สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 24-30 ก.ย. 2561

ขสมก.เล็งปลดพนักงานเกือบ 5 พันคนหวังลดภาระหนี้

ขสมก.เตรียมเสนอแผนฟื้นฟูเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในเดือน พ.ย.นี้ โดยมีรายละเอียดเงื่อนไขการลดภาระค่าใช้จ่าย แผนบริหารหนี้ 1.1 แสนล้านบาท แผนจัดหารถเมล์ใหม่ 3,000 คัน มูลค่า 17,235 ล้านบาท และแผนปรับโครงสร้างพนักงานโดยแนวทางแก้ปัญหาหนี้สะสม 1.1 แสนล้านบาท เบื้องต้นมี 2 แนวทางที่จะนำเสนอ พร้อมกับมีแนวคิดที่จะเลิกจ้างพนักงาน 4,900 คน เพื่อลดค่าใช้จ่าย

ที่มา: เนชั่นทีวี, 28/9/2561

เผยผลสำรวจพนักงานที่เป็นคุณพ่อคุณแม่ 85% ต้องการให้นายจ้างให้ความสำคัญกับความยืดหยุ่นในการทำงาน

Regus (รีจัส) ผู้นำด้านการให้บริการพื้นที่สำนักงานระดับโลกเผยผลสำรวจล่าสุดพบว่าพนักงานที่เป็นคุณพ่อคุณแม่จำนวนร้อยละกว่า 85 ต้องการให้นายจ้างให้ความสำคัญกับความยืดหยุ่นในการทำงาน เพื่อให้พวกเขาสามารถมีเวลาให้กับครอบครัวได้มากขึ้น ในขณะที่ร้อยละ 81 เชื่อว่าการสร้างสมดุลระหว่างการทำงานและการใช้ชีวิตให้แก่พนักงาน ถือเป็นสวัสดิการที่ดีที่สุด

พื้นที่การทำงานที่ยืดหยุ่นหรือที่เรียกกันว่า "โคเวิร์กกิ้ง" มอบพื้นที่ให้บุคคลต่างๆ หรือพนักงานได้ทำงานให้สำเร็จได้โดยไม่จำเป็นต้องมีออฟฟิศ หรือต้องทำงานอยู่ที่บ้านเท่านั้นซึ่งอาจมีสิ่งอื่นๆ เข้ามารบกวนสมาธิได้ ทั้งนี้พื้นที่ทำงานที่ให้ความยืดหยุ่นในปัจจุบันมีแนวโน้มเติบโตขึ้นเรื่อยๆ เพื่อให้เหล่าคนทำงานสามารถทำงานได้ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดๆ ก็ตาม

การมอบพื้นที่การทำงานที่ยืดหยุ่นให้แก่พนักงานนับเป็นสวัสดิการที่สำคัญ ที่จะช่วยลดระยะเวลาการเดินทางจากบ้านได้ ซึ่งสอดคล้องกับผลสำรวจของรีจัสเกี่ยวกับพ่อแม่ในวัยทำงาน โดยพบว่าร้อยละ 71 ของพนักงานต้องการใช้เวลาอยู่กับครอบครัวเป็นอันดับแรกแทนที่จะเสียเวลาไปกับการเดินทาง ตามมาด้วยร้อยละ 38 ที่ต้องการให้เวลากับตัวเอง (me-time) เช่น การอาบน้ำแบบไม่ต้องเร่งรีบ หรือ ออกไปสังสรรค์กับเพื่อนๆ เป็นต้น

สิ่งที่นายจ้างควรให้ความสนใจ คือ พ่อแม่วัยทำงานนั้นยินดีอุทิศตนให้กับองค์กรที่สามารถมอบการทำงานที่ยืดหยุ่นได้ นายจ้างควรให้ความสนใจในเรื่องนี้เป็นพิเศษ เนื่องจากการทำงานที่มีความยืดหยุ่นนั้นเป็นสิ่งที่พ่อแม่ในวัยทำงานให้ความสำคัญสูงสุดถึงร้อยละ 96 โดยให้เหตุผลว่า พวกเขาอยากทำงานกับนางจ้างที่มอบสวัสดิการด้วยรูปแบบการทำงานที่ยืดหยุ่น อีกทั้งร้อยละ 74 ให้เหตุผลว่า พวกเขายินดีที่จะทำงานหลากหลายรูปแบบ หากสามารถทำงานได้จากที่ใดก็ได้

สุดยอดประโยชน์จากรูปแบบการทำงานที่มีความยืดหยุ่น การเปลี่ยนไปทำงานในรูปแบบที่ยืดหยุ่นแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัดถึงคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของพ่อแม่ในวัยทำงาน รีจัสมีเคล็ดคลับดีๆ สำหรับพ่อแม่ในวัยทำงานที่กำลังมองหาลู่ทางในการเปลี่ยนแปลงดังนี้

ทั้งนี้การโน้มน้าวให้นายจ้างมอบรูปแบบการทำงานที่ยืดหยุ่นไม่ใช่เรื่องยุ่งยาก แม้จะยังไม่มีการทำงานแบบนี้ในที่ทำงานของคุณก็ตาม แต่คุณอาจลองเปลี่ยนสวัสดิการบางอย่างที่คุณไม่ได้ใช้ เพื่อแลกกับความยืดหยุ่นในการทำงานที่มากขึ้นหรือลองกำหนดตารางงานใหม่ดู ดังตัวอย่างผลการสำรวจล่าสุดพบว่าร้อยละ 85 ของพ่อแม่ในวัยทำงานยินดีทำงานในช่วงเวลาพักเที่ยง ตามมาร้อยละ 85 ที่ยอมสละสิทธิผลประโยชน์อื่นๆ เช่น การเป็นสมาชิกศูนย์ออกกำลังกายของบริษัท เพื่อแลกกับความยืดหยุ่นในการทำงานที่มากขึ้น

ที่มา: RYT9, 27/9/2561

รมว.แรงงาน หารือกับเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโซล หวังขยายตลาดแรงงานไทย และหาแนวทางแก้ไขปัญหาแรงงานไทยลักลอบเข้าทำงานในเกาหลีผิดกฎหมาย

พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และคณะเดินทางไปราชการ ณ สาธารณรัฐเกาหลี เพื่อเผยแพร่และขยายตลาดแรงงานไทย โดยได้พบปะและหารือข้อราชการกับนายสิงห์ทอง ลาภพิเศษพันธ์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงโซล และมอบประกาศเกียรติคุณอาสาสมัครแรงงานดีเด่น ประจำปี 2561 จากนั้นได้ตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายแก่ฝ่ายแรงงาน ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโซล

ทั้งนี้ สาธารณรัฐเกาหลีมีนโยบายการจ้างแรงงานต่างชาติ โดยอนุญาตให้แรงงานต่างชาติเข้ามาทำงานด้วยระบบ (Employment Permit System : EPS) มาตั้งแต่ปี 2547 เพื่อคุ้มครองโอกาสในการทำงานของคนเกาหลี และแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในสถานประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) โดยอนุญาตให้นายจ้างที่ไม่สามารถว่าจ้างแรงงานในประเทศ สามารถว่าจ้างแรงงานต่างด้าวในจำนวนที่เหมาะสมอย่างถูกกฎหมาย เพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชนของแรงงานต่างชาติ ซึ่งกระทรวงการจ้างงานและแรงงานสาธารณรัฐเกาหลีจะเป็นผู้คัดเลือกประเทศผู้ส่งแรงงานและกำหนดโควตาของแรงงานต่างชาติแต่ละปี รวมทั้งกำหนดเพดานการจัดส่งแรงงานต่างชาติแต่ละประเทศ ซึ่งสาขาอาชีพที่อนุญาตให้ทำงานภายใต้ระบบ EPS ได้แก่ การผลิต ก่อสร้าง เกษตรและปศุสัตว์ ประมง และการบริการ เป็นต้น

จากข้อมูลสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองสาธารณรัฐเกาหลี ณ เดือน พ.ค. 2561 พบว่า มีคนไทยพำนักในสาธารณรัฐเกาหลี จำนวน 174,443 คน เป็นแรงงานไทยที่ไปทำงานถูกต้อง จำนวน 296,676 คน ในเดือน ก.ย. 2559 มีแรงงานไทยเดินทางไปสาธารณรัฐเกาหลีและลักลอบทำงานจำนวน 55,637 คน คิดเป็นร้อยละ 58.6 ของจำนวนคนไทยทั้งหมดที่อาศัยอยู่ในสาธารณรัฐเกาหลี นอกจากนี้ สภาพปัญหาของแรงงานไทยที่ไปทำงานในระบบ EPS ข้อมูล ณ เดือน ก.ย. 2559 มีจำนวน 24,552 คน พบว่า อาศัยอยู่เกินกำหนดจำนวน 2,836 คน คิดเป็นร้อยละ 11.5 ของแรงงาน EPS ทั้งหมด

ที่มา: Voice TV, 27/9/2561

สนช.เห็นชอบ กม.ขึ้นเงินเดือน 3 องค์กรใหญ่ ประธานศาล รธน.เงินเดือน 1.38 แสนบาท ประธานองค์การอิสระและอัยการสูงสุด รับ 1.3 แสนต่อเดือน

27 ก.ย. 2561 ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเห็นชอบกับร่างพ.ร.บ.เงินเดือน เงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบอื่นขององค์กรต่างๆเพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมายพร้อมกันจำนวน 3 ฉบับ ดังนี้

1.สนช.มีมติเอกฉันท์ 171 คะแนนเห็นชอบร่างพ.ร.บ.เงินเดือน เงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอื่นของประธานกรรมการและกรรมการในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ โดยกำหนดให้ ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเงินเดือน 81,920 บาท เงินประจำตำแหน่ง 50,000 บาท รวม 131,920 บาท ส่วนผู้ดำรงตำแหน่งกรรมการในองค์อิสระดังกล่าว ได้รับเงินเดือน 80,540 บาท เงินประจำตำแหน่ง 42,500 บาท รวม 123,040 บาท

2.สนช.มีมติเอกฉันท์ 172 คะแนนเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.เงินเดือน เงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอื่นของประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ โดยกำหนดให้ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ได้รับเงินเดือน 83,090 บาท และเงินประจำตำแหน่ง 55,000 บาท รวม 138,090 บาท ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้รับเงินเดือน 81,920 บาท เงินประจำตำแหน่ง 50,000 บาท รวม 131,920 บาท

3.สนช.มีมติเสียงข้างมาก 166 ต่อ 1 คะแนนเห็นชอบร่างพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ โดยกำหนดให้อัยการสูงสุด ได้รับเงินเดือน 81,920 บาท เงินประจำตำแหน่ง 50,000 บาท รวม 131,920 บาท

ที่มา: มติชนออนไลน์, 27/9/2561

'ประกันสังคม' เชิญชวนผู้ประกันตนดูแลสุขภาพ ด้วยการ 'ตรวจสุขภาพฟรี' ในโรงพยาบาลตามสิทธิ

ประกันสังคม ห่วงใยผู้ประกันตน ลดความเสี่ยงและป้องกันการเกิดโรค ด้วยการไปใช้สิทธิตรวจสุขภาพฟรีกับสถานพยาบาลตามสิทธิที่เลือกไว้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น เผยยอดผู้ประกันตนไปใช้สิทธิตรวจสุขภาพนับแต่ต้นปีจนถึง 31 ก.ค. 2561 มากกว่า 4 แสนคน ประกันสังคมจ่ายไปแล้วกว่า 200 ล้านบาท

พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กำหนดนโยบายในการผลักดันการสร้างหลักประกันสังคมที่เป็นธรรมและเท่าเทียมให้สามารถคุ้มครองแรงงานได้อย่างทั่วถึง โดยการเพิ่มและปรับปรุงสิทธิประโยชน์ในทุกกรณี สำนักงานประกันสังคมจึงได้เพิ่มสิทธิให้ผู้ประกันตนด้านการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค โดยผู้ประกันตนสามารถเข้ารับการตรวจสุขภาพเพื่อหาปัจจัยเสี่ยงของโรคต่างๆ ณ สถานพยาบาลที่ผู้ประกันตนเลือกไว้หากพบความผิดปกติผู้ประกันตนจะได้ทำการรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มแรก ทำให้โอกาสการรักษาให้หายขาดมีมากขึ้น อาทิเช่น การตรวจมะเร็งเต้านม การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด การตรวจน้ำตาลในเลือด การตรวจการทำงานของไต หรือการตรวจไขมันในเส้นเลือด  เพื่อหาปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคต่างๆ เป็นการรักษาเชิงป้องกัน การเจ็บป่วยที่พบบ่อยไม่ว่าจะเป็นโรคเบาหวาน โรคหัวใจ หรือโรคไตวายเรื้อรัง ฯลฯ สามารถตรวจพบได้จากการตรวจสุขภาพประจำปี  ซึ่งทางสำนักงานประกันสังคมได้เพิ่มสิทธิประโยชน์ให้ผู้ประกันตนในการดูแลรักษาสุขภาพด้วยการตรวจสุขภาพประจำปี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 โดยในปี 2561 มีผู้ประกันตนเข้ารับบริการตรวจสุขภาพนับจากวันที่ 1 มกราคม 2561 ถึง 31 กรกฎาคม 2561 จำนวน 2,244,956 รายการ จากผู้ประกันตน 477,313 คน จำนวนเงินที่สำนักงานประกันสังคมจ่ายให้กับสถานพยาบาล  มากกว่า 251,321,525 บาท อย่างไรก็ตามกระทรวงแรงงาน  โดยสำนักงานประกันสังคมเห็นว่า การตรวจสุขภาพเป็นการดูแลสุขภาพพลานามัยอย่างหนึ่งเท่านั้น  ผู้ประกันตนควรหมั่นดูแลสุขภาพด้วยการออกกำลังกายเป็นประจำ กินอาหารให้ครบถ้วนและมีประโยชน์ต่อร่างกาย  นอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ  ลดความวิตกกังวลและความเครียดต่างๆ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ประกันตนเอง  สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนประกันสังคม 1506 ตลอด 24 ชั่วโมง

ที่มา: บ้านเมือง, 26/9/2561

กลุ่มดอกเตอร์ลูกอีสานจับมือชาวบ้านตั้ง “พรรคพลังแรงงานไทย”

ที่ห้องประชุมริมธารา สวนป่ารีสอร์ท ต.นอกเมือง อ.เมืองฯ จ.สุรินทร์ สมาชิกพรรคพลังแรงงานไทยจากทั่วประเทศได้เดินทางมาเข้าประชุมใหญ่ พรรคพลังแรงงานไทย โดยมี ดร.มนูญ ศิวารมย์ อดีตอาจารย์ประจำหลักสูตร บริหารการศึกษาระดับปริญญาเอก มหาวิทยาลัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ขอนแก่น เป็นประธานในที่ประชุมใหญ่เพื่อเปิดโอกาสให้สมาชิกพรรคพลังแรงงานไทยร่วมกันเสนอชื่อ ผู้เข้ารับการเลือกตั้งเป็นหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค เหรัญญิก และนายทะเบียนสมาชิกพรรคการเมือง โดยมีกรรมการการเลือกตั้ง และข้าราชการ ทหาร ตำรวจ และหน่วยงานความมั่นคงนอกเครื่องแบบร่วมสังเกตการณ์อย่างใกล้ชิด

ผลการเลือกตั้ง ผู้บริหารพรรค กรรมการ พรรคพลังแรงงานไทย ตามมติที่ประชุมดังนี้ ดร.พิเชษฐ์ ภูเเก้ว เป็นหัวหน้าพรรคพลังแรงงานไทย, นายสุมนต์ มานะศรี เป็นรองหัวหน้าพรรค คนที่ 1, นายสราวุฒิ พลคำมาก เป็นรองหัวหน้าพรรคคนที่ 2, ดร.จำนง กมลศิลป์ เป็นรองหัวหน้าพรรค คนที่ 3, นายนาวา ชิดชอบ เป็นรองหัวหน้าพรรค คนที่ 4, ดร.มนูญ ศิวารมย์ เป็นเลขาธิการพรรคพลังเเรงงานไทย, ผศ.ดร.สอน โฮมแพน เป็นรองเลขาธิการพรรค, ดร.ชนิดาภา คำชาลี เป็นเหรัญญิกพรรค, นางเกสร ธรรมศิริ เป็นผู้ช่วยเหรัญญิก พรรคพลังเเรงงานไทย, ดร.บุญถม ธรรมศิริ เป็นนายทะเบียนสมาชิกพรรคพลังเเรงงานไทย, นายทองดา เรโด เป็นผู้ช่วยนายทะเบียนสมาชิกพรรค และนายภูวนาท ประคำ เป็นโฆษกพรรคพลังเเรงงานไทย

โดยพรรคพลังเเรงงานไทยมีชื่อย่อ พ.ร.ง.ท. ชื่อภาษาอังกฤษ Thai labor power party มีชื่อย่อภาษาอังกฤษ T.L.P.P.

ดร.มนูญ เลขาธิการพรรคพลังแรงานไทย กล่าวว่า วันนี้ตนรู้สึกดีใจมากที่พี่น้องประชาชนทั้งประเทศ โดยมีแกนนำอยู่ที่ จ.สุรินทร์ มีอุดมการณ์ร่วมกันมาประชุมใหญ่จัดตั้งพรรคพลังแรงงานไทย ประชาชนรู้สึกภาคภูมิใจเป็นพรรคการเมืองของคนอีสานสามารถทำได้ถึงขนาดนี้ นโยบายทางพรรคการเมืองจะมีการจัดสรรที่ดินทำกิน หนี้สินต้องเป็นศูนย์ เพื่อพูนต้นทุนการผลิต โดยใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง การบริหารจัดการ ส่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ และ ส.ส.เขต มีทีมงานที่ไว้ใจได้ จะเป็นพรรคแรกของประเทศไทยที่มีดอกเตอร์มากที่สุด ซึ่งบรรดาดอกเตอร์เหล่านี้จะไปสรรหาผู้ที่สนใจที่จะมาสมัครร่วมกิจกรรมทางการเมืองกับพรรคพลังแรงงานไทย วันนี้เป็นนิมิตหมายอันดีว่าชาวไร่ชาวนาที่มีประสบการณ์ในการทำมาหากินบนผืนแผ่นดินไทยกับลูกหลานที่เขาส่งเสียให้ร่ำเรียนจนจบดอกเตอร์มา พอทำงานรับราชการและประกอบธุรกิจจนประสบผลสำเร็จในชีวิตแล้วจะมาอาสาพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนรากหญ้าให้มีเศรษฐ์กิจอยู่ดีกินดี มีงานทำ มีเงินใช้ และมีความสุข

ขณะนี้มีดอกเตอร์มาร่วมอุดมการณ์ทางการเมืองแล้วประมาณ 20 คน แต่พอตั้งพรรคเรียบร้อยแล้วจะมีดอกเตอร์เข้าร่วมกว่า 80 คน ตนอยากฝากถึงพี่น้องประชาชนว่าการเมืองของเราเป็นการเมืองใหม่ เพราะฉะนั้นทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน อย่างเช่นเกษตรกร และนักวิชาการ ต้องมาร่วมมือกัน โดยนักวิชาการคิด ทำวิจัย พาเกษตรกรทำ เพื่อให้ได้ผลผลิตมากขึ้น สามารถทำให้เกษตรกรหมดหนี้

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 26/9/2561

สหรัฐฯ ยกไทยแก้ปัญหา 'แรงงานเด็ก' สำเร็จสูงสุด ต่อเนื่อง 2 ปีซ้อน

นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2561 ที่ผ่านมา กระทรวงแรงงานของประเทศสหรัฐอเมริกาเผยแพร่รายงานสถานการณ์การขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายที่สุด (Findings on the Worst Forms of Child Labor) ประจำปี ค.ศ. 2017 (พ.ศ. 2560) ซึ่งประเมินความพยายามและผลการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวของ 132 ประเทศทั่วโลก โดยจัดให้ประเทศไทยอยู่ในระดับความสำเร็จมาก (Significant Advancement) ซึ่งถือเป็นระดับสูงสุด และเป็น 1 ใน 17 ประเทศของรอบการประเมินปี 2560 ที่ได้ระดับนี้ นอกจากนี้ยังเป็น 1 ใน 5 ประเทศของอาเซียนที่ได้รับการจัดอันดับในระดับนี้ และนับเป็นปีที่ 2 ที่ประเทศไทยได้รับการจัดให้อยู่ในอันดับดังกล่าวต่อเนื่องจากปี 2559

นายอนันต์ชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า การที่กระทรวงแรงงานสหรัฐอเมริกา ได้จัดให้ประเทศไทยอยู่ในระดับความสำเร็จมาก (Significant Advancement) เนื่องมาจากในปี 2560 ประเทศไทยมีความพยายามขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายที่สุดในเรื่อง การจัดล่ามเพื่อช่วยสื่อสารกับคนต่างด้าวและชนกลุ่มน้อยที่ไม่พูดภาษาไทย ไปปฏิบัติหน้าที่ในสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดและศูนย์ตรวจแรงงานที่ท่าเรือ การจัดเจ้าหน้าที่ตำรวจเพิ่มขึ้นในการสืบสวนอาชญากรรมทางอินเตอร์เน็ตที่เกี่ยวกับการละเมิดต่อเด็ก การได้ลงนามในข้อตกลงแบ่งปันข้อมูลร่วมกับศูนย์รับแจ้งเด็กสูญหายและถูกแสวงประโยชน์แห่งชาติของสหรัฐฯ (U.S. National Center For Missing and Exploited Children) เพื่อต่อสู้กับการแสวงประโยชน์ทางเพศเชิงพาณิชย์ต่อเด็ก และการออกกฎกระทรวงห้ามจ้างเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ทำงานบางประเภท ที่รับไปทำที่บ้าน ทั้งนี้การได้รับการจัดอันดับดังกล่าวจะส่งผลดีต่อภาพลักษณ์ของประเทศในเรื่องการใช้แรงงานเด็ก การรักษาสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร รวมถึงสร้างการยอมรับของนานาชาติต่อไป

ที่มา: สปริงนิวส์, 26/9/2561

พี่สาวร่ำไห้หน้าหลุมศพเหยื่อเรือประมงไทยบนเกาะเบนจีนน่าตะลึงพบศพถูกฝังนับร้อย

เมื่อวันที่ 26 ก.ย. 2561 คณะช่วยเหลือลูกเรือประมงไทยในประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน(LPN) สื่อมวลชน ผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ ผู้แทนกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ผู้แทนกรมการจัดหางาน ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ร่วมกันเดินทางลงพื้นที่เกาะเบนจิน่า ประเทศอินโดนีเซีย เพื่อนำกระดูกของนายสมเกียรติ สีเมืองโขง ลูกเรือประมงไทยจากจังหวัดสุรินทร์ซึ่งเสียชีวิตและถูกฝังอยู่ที่เกาะเบนจิน่า กลับบ้านเกิดโดยมีนางสุขสันต์ สีเมืองโขง พี่สาวนายสมเกียรติ เป็นตัวแทนครอบครัว และได้นิมนต์พระอาจารย์ประสาร ธงไชย จากวัดพุทธเมตตา กรุงจาการ์ตา ไปร่วมทำพิธีทางศาสนา

ทั้งนี้คณะต้องใช้เวลาในการเดินทางข้ามวันข้ามคืนเนื่องจากเกาะเบนจินาอยู่สุดแดนตะวันออกของอินโดนีเซียใกล้ชายแดนออสเตรเลีย โดยเมื่อเดินทางถึงหลุมฝังศพ นางสุขสันต์ถึงกันร่ำไห้และได้นำภาพนายสมเกียรติมาตั้งไว้ที่ป้ายชื่อซึ่งระบุว่าชื่อนายชัยยา บุญสังข์ สัญชาติกัมพูชา เนื่องจากในสมุดประจำตัวลูกเรือหรือซีแมนบุคซึ่งกรมเจ้าท่าเป็นผู้จัดทำได้ระบุชื่อปลอมตามที่นายหน้าส่งให้

"กลับบ้านน่ะ พี่มาพากลับบ้าน"นางสุขสันต์ร่ำให้และกล่าวว่าก่อนมาได้ทำใจแล้วระดับหนึ่ง แต่เมื่อมาเห็นหลุมฝังศพน้องชายกลับทำใจไม่ได้ เพราะนึกถงวันที่น้องชายโทรศัพท์มาหาเพื่อขอให้ช่วยเหลือ แต่ก็ไม่สามารถช่วยได้ทันจนต้องมาเอากระดูกกลับแทน "ที่น่าเศร้าใจคือแม้แต่เขาตายไปแล้วยังไม่มีชื่อของตัวเอง ต้องเป็นชื่อคนอื่นทั้งๆที่เป็นคนไทยแท้ๆแต่กลับได้สัญชาติกัมพูชา"

ขณะที่พระอาจารย์ประสารได้ทำพิธีสวดมนต์และกรวดน้ำแผ่ส่วนกุศลให้นายสมเกียรติและศพลูกเรือประมงที่ไร้ญาติซึ่งถูกฝังอยู่บริเวณดังกล่าวจำนวนมาก

นางสุขสรรค์กล่าวว่า เมื่อปี 2553 นายสมเกียรติได้รับการชักชวนจากเพื่อนคนละหมู่บ้านให้ไปทำงานเรือประมง ที่จังหวัดสมุทรสาคร เพื่อหาปลาที่น่านน้ำในประเทศไทย พอปี 2554 นายสมเกียรติได้ติดต่อมาที่ครอบครัวบอกว่าทำงานอยู่ที่ประเทศมาเลเซีย จนกระทั่งเมื่อปี 2558 ได้เข้าไปเป็นลูกเรืออยู่ที่เกาะเบนจีน่า

"ที่ผ่านมาน้องชายไม่ได้ติดต่อกลับมาเลย เมื่อเขาโทรมาแจ้งข่าว เราเองพยายามโทรกลับไปตามเบอร์ที่โทรมา กลายเป็นเบอร์ของเพื่อนลูกเรือประมง เรามาทราบภายหลังจากที่ได้พบกับลูกเรือที่เดินทางกลับมาที่ประเทศไทยว่า ตั้งแต่วันที่ 9เมษายน 2558 รัฐบาลไทยได้ไปช่วยเหลือลูกเรือประมงในอินโดนีเซียแต่น้องชายยังกลับไม่ได้ และได้ลงชื่อเอาไว้แล้ว"

นางสุขสันต์กล่าวว่า ครั้งสุดท้ายที่โทรมา น้องชายบอกว่าประสบปัญหาเรือโดนจับที่เกาะเบนจีน่า และมีปัญหาเรื่องเอกสารประจำตัวที่ชื่อไม่ตรงกันบัตรประชาชนที่แสดงว่าเป็นตัวตนโดยเอกสารในสมุดคนประจำเรือ ชื่อ ชัยยา บุญสังข์ เป็นคนสัญชาติกัมพูชา จึงทำเขายังไม่สามารถเดินทางกลับมาที่ประเทศไทยได้

ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวได้เดินสำรวจพื้นที่บริเวณดังกล่าวพบว่ามีหลุมฝังศพไม่น้อยกว่า 70 หลุม บางหลุมระบุชัดว่าเป็นคนไทยแต่จำนวนมากไม่ระบุสัญชาติเพราะไม่มีหลักฐานแต่บอกว่ามาจากเรือประมงสัญชาติไทย นอกจากนี้จากการสำรวจของเจ้าหน้าที่แอลพีเอ็นบนเกาะอื่นๆยับพบหลุมฝังศพลูกเรือประมงไทยและไม่ระบุสัญชาติซึ่งรวมทั้งหมดแล้วไม่น้อยกว่า 100 หลุม

ที่มา: สยามรัฐออนไลน์, 26/9/2561

รมว.แรงงาน 'ไทย-เมียนมา' เปิดศูนย์แรกรับแรงงานประมงตาม MOU

พล.ต.อ. อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานในพิธีเปิด“ศูนย์แรกรับเข้าทำงานและสิ้นสุดการจ้าง จ.ระนอง” ตั้งอยู่เลขที่ 89/227 หมู่ 1 ตำบลปากน้ำ อำเภอเมือง จังหวัดระนอง โดยมี นายเต็ง ส่วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน, ตรวจคนเข้าเมือง, และประชากร สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา พร้อมด้วย นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน, นายอนุรักษ์ ทศรัตน์ อธิบดีกรมการจัดหางาน, และผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน เข้าร่วมในครั้งนี้

โดยพล.ต.อ. อดุลย์ กล่าวว่า ประเทศไทยมีเป้าหมายที่จะให้แรงงานต่างด้าวเป็นแรงงานที่ถูกต้องตามกฎหมาย ได้รับความคุ้มครองภายใต้กฎหมายไทย มีสิทธิสวัสดิการรายได้ที่เหมาะสมเป็นธรรม ซึ่งในปีนี้ (61) รัฐบาลได้ดำเนินการหลายเรื่อง เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับแรงงานต่างด้าว เช่น สแกนอัตลักษณ์ม่านตาแรงงานภาคประมงทะเล ต่อเนื่องกิจการประมงทะเล 171,128  คน พัฒนาระบบการทำงานของศูนย์ PIPO เพื่อป้องกันการทำประมงผิดกฎหมาย และคุ้มครองแรงงานในภาคประมงทะเล และต่อเนื่องกิจการประมงทะเล 30 ศูนย์ ใน 22 จังหวัดชายทะเล

รวมถึงการแก้ไขกฎหมายเพื่อการคุ้มครองแรงงาน การรับรายงานตัวจัดทำประวัติแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ  (เมียนมา ลาว กัมพูชา) ให้สามารถอยู่ และทำงานได้อย่างถูกต้อง ดำเนินการในช่วงเดือน ก.พ. – มิ.ย. 2561 ที่ผ่านมา มีแรงงานเข้ามาจัดทำประวัติ บัตรประจำตัวแรงงาน และได้รับอนุญาตทำงาน ประมาณ 1.2 ล้านคน ซึ่งทั้งหมดนี้ได้รับความร่วมมือจากประเทศต้นทางของแรงงานในการพิสูจน์สัญชาติที่มีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ “ศูนย์แรกรับเข้าทำงานและสิ้นสุดการจ้าง”จ.ระนอง จะเป็นศูนย์ฯ รับแรงงานเมียนมาเข้าทำงานในภาคประมงทะเลเป็นการเฉพาะ สอดรับกับการหารือร่วมกันของไทยและเมียนมา ซึ่งจะส่งแรงงานเข้าทำงานทางเกาะสอง ของเมียนมา โดยจะเป็นประโยชน์ช่วยลดขั้นตอน เกิดประสิทธิภาพในการจัดส่ง และรับแรงงาน สะดวกในการติดต่อสื่อสารของนายจ้าง ผู้ประกอบการ กับแรงงาน ในขั้นตอนต่างๆ 

โดยศูนย์ฯ จะทำงานในรูปแบบ ONE STOP SERVICE แรงงานเดินทางเข้ามาจะได้รับการตรวจลงตรา Visa ลงทะเบียนประวัติแรงงาน เข้ารับการอบรมตามแนวทางการทำงานในภาคประมงทะเลสิทธิสวัสดิการ และได้รับการอนุญาตทำงานจากกระทรวงแรงงาน ซึ่งทำให้มีความพร้อมที่จะไปขอรับใบอนุญาตทำงานในภาคประมงทะเล (Sea Book) จากกรมประมง ต่อไป นอกจากนี้ ยังมีการใช้ระบบ IT เข้ามาช่วยในการติดตามนัดหมาย การยืนยันจำนวนแรงงาน เที่ยวเรือในแต่ละวัน เกิดความสะดวก รวดเร็ว ไม่มีแรงงานตกค้าง นายจ้างสามารถมารับแรงงานได้ตรงตามเวลานัดหมาย

ความร่วมมือของไทยและเมียนมาในเรื่องการจัดหาแรงงานในภาคประมงทะเลในครั้งนี้จะช่วยขับเคลื่อนความเป็นอยู่ของแรงงานประมง ผู้ประกอบการไทย สิทธิสวัสดิการของแรงงานเมียนมา ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมของทั้ง 2 ประเทศและเป็นการกระชับความร่วมมือให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น

ที่มา: Voice TV, 25/9/2561

นายกฯ สั่ง ก.แรงงาน ตั้ง คกก.สอบสวน ปมโกงเงินคนพิการ หากพบผิดให้ออกจากราชการ

วันนี้ (25ก.ย.) เมื่อเวลา 14.25 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสอบกรณีร้องเรียนการจ้างงานคนพิการที่มีการกินหัวคิว และการฝึกอาชีพคนพิการไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดว่า ตนได้สั่งการกระทรวงแรงงานดำเนินการหาข้อเท็จจริง และตั้งคณะกรรมการพิจารณาสอบสวน ซึ่งจะดำเนินการแบบกรณีเดียวกับของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งจะต้องไปดูว่าเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อไหร่อย่างไร ทำไมจึงมีการร้องเรียนในเวลานี้ ทั้งนี้รัฐบาลยืนยันและกำชับว่า การกระทำผิดกฎหมายและการทุจริตคอรัปชั่น หากพบหลักฐานชัดเจนหรือมีแนวโน้ม จะต้องเอาคนที่เกี่ยวข้องออกจากราชการไปก่อน และตรวจสอบตามขั้นตอนกระบวนการยุติธรรม

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 25/9/2561

กสร. เปิดอบรมหลักสูตร กฎหมายแรงงานที่นายจ้าง-ลูกจ้างต้องรู้ ปีงบประมาณ 2562 ฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย เริ่ม พ.ย. นี้

นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยว่า ในเดือนพฤศจิกายนนี้ กสร. เตรียมเปิดหลักสูตรฝึกอบรม เพื่อพัฒนาศักยภาพแรงงาน โดยเปิดรับสมัครลูกจ้าง นายจ้างเข้ารับการอบรมหลักสูตรแรกประจำปีงบประมาณ 2562 คือ หลักสูตร “กฎหมายแรงงานที่นายจ้าง-ลูกจ้างต้องรู้” ใช้เวลาในการอบรม 12 ชั่วโมง หรือ 2 วันทำการ ซึ่งจะเปิดรับสมัคร โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น

สำหรับรุ่นแรกจะรับสมัครทั้งสิ้น 40 คน ซึ่งในปีที่ผ่านมาหลักสูตรดังกล่าวได้รับการตอบรับ เป็นอย่างดีจากนายจ้างและสถานประกอบกิจการที่ส่งลูกจ้างเข้ารับการฝึกอบรมเพราะจะทำให้ทราบถึงสิทธิ หน้าที่ตามกฎหมายแรงงานของนายจ้างและลูกจ้างที่พึงปฏิบัติต่อกัน เพื่อให้สามารถทำงานร่วมกัน ได้อย่างมีความสุข

นอกจากนี้ กสร. ได้เตรียมเปิดหลักสูตรฝึกอบรมอื่น ๆ ให้แก่นายจ้าง ลูกจ้างเพื่อเปิดโอกาสให้ได้พัฒนาศักยภาพด้านแรงงาน โดยสามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติม และความเคลื่อนไหวของหลักสูตรอื่นๆ ที่จะเปิดรับสมัครได้ที่ กลุ่มงานพัฒนาทรัพยากรแรงงาน สำนักพัฒนามาตรฐานแรงงาน โทรศัพท์ 0 2245 1371-2 หรือที่เว็บไซต์สำนักพัฒนามาตรฐานแรงงาน http://tls.labour.go.th เมนูหลัก : ฝึกอบรมทรัพยากรแรงงาน

ที่มา: สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น, 25/9/2561

กลุ่มคนพิการบุก ก.แรงงาน ให้ข้อมูลปม 1,500 ล้าน

กลุ่มสมาคมคนพิการจากหลายจังหวัดในประเทศกว่า 100 คนเดินทางมาร้องเรียน พล.ต.อ.ดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน หลังนายปรีดา ลิ่มนนทกุล ประธานเครือข่ายพิทักษ์สิทธิคนพิการ ออกมาร้องเรียนว่ามีการทุจริตเงินคนพิการ ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนพิการ พ.ศ.2550 มาตรา 33 และ 35 กว่า 1,500 ล้านบาท โดยมี นายวิวัฒน์ ตังหงส์ รองปลัดกระทรวงแรงงานเป็นตัวแทนแทนมารับทราบ

นายณัฐพล ลาภเกิน ประธานชมรมส่งเสริมอาชีพคนพิการ จ.พระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า การออกมาเรียกร้องของนายปรีดา นั้น เหมือนเป็นการออกมาเรียกร้องเพื่อตนเอง แต่ส่งผลกระทบต่อแรงงานคนพิการทั่วประเทศที่อาจจะถูกเลิกจ้างงาน เนื่องจากมีการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการนำเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการตามมาตร 34 ซึ่งมองว่าไม่ได้เป็นประโยชน์โดยตรงแก่ผู้พิการเหมือนมาตรา 35 ที่ส่งเสริมอาชีพให้แก่คนพิการอย่างอิสระ

และยังมองว่า การออกมาครั้งนี้ของนายปรีดา อาจเป็นเพราะขัดผลประโยชน์กับสถานประกอบการที่เคยทำโครงการส่งเสริมอาชีพรวมกัน เนื่องจากก่อนหน้านี้นายปรีดา ไม่ได้รับการอนุมัติโครงการจากบริษัทต่างๆ ในการจ้างงานคนพิการ หลังจากที่ก่อนหน้านี้นายปรีดาเคยได้รับอนุมัติมาตลอด จึงมองว่าการออกมาครั้งนี้เป็นเพราะเรื่องธุรกิจที่นายปรีดาได้รับงานน้อยลงเท่านั้น ทั้งนี้ อยากให้นายปรีดา ออกมาให้ข้อมูลต่อหน้าคนพิการทุกคน และเจาะจงบริษัทที่ทำผิด เพราะจะได้ไม่กระทบกับบริษัทที่ทำถูกต้อง และคนพิการที่ประกอบอาชีพอิสระ

ขณะที่นางเสาวลักษณ์ ทรงเจริญ ตัวแทนจากสมาคมรวมใจมุ่งพัฒนาอาชีพเพื่อคนตาบอดในประเทศไทย กล่าวว่า กลัวจะได้รับผลกระทบถูกสถานประกอบการเลิกจ้าง เนื่องจากช่วงนี้ อยู่ในช่วงรอยต่อของการต่อสัญญาจ้าง ปัจจุบันได้ทำสัญญาการจ้างงานประเภทนวดไว้กับ 23 บริษัท โดยมีสมาชิกในเครือข่าย 125 คน และกำลังสมัครสมาชิกอีก 40 คน ถ้าหากโดนเลิกจ้างงานจะทำให้พวกตนไม่มีอาชีพ ซึ่งการเดินทางมายังกระทรวงแรงงานในครั้งนี้ต้องการให้กระทรวงได้รับรู้ว่า ได้มีการจ้างงานคนพิการจริงและการดำเนินการตามมาตรา 35 เพื่อเป็นประโยชน์กับคนพิการสามารถประกอบอาชีพอย่างอิสระได้

ที่มา: CH7NEWS, 24/9/2561

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท