Skip to main content
sharethis

ดันแคน แมกคาร์โก บรรยายที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทบทวนการเมืองเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีทั้งความหวังและความกลัวผสมปนเป ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นพร้อมกับยุคสื่อใหม่ ขณะเดียวกันทั้งภูมิภาคมีกระแสโหยหาเผด็จการ การขัดขวางการเลือกตั้งในนามของขบวนการประชาธิปไตย พลเมือง และการมีส่วนร่วม

สิ่งที่เขาเห็นอีกประการหนึ่งคือหลายประเทศในภูมิภาคมีการแบ่งขั้วระหว่างสองฝ่ายชัดเจน เช่น คนเอา-ไม่เอาทักษิณ คนเอา-ไม่เอาดูเตอร์เต คนเอา-ไม่เอาฮุนเซนและพรรคประชาชนกัมพูชา ซึ่งยิ่งจะทำให้การสานเสวนา การมีบทสนทนาร่วมกันของผู้คนยากขึ้นเรื่อยๆ แบบแทบจะต้องนัดเพื่อนที่อยู่คนละขั้วความคิดกินข้าวกันคนละร้าน

ส่วนกรอบวิเคราะห์การเมืองไทยจนถึงปี 2559 ยังเชื่อว่าทฤษฎี Network Monarchy น่าดึงดูดกว่า ส่วนทฤษฎี Deep State เป็นไอเดียที่เกินจริงและ deterministic เกินไป อย่างไรก็ตามดันแคนออกตัวว่าเป็นการชวนคนไทยถกเถียงทางวิชาการและไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยกับตัวเขา

ลิปการบรรยายของดันแคน แมคคาร์โก

ศูนย์วิจัยดิเรก ชัยนาม คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) จัดบรรยายเรื่อง “ทิศทางแนวโน้มการเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้: ว่าด้วยประชานิยม เลือกตั้งนิยม และอำนาจนิยม” เมื่อวันที่ 26 กันยายนที่ผ่านมา บรรยายโดยดันแคน แมคคาร์โก (Duncan McCargo) นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยลีดส์ สหราชอาณาจักร ผู้ศึกษาการเมืองไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งเพิ่งออกหนังสือเกี่ยวกับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ “ฉีกแผ่นดิน”

รีวิวการเมืองเอเชียอาคเนย์ ความหวัง-กลัวคละเคล้า มีกลิ่นหวนหาเผด็จการ

ดันแคนบรรยายภาพรวมการเมืองในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ว่า ห้าปีที่แล้วมีการเลือกตั้งที่กัมพูชา พรรคประชาชนกัมพูชา (CPP) ที่เป็นพรรครัฐบาลเชื่อว่าจะชนะเลือกตั้งแน่ ฮุนเซน หัวหน้าพรรคไม่ปรากฎตัวเลย แต่สุดท้ายฝ่ายค้าน พรรคสงเคราะห์ชาติ (CNRP) ได้ที่นั่งเยอะมากจนน่าหวาดกลัว ที่มาเลเซีย พรรคแนวร่วมแห่งชาติ (BN) ที่เป็นพรรครัฐบาลมายาวนาน 6 ทศวรรษก็ชนะเลือกตั้งแต่แพ้เสียงข้างมาก โดยคนลงคะแนนให้ฝ่ายค้านเยอะกว่า การเลือกตั้งครั้งก่อนหน้าในสองประเทศนำมาซึ่งคำถามว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับรัฐบาลเดิมที่อยู่มานาน

บรรยากาศความกลัวและความหวังบนการเมืองในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีคละเคล้ากันไป ไทยมีรัฐประหารในปี 2557 ในขณะที่ปีเดียวกัน อินโดนีเซียมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีและได้ประธานาธิบดี โจโค วิโดโด เป็นผู้นำประเทศแทนที่จะเป็นปราโบโว ซูเบียนโต นายพลที่มีชื่อเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ในปี 2558  พม่ามีการเลือกตั้งที่เป็นเสรีและยุติธรรม พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพชนะเลือกตั้ง แต่เมื่อเวลาผ่านไป ความหวังที่คนฝากไว้กับรัฐบาลกลายเป็นความกังวลว่าอนาคตการเมืองจะเป็นอย่างไร รัฐบาลเลือกตั้งจะแตกต่างอะไรกับรัฐบาลทหารในอดีตหรือไม่ การเลือกตั้งอาจไม่ได้ขจัดระบอบเผด็จการอย่างที่หวัง ส่วนในปี 2559  โรดริโก ดูเตอร์เต ชนะเลือกตั้งประธานาธิบดีในฟิลิปปินส์ท่ามกลางเสียงสนับสนุนนโยบายที่รุนแรงของเขา

เรื่องสำเร็จอย่างหนึ่งคือพรรคแนวร่วมแห่งชาติ (BN) ที่นำโดยนาจิป ราซัก นายกรัฐมนตรีที่มีข้อครหาว่าเกี่ยวพันกับการคอร์รัปชันมากได้แพ้เลือกตั้งให้กับมหาธีร์ มูฮัมหมัด ผู้นำแนวร่วมฝ่ายค้านพันธมิตรแห่งความหวัง (Pakatan Harapan) ฝ่ายค้านซึ่งเคยเป็นผู้นำมาเลเซียในลักษณะเผด็จการและเป็นผู้ออกแบบระบบที่นาจิปใช้ประโยชน์มาตลอด กลับชนะเลือกตั้งมาเพื่อกอบกู้ประชาธิปไตย จะไปได้ดีหรือไม่นั้นยังไม่รู้ 

อีกเรื่องที่เห็นในภูมิภาคนี้คือการโหยหาทหารหรือระบอบเผด็จการ (Military Nostalgia) มีชาวฟิลิปปินส์ที่หวนนึกถึงสมัยรัฐบาลเผด็จการเฟอร์ดินาน มาร์กอส พูดว่าช่วงนั้นดีอย่างนั้นอย่างนี้ เศรษฐกิจดีขนาดไหน ซึ่งไม่ได้พูดถึงข้อเท็จจริง แต่เป็นเรื่องความรำลึกถึง โหยหาอดีตในสิ่งที่ไม่เคยเกิดหรือไม่ได้เป็นข้อเท็จทั้งหมด คนอินโดนีเซียที่โหยหาซูฮาร์โต หรือคนฟิลิปปินส์ที่โหยมาร์กอสในตอนนี้ไม่ได้เกิดหรือมีชีวิตในยุคนั้นหรือไม่ก็อายุน้อยจนจำความไม่ได้ การโหยหาการปกครองของผู้นำที่แข็งแกร่ง (Strong man) นำไปสู่การโหยหาแนวทางแก้ไขปัญหาแบบกดขี่ด้วย

ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์ชื่อดังยังกล่าวว่า สิ่งที่เห็นคือมีการแบ่งขั้วระหว่างสองฝ่ายชัดเจน เช่น คนเอา-ไม่เอาทักษิณ คนเอา-ไม่เอาดูเตอร์เต คนเอา-ไม่เอาฮุนเซนและพรรคประชาชนกัมพูชา เป็นการเมืองที่คนแบ่งขั้วเป็นสองฝ่ายชัดเจน ยิ่งทำให้การสานเสวนา การมีบทสนทนาร่วมกันยากขึ้นเรื่อยๆ แบบแทบจะต้องนัดเพื่อนที่อยู่คนละขั้วความคิดกินข้าวกันคนละร้าน

นอกจากนั้นคำว่าประชาธิปไตย การมีส่วนร่วมและความเป็นพลเมืองถูกพูดถึงมากขึ้น และใช้กันอย่างหลากหลายในภูมิภาคนี้แต่ไม่มีความหมายที่แท้จริง  เช่น กปปส. ที่ไปขัดขวางการนับคะแนนเลือกตั้ง ผู้คนต่อต้านการเลือกตั้งในนามประชาธิปไตย ต่อต้านรัฐบาลที่มาจากการในเลือกตั้งในนามของความเป็นพลเมืองและการมีส่วนร่วม แต่พอกลับมาดูว่าอะไรคือความหมายของมัน บ่อยครั้งมันไม่ได้มีความหมายอย่างที่พวกเราศึกษากันมาในวิชาความรู้พื้นฐาน
 
พรรคการเมืองใหม่ในไทยที่ได้ยินคนพูดให้ฟังบ่อยๆ คือพรรคอนาคตใหม่ คุณสามารถสร้างพรรคการเมืองใหม่ที่มีเสน่ห์กับคนชายขอบ คนรุ่นใหม่ แต่คำถามก็คือจะเวิร์คหรือไม่ในการแข่งขันบนสนามเลือกตั้ง เพราะการเลือกตั้งขึ้นอยู่กับการเลือกผู้แทนในระดับเขตเลือกตั้งท้องถิ่น การมีองค์กรท้องถิ่นของพรรคจึงเป็นเรื่องขาดไม่ได้ใต้ระบบเลือกตั้งใหม่ และระบบบัตรเดียวทำให้ตัวเลือกการเลือกตั้งน้อยลง เช่น บางคนชอบอภิสิทธิ์ แต่อยากโหวต ส.ส. ในเขตของเพื่อไทย แต่ก่อนแบ่งได้ เดี๋ยวนี้ทำไม่ได้แล้ว

ดันแคนยังกล่าวว่า การเมืองเรื่องความกังวลในระดับชาติ ถือเป็นธีมใหญ่ คือการสร้างและใช้ประโยชน์จากความกลัวในสังคม พื้นที่ทางการเมืองที่หดแคบลง แต่ไม่ใช่ว่าจะไม่มีแรงต่อต้านเลย ทั้งนี้ก็เห็นสัญญาณที่ดีในปีหน้า การเลือกตั้งในไทยอาจเป็นจุดเปลี่ยนในการตอบโต้กับเผด็จการ เราอาจมีผลที่บวกในอินโดนีเซียที่อาจได้ผู้นำคนใหม่ที่ไม่ใช่นายพลที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ส่วนตัวยังคงมองโลกในแง่ดี ยังไม่หมดหวัง แต่ก็ใช่ว่าไม่มีความกลัว 

สื่อ ประชานิยม การเมืองที่ผูกกับตัวบุคคล 

ดันแคนกล่าวว่า อีกสิ่งที่เห็นทั่วภูมิภาคคือการขึ้นมาของผู้นำที่มีลักษณะบุคลิกภาพแบบเอาตัวเองเป็นใหญ่อย่างฮุนเซน ดูเตอร์เต หรือทักษิณ ทำให้การเมืองเกี่ยวโยงกับความคิด พรรค หรือเครื่องมือต่างๆ น้อยลง ตัวบุคคลกลายเป็นจุดสนใจและเกี่ยวโยงกับประชาชนมากกว่า

ดันแคนยังยกคำว่าคำว่า Mediated populism หรือประชานิยมผ่านสื่อขึ้นมา หมายถึงประเภทของการสื่อสารที่นักการเมืองแบบบุคลิกภาพแบบเอาตัวเองเป็นใหญ่ได้เข้าไปทำลายการแบ่งประเภทความแตกต่างของกิจกรรมต่างๆ แบบที่เคยมีการศึกษา เราเคยคิดว่าการแถลงข่าวคือการแถลงข่าว การหาเสียงคือการหาเสียง การรณรงค์ทางการเมืองก็คือรณรงค์ทางการเมือง การบริหารประเทศคือการบริหารประเทศ แต่เอาจริงๆ เราอาจไม่สามารถแยกแยะมันออกจากกันได้ เราเคยเห็นสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และอดีตเจ้าของหนังสือพิมพ์เครือผู้จัดการก็ผันตัวจากสื่อไปเป็นนักการเมือง เห็นแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติหรือ นปช. ที่เป็นผู้ดำเนินรายการโทรทัศน์ออกมานำการประท้วง แล้วก็ไปเป็น ส.ส. จากนั้นก็ไปเป็นรัฐมนตรี  การปรากฏตัวผ่านหน้าสื่อนั้นนัยหนึ่งจึงทำหน้าที่เหมือนเป็นการเปลี่ยนผ่านทางสถานะ ความพร่าเลือนระหว่างสื่อและตัวแสดงทางการเมืองมีมากจนแบ่งหน้าที่กันไม่ได้ เดี๋ยวนี้จำเป็นต้องเป็นเซเล็บบนหน้าสื่อถึงเป็นนักการเมืองได้ การเลือกตั้งของไทยที่จะมาถึงไม่ใช่แค่การเตรียมนโยบาย หาสมาชิก หาผู้ลงสมัคร แต่ยังต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้มีการปรากฏตัวบนหน้าสื่อ กลายเป็นจุดสนใจเพื่อส่งผ่านอิทธิพลทางการเมืองต่อไป 

ดันแคนยังกล่าวว่า โหมดการสื่อสารเปลี่ยนเร็วมาก เนื้อหาที่อยู่บนโซเชียลมีเดียจำนวนมากมาจากเนื้อหาของสื่อกระแสหลัก และสำหรับไทยนั้นทุกอย่างเริ่มต้นที่การมีสื่อที่เลือกข้าง (Partisan) เช่นสมัยก่อนมี ASTV บลูสกาย ทีวีเสื้อแดง ที่มีเนื้อหาจู่โจมฝั่งตรงข้ามและเร้าอารมณ์ทั้งวัน เนื้อหาเหล่านั้นก็ถูกนำมาอยู่ในโซเชียลมีเดียซึ่งมีกลไกในการเอาสิ่งที่เราชอบมาป้อนเรื่อยๆ คนที่มีความคิดแบบหนึ่งก็จะได้รับข้อมูลที่สอดคล้องกับความคิด พฤติกรรม และโซเชียลมีเดียในวันนี้ก็เข้ามาแทนที่ใบปลิวและการส่งแฟกซ์ใส่ร้ายป้ายสีต่างๆ แบบไม่แสดงตัวที่เคยมีในทศวรรษที่ 90 แล้วในยุคที่ข่าวลือและการใส่ร้ายป้ายสีกลายเป็นวัฒนธรรม 

ต่อคำถามว่าควรมีการกำกับโซเชียลมีเดียในช่วงเลือกตั้งของไทยที่จะมาถึงหรือไม่ ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยลีดส์ตอบว่า เกรงว่าการกำกับจากรัฐบาลที่มีเรื่องการควบคุมหลายอย่างอยู่แล้ว จะออกมาเพื่อการป้องกันไม่ให้มีการใช้โซเชียลมีเดียในทางที่ผิด หรือว่าจะทำให้เกิดทิศทางทางการเมืองอย่างใดอย่างหนึ่ง ปัญหาก็คือพอไม่มีความมั่นใจในกระบวนการออกกฎหมายและกระบวนการกำกับควบคุม การแก้ไขปัญหาที่มีความจริงจังด้วยการออกข้อกำกับก็กลายเป็นเรื่องที่ยากไป  ในบริบทอื่นอาจพูดได้ว่าการกำกับนั้นดี แต่กังวลว่าในไทยจะเป็นดาบสองคม

สามจังหวัดชายแดนใต้อาจยังไม่เห็นทางออกด้วยการเมือง

ต่อคำถามเรื่องทิศทางการแก้ไขปัญหากรณีสามจังหวัดชายแดนภาคใต้กับการเปลี่ยนรัฐบาลหลังเลือกตั้งแล้วเสร็จ ดันแคนตอบว่าอาจยังไม่มีการเคลื่อนไหวมาก

“เรื่องภาคใต้ ผมพูดเสมอว่าถ้าคนไม่สามารถเห็นด้วยในเรื่องการเมืองระดับชาติ แล้วพวกเขาจะมาสนใจอะไรกับเรื่องสามจังหวัดชายแดนใต้ โดยพื้นฐานเชื่อว่าปัญหาสามจังหวัดชายแดนใต้เป็นปัญหาการเมือง เป็นเรื่องปัญหาความชอบธรรม และรัฐบาลที่ไม่ได้เป็นตัวแทนของคนในพื้นที่ เพราะคนมาเลย์มุสลิมที่เป็นคนส่วนมากในพื้นที่คงเป็นเพียงเสียงส่วนน้อยในสภาระดับชาติ ทางออกเดียวที่จะให้พวกเขาดูแลกิจการในพื้นที่ได้ก็คือการกระจายอำนาจ ไม่ว่าจะอยากเรียกว่าเป็นการปกครองตนเองหรือไม่ แต่โดยพื้นฐานมันก็คือการปกครองตนเองไม่ชนิดใดก็ชนิดหนึ่ง ทั้งนี้ ด้วยมาตรา 44 ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว ที่ยังมีผลใช้อยู่ รัฐบาลจะให้อำนาจปกครองตนเองกับสามจังหวัดชายแดนใต้พรุ่งนี้เลยก็ได้ ก็ถือเป็นของขวัญการจากลาที่ดีของ คสช. แต่ก็ดูไม่มีความกระตือรือร้นที่จะทำเช่นนั้น เพราะยังคงติดกับความคิดเรื่องการให้อำนจการจัดการตัวเองคือการสูญเสียดินแดน”

“พรรคเดียวที่ผลักดันประเด็นสามจังหวัดชายแดนใต้คือเพื่อไทยภายใต้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งก็สามารถถกเถียงได้ว่าไม่ได้ทำขึ้นอย่างจริงใจเท่าไหร่ แต่ข้อเท็จจริงก็คือพรรคอื่นไม่เคยทำอะไรในประเด็นการแก้ปัญหาสามจังหวัดชายแดนใต้ด้วยการเมือง ถ้าเลือกตั้งครั้งนี้เพื่อไทยได้เสียงข้างมาก ได้นายกฯ จากพรรคตัวเอง ส่วนตัวก็ยังคงสงสัยว่า ภายใต้การเมืองที่ต่อสู้กันหนักและมีแรงกดดันจากการตกเป็นที่จับจ้อง เพื่อไทยจะชูการกระจายอำนาจให้สามจังหวัดชายแดนใต้ เป็นเรื่องแรกๆ ที่จะทำหรือไม่ ส่วนตัวเห็นว่าคงไม่มีพรรคไหนผลักดันประเด็นสามจังหวัดชายแดนใต้ท่ามกลางการเมืองระดับชาติที่แบ่งขั้วเช่นนี้” ดันแคนตอบ

Network Monarchy ยังฟังขึ้นกว่า Deep State

ต่อคำถามว่าเหตุใดถึงเชื่อว่าอำนาจในเมืองไทยไม่ควรถูกอธิบายด้วยแนวคิดรัฐพันลึก (Deep State) ดันแคนตอบว่า เวลาพูดถึงทฤษฎีเครือข่ายสถาบันพระมหากษัตริย์ (Network Monarchy) นั้นหมายถึงแนวคิดทางอำนาจแบบหลวมๆ ว่าด้วยการใช้อำนาจแบบไม่เป็นลำดับขั้นสูงต่ำ มีกลุ่มคนที่เชื่อว่าได้รับการรับรองให้ทำงานในพื้นที่หนึ่งๆ ซึ่งพวกเขาสามารถผลักดันประเด็นของพวกเขาเองโดยไม่ต้องมีใครบอกหรือให้สัญญาณว่าต้องทำ คือเป็นระบบของอำนาจแบบฟรีแลนซ์ หรืออำนาจแบบแฟรนไชส์ เช่น การเลือกให้บทบาทบางอย่างกับข้าราชการทหาร ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ตุลาการ ฯลฯ และเมื่อได้ให้บทบาทไปแล้วพวกเขาก็ทำหน้าที่ไปตามบทบาทได้เลยโดยไม่ต้องปรึกษาใครหรือมีใครสั่ง ด้วยความเชื่อว่าตนเองทำงานภายใต้ร่มความคิดอันใหญ่อยู่ และเชื่อว่าความภักดีส่วนบุคคลของพวกเขาเพียงพอแล้วที่จะรองรับเหตุแห่งการกระทำ

แต่ไอเดียของรัฐพันลึกคือแนวคิดที่บอกว่ามีเครือข่าย มีคนที่ทำงานในเครือข่าย และคนที่อยู่แกนกลางของเครือข่ายก็เป็นคนสั่งการ กรณีศาลรัฐธรรมนูญอันเป็นสถาบันที่มีประวัติการตีตกมติของรัฐสภาที่เป็นผู้แทนเสียงประชาชนหลายครั้งนั้น ดันแคนกล่าว่า หากนับมาจนถึงปี 2559 จะเห็นว่าแม้มีการพิจารณาคดีและตัดสินผลในทางหนึ่ง แต่ในหลายกรณีศาลมีความกำกวม ขัดแย้ง สับสน ทำหน้าที่ไปแบบมะงุมมะงาหรา และพยายามไม่ตัดสินใจในหลายเรื่องในลักษณะแบบไม่มีการประสานงานที่ดี ซึ่งเหมือนไม่มีใครสั่งการศาลรัฐธรรมนูญอยู่ ไม่เหมือนลักษณะของการเป็นรัฐพันลึก จึงยังคงเชื่อว่าการเมืองตั้งแต่กลางปี 2513-2559 แนวคิดเรื่องทฤษฎีเครือข่ายสถาบันกษัตริย์ยังคงน่าดึงดูดกว่า และรัฐพันลึกนั้นเป็นไอเดียที่เกินจริงและมุ่งมั่นให้เป็นแบบนั้น (deterministic) เกินไป ทั้งนี้นี่คือการถกเถียงในทางวิชาการที่อยากให้เป็นการกระตุ้นให้คนไทยพูดถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศโดยไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยกับตัวเขา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net