Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ถ้าพูดถึงยุทธศาสตร์การพัฒนาภูมิภาคต่างๆ ของประเทศไทย ชนิดที่เป็นแผนแม่บทการพัฒนา ในช่วงที่ผ่านมา เราจะเห็นได้ว่า ในส่วนแผนพัฒนาด้านสมุทรศาสตร์ของไทย เราไม่เคยมีแผนที่สำหรับการพัฒนาประเภทนี้เอาเลย ทั้งๆ ที่ประเทศไทยในส่วนที่เป็นแหลมลงไป คือ ภาคใต้ ถูกโอบล้อมไปด้วยทะเลหรือมหาสมุทร ด้วยเหตุนี้ทำให้ไทยเป็นประเทศที่มีความรู้ด้านสมุทรศาสตร์น้อยที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกหรือแม้กระทั่งในภูมิภาคอันดามันก็ตามแต่

ในสหรัฐอเมริกา ไม่เพียงแต่ Woods Hole Oceanographic Institution หรือ WHOI ซึ่งเป็นสถาบันด้านสมุทรศาสตร์ที่ใหญ่สุดของประเทศนี้ เป็นสดมภ์หลักในการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับทะเลหรือมหาสมุทรแล้วยังมีอีกหลายสถาบันสมุทรศาสตร์ทั้งด้านฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกของสหรัฐฯ เนื่องจากพวกเขาตระหนักว่า โลกอนาคตนั้นนอกจากต้องก้าวไกลไปในอวกาศแล้ว ยังต้องก้าวไกลไปในทะเลด้วย ไม่แปลกที่มุมมองด้านความมั่นคงจาก 3 เหล่าทัพ US Navy  เป็นเหล่าทัพที่ทรงอิทธิพลมากที่สุด มีทรัพยากรบุคคลที่มีสติปัญญา (Intelligence) อยู่มากที่สุด

หาใช่ Army force เหมือนดังประเทศกำลังพัฒนาบางประเทศ ที่มักทำการรัฐประหารซ้ำซากโดยใช้ Army force เป็นตัวนำ แต่อย่างใดไม่

การยกกองทัพเรือให้เป็นที่หนึ่งในบรรดา 3 เหล่าทัพ แสดงให้เห็นว่า คนอเมริกัน รัฐบาลอเมริกันให้ความสำคัญกับความมั่นคงในส่วนของทะเลหรือมหาสมุทรมากมายขนาดไหน ซึ่งหากเทียบกับไทยแล้วแทบจะกล่าวได้ว่า เรามียุทธศาสตร์แทบจะไปคนละทางกับยูเอสเอเลยทีเดียว ทั้งในเรื่องยุทธศาสตร์การพัฒนาด้านความมั่นคงและยุทธศาสตร์การพัฒนาด้านเศรษฐกิจ เราไม่เคยมีแผนการเชื่อมโยงการพัฒนาด้านสมุทรศาสตร์

ไม่ว่านักการเมือง ทหาร หรือแม้แต่ข้าราชการประจำหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างก็ขาดองค์ความรู้เกี่ยวกับสมุทรศาสตร์ อาจด้วยเหตุนี้ยุทธศาสตร์การพัฒนาภาคใต้ของไทยจึงล้าหลังมากกว่าทุกๆ ภาค เพราะไม่เคยคิดอยู่บนฐานข้อเท็จจริงของทรัพยากรธรรมชาติ

วิสัยทัศน์ของนักการเมืองอาชีพและเก่าแก่ยาวนานที่สุดของภาคใต้ ได้แก่ นายชวน หลีกภัย ก็ก้าวไกลได้ไม่เกิน “โบกี้รถไฟ”สายใต้แค่นั้นเอง ครั้นพอยางพาราราคาวิบัติ สภาพเอน็จอนาถของพี่น้องชาวใต้ก็อย่างที่เห็นๆ

ย่อมเป็นที่ทราบกันดีว่า แผนพัฒนาภาคใต้เชิงยุทธศาสตร์แทบไม่มีการขยับเขยื้อนเลยในรอบ 30 ปี แม้ในช่วงการเป็นรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์ โดยนาย ชวน หลีกภัย เป็นหัวหน้ารัฐบาลด้วยซ้ำ แต่แล้วจนถึงตอนนี้กลับไปได้ไม่เกินความยาว“โบกี้รถไฟ”ซึ่งเป็นสิ่งที่ออกจะขำขันสำหรับวิสัยทัศน์ของนักการเมืองโลกยุค 4.0

ทั้งๆ ที่มีความพยายามของหลายกลุ่มท้องถิ่นหัวคิดก้าวหน้า เช่น กลุ่มคลองไทย ที่พยายามเปิดยุทธศาสตร์การพัฒนาภาคใต้ในระยะยาวด้วยการขุดคลองจาก จ.กระบี่ ผ่าน จ.ตรัง จ.พัทลุง ไปออกทะเล อ.ระโนด จ.สงขลา แต่โครงการดังกล่าวยังได้แค่ฝัน ซึ่งก็ยังดีกว่าไม่ฝัน ไม่ทำอะไรเลยอยู่บ้าง

ถ้าลองพรรคประชาธิปัตย์เปรียบเทียบขนาดโครงการในภาคอื่นๆ  เช่น EEC ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก กับขนาดโครงการของภาคใต้ก็คงจะเห็นว่ามันแตกต่างประดุจฟ้ากะเหวแค่ไหน ทั้งๆ ที่ศักยภาพของพื้นที่ใกล้เคียงกันหรือดีไม่ดีภาคใต้มีศักยภาพมากกว่าด้วยซ้ำ การฝากความหวังไว้กับราคายาง ราคาปาล์ม น่าเชื่อว่าชีวิตพี่น้องคนใต้มีแต่รอวันตายในกาลข้างหน้า ยิ่งมิใช่รัฐบาลมืออาชีพด้วย ย่อมไม่แตกต่างไปจากผีในป่าช้ารอวันเผา กลบฝังอย่างเดียวเท่านั้น เรื่องของเรื่องก็คือ แม้ได้ตู้โบกี้รถไฟจากการขอความอนุเคราะห์วิงวอนต่อรฟท. หรือกระทรวงคมนาคมของนายชวน ก็คงไม่สามารถช่วยอะไรเรื่องปากเรื่องท้องของชาวบ้านภาคใต้ได้เลย

สมควรแล้วที่ชาวบ้านและภาคประชาสังคมของภาคใต้จะคิดเอง วิเคราะห์ด้วยตัวเอง ว่า ทำไมในห้วงสามทศวรรษมานี้ การพัฒนาเชิงโครงการขนาดใหญ่ไม่เคยขึ้นกับภาคใต้ของไทยเลย โทษนักการเมือง ข้าราชการหรือทหารคงไม่ได้ แต่เราต้องกลับมาทบทวนตัวเอง ถึงจุดอ่อนจุดแข็งหรือศักยภาพทางด้านเศรษฐกิจในภูมิภาคว่าควรจะมุ่งไปทางด้านไหนเป็นหลักก่อน หรือแม้แต่การจะร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน อย่างเช่น มาเลเซียและพม่า อย่างไรได้บ้าง

เท่าที่ผมคุยกับเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นของไทยที่ทำงานใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ เช่น ที่นราธิวาส  (แน่นอนด้วยว่า จนท.การข่าวฝ่ายอเมริกันถูกส่งลงพื้นที่จำนวนหนึ่ง)  พวกเขาตกอยู่ในสภาพของความพยายามที่จะยอมรับสภาพให้ได้ สภาพของความไม่ปลอดภัยที่เกิดขึ้นรายวัน เหมือนการปลงตก นั่นคือ ยอมรับว่าการสูญเสียเจ้าหน้าที่หรือชาวบ้านเป็นเรื่องปกติ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเศร้าใจอย่างยิ่ง

ถ้าผมเข้าใจไม่ผิดภาคประชาสังคมจากส่วนกลางคือกรุงเทพน่าจะเริ่มขยับบ้างแล้ว โดยเฉพาะในส่วนของเศรษฐกิจภาคใต้ ท่าน พล.ต.อ.สุนทร ซ้ายขวัญ อดีตสมาชิกวุฒิสภาและนายกสมาคมชาวปักษ์ใต้ในพระบรมราชูปถัมภ์ (สปต.) บอกว่า คนใต้ทั้งในถิ่นและต่างถิ่นควรร่วมมือร่วมใจกันคิดเองทำเองในการผลักดันโครงการของภาคใต้ผ่านส่วนงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในยามที่สถานการณ์เศรษฐกิจของภาคใต้วันนี้อยู่ในขั้นวิกฤต

ดังนั้น ในอนาคต ชาวใต้ควรหันมาพึ่งตนเองทั้งในส่วนของการแก้ปัญหาปากท้องในชีวิตประจำวันและปัญหาความอยู่รอดในอนาคต ซึ่งก็คือโครงการพัฒนาเศรษฐกิจของภาคใต้เชิงแผนแม่บทหรือยุทธศาสตร์ ซึ่งผมเองคิดว่า ส่วนของโครงการที่เป็นรายละเอียด การศึกษาวิจัยด้านสมุทรศาสตร์น่าที่จะได้หยิบยกมาผนวกไว้ในยุทธศาสตร์การพัฒนาภาคใต้ดังกล่าวด้วย

ไม่ต้องถึงระดับสถาบันการศึกษาแบบ WHOI ของสหรัฐฯหรอกครับ แค่ สถาบันศึกษาสมุทรศาสตร์เล็กๆ เกิดขึ้นในเขตภาคใต้ก็เป็นบุญของประเทศและคนใต้แล้ว ทั้งเราสามารถดึงสมาชิกอาเซียน อย่างพม่า และมาเลเซียเข้าร่วมได้อีกด้วย

ผมไม่ปฏิเสธการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญๆ เช่น ถนน ทางรถไฟหรือแม้แต่สนามบินที่ได้ข่าวคนภาคใต้กำลังลุ้นเชิงการผลักดันสนามบินอีก 2 แห่ง คือ สนามบินเบตง จ.ยะลา กับสนามบินพัทลุง ท่านทำไปเถอะครับ โครงสร้างพื้นฐานคือสนามบินเป็นเรื่องของอนาคต รับรองได้ใช้แน่นอน เพราะโลกอนาคตการบินพาณิชย์เป็นสิ่งจำเป็นและขาดเสียไม่ได้ เพราะแม้กระทั่งเวลานี้บริษัทเอกชนจำนวนหนึ่งรอไฟเขียวจากรัฐบาลไทยในการเปิดอนุญาตบริษัทขนส่งทางอากาศโดยเครื่องบินขนาดเล็ก (private jet) เท่าที่คุยกับคนในวงธุรกิจการบิน เรายังมีปัญหาเรื่องวิสัยทัศน์ด้านธุรกิจการบินที่สัมพันธ์กับข้อกฎหมายที่ล้าหลัง ควรได้รับการปรับปรุงอยู่มาก

แน่นอนว่าการนำโลกสมัยใหม่ลงในพื้นที่ภาคใต้ ส่วนหนึ่งอาจก่อให้เกิดความขัดแย้งและปัญหาเชิงวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของคนในชุมชน อันเนื่องมาจากความเปลี่ยนแปลงในหลายๆ ด้าน แต่ถ้าเทียบกับการไม่พัฒนาเลย เหมือนอย่างการแช่งเข็งการพัฒนาภาคใต้ในรอบ 30 ปี ประชาชนในท้องถิ่นคงตัดสินใจได้ โดยเฉพาะบทเรียนราคาแพงจากวิบัติทางเศรษฐกิจแบบที่เห็นๆ อยู่ในปัจจุบัน

ว่าควรจะเริ่มคิดกันถึงแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจของภาคใต้เชิงก้าวหน้าได้แล้วหรือยัง?

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net