Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ผมเขียนบทความนี้ขึ้น ไม่ได้มีเจตนาที่จะก้าวล่วง หรือละเมิดคำพิพากษาของศาล หรือก้าวก่ายกระบวนการยุติธรรมแต่อย่างใด หากแต่เพียงอยากจะให้ข้อมูลความจริงอีกด้าน ที่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อการทำความเข้าใจถึงข้อเท็จจริง ในเรื่องการพิพาทที่ดิน “เกาะดอนคำพวง” ซึ่งอาจจะพอทำให้เกิดความคลี่คลายข้อกังขา ลดเสียงก่นด่า แล้วมุ่งแสวงหาทางออกที่ยุติธรรมกับทุกฝ่าย ต่อไปในอนาคต


สภาพพื้นที่กว่า 25 ไร่ ที่ถูกไถ บนเกาะดอนคำพวง กุมภาพันธ์ 2559

ผมตกเป็นผู้ต้องหาในคดีที่เกี่ยวข้องกับกรณีพิพาทที่ดินเกาะดอนคำพวง 3 คดี คดีแรกเป็นคดี “หมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา” ซึ่งเกิดจากการที่ผมแสดงความเห็นด้วยการให้สัมภาษณ์ต่อทีวีหลายช่อง (พนักงานสอบสวนสั่งไม่ฟ้องและอยู่ในระหว่างรอคำสั่งชั้นอัยการ) คดีที่สองเป็นคดี “พรบ.คอม ฯ และหมิ่นประมาท” จากเหตุการณ์โพสต์เฟสบุ๊ค และคดีที่สามเป็นคดี “หมิ่นประมาทศาล” โดยคดีที่สองและสามอยู่ในชั้นของพนักงานอัยการจังหวัดอุบลราชธานี และนอกจากคดีที่ผมตกเป็นจำเลย แล้ว ยังมีอีกหลายคดี และมีอีกหลายคนที่ต้องตกเป็นจำเลย จากกรณีพิพาทเรื่องที่ดินเกาะดอนคำพวง ซึ่งแยกเป็นสองฝ่ายคือ ฝ่ายที่เอาที่ดินบนเกาะดอนคำพวงเป็นของตนเอง กับอีกฝ่ายที่ปกป้องให้ที่ดินบนเกาะดอนคำพวง เป็นที่สาธารณะสมบัติของแผ่นดิน เพื่อให้ทุกคน ได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน

ความขัดแย้งครั้งรุนแรงเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธุ์ 2559 เจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง เจ้าหน้าที่ป่าไม้ ผู้ปกครองท้องที่ และผู้บริหารท้องถิ่น ได้เข้าตรวจยึดการลักลอบตัดไม้ บนที่ดินเกาะดอนคำพวง มีไม้ยางนา ไม้กระยาเลย ถูกตัดจำนวนมาก ซึ่งชุดจับกุมสันนิษฐานว่ากลุ่มบุคคลที่ตัดไม้ เพราะต้องการให้ที่ดินโล่ง เกิดร่องรอยการทำประโยชน์ เพื่อที่จะได้ทำการังวัดแนวเขตที่ดินและขออกโฉนดที่ดินในบริเวณดังกล่าว ที่จะมีการรังวัดพิสูจน์ สอบสวนการออกโฉนดที่ดิน ในวันที่ 18 มีนาคม 2559 และต่อมาในวันที่ 18 มีนาคม 2559 ซึ่งเป็นวันที่จะรังวัดที่ดินบนเกาะดอนคำพวง ได้มีชาวบ้านจำนวนมาก มาแสดงการคัดค้านการรังวัด เพื่อออกโฉนดที่ดิน จนทำให้ไม่สามารถดำเนินการรังวัดที่ดินได้ และกรณีพิพาทที่ดินเกาะดอนคำพวง ได้กลายเป็นประเด็นนำเสนอต่อสาธารณะติดต่อกันหลายหลายเดือน ขณะเดียวกันก็เกิดความขัดแย้งขึ้น โดยฝ่ายที่ต้องการเอาที่ดินบนเกาะดอนคำพวงไปเป็นของตนเอง ก็ฟ้องร้องฝ่ายที่ปกป้องที่ดินเกาะ ดอนคำพวง หลายคดี และหลายคน อยู่ในปัจจุบัน


ไม้ยางนา ที่ถูกตัดบนเกาะดอนคำพวง กุมภาพันธ์ 2559

เพื่อให้ความจริงกระจ่าง ผมจึงขอไล่เรียงเหตุการณ์ความเป็นมา กรณีพิพาทที่ดินเกาะดอนคำพวง ที่เกิดขึ้น ดังนี้

 นางคำผอง ทาระสาร ได้รับมอบที่ดินจากนายกู๋ บุตรศรี เป็นที่ดิน สค.1 เนื้อที่ 15 ไร่ และที่ ภบท.5 จำนวน 20 ไร่ รวมเนื้อที่ 35 ไร่ จากนั้นวันที่ 26 กรกฎาคม 2535 นางคำผอง ทาระสาร ได้ยื่นเรื่องขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (นส.3 ก.) ที่อำเภอสิรินธร จำนวน 8 – 0 - 56 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่อยู่บนเกาะดอนคำพวง เพื่อขอรับค่าชดเชยการสร้างเขื่อนปากมูล จากการไฟฟ้าฝ่ายผลิต แห่งประเทศไทย และต่อมาการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ก็ได้จ่ายเงินค่าชดเชยให้แก่นางคำผอง ทาระสาร ในจำนวนพื้นที่ 8 – 0 - 56 ไร่ (การขอออก นส.3 ก. ไม่มีหลักฐานระบุว่าออกจาก สค.1 ฉบับใด)

ปี 2543 นางคำผอง ทาระสาร ได้ขายที่ดินให้แก่นายจักรกฤช วิเศษชลธาร กับพวก เป็นที่ดิน สค.1 เนื้อที่ 15 ไร่ และที่ ภบท.5 จำนวน 20 ไร่ รวมเนื้อที่ 35 ไร่ และต่อมานายจักรกฤช วิเศษชลธาร กับพวก ได้ยื่นคำร้องเพื่อขอออกโฉนดที่ดินในเกาะดอนคำพวง จำนวน 3 คำขอ ต่อมาได้ยกเลิกคำขอเหลือเพียงคำขอเดียว คือที่ดิน สค.1 เนื้อที่ 15 ไร่

เมื่อเดือนธันวาคม 2543 นายชนะ กิคำ และนายทองปาน ร้อยคำ และชาวบ้านเครือข่ายกลุ่มอนุรักษ์ดอนคำพวง ได้ทำการเคลื่อนไหว  ร้องเรียนกรณีมีการลักลอบ ตัดไม้ยางนา และไม้อื่นจำนวนมาก เป็นพื้นที่ประมาณ 10 ไร่ และต่อมาวันที่ 10 กันยายน 2544 นายชนะ กิคำ และนายทองปาน ร้อยคำ และชาวบ้านเครือข่ายกลุ่มอนุรักษ์ดอนคำพวง ได้ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อให้ตรวจสอบการละเมิดสิทธิชุมชน กรณีบุกรุกที่สาธารณะประโยชน์ดอนคำพวง

จากนั้นวันที่ 18 กันยายน 2549 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้มีมติ ดังนี้ “กรณีที่ดินพิพาทดอนคำพวงเป็นที่สาธารณะสมบัติ ของแผ่นดินที่พลเมืองใช้ประโยชน์ร่วมกัน ...การบุกรุกตัดไม้ทำลายป่า รวมทั้งการดำเนินการแก้ไขปัญหาที่ล่าช้าของหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง จึงเป็นการกระทำที่ละเมิดต่อสิทธิชุมชน” และมีมาตรการแก้ไขปัญหา คือ 1.) สำนักงานที่ดิน ยกเลิกคำขอออกเอกสารสิทธิ์ของผู้ถูกร้องทันที 2.) กรมที่ดินและองค์การบริหารส่วนตำบลกุดชมภู ในฐานะผู้รับผิดชอบที่ดินสาธารณะประโยชน์ ...ดำเนินการจัดการในรูปแบบป่าชุมชน หรือรูปแบบอื่น ที่ชุมชนเห็นชอบร่วมกันภายใน 30 วัน ( 30 วัน นับจากวันที่ 18 กันยายน 2549 ) แต่เรื่องก็เงียบไปโดยไม่มีการดำเนินการใด ใด เลย

อีกด้านหนึ่ง ทราบภายหลังว่า เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2558 ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษา (ฎีกาที่ 8443/2558 ลงวันที่ 15 กรกฎาคม 2558) ว่า “นายจักรกฤช ฯ ได้สิทธิครอบครองในที่ดินที่ตน ได้เข้าทำประโยชน์ จำนวน 2 แปลง คือที่ดิน สค.1 จำนวน 1 แปลง เนื้อที่ประมาณ 21 – 3 – 2 ไร่ และที่ดิน ภบท.5 จำนวน 1 แปลง เนื่อที่ประมาณ 19 – 3 – 5 ไร่ ซึ่งศาลฎีกาเห็นว่า ที่ดินดังกล่าวนั้น เป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน มิใช่สาธารณะสมบัติของแผ่นดิน” (รวมเนื้อที่ 41 – 2 – 7 ไร่)

วันที่ 20 กุมภาพันธุ์ 2559 เจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง เจ้าหน้าที่ป่าไม้ ผู้ปกครองท้องที่ และผู้บริหารท้องถิ่น ได้เข้าตรวจยึดการลักลอบตัดไม้ บนที่ดินเกาะดอนคำพวง พบตอไม้ยางนา ถูกตัดจำนวน 11 ตอ และไม้กระยาเลย ไม้อื่น ๆ ถูกตัดจำนวนมาก ซึ่งชุดจับกุมสันนิษฐานว่ากลุ่มบุคคลที่ตัดไม้ เพราะต้องการให้ที่ดินโล่ง เกิดร่องรอยการทำประโยชน์ เพื่อที่จะได้ทำการังวัดแนวเขตที่ดินและขออกโฉนดที่ดินในบริเวณดังกล่าว ที่จะมีการรังวัดพิสูจน์ สอบสวนการออกโฉนดที่ดิน

วันที่ 18 มีนาคม 2559 ซึ่งเป็นวันที่จะรังวัดที่ดินบนเกาะดอนคำพวง ได้มีชาวบ้านจำนวนมาก มาแสดงการคัดค้านการรังวัด เพื่อออกโฉนดที่ดิน จนทำให้ไม่สามารถดำเนินการรังวัดที่ดินได้ และกรณีพิพาทที่ดินเกาะดอนคำพวง ได้

วันที่ 22 มิถุนายน 2559 นายอภิชาต เศรษฐมาตย์ ปลัดเทศบาลตำบลกุดชมภู ปฏิบัติหน้าที่นายก ฯ ได้ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (ยื่นกรรมสิทธิ์ ครั้งที่ 2) เพื่อให้ตรวจสอบสิทธิในการจัดการที่ดิน ฯ และต่อมาวันที่ 30 พฤษภาคม 2560 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้มีมติ และข้อเสนอแนะ ดังนี้ (โดยสรุป) “....จังหวัดอุบลราชธานี พิจารณาดำเนินการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (นสล.) บนเกาะดอนคำพวง เนื้อที่ทั้งหมด 460 ไร่...”

วันที่ 8 ธันวาคม 2559 ศาลจังหวัดอุบลราชธานี ได้มีคำพิพากษาคดีการตัดไม้ บนเกาะดอนคำพวง (เหตุการณ์ที่จับกุมเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2559 ) ซึ่งจำเลยรับสารภาพ แต่ไม่ได้ตัดไม้ “มีเถาวัลย์ปกคลุมต้นไม้ เมื่อดึงเถาวัลย์ลงมา ทำให้ไม้ยางนา หักลง 3 – 4 ต้น” (อ้างข้อความจากการแจ้งความของนายจักรกฤช ฯ) ...และเหตุการณ์นี้ทำให้ผมตกเป็นจำเลย 2 คดี คือ คดี “พรบ.คอม ฯ และหมิ่นประมาท” และคดี “หมิ่นประมาทศาล” โดยคดีทั้งสอง อยู่ในชั้นของพนักงานอัยการจังหวัดอุบลราชธานี...

วันที่ 27 พฤศจิกายน 2560 กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้เดินทางลงพื้นที่ และประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อรับทราบข้อมูลความคืบหน้าผลการดำเนินการ จากจังหวัดอุบลราชธานี ตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยการประชุมครั้งดังกล่าว ได้มีข้อสรุป ดังนี้ (1.) ให้นายอำเภอท้องที่ และเจ้าพนักงานที่ดิน ดำเนินคดีกับนางคำผอง ทาระสาร ในข้อหา “แจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานที่ดิน เนื่องจากได้แจ้งขอออกเอกสารสิทธิครอบครอง (สค.1) บนเกาะดอนคำพวง มิชอบ (2.) ให้สำนักงานที่ดินจังหวัดอุบลราชธานี ตรวจสอบการยื่นคำขอออกเอกสารสิทธิ บริเวณเกาะดอนคำพวง ของประชาชนว่าถูกต้องหรือไม่ (3.) เร่งรัดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการออกหนังสือสำคัญ สำหรับที่หลวง (นสล.) บนเกาะดอนคำพวง ในบริเวณที่ยังไม่ได้ดำเนินการยื่นขอออกหนังสือสำคัญ สำหรับที่หลวง (นสล.) ให้ครบ

ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการดำเนินการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (นสล.) ส่วนการดำเนินคดีกับ นางคำผอง ทาระสาร ยังเงียบอยู่


ภาพไม้ที่ถูกตัดบนเกาะดอนคำพวง กุมภาพันธ์ 2559

จากข้อเท็จจริงที่นำเสนอมานี้ ผมประมวลแยกเป็นประเด็น ตั้งข้อสังเกต ดังนี้

  1. ที่ดินที่นางคำผอง ทาระสาร รับต่อมาจากนายกู๋ บุตรศรี เป็นที่ดิน สค.1 เนื้อที่ 15 ไร่ และได้ยื่นขอรับค่าชดเชยเขื่อนปากมูล จากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยไปแล้ว จำนวน 8 – 0 - 56 ไร่ ซึ่งสอดคล้องกับรายงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (ชุดที่ 1) ซึ่งที่ดินควรจะมีพื้นที่ลดลง แต่กลับมีการนำไปอ้างเพื่อขอออกโฉนด เต็มจำนวน คือ 15 ไร่ (การขอออกโฉนด ครั้งแรกเมื่อปี 2543)
  2. การที่ศาลฎีกา มีคำพิพากษาที่ 8443/2558 ให้สิทธินายจักรกฤช ฯ ในที่ดิน จำนวน 2 แปลง คือที่ดิน สค.1 จำนวน 1 แปลง เนื้อที่ประมาณ 21 – 3 – 2 ไร่ และที่ดิน ภบท.5 จำนวน 1 แปลง เนื่อที่ประมาณ 19 – 3 – 5 ไร่  รวมเนื้อที่ 41 – 2 – 7 ไร่ มีข้อสังเกต ดังนี้
    1. คำพิพากษาได้มีการเพิ่มพื้นที่ดิน จากเดิมที่นายจักรกฤช ซื้อมา 35 ไร่ (ซื้อมาเป็นที่ดิน สค.1 เนื้อที่ 15 ไร่ และที่ ภบท.5 จำนวน 20 ไร่ รวมเนื้อที่ 35 ไร่) เพิ่มขึ้น จำนวน 6 – 2 – 7 ไร่
    2. ในส่วนของ ที่ดิน สค.1 เนื้อที่ 15 ไร่ ที่มีการนำไปรับค่าชดเชย จำนวน 8 – 0 - 56 ไร่ ไม่ได้ถูกหักออก
    3. ในการพิจารณาคดี ตามคำพิพากษาที่ 8443/2558 น่าจะขาดการนำหลักฐานสำคัญสำคัญ 2 อย่าง ไปประกอบการพิจารณา คือ (1.) รายงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (ชุดที่ 1) ซึ่งมีมติตั้งแต่ปี 2549 และ (2.) ข้อมูลการรับค่าชดเชยเขื่อนปากมูล ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ที่จ่ายไปเมื่อปี 2535
  3. การพิพากษาคดีตัดไม้ยางนา บนเกาะดอนคำพวง เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2559 น่าจะขาดการนำหลักฐานสำคัญ คือ บันทึกการเข้าตรวจยึดการลักลอบตัดไม้ บนที่ดินเกาะดอนคำพวง พบตอไม้ยางนา ถูกตัดจำนวน 11 ตอ เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2559 มาประกอบการพิจารณาคดี
  4. การตรวจสอบของคณะกรรมการสิทธิ ฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สรุปว่า ให้ดำเนินคดีกับนางคำผอง ทาระสาร ในข้อหา “แจ้งข้อความอันเป็นเท็จ แก่เจ้าพนักงานที่ดิน เนื่องจากได้แจ้งขอออกเอกสารสิทธิครอบครอง (สค.1) บนเกาะดอนคำพวง มิชอบ ซึ่งสวนทางกับคำพิพากษาศาลฎีกา (คำพิพากษาที่ 8443/2558)

จากเหตุการณ์และข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นนี้ ผมมองว่า กระบวนการยุติธรรมที่ทำหน้าที่ ในการอำนวยความเป็นธรรม แต่จากคำพิพากษาดังที่กล่าวมา มีข้อเท็จจริงที่สำคัญได้ตกหล่น จนทำให้เกิดข้อกังขาว่า กรณีพิพาทที่ดินเกาะดอนคำพวง เป็นได้แค่ “กรรมสิทธิ์สีเทา” เท่านั้นหรือไม่

ดังที่เกริ่นในช่วงเริ่มต้นว่า ผมมิได้มีเจตนาที่จะก้าวล่วง หรือละเมิดคำพิพากษาของศาล หรือแม้กระทั่งก้าวก่ายกระบวนการยุติธรรมแต่อย่างใด หากแต่ต้องการ “ทำความถูกต้อง ที่ยังบกพร่องอยู่ ให้สมบูรณ์” เท่านั้น

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net