Skip to main content
sharethis

สนช. ผ่านกฎหมายขึ้นเงินเดือนและเงินตอบแทน ประธานองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ, ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ, อัยการสูงสุด 1.2-1.3 แสน มีผลย้อนหลัง 4 ปี ส่วนกรรมการสิทธิมีผลย้อนหลัง 13 ปี ซึ่งก่อนหน้านี้เคยปรับเพิ่มแล้วในปี 54-55 ขณะที่ไอลอว์เผยงบบุคลากรภาครัฐเพิ่มจาก 24% ของงบประมาณในปี 58 เป็น 35% ในปี 61-62

สภานิติบัญญัติ (แฟ้มภาพสำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์)

เมื่อวานนี้ (27 ก.ย.) ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเห็นชอบกับร่างพ.ร.บ.เงินเดือน เงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนของ (1.) องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ได้แก่ ประธาน กกต. ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ประธาน ป.ป.ช. ประธาน กสม. (2.) ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และ (3.) อัยการสูงสุด เพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมายพร้อมกันจำนวน 3 ฉบับดังนี้

1. ร่างพ.ร.บ.เงินเดือน เงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอื่นของประธานกรรมการและกรรมการในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ โดยกำหนดให้ กำหนดให้ ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเงินเดือน 81,920 บาท เงินประจำตำแหน่ง 50,000 บาท รวม 131,920 บาท ส่วนผู้ดำรงตำแหน่งกรรมการในองค์อิสระดังกล่าว ได้รับเงินเดือน 80,540 บาท เงินประจำตำแหน่ง 42,500 บาท รวม 123,040 บาท

2. ร่างพ.ร.บ.เงินเดือน เงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอื่นของประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ โดยกำหนดให้ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ได้รับเงินเดือน 83,090 บาท และเงินประจำตำแหน่ง 55,000 บาท รวม 138,090 บาท ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้รับเงินเดือน 81,920 บาท เงินประจำตำแหน่ง 50,000 บาท รวม131,920 บาท

3. ร่างพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ โดยกำหนดให้อัยการสูงสุด ได้รับเงินเดือน 81,920 บาท เงินประจำตำแหน่ง 50,000 บาท รวม131,920 บาท

ทั้งนี้ ร่างพรบ. ยังกำหนดให้ประธานและกรรมการองค์กรอิสระ รวมทั้งประธานศาลรัฐธรรมนูญ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และอัยการสูงสุด ได้รับเงินย้อนหลัง จนถึงวันที่ 1 ธันวาคม ปี 2557 ยกเว้น กสม. จะได้รับย้อนหลังถึงวันที่ 1 ตุลาคม ปี 2548

ผู้สื่อข่าวได้สืบค้นการขึ้นเงินเดือนครั้งล่าสุดของข้าราชการศาลและองค์กรอิสระพบว่า องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งปรับเงินเดือนครั้งล่าสุดปี 2555 ข้าราชการตุลาการซึ่งปรับเงินครั้งล่าสุดปี 2554 และข้าราชการอัยการซึ่งปรับเงินครั้งล่าสุดปี 2554

 

ส่องการขึ้นเงินเดือน ‘ศาล-องค์กรอิสระ’ หลัง สนช. จ่อพิจารณาขึ้นอีก 10% ย้อนหลัง 4 ปี

 

ไอลอว์ระบุ รวมแล้ว สนช. ผ่านกฎหมายขึ้นเงินเดือนข้าราชการ 10 ฉบับ กำลังพิจารณาอีก 2 ฉบับ

 

ไอลอว์ได้รวบรวมร่าง พ.ร.บ. ที่ สนช. ผ่านร่าง พบว่าตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมาหลังมี สนช. ภายใต้คณะรัฐบาลทหาร คสช.  สนช. ได้ออกกฎหมายเพื่อขึ้นเงินเดือนข้าราชการไปแล้ว 10 ฉบับ และอยู่ระหว่างการพิจารณาอีก 2 ฉบับ

กฎหมายที่ สนช. เห็นชอบ 10 ฉบับ ได้แก่ 1.) ร่าง พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร เพื่อเพิ่มเงินเดือนของตุลาการพระธรรมนูญกับอัยการศาลทหาร

2.) ร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน 3.) ร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการทหาร 4.) ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ 5.) ร่าง พ.ร.บ.ระเบียบเงินเดือนเงินวิทยฐานะและเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา 6.) ร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการรัฐสภา โดยมีสาระสำคัญคือปรับเพดานเงินเดือนในตำแหน่งแต่ละขั้นขึ้นจากเดิมร้อยละ 10 และปรับเงินเดือนข้าราชการจากปัจจุบันขึ้นร้อยละสี่

7.) ร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนสถาบันอุดมศึกษา ต่อมาได้แก้ไข ร่างพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการทหาร อีกครั้ง เพิ่มเติมบัญชีอัตราเงินประจำตำแหน่งข้าราชการประเภทวิชาการในสถาบันการศึกษาสังกัดกระทรวงกลาโหมและประเภทวิทยฐานะ

27 ก.ย. 2561 ได้ผ่านกฎหมายอีก 3 ฉบับได้แก่ 8.) ร่าง พ.ร.บ.เงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง และประโยชน์ตอบแทนอื่นของประธานกรรมการและกรรมการในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ 9.) ร่าง พ.ร.บ.เงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง และประโยชน์ตอบแทนอื่นของประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 10.) ร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ

ส่วนอีก 2 ฉบับยังอยู่ระหว่างการพิจารณาเพื่อขึ้นเงินเดือนได้แก่ ร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง และ ร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม

ไอลอว์ชี้ งบบุคลากรรัฐเพิ่มจาก 24% ของงบประมาณในปี 58 เป็น 35% ในปี 61-62

 

ข้อมูลจากไอลอว์ยังระบุว่า หลังรัฐประหารในปี 2557 งบประมาณด้านบุคลากรภาครัฐในปี 2558 เพิ่มขึ้นจาก 605,868 ล้านบาท เป็น 617,089 ล้านบาท ปี 2559 เพิ่มขึ้นเป็น 637,536 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็น 24% ต่อวงเงินงบประมาณ

ในปี 2561 วงเงินงบประมาณด้านบุคลากรภาครัฐเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดเป็น 1,021,488 ล้านบาท คิดเป็น 35.2% ต่อวงเงินงบประมาณ และในปี 2562 วงเงินงบประมาณด้านบุคลากรภาครัฐเพิ่มขึ้นเป็น 1,060,869 ล้านบาท คิดเป็น 35.4% ต่อวงเงินงบประมาณ

เมื่อเปรียบเทียบงบประมาณในปีแรกของ คสช. กับปีล่าสุด ประเทศไทยมีค่าใช้ด้านบุคลากรภาครัฐเพิ่มขึ้นกว่า 454,001 ล้านบาท และสัดส่วนงบประมาณด้านบุคลากรภาครัฐก็เพิ่มขึ้นจากปี 2557 ถึงร้อยละ 11.4 หรือคิดเป็น 1 ใน 3 ของวงเงินงบประมาณทั้งหมด จากเดิมที่งบบุคคลากรเป็นแค่ 1 ใน 4 ของงบประมาณ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net