเหมาค่าแรงและนักศึกษากว่า 2,500 คน กลับต้นสังกัด เพราะไม่สามารถทำการผลิตได้ ทั้งโรงงานเหลือไลน์การผลิตแค่ไลน์เดียว จากทั้งหมด 29 ไลน์”
     
  • พนักงานประนอมที่ถูกส่งตรงมาจากกระทรวงแรงงาน นำโดยนายสมภพ มาลีแก้ว ได้มีการเจรจากับฝ่ายนายจ้างในบริษัท เพื่อหาทางยุติให้ได้โดยไว
     
  • การเจรจาในภาคบ่าย ตัวแทนสหภาพแรงงานเข้าเจรจารวม 14 คน 2 ชุด ชุดหนึ่งเจรจาข้อเรียกร้องตนเอง อีกชุดเจรจาข้อเรียกร้องบริษัท โดยมีสมาชิกร่วมเดินไปส่งผู้แทนทั้ง 14 คน ถึงหน้าบริษัทนับพันคน
     
  • ระหว่างเจรจา ในเบื้องต้นกระทรวงแรงงานได้เสนอให้นายจ้างตั้งผู้ชี้ขาดพิพาทแรงงาน แต่ฝ่ายนายจ้างยังไม่เห็นด้วย และแจ้งความประสงค์ชัดเจนเรื่องการปรับโครงสร้างค่าจ้างตามนโยบายบริษัท
     
  • ผลการเจรจายังไม่ได้ข้อยุติ
     
  • นายจ้างเสนอให้สมาชิกสหภาพแรงงานสละข้อเรียกร้องและให้รับข้อเสนอทางบริษัทแทน

 

9 มกราคม 2561

  • มีสมาชิกสหภาพแรงงานมาสมทบเพิ่มเป็นจำนวนทั้งสิ้น 1,730 คน และยังไม่มีใครรับข้อเสนอบริษัท
     
  • การเจรจาเริ่มต้นเวลา 13.30 น. ที่ในห้องประชุมบริษัท
     
  • ระหว่างเจรจา พบว่า บริษัทฯได้ขยายเวลารับโบนัส 7.2 เดือน และให้สละข้อเรียกร้องสหภาพแรงงาน เพื่อแลกกับการกลับเข้าทำงานภายเวลา 15.00 น. โดยส่งข้อมูลถึงพนักงานทุกคน แต่ไม่มีใครตัดสินใจไป
     
  • กระบวนการผลิตยังดำเนินการไม่ได้ ขณะเดียวกันบริษัทออกประกาศรับสมัครพนักงานประจำจำนวนมาก ในตำแหน่ง supervisor , foreman , group leader
     
  • นัดหมายไกล่เกลี่ยครั้งต่อไปวันที่ 15 มกราคม 2561

10 มกราคม 2561

  • ท่ามกลางฝนโปรยสายแต่เช้าตรู่ แต่สมาชิกสหภาพแรงงาน กว่า 1,600 คน ยังคงเดินทางมายังสถานที่ชุมนุม ณ วัดมาบสามเกลียว แม้ว่าจะถูกนายจ้างปิดงานมาแล้ว 13 วันเต็ม โดยปราศจากค่าจ้างในการดำรงชีวิต
  • ป้ายขนาดใหญ่หน้าบริษัทมิตซูบิชิ อิเล็คทริค คอนซูมเมอร์ โปรดักส์ (ประเทศไทย) นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร จ.ชลบุรี ติดประกาศรับสมัครพนักงานประจำจำนวนมาก ในตำแหน่ง supervisor , foreman , group leader
  • กระบวนการผลิตในบริษัทยังคงไม่สามารถดำเนินการได้ แหล่งข่าวจากพื้นที่ให้ข้อมูลมาว่า “บริษัทไม่สามารถเปิดเครื่องจักรทำงานได้ เนื่องจากต้องมี password ประจำตัวพนักงานที่คุมเครื่องเป็นคนเปิด ซึ่งก็คือสมาชิกสหภาพแรงงานที่ชุมนุมนั้นเอง มีการมาขอ password จากสมาชิกเหล่านั้น ทั้งๆที่มีข้อความติดอยู่ที่เครื่องว่าห้ามเปิดเผย password แก่ผู้ใดก็ตาม”

12 มกราคม 2561

  • สมาชิกสหภาพแรงงานกว่า 1,735 คน (จากทั้งหมด 1,802 คน) ยังคงรวมตัวกันอยู่ที่วัดมาบสามเกลียว ในนิคมอมตะนคร ภายหลังที่บริษัทมิตซูบิชิ อิเล็คทริค คอนซูมเมอร์ โปรดักส์ (ประเทศไทย) ปิดงานสมาชิกสหภาพแรงงานมา 16 วันแล้ว 16 วัน ที่คนงานไม่ได้ทำงาน 16 แห่งการไร้ค่าจ้าง
     
  • สหภาพแรงงานย้ำกับสมาชิกว่า ปัญหาการถูกปิดงานที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องโบนัสหรือข้อเรียกร้องของสหภาพแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้แต่อย่างใด เพราะบริษัทพร้อมจ่ายเงินโบนัส 7.2 เดือน + 20,000 บาท โดยทันที แต่เป็นผลมาจากการที่สหภาพแรงงานไม่สามารถยอมรับข้อเรียกร้องของบริษัท ที่ยื่นต่อสหภาพแรงงาน โดยปราศจากเหตุผลคำอธิบายที่ชัดเจน อ้างแค่เพียงเป็นนโยบายของบริษัทที่ไม่สามารถต่อรองได้โดยเฉพาะที่ว่า

1. การปรับเงินค่าจ้างแบบตายตัว (FIX RATE) จนกว่าจะเกษียณอายุการทำงานตามลำดับขั้น โดยไม่มีการนำเงินเฟ้อหรือค่าครองชีพที่ขึ้นสูงขึ้นแต่ละปีมาพิจารณา หรือกระทั่งค่า CPI ก็ตามที + การใช้ดุลยพินิจของหัวหน้าหรือผู้จัดการแผนกในการพิจารณาตามผลงานที่คนงานทำว่าใครควรได้ปรับขึ้นบ้าง

โดยทางบริษัทไม่มีการอธิบายหลักเกณฑ์หรือตัวชี้วัดในการพิจารณาที่ชัดเจนหรือเป็นธรรม ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาหลายสิบปี ทุกคนในโรงงานปรับเงินขึ้นเป็น % เท่ากันทุกคน ซึ่งสอดคล้องกับสภาวะทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป รวมทั้งผลประกอบการในแต่ละปีของบริษัทมากกว่า

2. การเปลี่ยนระบบการทำงานจาก 2 กะ ไปเป็นการทำงาน 3 กะ ซึ่งจะทำให้ลูกจ้าง โดยเฉพาะลูกจ้างผู้หญิงต้องเผชิญความเสี่ยงและความไม่ปลอดภัยในการเดินทางไปและกลับจากทำงานตอนเช้ามืดหรือตอนดึก อีกทั้งยังทำให้ลูกจ้างต้องขาดรายได้จากการทำงานล่วงเวลา

  • การที่บริษัทยังคงให้สมาชิกสหภาพแรงงานแจ้งกลับเข้าทำงานได้โดยตลอด ภายใต้เงื่อนไขสละข้อเรียกร้องทุกข้อของสหภาพแรงงาน และยอมรับข้อเรียกร้องของบริษัททั้ง 3 ข้อ ทั้งนี้มีประกาศจากบริษัทฉบับที่ HR1- 003 ถึง 005 ลงชื่อนายโนรึคาสึ อิชิคาว่า ประธานบริษัท

- ฉบับที่ 003 ระบุถึงหากพนักงานที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานประสงค์ะกลับเข้าทำงาน ให้ยื่นแบบฟอร์มที่ป้อม รปภ. 1 ภายในวันที่ 9 มกราคม 2561 เวลา 15.00 น. ด้วยตนเอง ทั้งนี้บริษัทพร้อมคืนสิทธิ
ทุกอย่าง และจ่ายโบนัสให้7.2 เดือน พร้อมเงินพิเศษ 20,000บาท

- ฉบับที่ 004 ถ้อยคำเดียวกับฉบับ 003 แต่เปลี่ยนเวลาแสดงความประสงค์กลับเข้าทำงานภายในวันที่ 12 มกราคม 2561เวลา 17.20 น.

- ฉบับที่ 005 ระบุถึง การให้พนักงานหญิงที่กำลังตั้งครรภ์และเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานประสงค์ที่จะกลับเข้าทำงาน ให้ยื่นแบบฟอร์มแจ้งความประสงค์ที่ป้อม รปภ. 1 ภายในวันที่ 12 มกราคม 2561 เวลา 17.20 น. ทั้งนี้บริษัทจะคืนสิทธิให้ทั้งหมด ทั้งค่าจ้างและสวัสดิการ พร้อมจ่ายโบนัสโดยทันที
 

  • บริษัทฯสามารถเดินไลน์ผลิตได้เพียง 2 ไลน์เท่านั้น จากทั้งหมด 29 ไลน์ แต่ก็ยังเป็นไปแบบติดๆขัดๆ ระหว่างเดินเครื่องมีการหยุดไลน์ผลิตอยู่บ่อยครั้งจากความไม่ชำนาญของพนักงาน และมีพนักงานที่เป็นคนญี่ปุ่นเข้ามาสอบถามปัญหาโดยตลอด บริษัทเสียหายเฉลี่ยวันละ 100 กว่าล้านบาทจากการไม่สามารถเดินไลน์ผลิตครบทั้ง 29 ไลน์ได้
     
  • มีสมาชิกสหภาพแรงงานที่ตั้งครรภ์อยู่ 10 คน และต้องเผชิญกับสถานการณ์กดดันจากบริษัทเช่นเดียวกัน
     
  • บริษัทมีการเจรจากับบริษัทที่จ้างพนักงานเหมาค่าแรงเข้ามาทำงาน (ที่นี่มีพนักงานเหมาค่าแรงกว่า 1,600 คน) ว่าพนักงานเหมาค่าแรงคนใดที่มีฝีมือทัดเทียมพนักงานประจำ และทำงานได้เฉกเช่นพนักงานประจำ ให้คัดเลือกเข้ามาทำงานแทนพนักงานประจำในวันจันทร์ที่ 15 มกราคม 2561 เป็นต้นไป ซึ่งก่อนหน้านั้นตั้งแต่ช่วงหยุดยาวเทศกาลปีใหม่ 2561 บริษัทให้พนักงานเหมาค่าแรงและนักศึกษาฝึกงานกว่า2,500 คน หยุดทำงานชั่วคราว
     
  • ทางบริษัทฯได้ไปจ้างโรงงานอื่นๆผลิตสินค้าชั่วคราว โดยจ้างเป็นลักษณะครั้งๆตาม order ที่ต้องส่งลูกจ้างตามที่ได้วางแผนไว้ล่วงหน้าแล้วมาตั้งแต่ปี 60 แน่นอนแม้ว่าต้นทุนบริษัทจะสูงขึ้นกว่าผลิตเอง แต่ก็ไม่มีทางเลี่ยง ท่ามกลางที่ต้องแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ไปพร้อมกับการรักษายอดการผลิตให้มาตรฐานเท่าเดิม ผ่านวิธีการจ้างโรงงานอื่น ผลิตสินค้าชั่วคราวไปก่อน ด้วยที่คุณภาพก็ต้องเท่าเดิมด้วยเช่นกัน

13 มกราคม 2561

  • มีการจัดกิจกรรมวันเด็ก และยังคงมีสหภาพแรงงานต่างๆ เดินทางมาให้กำลังใจต่อเนื่อง เช่น สหภาพแรงงานพานาโซนิคแห่งประเทศไทย เป็นต้น

15 มกราคม 2561

  • มีการไกล่เกลี่ยครั้งที่ 4  มีรองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรีเป็นประธานในการเจรจา พบว่า ยังไม่สามารถหาข้อยุติได้เช่นเดิม
     
  • บริษัทยังยืนกรานเรื่องข้อเรียกร้องของบริษัททั้ง 3 ข้อ แม้ว่าทางกระทรวงแรงงานในฐานะผู้ไกล่เกลี่ยจะเสนอทางเลือกเรื่อง การปรับเงินขึ้นในรูปแบบอื่นๆ แต่ก็ไม่ได้รับการตอบรับจากฝ่ายบริษัทแต่อย่างใด
     
  • โดยนัดเจรจาต่อเป็นครั้งที่ 5 ในวันที่ 16 มกราคม 2561 เวลา 10.00 น. ณ อาคารอมตะ เซอร์วิส เซ็นเตอร์ ในนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร

16 มกราคม 2561

  • สมาชิกสหภาพแรงงานมิตซูบิชิ อิเล็คทริค ประเทศไทย ถูกปิดงานมา 19 วัน นับแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2560 เป็นต้นมา
     
  • การเจรจาครั้งที่ 5 ยังไม่มีข้อยุติ ข้อติดขัดสำคัญยังคงเป็นเรื่องของรูปแบบการปรับเงินขึ้นประจำปี ที่ยังหาข้อตกลงร่วมที่ชัดเจนยังไม่ได้
     
  • บริษัทเลิกจ้างพนักงานเหมาค่าแรงที่เป็นพนักงานทำความสะอาดบริษัทจำนวนประมาณ 20 คน
     
  • กระบวนการผลิตภายในบริษัทมีการดำเนินการเข้มข้นขึ้น อย่างน้อยในช่วงเย็นมีรถรับส่งพนักงานจำนวน 8 คัน จอดรอรับส่งพนักงานอย่างน้อยประมาณ 300 คน ที่ทำงานในบริษัทฯ

17 มกราคม 2561

  • ยังคงมีสมาชิกสหภาพแรงงานมาลงทะเบียน ณ ที่ชุมนุมวัดมาบสามเกลียว ในนิคมอมตะนคร จ.ชลบุรี รวม 1,700 คน
     
  • สหภาพแรงงานเสนอแพคเกจการปรับค่าจ้างประจำปีแบบใหม่ให้บริษัทพิจารณา บริษัทรับพิจารณา แต่ยังไม่มีข้อสรุป

18, 19, 22 มกราคม 2561

  • มีการเจรจาแต่ไม่มีข้อยุติแต่แต่อย่างใด
     
  • แหล่งข่าวในพื้นที่ให้ข้อมูลมาว่า มีการกดดันพนักงานเหมาค่าแรงที่ทำงานอยู่แล้วในบริษัท ให้ชักชวนคนในครอบครัว เช่น สามี ภรรยาที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน ที่ถูกปิดงานและชุมนุมอยู่ที่วัดมาบสามเกลียว ในนิคมอมตะนคร จ.ชลบุรี ให้เลิกชุมนุมและกลับเข้าไปทำงาน พร้อมทั้งรับข้อเสนอบริษัท

26 มกราคม 2561

  • เวลา 00.34 น. หรือเที่ยงคืนครึ่งของค่ำคืน 26 มกราคม 2561 บริษัทมิตซูบิชิ อีเล็คทริค คอนซูมเมอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ยังคงไม่ยอมเซ็นต์ข้อตกลงการเจรจาไกล่เกลี่ยที่มีผลการเจรจาที่แน่นอนแล้วกับสหภาพแรงงานมิตซูบิชิ อีเล็คทริค ประเทศไทย แม้ว่ารองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี จะเข้ามาทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยกับฝ่ายบริษัทเองก็ตาม ตั้งแต่ 13.30 น. ณ โรงแรมอินเตอร์ชล จ.ชลบุรี คาดว่าน่าจะมีการเจรจาอีกครั้งในวันจันทร์ที่ 29 มกราคม 2561

29 มกราคม 2561

  • บริษัทมิตซูบิชิ อิเล็คทริค คอนซูมเมอร์ โปรดักส์ (ประเทศไทย) และสหภาพแรงงานมิตซูบิชิ อิเล็คทริค ประเทศไทย ได้ลงนามใน “บันทึกข้อตกลงสภาพการจ้าง” ที่เจรจาไกล่เกลี่ยสำเร็จแล้ว
    ที่โรงแรมชลอินเตอร์ จ.ชลบุรี

31 มกราคม 2561

  • บริษัทกำหนดให้สมาชิกสหภาพแรงงานไปรายงานตัวในเวลา 10.00-12.00 น. ที่โรงแรมบางแสน
    เฮอริเทจ ห้องแสนสุข 4,5 อ.เมือง จ.ชลบุรี
     
  • โดยบริษัทได้ระบุว่าเมื่อรายงานตัวแล้ว ขอให้พนักงานทุกคนพักอยู่ที่บ้าน เพื่อรอการติดต่อจากบริษัทในการเรียกกลับเข้าปฏิบัติงานต่อไป
     
  • การที่บริษัทกำหนดเช่นนี้ เป็นผลมาจากการที่ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ 2518 กลับไม่กำหนดว่า นายจ้างต้องจัดให้ลูกจ้างกลับเข้าทำงานโดยทันทีในตำแหน่งเดิม

ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2561

  • แหล่งข่าวในพื้นที่ให้ข้อมูลมาว่า “บริษัทแบ่งสมาชิกสหภาพแรงงานจำนวน 1,800 คน เป็น 3 กลุ่ม คือ สีขาว สีเทา และสีดำ

] สีขาว พวกที่ไม่ยุ่งเกี่ยวอะไรเลย ไม่มีตำแหน่งใดๆ ไปชุมนุมเฉยๆที่วัด กลุ่มนี้จะเรียกเข้าทำงานทันทีที่เปิดงาน
 

สีเทา กลุ่มที่มีตำแหน่งต่างๆในที่ชุมนุม เช่น กองทัพน้ำหวาน (การ์ด) , แม่ครัว และอื่นๆ กับ พวกที่โพสต์ต่างๆนานาใน facebook จะทยอยเรียกตามความเหมาะสมและพฤติกรรม

สีดำ กลุ่มกรรมการ อนุกรรมการ โฆษกบนเวที สมาชิกที่เป็นปฏิปักษ์กับบริษัทอย่างชัดเจน จะไม่เรียกเข้าทำงาน และจะกดดันในรูปแบบต่างๆ กระทั่งบีบให้ลาออก คาดว่ากลุ่มนี้ รวมกับสีเทาบางส่วน มีประมาณ 400 คน”

  • มีสมาชิกสหภาพแรงงานถูกเรียกเข้าไปทำงานแล้วประมาณ 1,300 คน ยังคงเหลืออีก 400 กว่าคน ที่ยังไม่ถูกเรียก
     
  • พบว่าสมาชิกสหภาพแรงงานที่ถูกเรียกเข้าไปทำงาน ต้องมีการถูกสัมภาษณ์รายบุคคลจากผู้จัดการแต่ละแผนก เกี่ยวกับ (1) ความพึงพอใจในผลการเจรจา (2) ข้อเสนอแนะต่อการปรับปรุงระบบแรงงานสัมพันธ์ให้ดีขึ้น เพื่อลดข้อขัดแย้ง ตนเองจะช่วยอะไรได้บ้าง (3) ในแผนกเราเอง มีใครเข้าร่วมชุมนุมกับสหภาพแรงงานบ้าง มีบทบาทอะไร อย่างไร ให้ระบุชื่อ
     
  • บริษัทเรียกคนที่มาสมัครงานใหม่ รวมถึงพนักงานเหมาค่าแรง เข้ามาทำงานแทนพนักงานประจำบางส่วน

13 มีนาคม - 27 เมษายน 2561

  • สมาชิกสหภาพแรงงานมิตซูบิชิ อีเล็คทริค ประเทศไทย จาก จ. ชลบุรี จำนวน 439 คนที่ยังไม่มีโอกาสกลับเข้าไปทำงานหลังความขัดแย้งด้านแรงงานยุติเมื่อปลายเดือนมกราคม 2561 ต้องเข้ารับการอบรมที่โรงเรียนทหารม้า ค่ายอดิศร จังหวัดสระบุรี ในเรื่องเกี่ยวกับ "การสร้างวินัยและการสร้างทีมเพื่อพัฒนาบุคลากร" ทั้งนี้มีครูทหารม้า กองพันนักเรียนการรบพิเศษ กรมนักเรียน โรงเรียนทหารม้า เป็นผู้มาฝึกอบรมให้
     
  • โดยมีการแบ่งคนงานออกเป็น 5 กลุ่ม โดยวันที่ 13-16 มีนาคม 2561 สมาชิกสหภาพแรงงานจำนวน 71 คน , วันที่ 20-23 มีนาคม 2561 จำนวน 67 คน , วันที่ 3-6 เมษายน 2561 จำนวน 75 คน , วันที่ 17-20 เมษายน 2561 จำนวน 112 คน , วันที่ 24-27 เมษายน 2561 จำนวน 114 คน รวม 439 คน

22 มีนาคม 2561

  • นายตำรวจจากสถานีตำรวจภูธรดอนหัวฬ่อ ชลบุรี ได้โทรศัพท์มาหา "วาสนา ลำดี" บรรณาธิการข่าวแรงงานออนไลน์ voice labour แจ้งเรื่องให้ไปรายงานตัว พร้อมกับกรรมการสหภาพแรงงานคนหนึ่งฯ ที่ให้สัมภาษณ์กรณีที่ "การปิดงาน" ที่เป็นลักษณะการหมิ่นประมาทพาดพิงให้บริษัทเสียหาย ทั้งนี้ในเวลาต่อมาบริษัทได้มีการฟ้องหมิ่นประมาทเลิกจ้างกรรมการสหภาพแรงงานคนนี้

5-8 พฤษภาคม 2561

  • มีประกาศที่ HR1-027/2561 ลงวันที่ 4 พฤษภาคม 2561 เรื่องการรายงานตัวเพื่อกลับเข้าทำงานครั้งที่ 3 ในวันที่ 5 , 7 , 8 พฤษภาคม 2561 โดยให้พนักงานที่แบ่งออกเป็น 6 กลุ่ม มารายงานตัว แต่ให้รอเรียกเข้าทำงานตามที่บริษัทจะแจ้งกลับไป

22 พฤษภาคม 2561

  • มีประกาศรับสมัครงาน “บริษัทมิตซูแอร์ ชูโบนัส 6-7 เดือนการันตี สวัดิการดี มีโอที มีเบี้ยเลี้ยง”
     
  • ยังคงมีสมาชิกสหภาพแรงงานอีกกว่า 439 คน ที่ยังไม่มีโอกาสกลับเข้าไปทำงานในโรงงาน นอกจากได้รับค่าจ้างเท่านั้น

มิถุนายน-กรกฎาคม 2561

  • 1 มิถุนายน 2561 มีการจัดตั้งสหภาพแรงงานแห่งใหม่ ที่แยกตัวออกมาจากสหภาพแรงงานมิตซูบิชิ อิเล็คทริค ประเทศไทย ในชื่อว่า “สหภาพแรงงานผู้ผลิตเครื่องปรับอากาศ มิตซูบิชิ” และมีการจดทะเบียนกรรมการชุดใหม่เมื่อ 17 กรกฎาคม 2561 โดยก่อนหน้านั้นในวันที่ 10 มิถุนายน 2561 มีการประชุมใหญ่สามัญครั้งแรก
     
  • 22 มิถุนายน 2561 องค์กรแรงงานสากลระดับโลก (IndustriALL Global Union) ทำจดหมายถึงประธานบริษัทฯเป็นครั้งที่ 2 โดยครั้งแรกส่งไปเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2561 เรื่อง ขอให้บริษัทเรียกคนงานกลับเข้าทำงานโดยด่วน
     
  • 1 กรกฎาคม 2561 มีการประชุมสามัญประจำปี สหภาพแรงงานสหภาพแรงงานมิตซูบิชิ อิเล็คทริค ประเทศไทย
     
  • มีการทยอยเรียกลูกจ้างที่ไปรายงานตัวเมื่อต้นพฤษภาคม 2561 กลับเข้าทำงานเป็นระยะๆ
     
  • มีการเลิกจ้างสมาชิกสหภาพแรงงานจำนวน 3 คน แต่เมื่อถึงกระบวนการทางศาล มีการไกล่เกลี่ยและรับเงินค่าชดเชยจากกันไป

22 สิงหาคม 2561

  • บริษัทติดประกาศเรื่อง “เลิกจ้างลูกจ้างจำนวน 24 คน” และระบุรายชื่อ พร้อมแจ้งว่ามีผลโดยทันที คือ 22 สิงหาคม 2561 เป็นต้นไป ทั้งนี้ทราบมาว่าทางบริษัทมีการโทรศัพท์และส่งจดหมายไปแจ้งพนักงานเป็นรายบุคคลด้วย พร้อมโอนเงินเข้าบัญชีลูกจ้างจำนวนหนึ่ง  ใน 24 คนนี้ เป็นกรรมการสหภาพแรงงานร่วมด้วย

29 สิงหาคม 2561

  • บริษัทแจ้งให้พนักงานที่ยังคงอยู่ภายนอกโรงงานกว่า 60 คน ไปรายงานตัวกลับเข้าทำงาน

30 สิงหาคม 2561

  • บริษัทแจ้งให้พนักงานที่ไปรายงานตัวกลับเข้าทำงานเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2561 รวม 48 คน ให้ออกไปอยู่ภายนอกบริษัทเช่นเดิม ซึ่งในจำนวนนี้คือกรรมการสหภาพแรงงานทั้งชุดเก่าและชุดใหม่ โดยระบุเหตุผลเรื่องการเป็นปฏิปักษ์กับบริษัท จนพนักงานอื่นกังวลถึงความไม่ปลอดภัย อันอาจส่งผลถึงระบบการบังคับบัญชา

สุดท้ายไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม สถานการณ์ทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้น จึงเป็นภาพสะท้อนสำคัญที่ยืนยันว่า

(1) คำว่า “สหภาพแรงงาน” กลายเป็นคำที่สัมพันธ์กับความมั่นคงของรัฐและทุน การเรียกร้องสวัสดิการ ปรับสภาพการจ้าง กลายเป็นความไม่มั่นคง ที่รัฐและทุนต้องเข้ามาควบคุม ดูแล จัดการ

ความหมายของคำว่า "สหภาพแรงงาน" เป็นไปในทางลบ ถูกผูกโยงกับสิ่งไม่ดี เป็นการต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ตนเองและพวกพ้อง บริษัทคือผู้เสียผลประโยชน์ ตอกย้ำภาพลักษณ์ด้านลบ ที่สำคัญ ยังแยกสหภาพแรงงานออกจากชีวิตประจำวันของแรงงาน ให้สหภาพแรงงานกลายเป็นเรื่องการต้องถูกปกครอง เพราะเป็นองค์กรที่ไม่สามารถสร้างความสมานฉันท์ในบริษัทได้

(2) "สหภาพแรงงาน" ยังถูกทำให้เป็นเรื่องเทคนิคกลไก กลายเป็นกิจกรรมของ "ผู้นำแรงงานกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง" ถูกทำให้กลายเป็นเรื่องของนักปฏิบัติบางคน-บางที่-บางแห่ง ไม่ใช่เรื่อง หลักคิด อุดมการณ์ อุดมคติของการมีสหภาพแรงงานขึ้นมาบนโลกใบนี้อีกต่อไปแล้ว

(3) “สามัญสำนึกร่วมของความเป็นธรรมในสมาชิกสหภาพแรงงาน ที่ต้องรวมกลุ่ม เจรจาต่อรอง เพื่อสวัสดิการและคุณภาพชีวิตที่ดี” ถูกลดทอนลงเพียง “ลูกจ้างบริษัทที่จะจัดวางตรงไหนก็ได้ หากจ่ายค่าจ้างแล้ว” ไม่มีศัตรูร่วมที่ต้องต่อสู้อีกต่อไป

ความขัดแย้งจึงเป็นเรื่องของอดีต และปัจจุบันคือความสมานฉันท์ ยกระดับความขัดแย้งทางการจ้างงานสู่มิติของศีลธรรม ลูกจ้างที่ดี-ลูกจ้างที่เลวของบริษัท สหภาพแรงงานไม่ใช่เรื่องของอุดมการณ์อีกต่อไปแล้วความขัดแย้งเป็นเรื่องของดี-ชั่วที่ตัวคนงานกระทำ

ใครก็ตามที่ไม่เห็นด้วยกับสามัญสำนึกร่วมแบบนี้ก็จะถูกติดป้ายว่าเป็นพวก "ศัตรูของบริษัท" ซึ่งอาจไม่ต่างกับป้ายของ "คอมมิวนิสต์" ในอดีตแต่อย่างใด

(4) ความคิดเรื่องสมานฉันท์ในสหภาพแรงงาน กลายเป็นหนึ่งเดียว ซึ่งโดยหลักการแล้วก็ขัดแย้งกับหลักการพื้นฐานของประชาธิปไตย เพราะมันเป็นการเก็บกดปิดกั้นมากกว่าการเปิดกว้าง ที่สำคัญเป็นความคิดที่ไม่มีพื้นที่ว่างให้กับความแตกต่างและความเห็นขัดแย้ง หรือการแสดงความไม่เห็นด้วย นี้ยิ่งทำให้ความขัดแย้งถูกซุกใต้พรม และแรงงานก็ถูกละเมิดสิทธิแบบมองไม่เห็นมากขึ้น ตอกย้ำเส้นแบ่งระหว่างพวกเรา บริษัท กับ พวกเขา สหภาพแรงงาน ผ่านศัพท์คำว่า สมานฉันท์

(5) อุดมการณ์สหภาพแรงงานไม่ใช่เรื่องของความสมานฉันท์ ไม่ใช่ความเห็นพ้องต้องกันหนึ่งเดียว แต่เป็นเรื่องของการยอมรับในกฎเกณฑ์ กติกา ของหลักการประชาธิปไตย ที่เสียงทุกเสียงถูกรับฟังและได้ยิน การทำงานสหภาพแรงงานมีมิติของความขัดแย้ง เป็นปฏิปักษ์ การเลือกฝ่ายเลือกข้างความเป็นธรรม การสมานฉันท์แบบนี้จึงเป็นการทำลายอุดมการณ์สหภาพแรงงาน มองเป็นศัตรูที่ต้องทำลายล้างให้หมดสิ้น ไม่ใช่หุ้นส่วนภายใต้กติกาที่ยอมรับร่วมกัน

12 เดือนที่ผ่านมาแห่งความเงียบงันในการแสวงหาคำตอบ ไม่เคยหยุดรวดร้าว พอๆกับไม่เคยหยุดหวัง ณ ที่ปลายฟ้าโน้น ดาวในดวงตาสะท้อนว่า “จิตวิญญาณชาวมิตซูแอร์” ยังคงอยู่


 

หมายเหตุ: เพื่อให้เกิดความเข้าใจมากขึ้นในสถานการณ์กรณีสหภาพแรงงานมิตซูบิชิ อิเล็คทริค ประเทศไทย ดิฉันได้เขียนบทความเรื่อง ‘ปิดงานมิตซูแอร์’ : ความเกลียดกลัวสหภาพแรงงาน คัดออกเพื่อถางทางเดินทุนให้ราบเรียบ เผยแพร่ผ่าน https://gmlive.com/labor-union-right-and-what-next  เมื่อ 3 มกราคม 2561 มาก่อนหน้านั้นแล้ว ซึ่งได้อธิบายที่มาที่ไปอย่างละเอียดในเรื่องที่เกี่ยวข้องในช่วงปี 2560 ที่ผ่านมา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net