Skip to main content
sharethis

15 กันยายน 2561 วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม จัดโครงการสัมมนาวิชาการ 200 ปีชาตกาล คาร์ล มาร์กซ์ วิทยากรประกอบด้วย รศ.สรวิศ ชัยนาม คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ผศ.ดร.เก่งกิจ กิติเรียงลาภ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ดร.ปวงชน อุนจะนำ คณะสังคมศาสตร์ ภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเศวร, รศ.สมชัย ภัทรธนานันท์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, ดร.ธิกานต์ ศรีนารา คณะมนุษย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ผศ.ดร.Katsuyuki Takahashi College of ASEAN Community Studies มหาวิทยาลัยนเรศวร

จากยุโรปถึงภูพาน:
ว่าด้วยการแพร่กระจายลัทธิมาร์กซเข้าสู่อีสาน
ธิกานต์ ศรีนารา

การบรรยายนี้จะเน้นในภูมิภาคอีสาน คล้ายจดหมายเหตุที่ลำดับเวลาเป็นที่รู้กันดีกว่าเมื่อถึงปี 2500 คอมมิวนิสต์ก็อยู่เต็มภูพานแล้ว งานศึกษาหลังจากนั้นมีหลายชิ้นจึงขอละไว้ จะเน้นพูดถึงช่วงแรกที่ลัทธิมาร์กซ์เข้ามาจนถึงทำให้คอมมิวนิสต์อยู่เต็มอีสาน ดูว่ามีตัวละครสำคัญคนไหนบ้าง

ในช่วงปี 2444-2445 หลังการปฏิรูปการปกครองของรัชกาลที่ 5 เกิดการลุกฮือขึ้นของคนอีสานในรูปของกบฏผู้มีบุญอีสาน บางกรณียึดจังหวัดได้ เช่น อุบลราชธานี แต่แนวคิดที่ใช้ตอนนั้นไม่ใช่ลัทธิมาร์กซ์ หากคือแนวคิดพระศรีอาริย์

ประมาณ 20 ปีต่อมา ปี 2468 จู่ๆ คอมมิวนิสต์ก็โผล่ขึ้นมาในอีสานและเป็นจุดเริ่มต้นในการรู้จักลัทธิมาร์กซิสม์ในประเทศไทย 

วิรัช อังคถาวร เป็นบุคคลที่สำคัญมากในพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในช่วงทศวรรษ 2520 เขาได้เขียนประวัติและบทเรียนบางประการของพรรคคอมมิวนิสต์ โดยเขียนในปี 2521 สรุปความได้ว่า 
การเผยแพร่ลัทธิมาร์กซ์ในประเทศไทย รวมทั้งการเกิดขึ้นของพรรคการเมืองแบบลัทธิมาร์กซ์ในประเทศไทยมีลักษณะเฉพาะที่ไม่เหมือนที่อื่น นั่นคือ การได้รับผลสะเทือนมาจากจีนและเวียดนาม ไม่ใช่ยุโรป ในขณะที่พรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียได้รับมาจากยุโรป  แน่นอน เมื่อผ่านมาทางจีนลัทธิมาร์กซ์มันกลายพันธุ์เป็นลัทธิเหมา ลัทธิสตาลินไปแล้วด้วย

อันที่จริงมีคนสยามไปเรียนในยุโรปด้วยในช่วงเวลาดังกล่าว วิรัชบอกว่าแต่พวกนี้ไม่ได้เอาลัทธิมาร์กซ์กลับมา จริงๆ วิรัช อาจพูดผิดเพราะปรีดี พนมยงค์ เอากลับมาด้วยและแสดงออกในเค้าโครงเศรษฐกิจแห่งชาติซึ่งปรีดีเป็นคนร่าง

ลัทธิมาร์กซ์ในหลายประเทศเกิดในหมู่ปัญญาชนก่อน ในไทยมันเกิดเพราะมีปัญญาชนจำนวนหนึ่งไปเรียนในประเทศจีน ได้สัมผัสการปฏิวัติในจีน อีกประการคือ เมื่อมีการปฏิวัติในจีนแล้วแพ้จึงมีคนจีนจำนวนมากหนีเข้ามาในไทยและเริ่มเผยแพร่ลัทธิมาร์กซ์ในหมู่ชาวจีนในไทยก่อน ส่วนอีกทางหนึ่งมาจากชาวเวียดนาม พวกเขาพ่ายแพ้ในเวียดนามเหมือนกันแล้วอพยพมาในสยาม เข้ามาเผยแพร่ลัทธิมาร์กซ์ในสยาม

เรื่องพวกนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ มีคนศึกษามาแล้ว ทั้งเออิจิ มุราชิมา และ Christopher Goscha ที่ศึกษาเรื่องเครือข่ายนักปฏิวัติเวียดนามในไทย ภูมิศาสตร์เป็นสิ่งสำคัญมากเพราะไทยถูกห้อมล้อมด้วยประเทศที่เป็นคอมมิวนิสต์ หนังสือสำคัญอีกสองเล่มเป็นของนักปฏิวัติชาวเวียดนามชื่อ หว่างวานฟาน , ผู้คนและเส้นทาง ผู้เขียนคือแม่ของ ธง แจ่มศรี และมีแปลเป็นภาษาไทย

สิ่งที่อยากจะมุ่งเน้นคือ ลัทธิมาร์กซ์เผยแพร่ได้เพราะมันมีพาหะ มันผ่านคนที่มีชีวิตจิตใจ มีการสืบทอดประสบการณ์ คนนึงตาย ติดคุก อีกคนก็ทำงานสืบทอดต่อ บางครั้งการกระทำของนักปฏิวัติรุ่นหนึ่งส่งผลให้เกิดนักปฏิวัติอีกรุ่นหนึ่งขึ้นมาโดยไม่รู้ตัวก็มี

200 ปี Karl Marx : ปวงชน อุนจะนำ เรียนรู้วิกฤตชีวิตมาร์กซ์ พลิกโอกาสต่อสู้ในปัจจุบัน, 21 ก.ย. 2018

200 ปี Karl Marx: เก่งกิจ กิติเรียงลาภ–วิพากษ์ Anthropocene ขายวิกฤติธรรมชาติ แยกขาดจากทุนนิยม, 20 ก.ย. 2018

200 ปี Karl Marx: สรวิศ ชัยนาม - รักเดือดแดงมาแต่เดิม, 19 ก.ย. 2018

สหายดั่งทุกเหือ: อิฐก้อนแรกจากเวียดนามสู่ปากน้ำโพ

คนแรกที่ควรพูดถึงและให้เกียรติก็คือ ชาวเวียดนามที่เข้ามาในอีสานก่อนโฮจิมินห์ 2453 ชื่อ ดั่งทุกเหือ เข้ามาเพื่อปลุกระดมชาวเวียดนามเพื่อปลดปล่อยชาติจากฝรั่งเศส เป็นคนหนึ่งที่สนับสนุนฟานโบ่ยเจอว ตอนแรกๆ เขามาที่ปากน้ำโพ นครสวรรค์ มีการอบรมเด็กเยาวชน ต่อมามีการเขียนจดหมายไปขอคนมาเพิ่มและขอเงินซื้ออาวุธด้วย ปรากฏว่าคนที่ถูกส่งจากเวียดนามคือ ดั่งกวิ่งแอ็งห์ หลานสาวของเขาเข้ามากับผู้ชายอีกสองคน ตอนแรกจะมีพี่สาวของโฮจิมินห์มาด้วยแต่ป่วยทำให้มาไม่ได้

จากปากน้ำโพ ปี 2459 ก็ย้ายไปที่จังหวัดพิจิตร ต่อมาดั่งทุกเหือก็หนีไปจีนเพราะโดนคุกคาม มีแผ่นหินจารึกหน้าหลุมศพของดั่งทุกเหือที่จังหวัดอุดรธานี และเป็นจุดเริ่มต้นของการอธิบายเครือข่ายนักปฏิวัติชาวเวียดนามของอาจารย์คริสโตเฟอร์ แกตั้งคำถามว่าทำไมมีสุสานนักปฏิวัติเวียดนามที่อุดรได้ แล้วแกก็ค้นพบว่ามันเป็นเครือข่ายกว้างมากทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

อีกคนที่สำคัญคือ เสา หรือ หวอตุ่ง เดินทางจากอุดรมาจังหวัดพิจิตร เป็นนักปฏิวัติ ไม่ใช่แค่นักกู้ชาติแล้ว เขาแต่งงานกับหลานสาวของดั่งทุกเหือซึ่งก็คือ ดั่งกวิ่งแอ็งห์ นั่นเอง เขาทั้งคู่คือพ่อและแม่ของ ธง แจ่มศรี ซึ่งจะทำงานปฏิวัติอีกยาวนานจนปัจจุบัน และยังมีชีวิตอยู่ด้วย

ปี 2462 ดั่งทุกเหือกลับมาจากจีนแล้วตระเวนทั่วภาคอีสานเพื่อหาพื้นที่สร้างชุมชนชาวเวียดนามเพื่อการปฏิวัติอีกครั้งหนึ่ง เขาเลือกหลายหมู่บ้านในอีสาน บ้านใหม่ บ้านผึ้ง บ้านวัดป่า จ.นครพนม แล้วก็ใช้บ้านหนองแสง จ.นครพนมเป็นจุดเชื่อม

ในปี 2466 คือช่วงประมาณรัชกาลที่ 6 ก่อน 2475 สยามปกครองโดยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ระบอบนี้กลัวอยู่ 3 แนวคิด คือ รีพลับบลิก คอมมิวนิสต์ และประชาธิปไตย ดั่งทุกเหือกับหวอทุงซึ่งเป็นพ่อของธง แจ่มศรี ไปที่อุดรเพื่อหาหมู่บ้านที่จะเชื่อมหมู่บ้านอื่น ในที่สุดได้บ้านหนองวัว จ.อุดรธานี ในปี 2468 มีชาวเวียดนามจำนวนมากอพยพมาอยู่ที่นี่ แล้วปีเดียวกันนั้นโฮจิมินห์ส่งคนมาอีก 2 คนเพื่อจัดตั้งองค์กรที่ชื่อว่า สันนิบาตเยาวชนปฏิวัติเวียดนาม ที่พิจิตร อุดรธานี สกลนคร นครพนม

กล่าวได้ว่า นักปฏิวัติเวียดนามได้ตั้งองค์กรของตัวเองขึ้นมาก่อนในปี 2468 ก่อนชาวจีนเสียอีก เพื่อเผยแพร่ลัทธิมาร์กซ์ในหมู่เยาวชน  มีการออกวารสาร มีการสร้างโรงเรียนชาวเวียดนามที่อุดรธานี กิจกรรมจัดตั้งพวกนี้ทำให้เยาวชนที่เติบโตในยุคนี้กลายเป็นนักปฏิวัติ คนหนึ่งที่กลายเป็นคนสำคัญมากของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยคือ ธง แจ่มศรี

ก่อน 2475 แนวทางการปฏิวัติสากลของของโคมินเทิร์น คือ ให้พรรคกรรมาชีพทุกพรรคยึดแนวทางปฏิวัติด้วยความรุนแรง ไม่ประนีประนอมกับรัฐทุนนิยม ชนชั้นเจ้าที่ดิน และจักวรรดินิยมโดยเด็ดขาด นอกจากนี้นักปฏิวัติพวกนี้ก็ยังมองว่าคณะราษฎรเองก็เป็นลักษณะรัฐนายทุน พวกนี้ปฏิเสธคณะราษฎร มุ่งไปสู่การสถาปนารัฐโซเวียตอย่างชัดเจน ใบปลิว บทความ วารสารที่แจกทั่วอีสานเป็นลักษณะนี้ทั้งหมด

2473 โฮจิมินห์ซึ่งเป็นตัวแทนของพรรคคอมมิวนิสต์สากล ได้เข้ามารวมพรรคชาวจีนและพรรคของเวียดนามในไทยเข้าด้วยกัน กลายเป็น พรรคคอมมิวนิสต์สยาม (ชาวเวียดนามตั้งสันนิบาตราวปี 2468 ชาวจีนตั้งราวปี 2470)  การรวมนี้ส่งผลให้ชาวเวียดนามบางส่วนอยากกลับบ้าน เพราะมันต้องปฏิวัติที่สยาม ไม่ใช่ปลุกระดมคนไปปฏิวัติที่เวียดนามแล้ว คนจำนวนหนึ่งหวั่นไหวเหมือนกันเพราะอยากปฏิวัติประเทศตัวเอง จึงมีจำนวนหนึ่งกลับ จำนวนหนึ่งอยู่

คนที่เป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์สยามคนแรกอายุน้อยมาก 20 ปี คือ โงจิ๋งก๊วก คนนี้เป็นคนเวียดนามที่เกิดในสยาม ที่จ.นครพนม รู้สามภาษา ไทย จีน เวียดนาม

ปี 2473 ในเวลาใกล้เคียงกัน หวอทุงกับอีกคนคือ ดั่งไถเทวียน ถูกจับเพราะมีสายลับไปบอกตำรวจ

ปรากฏว่าพวกฝรั่งเศสที่ปกครองอินโดจีนอยู่เขียนจดหมายมาขอรัฐบาลสยามส่งตัวไปลงโทษที่นู่น ปรากฏว่าพวกนี้ถูกขังคุกมืดและถูกทรมานอย่างรุนแรงทำให้ดั่งไถเทวียนตายในคุก ส่วนหวอทุงก็ถูกปล่อยมาในสภาพปางตาย ไม่สามารถเคลื่อนไหวปฏิวัติได้อีกเพราะถูกกักตัวไว้ที่เวียดนามเหนือ ไม่สามารถกลับมาหาลูกเมียได้จนต้องแต่งงานใหม่

ต่อมามีการจับกุมชาวคอมมิวนิสต์จำนวนมากในปีเดียวกันที่บ้านดงรวมถึงแม่ของลุงธงด้วย

จุดยืนพรรคคอมมิวนิสต์ต่อรัฐบาลชนชั้นนายทุนของคณะราษฎร

หลัง 2475 ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ถูกโค่นล้มลงไป คณะราษฎรปกครองประเทศ มีรัฐธรรมนูญ เหตุการณ์ก็ควรจะไปได้ดีถ้าปรีดีไม่เสนอเค้าโครงเศรษฐกิจและนำไปสู่การออกกฎหมายคอมมิวนิสต์เพื่อจัดการกับปรีดี แต่ปรีดีออกไปนอกประเทศ ไม่ถูกจับ คนที่ถูกจับจำนวนมากคือ ชาวคอมมิวนิสต์เวียดนามและจีนนี่เอง ใครอาจคิดว่าพวกคอมมิวนิสต์กับคณะราษฎรน่าจะไปด้วยกันได้ดี แต่จริงๆ แล้วไม่เลย ชาวคอมมิวนิสต์สยามทั้งหมดก็ว่าได้ ไม่ชอบคณะราษฎร แอนตี้ด้วยหาว่าเป็นทุนนิยมลักษณะหนึ่ง

จุดสุดท้าย เดือนเมษายน 2479  เป็นช่วงที่นักปฏิวัติชาวเวียดนามถูกจับมากที่สุดหลังจากขึ้นมามีบทบาทในพรรคคอมมิวนิสต์สยามในทศวรรษ 2470 ต่อมาทั้งความขัดแย้งภายในและการถูกจับกุมโดยรัฐบาลสยาม ท้ายที่สุดก็ถูกจับกันไปจนหมดรวมทั้งธง แจ่มศรี ด้วย ทำให้พรรคคอมมิวนิสต์สยามยุติบทบาท

ผลสะเทือนของการเผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์ในอีสาน มี 3 เรื่อง คือ 1.ส่งผลให้ชาวอีสานจำนวนหนึ่งเข้าสู่พรรคคอมมิวนิสต์สยาม คนสำคัญคือ สวัสดิ์ ผิวขาว และ ราศี หรือ พูน ศรีดันรัตน์ 2. ลูกหลานเวียดนามบางคนกลายเป็นคนสำคัญของพคท.ในอนาคต เช่น ธง แจ่มศรี และลูกชายอีกสี่คนของสวัสดิ์ ผิวขาว 3.ทำให้หลายจังหวัดของอีสานมีการเคลื่อนไหวของชาวคอมมิวนิสต์อย่างคึกคัก ที่สำคัญที่สุดคือการแจกใบปลิว ปี 2577 ในหลายจังหวัด

ปี 2479 มีการจับครั้งใหญ่ที่ขอนแก่น ชาวเวียดนามหลายสิบคนเดินขบวนแล้วโดนจับ แม่ลุงธงก็โดนจับไปด้วย มีการเรียกร้องให้โค่นล้มรัฐบาลสยาม ชูธงคอมมิวนิสต์ด้วยระหว่างเดินขบวน

สรุปสั้นๆ ได้ว่า ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง คอมมิวนิสต์สากลเปลี่ยนนโยบายให้ร่วมมือกับอเมริกา ฝรั่งเศส อังกฤษ เพื่อต่อต้านญี่ปุ่นและเยอรมัน สร้างแนวร่วมกับคนในประเทศ นั่นเป็นเรื่องที่ผู้ปฏิบัติงานบางส่วนรับไม่ค่อยได้ ต่อต้านอเมริกามาตั้งนานแล้วจะให้ร่วมมือ คอมมิวนิสต์จีนก็เปลี่ยนแนวเป็นการสร้างแนวร่วมให้มากที่สุด

โดยสรุปในส่วนของคอมมิวนิสต์สยาม นโยบายหลักคือ การเข้าไปจัดตั้งกรรมกรในโรงงาน มีผู้ปฏิบัติงานบางคนเอาหนังสือพิมพ์มหาชน และหนังสือพิมพ์สัจจาภาษาจีนไปแจกให้กรรมกรในโรงงานอ่าน ช่วงนั้นยังไม่เน้นปัญหาชาวนา

สำหรับอีสานในเวลาเดียวกันนั้นมีคนที่สำคัญมากชื่อ คูกิบ หรือ จิตร เลขวัตร เป็นจีนแคะเกิดที่สุพรรณบุรี ปี 2479 ไปเป็นครูโรงเรียนจีนที่จังหวัดขอนแก่น รับผิดชอบองค์กรต่อต้านญี่ปุ่น คูกิบจะเป็นคนสำคัญที่อาศัยโรงเรียนจีนจัดตั้งเยาวชนลูกจีนทั้งชาวอีสานและชาวกรุงเทพฯ ให้เข้าสู่พรรคคอมมิวนิสต์ และมีบทบาทสำคัญในการรวบรวมเยาวชนขึ้นมาก่อตั้ง พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ขึ้นมาใหม่ในปี 2485

เยาวชนจีนที่มีส่วนในการก่อตั้ง พคท.ในช่วงแรกมีจำนวนไม่ได้เยอะ อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาเดียวกันผลสะเทือนจากคนอีสานที่หนีมาทำงานเป็นกรรมกรในโรงงานในกรุงเทพฯ ก็ได้รับอิทธิพลการจัดตั้ง ที่สำคัญคือ เจริญ วรรณงาม เป็นคนอุบลฯ กลายเป็นเลขาธิการที่หนึ่ง เป็นผู้นำสูงสุดของ พคท.ในปี 2510 และกลายเป็นคนสำคัญที่จะเข้าสู่อีสาน

หลังจากออกจากคุก ธง แจ่มศรี ไปทำงานที่โรงงานยาสูบ ความสำเร็จอย่างหนึ่งหลังสงครามโลกครั้งที่สองก็คือ สามารถจัดตั้งกรรมกรได้เยอะมากในโรงงานขณะที่ปัญหาชาวนาไม่สนใจเลย อย่างไรก็ตาม ช่วงสงครามโลกครั้งที่สองต้องให้เครดิตกับขบวนการเสรีไทย โดยเฉพาะสายอีสานนำโดยเตียง ศิริขันธ์ และครอง จันดาวงศ์ เป็นคนสำคัญมากที่เข้าไปทำงานกับชาวชนบทเพื่อปลุกระดมเข้าร่วมขบวนการเสรีไทย หลายคนที่เข้าร่วมขบวนการเสรีไทยต่อมาก็จะกลายเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง คนสำคัญคือชวลิต ทับขวา (ลุงวัฒนา)

ต่อมา ปั่น แก้วมาตย์ ส.ส.นครพนมเข้าสู่พรรคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ในหมู่ปัญญาชนกรุงเทพฯ ก็เกิดปรากฏการณ์ความแพร่หลายของลัทธิมาร์กซิสม์ มีการเขียนหนังสือ เขียนบทความ แพร่หลายมาก เช่น หนังสือพิมพ์มหาชน อักษรสาส์น แต่มีแค่สองเล่มที่มีหลักฐานว่าเข้าสู่อีสานเพราะตำรวจจับได้ นั่นคือ หลักลัทธิเลนิน, วิวัฒนาการของสังคม โดยคนหนึ่งเข้าไปจัดตั้งชาวบ้านที่อุบลราชธานี เล่ากระบวนการว่า ชาวบ้านอ่านหนังสือไม่ออกหรืออ่านออกก็อ่านไม่รู้เรื่อง วิธีการก็คือ มีการอ่านให้ฟังแล้วก็ถามตอบข้อสงสัย และอธิบายศัพท์แสง

หลังทศวรรษ 2490 และการมุ่งสู่ภูพาน

ปี 2490 ด้วยอิทธิพลของการปฏิวัติจีนทำให้พรรคคอมมิวนิสต์เริ่มลงสู่ชนบท ส่งผู้ปฏิบัติงานที่สำคัญ ปัญญาชนหลายคนไปสู่ต่างจังหวัด ภารกิจคือ จัดตั้งชาวนาเข้าร่วมรณรงค์สันติภาพ แต่ใช้ลัทธิมาร์กซ์ จนทำให้ปลายปี 2495 อย่างน้อยที่สุดใน 7 จังหวัดภาคอีสานได้รับผลกระทบจากการปลุกระดมของพรรค คือ ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ สุรินทร์ สกลนคร อุบลราชธานี ขอนแก่นและร้อยเอ็ด พวกเขาจัดตั้งชาวบ้านได้จำนวนมาก

หลังจากนั้นก็เกิดการจับกุมครั้งใหญ่ในกรณีกบฏสันติภาพในปี 2495 แล้วก็จับพวกคอมมิวนิสต์ที่เข้าไปปลุกระดมด้วยทำให้งานของพรรคเสียหายมากทั้งในชนบทและในเมือง แล้วลูกหลานนักปฏิวัติทั้งหลายเหล่านี้ก็ไปเรียนที่จีนเพื่อศึกษาลัทธิมาร์กซ์ พวกนี้จะกลับมาอีกทีในปี 2500 แล้วก็กลายมาเป็นผู้นำระดับกรมการเมือง ยึดกุม พคท. ปี 2505 หลังสมัชชาครั้งที่สาม มีการย้ายผู้ปฏิบัติงานเข้าสู่อีสานครั้งใหญ่ เพราะมีคนสำคัญคนหนึ่งของพรรค คือ รวม วงศ์พันธ์ ถูกสฤษดิ์ ธนะรัตน์ จับได้และประหารชีวิต พรรคจึงสั่งให้ผู้ปฏิบัติงานในเมืองทั้งหมดเข้าสู่อีสาน

หลังจาก 2505 เป็นต้นมา ชาวอีสานจำนวนมากหลั่งไหลเข้าสู่ภูพานและหลายภูเขาในภาคอีสาน 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net