เปิดชะตากรรมรันทด ‘คนมีปัญหาสถานะ’

ภาคีเครือข่ายทำงานเรื่องคนไทยไร้สถานะ ตีแผ่ชะตากรรมรันทด ‘คนไทย’ แค่ไม่มีบัตรประชาชนต้องตายข้างถนน-เสียชีวิตในโรงพยาบาลเอาศพออกไม่ได้ ด้านข้าราชการ พม.ยอมรับ พิสูจน์สิทธิเป็นเรื่องยาก  

29 ก.ย. 2561 น.ส.วรรณา แก้วชาติ มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย กล่าวว่า จากประสบการณ์ทำงานพบว่าภาคีเครือข่ายเห็นปัญหาร่วมกันว่าต้องทำให้พี่น้องคนไทยมีช่องทางในการเข้าถึงการพัฒนาสิทธิบุคคล ซึ่งแน่นอนว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ในสังคม โดยที่ผ่านมาเราพบทั้งพี่น้องคนไร้บ้านเสียชีวิตข้างถนน หรือเสียชีวิตที่โรงพยาบาลแต่เอาศพออกมาไม่ได้เพราะไม่มีญาติ ฯลฯ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่น่าเกิดขึ้นกับคนไทย

น.ส.วรรณา คนเหล่านี้ไม่อยู่ในสารบบใดๆ ในสังคม ไม่มีตัวตน ซึ่งจากการสำรวจพบว่า 30% ของคนไร้บ้านเป็นคนที่ไม่มีบัตรประชาชน ซึ่งเรื่องสำคัญที่สุดของคนเหล่านี้คือปัญหาสุขภาพ เพราะเงินทุกบาททุกสตางค์ที่มีต้องนำมารักษาตัวเอง ไม่สามารถเข้าโรงพยาบาลได้ หรือหากไปโรงพยาบาลได้ก็ไม่มีเงินจ่าย สุดท้ายก็เป็นปัญหาต่อเนื่องให้กับโรงพยาบาลต่อไป

น.ส.วรรณา กล่าวว่า ใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 4 ปี ในความพยายามผลักดันสิทธิรักษาพยาบาลให้กับกลุ่มคนไทยทุกคน จนสามารถทำให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ตั้งคณะกรรมการดูแลเรื่องนี้ในปี 2559

ด้าน น.ส.วิมล ถวิลพงษ์ เครือข่ายสลัมสี่ภาค กล่าวว่า ในอดีตตนเองเป็นคนไม่มีสถานะ เนื่องจากแจ้งเกิดกับผู้ใหญ่บ้านไม่ได้ จนกระทั่งโชคดีสามารถดำเนินการได้ในขณะที่เรียนหนังสือ แต่สภาพที่เกิดขึ้นโดยทั่วไปคือลูกผู้หญิงจะไม่ค่อยได้รับการแจ้งเกิด และไม่ได้เรียนหนังสือ นั่นทำให้ปัญหาเกิดขึ้นกับผู้หญิงเป็นจำนวนมาก

น.ส.วิมล กล่าวว่า คนไทยไร้สิทธิมีปัญหาและมีความทุกข์เรื่องการเข้าถึงการรักษา เมื่อไม่มีบัตรประชาชนก็ต้องอยู่อย่างหลบๆ ซ่อนๆ และไม่สามารถใช้สิทธิหลักประกันได้ ขณะที่ตัวเองก็ไม่มีเงิน เมื่อไปรักษาก็ต้องเป็นหนี้สิน การตัดสินใจของคนกลุ่มนี้คือไม่ยอมไปรับการรักษา สุดท้ายก็นอนเสียชีวิตที่บ้าน หรือในบางรายตัดสินใจไปโรงพยาบาลก็ถูกปฏิเสธในการรักษา หรือถ้าแพทย์ยินยอมให้การรักษาก็ไม่ให้ยา หรือถ้าเสียชีวิตที่โรงพยาบาลก็ยังมีปัญหาเรื่องการเอาศพออกจากโรงพยาบาลด้วย เนื่องจากโรงพยาบาลไม่ระบุให้ว่าเป็นคนไทย

“หากคิดว่าการเข้ารับการรักษาพยาบาลเป็นเรื่องที่ยาก การทำบัตรประชาชนยังเป็นสิ่งที่ยากกว่า” น.ส.วิมลกล่าว

นางวาสนา ทองจันทร์ ผู้อำนวยการกองคุ้มครองสวัสดิภาพและเสริมสร้างคุณภาพชีวิต กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า การดำเนินการแก้ไขปัญหาของหน่วยงานภาครัฐเป็นสิ่งที่ยากกว่าภาคเอกชน เพราะการที่ภาครัฐนำใครสักคนเข้าไปยืนยันสถานะกับอีกภาครัฐต้องมีข้อมูลที่ชัดเจน เพราะต้องยอมรับว่าคนที่มีปัญหาสถานะมีจริง แต่ขบวนการสวมสิทธิบุคคลก็มีจริงเช่นกัน

นางวาสนา กล่าวว่า คนบางคนเป็นคนไทยจริง แต่เหลือตัวคนเดียว ก็เป็นเรื่องยากที่หน่วยงานรัฐจะพิสูจน์ ดังนั้นต้องใช้สภาพแวดล้อมและการพิสูจน์หลายชั้นมากๆ ทั้งคนในละแวก ผู้ใหญ่บ้าน มีข้าราชการลงนามรองรับ แต่ปัญหาต่อจากนั้นคือผู้นำชุมชนและข้าราชการมีผลประโยชน์ทับซ้อนจากการรับรอง เช่น เก็บหัวคิว ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่ยากมากในการดำเนินงาน โดยเฉพาะ พม.ในฐานะหน่วยงานที่ต้องการช่วยเหลือให้ประชาชนที่มีปัญหาสถานะหรือคนไทยไร้สิทธิมีบัตรประชาชน และเข้าถึงบริการสุขภาพ

“ตอนนี้ทั้งรัฐ ทั้งเอกชน ทั้งเอ็นจีโอ ย่อมมีข้อจำกัดในการช่วยเหลือ นี่คือภาพใหญ่และเป็นสิ่งที่ภาครัฐก็เผชิญอยู่เช่นกัน” นางวาสนา กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท