Skip to main content
sharethis

หลัง พล.อ.ประยุทธ์ พูดถึง 4 ข้อ ความไม่สมบูรณ์ของระบบบัตรทอง ในรายการศาสตร์พระราชาฯ พร้อมโชว์ 7 ผลงานของรัฐบาล ด้าน 'Gossipสาสุข' อัดข้อมูล “มั่ว” ทั้งหมด พร้อมชี้แจงข้อเท็จจริง ชี้เป็นการแสดงถึงความไม่เป็นมืออาชีพของรัฐบาลชุดนี้ได้ชัดเจน

ภาพจาก เฟสบุ๊กแฟนเพจ 'Gossipสาสุข'

29 ก.ย.2561 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (28 ก.ย.61) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวตอนหนึ่งในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ถึงปัญหาของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ 30 บาท รักษาทุกโรค ที่ยังคงมีความไม่สมบูรณ์ ในการขอรับบริการด้านสุขภาพ หลายประการ ได้แก่ (1) รักษาได้เฉพาะโรงพยาบาลรัฐ (2) ไม่คุ้มครองการรักษาที่เกินความจำเป็นพื้นฐาน (3) ไม่คุ้มครองการรักษาที่มีงบประมาณจัดสรรโดยเฉพาะ และ (4) ไม่คุ้มครองกรณีโรคเรื้อรัง และโรคที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเป็นผู้ป่วยใน เกินกว่า 180 วัน นั้น

ล่าสุดวันนี้ (29 ก.ย.61) เฟสบุ๊กแฟนเพจ 'Gossipสาสุข' โพสต์ ระบุว่าข้อมูลดังกล่าวที่ พล.อ.ประยุทธ์ พูดนั้น "มั่วทั้งหมด" พร้อมชี้แจงข้อเท็จจริง

โดยมีรายละเอียดที่เพจ เพจ 'Gossipสาสุข' โพสต์ดังนี้ 

ตารางที่เห็น คือข้อความที่ออกอากาศในรายการ “ศาสตร์พระราชา เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” เมื่อวันศุกร์ที่ 28 ก.ย. ที่ผ่านมา ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พูดถึง “ความไม่สมบูรณ์” ของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค

น่าสนใจก็ตรงที่ว่า ข้อมูลดังกล่าว แทบจะเป็นข้อมูลที่ “มั่ว” ทั้งหมด ซึ่ง Gossip สาสุข พยายามสืบหาว่า “ต้นทาง” มาจากไหน

จนไปพบว่า ข้อมูลเหล่านี้อ้างอิงจากเว็บเพจhttps://www.honestdocs.co/30-baht-cure-all-diseases ซึ่งไม่ใช่งานวิชาการ ไม่ใช่งานวิจัย ไม่ใช่แม้แต่ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข หรือหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงอย่าง สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)

แต่เป็นข้อมูลจากเว็บไซต์ “ขายยา” และให้คำแนะนำด้านสุขภาพออนไลน์ ซึ่งจะขึ้นมาเป็นเว็บแรก หากเสิร์ชใน Google ว่า “ข้อเสียของบัตรทอง”

สันนิษฐานได้ว่าเมื่อทีมงานของหัวหน้าคสช. เจอข้อมูลในเว็บ ก็ดึงมาทำสคริปต์รายการ “ศาสตร์พระราชาฯ” ทันที ไม่ได้ตรวจทานข้อมูล ว่าจริงเท็จแค่ไหน

เรื่องยิ่งมั่วไปกว่านั้นก็ตรงที่พอได้รับข้อมูลมา พล.อ.ประยุทธ์ ก็เลือกอ่านออกรายการไปตามนั้น ไม่ได้มีการตรวจสอบข้อมูลและความถูกต้องใดๆ ก่อนจะออกอากาศในรายการซึ่งเผยแพร่ในทีวี-วิทยุทุกช่อง

ไม่ว่าเจตนาของ นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. จะเป็นไปเพื่อหาเสียง หรือเป็นไปเพื่อดิสเครดิตรัฐบาลก่อน แต่ข้อมูลที่ออกมา ได้สะท้อนถึงความ “มั่ว” และความไม่เป็นมืออาชีพของรัฐบาลชุดนี้ได้ชัดเจน

ทีมงาน Gossip สาสุข ถือโอกาสนี้ชี้แจงข้อมูลที่ พล.อ.ประยุทธ์ อ่านออกรายการ ในแต่ละข้อ

(1) ระบบ “30 บาท” ไม่ได้รักษาได้เฉพาะโรงพยาบาลรัฐเท่านั้น - ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เกิดขึ้นโดยมีแนวคิดให้ประชาชน สามารถเข้ารับการรักษาได้ในหน่วยบริการที่ใกล้ที่สุด โดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เหมาจ่ายลงไปยังทั้งโรงพยาบาลรัฐ และเอกชน เพื่อดูแลผู้ใช้สิทธิ์บัตรทอง

เรื่องนี้ในต่างจังหวัด จะมีปัญหาน้อยกว่าในกรุงเทพฯ เพราะในเขตภูมิภาค มีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล โรงพยาบาลอำเภอ และโรงพยาบาลจังหวัดค่อนข้างครบ ต่างจากในกรุงเทพฯ โดยในกรุงเทพฯ สปสช. พยายามดึงโรงพยาบาลเอกชนหลายแห่ง เข้ามาช่วยบริการในระบบ เช่น โรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ โรงพยาบาลแพทย์ปัญญา โรงพยาบาลสุขสวัสดิ์ ฯลฯ ตลอดจนคลินิกเอกชนในชื่อของคลินิกชุมชนอบอุ่น

โรงพยาบาลเอกชน อาจหายไปบ้างจากระบบ เนื่องจากเม็ดเงินในระบบไม่พอ แต่ก็ไม่ได้ใช้ได้แต่ “โรงพยาบาลรัฐ”อย่างเดียว อย่างที่ พล.อ.ประยุทธ์ พูดแน่นอน

ล่าสุด ตัวเลขหน่วยบริการที่ขึ้นในระบบบัตรทอง มีทั้งสิ้น 12,109 แห่ง มีหน่วยบริการเอกชนถึง 509 แห่ง นอกนั้น เป็นหน่วยบริการสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (รัฐ) 11,054 แห่ง หน่วยบริการรัฐนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข 134 แห่ง หน่วยบริการรัฐสังกัดกทม.เทศบาลเมือง และเมืองพัทยา 22 แห่ง และหน่วยงานรัฐสังกัดองค์กรปกครองท้องถิ่น 390 แห่ง

(2) ไม่คุ้มครองการรักษาเกินความจำเป็นพื้นฐาน- พล.อ.ประยุทธ์ ยกตัวอย่างในรายการว่า ปัจจุบัน “30 บาท” ไม่คุ้มครองการผสมเทียมเพื่อมีบุตร การรักษากรณีมีบุตรยาก การผ่าตัดแปลงเพศ

แน่นอนว่านี่คือข้อเท็จจริง เพราะการรักษาเหล่านี้มีค่าใช้จ่ายสูง และไม่ได้เป็นเรื่องของการดูแลรักษาสุขภาพขั้นพื้นฐาน 

น่าเสียดายที่ หัวหน้าคสช. ไม่ได้บอกว่าควรแก้ปัญหาเหล่านี้อย่างไร หรือหาก พล.อ.ประยุทธ์ ได้เป็นรัฐบาลต่อ อาจเพิ่มการทำกิฟท์ หรือผ่าตัดแปลงเพศ ไปอยู่ในระบบบัตรทอง?

(3) ไม่คุ้มครองการรักษาที่มีงบจัดสรรเฉพาะ เช่น อาการป่วยทางจิต - ปัจจุบัน ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ได้ตั้งงบเพื่อการบริการผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังในชุมชน แยกออกจากงบเหมาจ่ายรายหัว และมีการรักษาผู้ป่วยจิตเวชเรื่อยมานับตั้งแต่มีนโยบายนี้

บำบัดผู้ติดยาเสพติด– หากผู้ติดยาเสพติดมีสิทธิบัตรทอง และต้องการเข้ารับการบำบัดการรักษา สามารถใช้บริการในโรงพยาบาลรัฐได้

ผู้ประสบอุบัติเหตุทางรถ– แน่นอนว่าต้องใช้สิทธิ์ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ก่อน เป็นอันดับแรก แต่หลังจากนั้น ก็สามารถใช้สิทธิบัตรทองได้ตามปกติ

(4) ไม่คุ้มครองกรณีโรคเรื้อรัง– ข้อนี้คือสาระสำคัญที่ผิดมหันต์ ปัจจุบันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ครอบคลุมโรคเรื้อรัง มีกองทุนเฉพาะทั้งโรคหลอดเลือดสมอง โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคมะเร็ง รวมถึงโรคไต สปสช.ก็สนับสนุนให้มีการล้างไตทางช่องท้อง โดยแนวทางการรักษาแต่ละโรคเรื้อรัง ก็มีราชวิทยาลัยแพทย์ฯ เป็นผู้กำหนดแนวทางการรักษา และตรวจสอบมาตรฐาน-คุณภาพ การรักษาอย่างใกล้ชิด

เรื่องความมักง่ายแบบนี้ ไม่น่าจะอยู่ในวิสัยของผู้ที่จะกำหนด “ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” และผู้ที่กำลังสนใจ “งานการเมือง” เป็นอย่างยิ่ง

 

รายละเอียดที่ พล.อ.ประยุทธ์ พูด สามารถรับชมได้ในนาทีที่ 23.00 เป็นต้นไป

ประยุทธ์ โชว์ผลงาน 7 ข้อ

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในรายการ ศาสตร์พระราชาฯ หลัง พล.อ.ประยุทธ์ ระบุถึงความไม่สมบูรณ์ของระบบหลักประกันสุขภาพฯ 4 ข้อ แล้ว พล.อ.ประยุทธ์ ยังระบุว่า ในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลนี้ ได้ยกระดับหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าดังกล่าว โดยการเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ใช้สิทธิและเพิ่มเติมในเรื่องยา วัคซีน อุปกรณ์การแพทย์และการให้บริการต่าง ๆ เพิ่มขึ้นอาทิ (1) การเปิดคลินิกพิเศษนอกเวลา สำหรับโรงพยาบาลที่มีความพร้อม เพื่อรองรับกลุ่มคนที่ประสงค์มารับบริการในช่วงเย็น และสมัครใจจ่ายค่าบริการบางส่วนเอง (2) การเร่งรัดจัดทำชุดสิทธิประโยชน์ขั้นพื้นฐาน ซึ่งจะเป็นสิทธิประโยชน์ที่ประชาชน ทุกคนในทุกสิทธิประกันสุขภาพภาครัฐได้รับเหมือนกัน (3) รัฐบาลไทยสนับสนุนระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ร้อยละ 100 โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ทั้งประชาชนทั่วไป ประชาชนในกลุ่มเปราะบาง กองทุนสุขภาพท้องถิ่นและการดูแลผู้สูงอายุ

(4) การเข้าถึงสิทธิและบริการของกลุ่มเปราะบาง ตามบริบทของพื้นที่ ซึ่งเป็นกลุ่มประชากรที่มีปัญหาในการเข้าถึงบริการสุขภาพ อาทิ ประชาชนที่อยู่ตามพื้นที่ชายขอบ ผู้ต้องขัง พระสงฆ์ และผู้พิการ เป็นต้น (5) การมีส่วนร่วมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อกระตุ้นและเร่งดำเนินกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่น ในการส่งเสริมสุขภาพ และป้องกันโรค  (6) การดูแลกลุ่มผู้สูงอายุ ทั้งที่ดำเนินการผ่านกลไก "กองทุนระบบการดูแลระยะยาว" ด้านสาธารณสุข สำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง และการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีภาวะเจ็บป่วยมาก และค่าใช้จ่ายสุขภาพที่เพิ่มสูงขึ้น และ (7) สิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต รักษาฟรี ภายใน 72 ชั่วโมง หรือ UCEP สำหรับอาการ "เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่" กรณีเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชนนอกคู่สัญญา 3 กองทุน ได้แก่ กองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า, กองทุนประกันสังคม และ กองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ

"ในอนาคตเราจะขยายไปยังกองทุนต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความครอบคลุม ไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต อันจะทําให้ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตได้รับการคุ้มครองสิทธิในการเข้าถึงบริการอย่างปลอดภัย โดยไม่มีเงื่อนไขในการเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาล เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรค หรือเป็นความเสี่ยงของการดูแลรักษา ซึ่งไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ภายใน 72 ชั่วโมง หรือพ้นภาวะวิกฤต ทุกสิทธิ ทุกโรงพยาบาล เป็นต้น" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวในรายการศาสตร์พระราชาฯ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net